ทัศนคติของพี่ตูน / โดย เพจลงทุนแมน
จนถึงตอนนี้ คงไม่มีใครพีคเท่าพี่ตูน บอดี้สแลม
ก่อนหน้านี้มีคำถามมากมายว่า ทำไปได้อะไร
ทุกคนเข้าใจดีว่าการวิ่งเพื่อรับบริจาคเงิน ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นตอ
เรื่องการใส่ใจสุขภาพ? ก็คงจะเหมือนเดิม
เรื่องงบโรงพยาบาล? ก็คงจะเหมือนเดิม
แต่ตอนนี้ทุกคนคงไม่ได้สนใจที่ตรงนั้น
ทุกคนสนใจที่พี่ตูน..
พี่ตูนเป็นสัญลักษณ์ของความกล้าที่จะลงมือทำอะไรสักอย่าง
พี่ตูนเป็นแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ ในการเดินตามความฝัน
พี่ตูนเป็นกำลังใจให้กับคนที่อยู่ห่างไกล ที่ที่ไม่ค่อยมีใครไปเหลียวแลเขา
พี่ตูนเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคนยากดีมีจน คนทุกชนชั้น ทุกศาสนา
ตอนนี้เรื่องนี้ น่าจะเกินไปกว่าคำว่าผู้นำด้าน บริจาค แต่พี่ตูนตอนนี้เป็นผู้นำด้าน ทัศนคติ
พี่ตูนให้สัมภาษณ์ว่า ตอนที่เขาเรียนจบใหม่ ยังไม่มีงานทำ และยังไม่ได้มีอัลบั้มเป็นของตนเอง
ตอนนั้นเขาร้องเพลงได้เงินละ 300 บาท แต่เขาไม่เคยเทียบกับเพื่อนที่ได้ทำงานในบริษัทดี เรียนจบดีได้เงินเดือนหลายหมื่น
เขาไม่เคยรู้สึกเปรียบเทียบ ดีใจกับเพื่อนด้วยซ้ำที่เพื่อนเราเก่งแบบนั้น ส่วนเขาก็เข้าใจว่าวิถีชีวิตต่างกัน ตนเองร้องเพลงถึงได้เงินน้อยแต่ก็แฮปปี้
สิ่งนี้แหละที่น่าจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นตัวตนของตูนได้เป็นอย่างดี
เขามีทัศนคติที่ชัดเจน มีทางเดินที่เชื่อมาตั้งแต่แรก
สุดท้ายสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ก็น่าจะเกิดขึ้นจากการเลือกทางเดินของเขาเอง
เรื่องที่เกิดขึ้นมาทั้งหมดเป็นแบบนี้ได้ ก็เพราะในใจลึกๆของคนไทยทุกคน ยังมีทัศนคติที่ดี อยากส่งเสริมคนที่ตนเองคิดว่าเขาเป็นคนดี
อาจจะเป็นเรื่องตลก ถ้าจะบอกว่า หากพี่ตูนลงสมัครเป็นนายกรัฐมนตรี ในอนาคต พี่ตูนก็น่าจะมีโอกาสได้ตำแหน่งนี้
ไม่ต้องถามแล้วว่าทำไปได้อะไร
ถึงเวลาที่จะต้องถามกลับตัวเองว่า แล้วเราได้ทำอะไรไปบ้าง?..
————————————–
ทำไปได้อะไร / โดย เพจลงทุนแมน (7 ต.ค. 60)
ตูน บอดี้สแลม คือ ใคร
ทำไม ต้องลงทุนวิ่ง จากเบตง ถึง แม่สาย
55 วัน กับระยะทาง 2,191 กิโลเมตร
เพื่อขอบริจาคคนละ 10 บาท จาก คนไทย 70 ล้านคน เพื่อโรงพยาบาลศูนย์ 11 แห่ง
ทำไม ต้องเป็น ตูน บอดี้สแลม และ ตูน บอดี้สแลม ได้อะไร จากการวิ่ง?
ตูน หรือ นายอาทิวราห์ คงมาลัย อายุ 38 ปี เกิดและเติบโต ที่ สุพรรณบุรี เรียนจบมัธยม ที่ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยและ จบนิติศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์ฯ
ตูนได้รางวัลชนะเลิศจากเวทีการประกวด Hotwave Music Award จึงได้เซ็นสัญญากับค่ายเพลง music bugs และออกอัลบั้มชุดแรกชื่อ ละอ่อน และภายหลังได้ ตั้งวงขึ้นมาใหม่ ชื่อ Bodyslam
ตูน นอกจากเป็นนักร้องเพลงร็อคแล้ว ยังมีความสามารถด้านกีฬา ได้เข้าร่วมการแข่งขันเทเบิลเทนนิสชิงชนะเลิศประเทศไทยในปี 2554 และ 2555 และเข้าร่วมการวิ่งการกุศลอยู่เสมอ
เมื่อ 3 ปีก่อน ตูน ได้ย้ายมาอยู่บางสะพาน จังหวัดประจวบฯ โดยปีที่แล้ว นายแพทย์ เชิดชาย ชยวัฑโฒ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล บางสะพาน ได้เชิญตูนมาร่วมงานวิ่งการกุศล เพื่อ นำเงินบริจาคที่เหลือมาซื้ออุปกรณ์การแพทย์ที่ขาดแคลน
เมื่อไปที่โรงพยาบาล ทำให้รู้ว่า นอกจาก ผู้ป่วยยังต้องนอนตามเตียงทางเดิน เครื่องมือพื้นฐานในการรักษา ไม่มี หรือมีก็ไม่พอเพียง อาทิ ตู้อบทารกแรกเกิด มีแค่เครื่องเดียว เด็กเกิดใหม่ต้องแชร์เครื่องฉายไฟ จำนวนเครื่องฟอกไต ก็มีไม่พอ คนไข้โรคไต ต้องรอคิวใช้กัน
การจัดงานวิ่งการกุศล มีค่าใช้จ่ายสูง อาจจะไม่มีเงินเหลือพอสำหรับการซื้อเครื่องมือแพทย์ ซึ่งแต่ละอย่าง ราคาเป็นหลักล้าน
ทำยังไง ให้ได้เงินบริจาคมากที่สุด โดยไม่ต้องหักค่าใช้จ่ายใดๆ?
คำตอบคือการ “วิ่งคนเดียว” ของตูน
ถ้าวิ่งคนเดียว ก็ไม่จำเป็นต้องมีเงินซื้อเสื้อวิ่ง ค่าอาหาร ค่าเต้นท์ ค่าเหรียญ
แล้วทำไมต้องวิ่ง?
สาระการวิ่ง ก็เพื่อสื่อสารให้คนรับรู้ ว่า โรงพยาบาลมีปัญหา ไม่ใช่การวิ่งเพื่อใครชนะหรือถึงเส้นชัยก่อน วิ่ง 10 วัน เพื่อให้คนรับรู้ 10 วัน
ให้แต่ละคนก้าว ออกมา คนละก้าว เพื่อบริจาค คนละ 5 บาท 10 บาท ไม่จำเป็นต้องเป็นคนรวย มีเงินบริจาคเยอะ ขอให้มีคนรับรู้มากๆพอ และ มีจิตใจที่ต้องการช่วยเหลือคนป่วย
จึงได้เกิดโครงการก้าวคนละก้าว เพื่อโรงพยาบาล บางสะพาน เมื่อเดือนธันวาม 2559 โดยตูนวิ่งจาก โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กรุงเทพฯ ถึงบางสะพาน ประจวบคีรีขันธ์
และ ก้าวเล็กๆ ของแต่ละคน ที่มากองรวมกันในปีที่แล้ว ตูนได้เงินบริจาคถึง 85 ล้านบาท
ตูน บอดี้แสลม ได้สร้างปรากฏการณ์ ที่กระเพื่อมสังคมไปทุกระดับ ตูนเป็นแบบอย่างของคนรุ่นใหม่ ที่รักในการดนตรี รักกีฬา เป็นผู้นำ และเป็นคนดีที่ทำประโยชน์เพื่อสังคม
ตูนบอกว่า เป็นอีกวันหนึ่งของชีวิตที่มีความสุขมาก เห็นได้จากแสงแห่งความสุขที่ฉายอออกมาจากแววตา และ รอยยิ้ม เป็นความสุขในการทำความดีให้ผู้อื่น คงไม่ผิด ที่จะบอกว่า มีเงินเท่าไหร่ก็หาซื้อ ความสุขแบบนี้ไม่ได้
เมื่อย้อนกลับไปเข้าใจความเป็นตัวตนของตูน นอกจาก จะได้รับรางวัลเพลงยอดเยี่ยม ศิลปินร็อคยอดเยี่ยม และผลสำรวจโพลว่าเป็นนักร้องชายที่ประชาชนชื่นชอบ ตูนยังได้รับรางวัล ลูกกตัญญูในวันแม่ปี 2549
และ บ้านที่บางสะพาน ยังเป็นของขวัญที่ตูนซื้อให้คุณแม่ บ่งบอก ความสุขของการเป็นผู้ให้ของตูน และ ตูน ได้สร้างความภาคภูมิใจให้แก่ครอบครัวคงมาลัย ที่มีลูกชายที่เป็นคนดี และ การยังประโยชน์เพื่อสังคม
ถ้าถามว่า ตูน ได้แก้ปัญหาถาวรให้กับโรงพยาบาลได้หรือไม่ หรือ สร้างเหตุการณ์ขึ้นมาครั้งเดียว ให้แค่อยู่ในความทรงจำ และลืมเลือนไป
ในหนึ่งปัญหา ย่อมมีทางออกหลายทาง และโครงการก้าวคนละก้าว อาจนำไปสู่ ก้าวเล็กๆ ที่เดินไปหาทางออกที่ใหญ่ได้
ตามข้อมูล สมาพันธ์แพทย์ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ได้รายงานการขาดทุน 18 โรงพยาบาล ในปี 2560 โดย 5 อันดับแรกคือ
ร.พ. พระนั่งเกล้า ขาดทุน 355 ล้านบาท
ร.พ. สระบุรี ขาดทุน 322 ล้านบาท
ร.พ. อุตรดิตถ์ ขาดทุน 277 ล้านบาท
ร.พ. สกลนคร ขาดทุน 225 ล้านบาท
ร.พ.สุราษฎร์ธานี ขาดทุน 220 ล้านบาท
ตั้งแต่ ปี 2551 โรงพยาบาลเหล่านี้ ขาดทุนมาตลอด จากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สปสช หรือ 30 บาท รักษาทุกโรคสำหรับประชาชน
เมื่อดู งบประมาณแผ่นดินของปี 2561 จำนวน 2.9 ล้านล้านบาท ได้จัดสรร ดังนี้
กระทรวงศึกษาธิการ 5.1 แสนล้านบาท (ค่าจ้างครู 3.11 แสนล้านบาท)
กระทรวงมหาดไทย 3.55 แสนล้านบาท
กระทรวงการคลัง 2.38 แสนล้านบาท
กระทรวงกลาโหม 2.22 แสนล้านบาท (ค่าจ้างทหาร 1.04 แสนล้านบาท)
และกระทรวงสาธารณสุข 1.26 แสนล้านบาท (ค่าจ้างหมอ พยาบาล 0.99 แสนล้านบาท ที่เหลือเป็น ค่าใช้จ่ายทางเครื่องมือแพทย์และ อื่นๆ)
โดยเมื่อต้นปี กระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงเรื่อง วิกฤตปัญหาการเงินของโรงพยาบาล ว่าเป็นปัญหาสภาพคล่อง และ ดำเนินการแก้ไขอยู่
ถึงแม้ในภาครัฐ จะมีการจัดการ แต่ความเจ็บป่วย ก็รอไม่ได้
ในปีนี้ โครงการก้าวคนละก้าว จัดเพื่อ 11 โรงพยาบาล และ อาจเป็น การวิ่งเพื่อโรงพยาบาลครั้งสุดท้ายของตูน
ตูน จะเริ่มวิ่งวันที่ 1 พฤศจิกายน จาก เบตง จังหวัด ยะลา ผ่าน 20 จังหวัด และ ถึง แม่สาย จังหวัด เชียงราย ในวันที่ 25 ธันวาคม รวม 55 วัน โดยวิ่ง 4 วัน พัก 1 วัน
ระยะทางและเวลา มากกว่า ปีที่แล้ว ถึง 5 เท่า และไม่น่าจะมีใครกล้าวิ่งแบบนี้มาก่อน
นอกจากเราคนไทย จะช่วยกันส่งกำลังใจแล้ว เรามาช่วย ส่งตูน ให้วิ่งถึงเส้นชัย ด้วยการบริจาคกันได้ เพจลงทุนแมน ขอร่วมเป็นหนึ่งในก้าวเล็กๆ ในการทำความดีด้วยการเขียนบทความนี้ และได้บริจาคเงิน 10,000 บาท ให้กับโครงการ ก้าวคนละก้าว
ถึงแม้เราจะไม่ได้วิ่งกับ ตูน และไม่มีคนอื่นเห็น แต่ความดีที่เราได้ทำ และความสุขที่เราได้รับ ก็น่าจะอยู่ในใจเรา
ในโลกนี้
น่าจะมีคนอยู่ 2 ประเภท คือ
1.คนที่มองภาพเล็ก ที่มุ่งหวังแต่เรื่องของตัวเอง สิ่งที่สนใจมากที่สุดของคนนั้นคือ ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นในบัญชีธนาคาร ทุกอย่างที่จะทำต้องมีความคุ้มค่า ถ้าทำมากแล้วได้น้อย ถือว่าไม่คุ้ม ท้ายสุดแล้วเขาน่าจะไม่ได้อะไรเลยนอกจากตัวเลขที่เขาสร้างขึ้นมาเพื่อหลอกตัวเอง คนนี้เรียกว่า LONELY MAN
2.คนที่มองภาพใหญ่ ที่มุ่งหวังเรื่องของสังคมโดยรวม สิ่งที่สนใจมากที่สุดของเขาคือ สุดท้ายแล้วสังคมจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง ทุกอย่างไม่ได้เกี่ยวกับตัวเลขของตนเอง แต่เกี่ยวกับความสุข ความเป็นอยู่ ของทุกคน สุดท้ายเขาอาจจะไม่ได้อะไรเลยเช่นเดียวกับคนแรก แต่คนที่ได้คือทุกคนในสังคมทั้งหมด และจะย้อนกลับไปเป็นความสุขใจของเขาเอง โดยที่ไม่ต้องมีใครรู้.. แค่นี้ก็พอแล้ว
สิ่งที่จะเป็นในอนาคต เราเลือกเส้นทางได้จากการกระทำของเราในปัจจุบัน
เราเลือกได้ว่าเราจะเป็น LONELY MAN หรือคนแบบที่สองที่เรียกว่า HAPPY MAN..
ติดตามรายละเอียดของโครงการได้ที่ Facebook: ก้าว
#ก้าว #ก้าวคนละก้าวเพื่อ11โรงพยาบาล #ก้าวนี้เพื่อหมอและพยาบาลทุกคน
การทำความดี แม้ไม่รู้ว่า ทำไปทำไม ก็ต้องทำ
การทำความดี แม้ไม่รู้ว่า ทำไปถึงไหน ก็ต้องทำ
การทำความดี แม้ไม่รู้ว่า มีใครทำบ้าง ก็ต้องทำ
การทำความดี แม้ไม่มีใครชื่นชมยินดี ก็ต้องทำ
การทำความดี แม้ต้องฝืนใจทำ ก็ต้องทำ
การทำความดี แม้ไม่เห็นผลตอบแทน ก็ต้องทำ
การทำความดี แม้มีเวลาน้อยนิด ก็ต้องทำ
เพราะความดีก็ยังคงเป็นความดีอยู่ตลอดเวลา
เพราะคนดีก็ต้องทำความดี
เพราะคนดีได้กำลังใจจากการทำความดี
ขอให้เชื่อมั่น ในความดี ทำดีต้องได้ดี
มิเปลี่ยนแปลง
“การทำดีนั้นทำยากและเห็นผลช้า แต่ก็จำเป็นต้องทำ
เพราะหาไม่ความชั่วซึ่งทำได้ง่าย จะเข้ามาแทนที่
และจะพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันรู้สึกตัว
แต่ละคนจึงต้องตั้งใจและเพียรพยายามให้สุดกำลัง
ในการสร้างเสริมและสะสมความดี”
พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
14 สิงหาคม 2525