เมื่อชาวตะวันตกมาศึกษาเรื่องกรรม หรือเรื่องของเจตจำนง ก็มักจะต้องมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่อง free will (เจตจำนงเสรี) ว่า free will นั้นมีหรือไม่
.
ถ้ามองตามกฎธรรมชาติน่าจะต้องพูดว่า ความคิดเรื่อง free will นั้น เป็นความคิดสุดโต่ง หรือเอียงสุด ที่จริงไม่มี will ที่ absolutely free เพราะเจตจำนงก็อยู่ในกระบวนการของเหตุปัจจัย
.
แต่ will นั้นก็นับว่า free เหมือนกัน อาจใช้คำว่า relatively free เพราะมันก็เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยนั้น ดังที่มีศัพท์ทางพุทธศาสนาเรียกว่า ปุริสการ ซึ่งแต่ละบุคคลมีอำนาจคิดริเริ่ม หรือคิดเริ่มการให้เป็นตัวกระตุ้นในกระบวนความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ที่เรียกว่า กรรม นิยามนั้น ซึ่งทำให้เราถือว่าเขาจะต้องรับผิดชอบต่อผลการกระทำของตน
.
ความเข้าใจผิด หรือความไม่เข้าใจเกี่ยวกับเรื่อง free will และเรื่องทำนองนี้ เกิดจากความเข้าใจผิดที่เนื่องกันซึ่งซ้อนลึกลงไปอีก โดยเฉพาะความหลงผิดเกี่ยวกับอัตตา หรือเรื่องตัวตน
.
ทำให้เกิดความสับสนโดยในขณะที่กำลังพิจารณาความจริงแท้ตามสภาวะ (ปรมัตถ์) แต่ติดใน
ความคิดเชิงบัญญัติ (สมมติ) เอาไปปนกัน ให้มีผู้ทำกับผู้รับผลการกระทำ
.
หรือในขณะที่ความจริงมีแต่ความรู้สึก แต่ผู้พิจารณาเรื่องนี้เอาความคิดเกี่ยวกับผู้รู้สึกเข้าไปใส่ (สำนวนทางธรรมว่า มีแต่การเสวยเวทนา ผู้เสวยไม่มี) ทั้งนี้เป็นเพราะหยั่งไม่ถึงลักษณะที่เป็นอนัตตา จึงไม่สามารถมองเห็นกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยชัดเจนได้
.
ข้อพิเศษในเรื่องนี้ก็คือ พระพุทธศาสนาไม่ได้หยุดอยู่แค่ free will แต่ยังก้าวไปสู่ขั้นที่จะเป็นผู้ free of will คือ เสรีเหนือเจตจำนงด้วย ซึ่งสำเร็จด้วยการพัฒนาตนของมนุษย์ ให้ถึงขั้นชีวิตแห่งปัญญา
.
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
จากหนังสือ "พุทธศาสนาในฐานะเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์ "
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น