วันอังคารที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ตาลปัตรพัดยศ


PDF พิมพ์ อีเมล

เมื่อเราไปทำบุญที่วัดหรือนิมนต์พระสงฆ์มาประกอบพิธีกรรมต่างๆ เรามักจะเห็น "ตาลปัตร" อยู่คู่กับการสวดของพระอยู่เสมอ

คำว่า ตาลปัตร หรือ ตาลิปัตร เป็นคำภาษาไทยที่นำมาจากภาษาบาลีว่า ตาล ปตฺต แปลว่า ใบตาล

ซึ่งใบตาลนี้เป็นสิ่งที่คนทั่วไปใช้บังแดดและใช้พัดลมมาตั้งแต่โบราณและเป็นเครื่องใช้ที่จำเป็นอย่างหนึ่งในประเทศเมืองร้อน

ดัง นั้น ตาลปัตร จึงหมายถึง พัดที่ทำจากใบตาลนั่นเอง โดยคำว่า "พัด" ที่ภาษาบาลีเรียกว่า "วิชนี" มีความหมายว่า เครื่องโบกหรือเครื่องกระพือลม และไทยได้นำมาแปลงเป็น "พัชนี"

โดย ทั่วไป เมื่อพูดถึงตาลปัตร ในความหมายของพระสงฆ์จะเรียกว่า พัดรอง คือ พัดที่เราเห็นพระใช้กันอยู่ในงานกุศลพิธีทั่วไป มักทำเป็นพัดหน้านาง คือ พัดที่มีลักษณะรูปไข่ คล้ายเค้าหน้าสตรี มีด้ามยาวตรงกลาง ยาวประมาณ 70 เซนติเมตร

ส่วนพัดที่มีลักษณะพิเศษ ที่เรียกว่า "พัดยศ" เป็นพัดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่พระสงฆ์พร้อมกับพระราชทานสมณศักดิ์ เพื่อเป็นสิ่งประกาศเกียรติคุณหรือบอกชั้นยศที่พระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทาน นั้นว่าเป็นชั้นอะไร

พัดยศที่เราเห็นจะมี 4 ลักษณะ คือ

1.พัดหน้านาง มีลักษณะอย่างที่กล่าวข้างต้น เป็นพัดยศสมณศักดิ์ระดับพระครูฐานานุกรมขึ้นไป รวมทั้งเป็นพัดยศเปรียญด้วย

2.พัด พุดตาน มีลักษณะเป็นวงกลม รอบนอกหยักเป็นแฉกคล้ายกลีบบัว เป็นพัดยศสมณศักดิ์ตั้งแต่ระดับพระปลัด พระครูปลัด ขึ้นไปจนถึงชั้นพระครูสัญญาบัตร

3.พัด แฉกเปลวเพลิง ใบพัดจะมีลักษณะทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ มีแฉกคล้ายเปลวเพลิง เป็นพัดยศสมณศักดิ์ระดับพระครูเจ้าคณะจังหวัด และพระครูเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอก

4.พัด แฉก ใบพัดมีลักษณะเป็นแฉกทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ มีกลีบอย่างน้อย 5-9 กลีบ เป็นพัดยศตั้งแต่ระดับพระราชาคณะถึงสมเด็จพระราชาคณะ สมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระสังฆราชเจ้า และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า

ซึ่ง เป็นธรรมเนียมปฏิบัติอย่างหนึ่งของพระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระราชาคณะหรือราชาคณะ เมื่อได้รับพระราชทานตาลปัตรแฉก เป็นพัดยศ

เมื่อ ได้รับนิมนต์ให้เข้าไปถวายพระธรรมเทศนาในงานพระราชพิธีต่างๆ จะต้องนำพัดเข้าไป 2 เล่ม คือ พัดยศ ประ กอบสมณศักดิ์เล่มหนึ่ง และพัดรองอีกเล่ม เมื่อขึ้นธรรมาสน์ถวายศีลนั้น กำหนดให้ใช้พัดรอง

ครั้งจบพระธรรมเทศนาแล้ว เมื่อจะถวายอนุโมทนาและถวายอดิเรกจึงจะใช้พัดยศ

สำหรับ ตาลปัตร ที่เราทำถวายพระไม่ว่าจะเนื่องในวันเกิด วันสถาปนาหน่วยงาน หรือในพิธีการต่างๆ ส่วนใหญ่ก็คือพัดรอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น