การเวียนเทียน
การเวียนเทียน เป็นพิธีกรรมที่มีความสำคัญ พุทธศาสนิกชนควรปฏิบัติด้วยความสำรวมเพื่อสร้างความเลื่อมใสศรัทธาให้เกิด ขึ้นแก่ผู้พบเห็น ทั้งชาวไทยที่นับถือศาสนาอื่นและชาวต่างประเทศ กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนปฏิบัติ ดังนี้
การเตรียมตัวก่อนเวียนเทียน
- อาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด ทำจิตใจเบิกบาน
- แต่งกายให้สุภาพ เรียบร้อย เหมาะสมกับสถานที่
- เตรียมเครื่อบูชาให้พร้อม เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน
- ควรเดินทางมาถึงวัดหรือสถานที่ประกอบพิธีเวียนเทียนก่อนเวลาเริ่มเดินเวียนเทียน
- เมื่อ เดินทางถึงวัดควรเข้าไปบูชาพระรัตนตรัยเพื่อร่วมศาสนพิธีตามลำดับขั้นตอนที่ เหมาะสมเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงออกมาเตรียมตัวด้านหน้าพระอุโบสถหรือสถานที่ประกอบพิธีเวียนเทียน
ระเบียบปฏิบัติการเวียนเทียน
การเวียนเทียนในวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอัฏฐมีบูชา และวันอาสาฬหบูชา มีระเบียบดังนี้เมื่อกำหนดวันมาฆบูชา วันวิสาบูชา วันอัฏฐมีบูชาหรือวันอาสาฬหบูชา ให้ทางวัดประกาศให้พุทธบริษัททราบทั่วกัน (ทั้งชาววัดและชาวบ้าน) และบอกกำหนดเวลาประกอบพิธีด้วยว่าจะประกอบเวลาไหน จะเป็นตอนบ่ายหรือค่ำก็ได้แล้วแต่สะดวกเมื่อถึงเวลากำหนด ทางวัดตีระฆังสัญญาณให้พุทธบริษัท ทั้งภิกษุ สามเณร อุบาสก และอุบาสิกา ประชุมพร้อมกันที่หน้าพระอุโบสถหรือลานพระเจดีย์ อันเป็นหลักของวัดนั้นๆ ภิกษุอยู่แถวหน้า ถัดไปสามเณร ท้ายสุดอุบาสก อุบาสิกา จะจัดให้ชายอยู่กลุ่มชาย หญิงอยู่กลุ่มหญิง หรือเปล่อยให้คละกันตามอัธยาศัยก็แล้วแต่จะกำหนด ทุกคนควรถือดอกไม้ธูปเทียน ตามแต่จะหาได้และศรัทธาของตน ควรกะขนาดของเทียนให้จุดเดินได้ จนครบ ๓ รอบสถานที่ที่เดิน ไม่หมดเสียในระหว่างเดิน
เมื่อพร้อมกันแล้ว ประธานสงฆ์จุดเทียนและธูป ทุกคนจุดของตนตาม เสร็จแล้วถือดอกไม้ธูปเทียนที่จะจุดและประนมมือ หันหน้าเข้าหาปูชนียสถานที่จะเวียนนั้นๆ แล้วกล่าวคำบูชาตามแบบที่กำหนดไว้ตามประธานสงฆ์ จนจบ
ประธานสงฆ์ประนมมือถือดอกไม้ธูปเทียนเดินนำหน้าแถวไปทางขวามือของสถานที่ ที่ เวียนเทียน คือ เดินเวียนไปทางที่มือขวาของตนหันเข้าสถานที่ที่เวียนนั้นจนครบ ๓ รอบการเดินเวียนขวาเพื่อเป็นการแสดงความเคารพอย่างสูง ตามธรรมเนียมอินเดียในสมัยพุทธกาลในแต่ละรอบให้ระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ ตามลำดับดังนี้
รอบแรก ระลึกถึงพระพุทธคุณ
อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ
วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู
อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ สัตถา
เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ
(คำแปล) เพราะเหตุอย่างนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงไกลจากกิเลส เป็นผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว รู้โลกแจ่มแจ้งทรงเป็นผู้สามารถฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่ง กว่า ทรงเป็นครูผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม เป็นผู้มีความจำเริญ จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์ ดังนี้
รอบที่สอง ระลึกถึงพระธรรมคุณ
สวากขาโต ภะคะวาตา ธัมโม สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิติ
(คำแปล) พระธรรม เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้ว เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติพึงได้เห็นได้ด้วยตนเอง เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้และให้ผลได้ไม่จำกัด เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกับผู้อื่นว่า ท่านจงมาดูเถิด เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว เป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน ดังนี้
รอบที่สาม ระลึกถึงพระสังฆคุณ
สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา
เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเณยโย อัญชลีกะระณีโย อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ
(คำแปล) พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า หมู่ใด ปฏิบัติดีแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระภาคเจ้า หมู่ใด ปฏิบัติตรงแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใด ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์แล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า หมู่ใดปฏิบัติสมควรแล้ว ได้แก่บุคคลเหล่านี้คือ คู่แห่งบุรุษ ๔ คู่ นับเรืองตัวบุรุษได้ ๘ บุรุษ นั่นแหละ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขาจัดไว้ต้อนรับ เป็นผู้ควรรับทักษิณาทาน เป็นผู้ที่บุคคลทั่วไปควรทำอัญชลี เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ดังนี้
เมื่อครบ ๓ รอบแล้ว นำดอกไม้ธูปเทียนไปปักบูชาตามที่เตรียมไว้ ต่อจากนั้นจึงเข้าไปประชุมพร้อมกันในพระอุโบสถหรือวิหารหรือศาลาการเปรียญ แล้วแต่ที่ทางวัดกำหนด เริ่มทำวัตรเย็นและสวดมนต์ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์อย่างพิธีกรรมวันธรรมสวนะ ธรรมดา เสร็จแล้วมีเทศน์พิเศษแสดงเรื่องพระพุทธประวัติและเรื่องที่เกี่ยวกับวัน มาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอัฏฐมีบูชา หรืออาสาฬหบูชา ๑ กัณฑ์ ตามแต่จะเป็นเทศกาลใดเป็นอันเสร็จ
การปฏิบัติตนขณะเวียนเทียน
- เมื่อเริ่มเวียนเทียน ต้องสำรวมทั้งกาย วาจา ใจ ให้สงบเรียบร้อย
- ควร รักษาระยะการเดินทางให้ห่างจากคนข้างหน้าพอสมควร เพื่อไม่ให้ธูปเทียนโดนผู้อื่นเพราะจะทำให้เสื้อผ้าผู้อื่นเสียหายหรือทำให้ บาดเจ็บ
- ควรเดินเวียนเทียนอย่างเป็นระเบียบ ไม่เร็วหรือช้าเกินไปหรือเดินแซงกัน
- เจริญ ภาวนาระลึกถึงพระพุทธคุณในรอบแรก พระธรรมคุณในรอบสอง และพระสังฆคุณในรอบสามไม่ควรหยอกล้อหรือพูดคุยกันในขณะเวียนเทียน เพราะเป็นการไม่เคารพต่อพระรัตนตรัยและสถานที่ ตลอดจนทำให้ผู้อื่นเกิดความรำคาญหรืออาจเกิดอุบัติเหตุได้
- เวียนเทียนครบ ๓ รอบ ให้นำดอกไม้ ธูป เทียน ไปวางและปักบูชาในที่ที่จัดเตรียมไว้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น