วันอังคารที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2558

Image

พระประวัติและปฏิปทา
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
(หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท สิริวฑฺฒโน)
พุทธศักราช ๒๔๖๔-๒๔๘๐


วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร
แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร



พระประวัติในเบื้องต้น

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
มีพระนามเดิมว่า “หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท” พระนามฉายาว่า “สิริวฑฺฒโน”
เป็นพระโอรสใน พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้นหนึ่ง กรมขุนเจริญผลภูลสวัสดิ์
กับ หม่อมปุ่น ชมพูนุท ประสูติเมื่อวันศุกร์ เดือนอ้าย แรม ๗ ค่ำ
ปีมะแม จุลศักราช ๑๒๒๑ ตรงกับวันที่ ๑๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๐๒
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔

เมื่อยังทรงพระเยาว์ ได้ทรงศึกษาเล่าเรียนอักขรสมัย
ในสำนักเจ้าจอมมารดาสัมฤทธิ์ ซึ่งมีศักดิ์เป็นย่า ในขั้นเริ่มต้นพอเขียนและอ่านได้

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
หลังจากพิธีโสกันต์ (โกนจุก) แล้วพระองค์ก็เสด็จเข้าไปประทับอยู่ในวัง
และได้เรียนภาษาอังกฤษกับฝรั่งเพื่อเตรียมตัวเสด็จออกไปศึกษาในต่างประเทศ
ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

Image
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
พระอุปัชฌาย์ในคราวทรงบรรพชา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๖



พ.ศ. ๒๔๑๔ เมื่อพระชนมายุได้ ๑๒ พรรษา
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ตามเสด็จไปในเรือพระที่นั่งบางกอก คราวเสด็จประพาสอินเดีย
เรือพระที่นั่งแวะพักแรมที่เมืองสิงคโปร์ ให้อยู่เล่าเรียนในโรงเรียนแรพฟัล
พร้อมกับหม่อมเจ้าองค์อื่นๆ อีกราว ๒๐ องค์ที่เสด็จไปในคราวเดียวกัน
ทรงศึกษาอยู่ที่เมืองสิงคโปร์เป็นเวลา ๙ เดือน จึงเดินทางกลับกรุงเทพฯ

ขณะนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษสำหรับเจ้านายขึ้น
ในกรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๕ แล้วจึงมีรับสั่งให้พระองค์เข้าเรียน
ในโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษนั้น โดยไม่ต้องกลับไปเรียนต่อที่สิงคโปร์อีก
จึงนับได้ว่า พระองค์มีความรู้ทางด้านภาษาอังกฤษ
ขนาดเขียนได้ อ่านได้ และพูดได้ เป็นบางคำ

Image
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร
พระกรรมวาจาจารย์ในคราวทรงบรรพชาและอุปสมบท


Image
สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) วัดโสมนัสวิหาร
พระอุปัชฌาย์ในคราวทรงอุปสมบท เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๒



ทรงบรรพชาและอุปสมบท

ก่อนครบกำหนดผนวชเป็นสามเณรตามพระราชประเพณี
ได้ทรงเล่าเรียนหนังสือขอมจากพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)
ครั้นถึงปีระกา ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๑๖ เมื่อพระชนมายุได้ ๑๔ พรรษา
ทรงผนวชเป็นสามเณร ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
โดยมี สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
ขณะทรงดำรงพระยศกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธ์ เป็นพระอุปัชฌาย์
และ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร
แต่ยังทรงเป็นหม่อมเจ้าพระราชาคณะ เป็นพระกรรมวาจาจารย์

เมื่อทรงผนวชแล้วได้เสด็จไปประทับอยู่ที่วัดราชบพิธ
ทรงเล่าเรียนพระปริยัติธรรมต่อมา จนถึงพระชนมายุครบอุปสมบท
จึงทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
โดยมี สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) วัดโสมนัสวิหาร เป็นพระอุปัชฌาย์
และ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร เป็นพระกรรมวาจาจารย์
เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๘ ปีเถาะ เอกศก จุลศักราช ๑๒๔๑
(พ.ศ. ๒๔๒๒) เวลาบ่าย ๒ โมง ๕๐ นาที มีพระนามฉายาว่า “สิริวฑฺฒโน”

เมื่อทรงอุปสมบทแล้วก็เสด็จประทับ ณ วัดราชบพิธ ตามเดิม
ได้ทรงเข้าแปลพระปริยัติธรรม ๒ ครั้ง ได้เป็นเปรียญ ๕ ประโยค

พ.ศ. ๒๔๓๐ เมื่อทรงอุปสมบทได้ ๘ พรรษา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ตั้งเป็นพระราชาคณะที่ พระสถาพรพิริยพรต

Image
ทรงฉายร่วมกับพระเถระกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย ชุดแรก พ.ศ. ๒๔๓๖


ทรงเป็นกรรมการมหามกุฎราชวิทยาลัย

พ.ศ. ๒๔๓๖ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ขณะทรงดำรงพระยศ กรมหมื่น ได้ทรงพระดำริจัดตั้งสถาบันการศึกษาแบบใหม่
สำหรับภิกษุสามเณร ตลอดถึงจัดตั้งโรงเรียนสำหรับกุลบุตรขึ้น
เรียกว่า มหามกุฎราชวิทยาลัย
เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์เฉลิมพระนามาภิไธย
ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อจัดการศึกษาสำหรับ
ภิกษุสามเณรและกุลบุตรให้ทันสมัย และเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา

สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ขณะทรงดำรงพระสมณศักดิ์ที่ พระสถาพรพิริยพรต
ก็ทรงเป็นกรรมการพระองค์หนึ่งในกรรมการชุดแรกของมหามกุฎราชวิทยาลัย
นับว่าทรงเป็นผู้ร่วมบุกเบิกกิจการของมหามกุฎราชวิทยาลัยมาแต่เริ่มต้น
และได้ทรงเริ่มมีส่วนร่วมในการบริหารกิจการของมหามกุฎราชวิทยาลัย
ให้เจริญก้าวหน้ามาจนตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์

พ.ศ. ๒๔๓๘ ทรงเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่เสมอชั้นเทพ
พ.ศ. ๒๔๔๒ ทรงเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม
ที่ พระธรรมปาโมกข์ ในราชทินนามเดิม

Image
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร


ทรงครองวัดราชบพิธ

พ.ศ. ๒๔๔๔ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร
เจ้าอาวาสวัดราชบพิธ
สิ้นพระชนม์
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงครองวัดราชบพิธสืบต่อมา
นับเป็นเจ้าอาวาสพระองค์ที่ ๒

พ.ศ. ๒๔๔๙ ทรงสถาปนาเป็นพระราชาคณะเจ้ารองที่ พระพรหมมุนี
เจ้าคณะรองในคณะกลาง ในราชทินนามเดิม
พร้อมทั้งทรงสถาปนาพระอิสริยยศเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า

พ.ศ. ๒๔๕๓ ในรัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
สถาปนาพระอิสริยยศเป็น พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์
ทรงดำรงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะ
ที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ เจ้าคณะใหญ่คณะกลาง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น