วันพุธที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2558

วัดประจำรัชกาลที่ ๕ และ ๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร

วัดประจำรัชกาลที่ ๕ และ ๗
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร
ประวัติความเป็นมา
                ความสำคัญของวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามแห่งนี้คือเป็น วัดประจำรัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๗ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ซึ่งถือว่าเป็นวัดแห่งเดียวของกรุงรัตนโกสินทร์ ที่เป็นวัดประจำรัชกาลของพระมหากษัตริย์ถึง ๒ พระองค์
                เหนืออื่นใด วัดแห่งนี้ยังเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช องค์พระประมุขแห่งคณะสงฆ์ไทย ๒ พระองค์คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า (หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท สิริวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงครองวัด ในระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๖๔-๒๔๘๐ และ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน)สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงครองวัด ในระหว่างปีพุทธศักราช ๒๕๑๗-๒๕๓๑ และเคยเป็นที่พำนักของสมเด็จพระราชาคณะและพระราชาคณะหลายรูป
ตามประวัติกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็น วัดประจำรัชกาล ก่อพระฤกษ์เพื่อลงมือก่อสร้างเมื่อวันเสาร์ แรม ๖ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเส็ง เอกศก ตรงกับวันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๑๒ แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๑๓ เริ่มแรกในการสร้างวัด ทรงซื้อวังพระบรมวงศ์เธอ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ(พระองค์เจ้าสิงหรา-ต้นราชสกุลสิงหรา ณ อยุธยา) พระราชโอรสองค์ที่ ๔๘
                ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ และเจ้าจอมมารดาคล้ายรวมทั้ง ซื้อบ้านเรือนข้าราชการ และราษฎร เพื่อใช้เป็นสถานที่สร้างวัด สิ้นพระราชทรัพย์ไปเป็นเงิน ๒,๘๐๖ บาท ๓๗ สตางค์
แล้วนิมนต์พระสงฆ์จากวัดโสมนัสราชวรวิหาร กรุงเทพฯ มาจำพรรษาอยู่ พร้อมกับอัญเชิญ พระนิรันตรายมาประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถ
                มูลเหตุที่ทรงสร้างนั้นสืบเนื่องมาจากพระราชศรัทธาอันยิ่งใหญ่ และเพื่อให้เป็นไปตามโบราณพระราชประเพณีนิยม ที่สมเด็จพระบรมราชบุพการีได้ทรงบำเพ็ญมา กล่าวคือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสร้างวัดพระเชตุพนฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงสร้างวัดอรุณฯ  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างวัดราชโอรสาราม และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างวัดราชประดิษฐ์ฯ
                ในการก่อสร้างพระอารามหลวงประจำรัชกาลแห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างตามแบบของวัดแต่โบราณกาล ดังเช่นวัดราชประดิษฐ์ฯ กรุงเทพฯ และวัดพระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม กล่าวคือ สถาปนาพระมหาเจดีย์ไว้ตรงกลางเป็นหลักสำคัญของวัด แล้วล้อมด้วยพระระเบียง พระอุโบสถ พระวิหาร และพระวิหารทิศ มีกำแพงกั้นระหว่างเขตพุทธาวาสและสังฆาวาสแยกออกจากกัน
                การที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระราชทานที่ให้สร้างวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามนี้ ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีบรมราชโองการพระราชทานวิสุงคามสีมา ลงวันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๑๒ ปีมะเมีย โทศก จ.ศ. ๑๒๓๒ และยังได้พระราชทานที่อื่นๆ อีกเป็นอุปจารของวัด รวมทั้ง พระราชทานตึกแถวถนนเฟื่องนครอีกด้วย
                วัดราชบพิธฯ ยังได้สะท้อนถึงยุคสมัยที่มีการปฏิรูปการศึกษาของชาติ นับแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้การศึกษาแพร่หลายไปสู่ราษฎร โดยการผันวัดซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางของการศึกษามาแต่โบราณ มีการแยกการศึกษาออกจากทางวัด ถึงแม้สถานที่เรียนยังอยู่ในบริเวณวัดก็ตาม โรงเรียนวัดราชบพิธ จึงได้ถือกำเนิดแต่ปี พ.ศ. ๒๔๒๘ เป็นต้นมา โรงเรียนกับวัดมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดและมีกิจกรรมร่วมกันมาโดยตลอด รวมถึง การบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนเป็นประจำทุกปี
                ต่อมาในสมัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ มิได้ทรงสร้างวัดประจำรัชกาล แต่ก็ได้รับพระราชภาระในการทำนุบำรุง และโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดของพระราชบิดาคือรัชกาลที่ ๕ เป็นงานใหญ่แทน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๗ เสมือนหนึ่งเป็นวัดประจำรัชกาลของพระองค์ด้วยเช่นกัน
                ภายในวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม แบ่งออกเป็น ๓ ส่วน คือ เขตพุทธาวาส เขตสังฆาวาส และเขตสุสานหลวง เขตพุทธาวาส ตั้งอยู่ทางด้านเหนือของวัด คือบริเวณที่เป็นสิ่งก่อสร้างอันเนื่องในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งอยู่บนพื้นไพทีหรือยกพื้นสูงกว่าพื้นปกติ ปูด้วยหินอ่อน เขตสังฆาวาส ตั้งอยู่ทางด้านใต้ของวัด คือบริเวณที่เป็นอาคารจำพรรษาของพระภิกษุสามเณร เขตสุสานหลวง ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของวัด
สถานะและที่ตั้ง
พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหารที่ตั้ง ๒ ถนนเฟื่องนคร แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร
กรุงเทพมหานคร  สังกัด นิกายธรรมยุต
สิ่งสำคัญในวัด       Description: รูปภาพ
พระอุโบสถ
                เป็นอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีมุขเด็จด้านหน้า หลังคาลด ๒ ชั้น หลังคาด้านหน้ามุขเด็ดมุงด้วยกระเบื้องเคลือบเบญจรงค์หลากสี ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันประดับปูนปั้นรูปช้างเจ็ดเศียร เทิดพานรองรับพระเกี้ยวอยู่กลางลานกระหนก ขนาบสองข้างด้วยฉัตร ประคองด้วยราชสีห์ และคชสีห์ หน้าบันมุขเด็จเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ
                ตัวพระอุโบสถเป็นฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ ๕ มีประตูเข้าด้านหน้า ๓ ช่อง มี ๗ ห้อง กว้าง ๑๗.๗๐ เมตร ยาว ๒๑.๖๕ เมตร สูงถึงขื่อ ๙.๘๐ เมตร ประตูและหน้าต่างมีซุ้มยอดมณฑปครึ่งซีกติดลวดลายปูนปั้นปิดทอง
มีบานประตู ๑๐ บาน บานหน้าต่าง ๒๘ บาน บานประตูและหน้าต่างพระอุโบสถด้านในเป็นลายรดน้ำพุ่มข้าวบิณฑ์ ด้านนอกประดับมุกลวดลายไทยจำลองรูปดวงตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เฉพาะตราชั้นหนึ่ง รวม ๕ ดวง นับแต่ดวงบนลงมาตามลำดับ มีดังนี้
๑. นพรัตน์ราชวราภรณ์
๒. มหาจักรีบรมราชวงค์
๓. ปฐมจุลจอมเกล้า
๔. ประถมาภรณ์ช้างเผือก
๕. ประถมมาภรณ์มงกุฏไทย
                โดยเฉพาะที่บานประตู เครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้ง ๕ นี้  มีสายสะพายล้อมวงกลมและสร้อยทับอยู่บนสายสะพาย กับมีโบว์ห้อยดวงตราลงมาตามลำดับดังนี้ ใต้ดวงที่ ๑ เป็นภาพเทวดาพนมมือ ใต้ดวงที่ ๒ เป็นภาพเทพธิดาฟ้อน ใต้ดวงที่ ๓ เป็นภาพกินนรรำ ใต้ดวงที่ ๔ เป็นภาพหนุมานเหาะ ใต้ดวงที่ ๕ เป็นภาพอินทรชิตเหาะ ระหว่างภาพและตราเป็นลายกะหนกและประจำยามก้ามปู
                อนึ่ง การประดับมุขชิ้นเล็กๆ ยังทำเป็นสร้อยทับลงบนแพรแถบ มีอักษร จ.ป.ร. ไขว้ และมีตราจักรีคั่นไปเป็นระยะ โดยมีสร้อยลูกโซ่ร้อยทั้งสองข้าง ชายแถบแพรผูกหูกระต่าย มีตราห้อยตรงกลางแบบของจริง ยกย่องกันว่าลายประดับมุขที่บานประตูและหน้าต่างพระอุโบสถนี้ เป็นศิลปะชิ้นสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ด้านข้างของซุ้มประตูพระอุโบสถแต่ละด้านเป็นรูปเซี่ยวกางทรงเครื่องแบบไทย ถือง้าวยืนอยู่บนหลังสิงห์ ส่วนด้านข้างของซุ้มหน้าต่างพระอุโบสถแต่ละด้าน เป็นเทวดาถือพระขรรค์ยืนอยู่กลางลายกระหนก
                ฝีมือประดับมุขดังกล่าวนี้มานี้ ตามหลักฐานกล่าวว่า เป็นฝีพระหัตถ์ของ พระบรมวงค์เธอ กรมหมื่นทิวากรวงค์ประวัติ พระราชโอรสองค์ที่ ๓๐ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
และเป็นพระองค์ที่ ๔ ในเจ้าจอมมารดาจันทร์
                บานมุขประตูและหน้าต่างพระอุโบสถมีประวัติว่า เดิมเป็นบานพระทวารและบานพระแกลพระพุทธรูปปรางค์ปราสาท วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง สร้างขึ้นเมื่อบูรณะวัดพระศรีรัตนศาสดาราม คราวสมโภชพระนครครบ ๑๐๐ ปี ในปีพุทธศักราช ๒๔๒๕ ภายหลังเกิดเพลิงไหม้หลังคาพระพุทธปรางค์ปราสาท
                เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๔๖ พระพุทธปรางค์ปราสาทถูกไฟไหม้มากเพราะเป็นเครื่องไม้เป็นส่วนใหญ่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ซึ่งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงบัญชาการดับเพลิงอยู่ด้วย ได้โปรดเกล้าฯ ให้ถอดบานมุกที่ยังไม่ไหม้ออกทัน พร้อมกันนั้นได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ถอดบานมุกที่พระมณฑป ซึ่งอยู่ใกล้กับพระพุทธปรางค์ปราสาทออกด้วย และต่อมาได้มีการปฏิสังขรณ์พระพุทธปรางค์ปราสาทใหม่ แต่ยังไม่ทันเสร็จก็พอดีสิ้นรัชกาลที่ ๕ เสียก่อน
                ครั้นถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์ต่อจนแล้วเสร็จ แต่บานพระทวารและพระแกลได้เปลี่ยนเป็นลายทรงพุ่มข้าวบิณฑ์อย่างในปัจจุบัน เหตุที่ยังไม่โปรดให้นำเอาบานมุกมาติดไว้ตามเดิม คงจะเป็นเพราะว่า บานมุกไม่ครบ คงถูกไฟไหม้เสียหายไปบ้าง จะซ่อมใหม่ก็ทำให้สิ้นเปลืองพระราชทรัพย์มาก    
ยิ่งกว่านั้นก็คือกรมช่างมุกในระยะนั้นเสื่อมจนหมดตัวช่างฝีมือดีเสียแล้ว เมื่อปฏิสังขรณ์แล้วเสร็จ พระราชทานนามใหม่ว่า ปราสาทพระเทพบิดร และเปิดใช้งานเมื่อวันที่ ๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๖๑
                บานมุกทั้งหมดที่นำมาติดที่พระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามนี้ มีรวมด้วยกันทั้งหมดที่บานประตูและบานหน้าต่างรวม ๓๘ บาน (เมื่ออยู่พระพุทธปรางค์ปราสาทหรือปราสาทเทพบิดรมีมากกว่านี้)
เป็นประตูหน้าและหลัง ๕ คู่ ๑๐ บาน และเป็นหน้าต่าง ๑๔ คู่ ๒๘ บาน
                ส่วนบานมุกเดิมที่ถอดไว้นั้น โปรดเกล้าฯ ให้นำมาติดที่พระอุโบสถประมาณปี พ.ศ. ๒๔๖๕ และบานประตูและหน้าต่างเดิมของพระอุโบสถซึ่งเป็นไม้แกะสลักนั้น นำไปติดไว้เป็นประตูและหน้าต่างของพระวิหาร
                พระอุโบสถหลังนี้ ทรงนอกเป็นแบบไทยตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ส่วนทรงในเป็นแบบฝรั่ง กล่าวกันว่าเพดาน เสา และลวดลาย ประดับตกแต่งผนังลักษณะคล้ายพระที่นั่งแห่งหนึ่ง ในพระราชวังแวร์ซายร์ ประเทศฝรั่งเศส แต่ก็มีศิลปะไทยปนอยู่ด้วย
                ที่ผนังด้านในพระอุโบสถเขียนเป็นรูปดอกไม้ร่วงสีทอง ระหว่างช่องหน้าต่างเป็นรูปอุณาโลมสลับด้วยรูปอักษร ซึ่งเป็นอักษรตัวแรกของพระปรมาภิไธยรัชกาลที่ ๕  เหนือซุ้มประตูกลางด้านในปั้นเป็นรูปพระราชลัญจกรประจำรัชกาลของพระองค์ หรือตราแผ่นดินในรัชกาลที่ ๕ หรือที่เรียกว่า ตราอาร์ม อันประกอบด้วยที่หมายสำคัญต่างๆ รวมกัน คือ พระมหาวิชัยมงกุฎ จักร ตรี โล่ ช้างไอราพต ช้างเผือก กฤช พระมหาสังวาลย์นพรัตน์ พระสายสร้อยเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฯ ฉัตรตั้งมีราชสีห์และคชสีห์ ประคองฉลองพระองค์ครุยและเครื่องหมายเบญจราชกุลภัณฑ์ เบื้องล่างมีแถบโบจารึกภาษิตกำกับว่า สพเพสํ สงฆภูตานํ สามคคี วุฑฒิสาธิกาประกอบอยู่ด้วย
                ผนังส่วนบนระหว่างเสาคูหาเขียนภาพพุทธประวัติ ซึ่งทั้งการออกแบบตกแต่งและเขียนภาพนี้ เป็นผลงานของหม่อมเจ้าประวิช ชุมสาย สำหรับเรื่องรูป อุณาโลมที่มีลักษณะเหมือนเลขเก้านั้น มีเรื่องเล่าว่า
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ที่ยังต้องมีการรบทัพจับศึกอยู่นั้น เหล่าไพร่พลต่างก็หาของขลังของดี และเครื่องรางจากอาจารย์ต่างๆ มาคุ้มกันตัวกัน แต่ต่างคนก็ต่างอาจารย์ แล้วก็ว่าของขลังของอาจารย์ตนนั้นเหนือกว่าของอาจารย์คนอื่น จนมีเรื่องกระทบกระทั่งกันวุ่นวาย ต่อมา รัชกาลที่ ๑ กับพระอนุชา คือสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาถ จึงเสด็จไปที่วัดชนะสงคราม แล้วทรงเขียนยันต์เป็นรูปอุณาโลมนี้ แจกจ่ายให้กับบรรดาทหารทั้งหลายเหมือนกันหมด ไม่ให้ใช้เครื่องรางของผู้อื่นอีก และรูปอุณาโลมนี้ก็เป็นเครื่องหมายที่ใช้มาในกองทัพจนกระทั่งถึงทุกวันนี้
                นอกจากนั้น การให้สีในพระอุโบสถล้วนมีความประณีตงดงาม ปิดทองบางแห่งทำให้แลดูเจริญตา การตกแต่งภายในพระอุโบสถนี้ เป็นฝีพระหัตถ์ของหม่อมเจ้าประวิช ชุมสาย เช่นเดียวกัน (แต่ลวดลายที่ปรากฏอยู่บัดนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปในสมัยรัชกาลที่ ๗ ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๒)
 Description: รูปภาพ
พระพุทธอังคีรส
                พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปหล่อปางสมาธิ ขัดสมาธิราบ  ทรงผ้ามีกลีบ วัสดุสำริดกะไหล่ทองเนื้อแปด ขนาดหน้าตักกว้าง ๒ ศอกคืบ หรือ ๖๐ นิ้ว น้ำหนัก ๑๘๐ บาท พระฉวีวรรณเป็นทองคำทั้งองค์ ซึ่งเป็นทองคำที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงใช้แต่งพระองค์เมื่อทรงพระเยาว์ ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีหินอ่อนที่สั่งมาจากประเทศอิตาลี พระพุทธอังคีรสเป็นพระนามของพระพุทธเจ้าพระนามหนึ่ง ซึ่งแปลว่า มีพระรัศมีแผ่ซ่านออกจากพระวรกาย พระพุทธรูปองค์นี้มีประวัติการสร้างบันทึกไว้ต่างกันเป็น ๒ ความ
                ความที่หนึ่ง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าประวัติพระพุทธรูปสำคัญพระองค์นี้ไว้ว่าหล่อเมื่อสถาปนาวัดราชบพิธฯ
                ส่วนอีกความหนึ่ง พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า (หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท สิริวฑฺฒโน) ทรงนิพนธ์ไว้ว่าหล่อในระหว่างช่วงปลายรัชกาลที่ ๔ ต่อต้นรัชกาลที่ ๕ การหล่อทำเป็นพระราชพิธี เป็นพระพุทธรูปกะไหล่ทองคำทั้งองค์ สิ้นเนื้อทองแปดน้ำหนัก ๑๘๐ บาท เดิมพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้หล่อขึ้น เพื่อจะนำไปประดิษฐานยังพระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม แต่มาสิ้นรัชกาลเสียก่อน  ภายหลังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้นำมาประดิษฐานในพระอุโบสถแห่งนี้ เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๑๕
                ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้หล่อฐานบัลลังก์กะไหล่ทองเนื้อหก หนัก ๔๘ บาท ขึ้นรองรับองค์พระพุทธรูป เบื้องบนเหนือองค์พระพุทธรูปมีเศวตฉัตรกั้น คือ นพปฎลมหาเศวตฉัตร ซึ่งเดิมเป็นเศวตฉัตรกั้นพระโกศพระบรมศพ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อถวายพระเพลิงแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้นำมากั้น พระพุทธอังคีรสพระประธานในพระอุโบสถ และได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีชักเชือกเศวตฉัตรนี้  เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๕๗
                ใต้ฐานชุกชีของพระพุทธอังคีรส พระประธานในพระอุโบสถ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ โปรดให้บรรจุพระบรมอัฐิและพระอัฐิในครอบครองของพระองค์ ประกอบด้วยพระบรมอัฐิของรัชกาลที่ ๒ ถึง รัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
                พระอัฐิสมเด็จพระศรีสุลาลัย พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร พระธิดาในรัชกาลที่ ๓ ผู้เป็นพระอภิบาลในรัชกาลที่ ๕ ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์
                พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ เมื่อเสด็จสวรรคต ณ ประเทศอังกฤษ ได้อัญเชิญพระบรมอัฐิกลับเมืองไทย เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๒ มาบรรจุไว้ที่ใต้ฐานชุกชีของพระพุทธอังคีรสนี้ และในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ ก็ได้บรรจุพระบรมอัฐิสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ไว้เช่นกัน

                เมื่อเรากราบพระพุทธอังคีรส นอกจากจะได้สักการบูชาพระพุทธเจ้าแล้ว  ยังเท่ากับได้ถวายสักการะพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ และพระบรมวงศ์ไปในขณะเดียวกัน
                Description: รูปภาพ

พระนิรันตราย
                เป็นพระพุทธรูปทองคำเช่นเดียวกัน ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชี เป็นเบญจาด้านหน้าและต่ำกว่า พระพุทธอังคีรสลงมา พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิเพชร หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์กะไหล่ทอง
มีเรือนแก้วเป็นพุ่มมหาโพธิ์ ยอดเรือนแก้วมีรูปพระมหามงกุฎ และเรือนแก้วนี้ติดกับฐานชั้นล่างขององค์พระพุทธรูป มีอักษรขอมจารึกพระคุณนามแสดงพระพุทธคุณลงบนกลีบบัวเบื้องหน้า ๙ เบื้องหลัง ๙
                คือ ตั้งแต่ อรหํ สมมาสมพุทโธ ถึง ภควา
และฐานล่างของฐานพระมีที่สำหรับรองน้ำสรงพระ มีท่อเป็นรูปศีรษะโค อันมีความหมายถึงพระพุทธองค์ว่าเป็น โคตมโคตร
                พระนิรันตราย เป็นพระพุทธรูปที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริแบบอย่างสร้างขึ้นแล้วหล่อจำลองพระราชทานอารามต่างๆ ในคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย
                ปัจจุบันพระนิรันตรายเป็นองค์ที่ทำขึ้นใหม่ เพราะองค์ที่พระราชทานมานั้นถูกโขมยลักไป
ชุกชีที่ประดิษฐานเป็นเบญจาซีกเล็ก เคยเป็นฐานประกอบแท่นที่ทรงพระโกศพระศพซึ่งตกแต่งด้วยกระจกสีของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี (พระนางเรือล่ม)และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี
                Description: รูปภาพ

พระวิหาร
                อยู่ทางด้านใต้พระมหาเจดีย์ใหญ่ มีลักษณะรูปทรงเป็นแบบเดียวกับพระอุโบสถทั้งภายนอกและภายใน ต่างกันแต่ว่าบานประตูและบานหน้าต่างของพระวิหาร สลักด้วยไม้เป็นลวดลายไทยจำลองรูปดวงตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ (เฉพาะตราชั้นหนึ่ง รวม ๕ ดวง) และลงรักปิดทอง เท่านั้น
                ภายในพระวิหารลักษณะการตกแต่งภายในคล้ายคลึงกับพระอุโบสถ แต่ตกแต่งเรียบกว่า ต่อมาเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๒๕ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) โปรดให้ทาผนังเป็นสีชมพูซึ่งเป็นสีตามวันพระราชสมภพ (วันอังคาร)ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และเขียนลายดอกไม้ร่วงสีทอง โดยผนังระหว่างช่องหน้าต่างทำเป็น รูปอุณาโลมสลับด้วยรูปอักษร เช่นเดียวกับพระอุโบสถ
                กล่าวกันว่า เดิมประตูและหน้าต่างของพระวิหารนี้เป็นของพระอุโบสถ แต่เมื่อนำเอาบานมุกมาติดที่พระอุโบสถแล้ว ก็ย้ายของเดิมมาไว้ที่พระวิหาร
                 และข้อแตกต่างจากพระอุโบสถอีกอย่างหนึ่งภายในพระวิหาร
ก็คือลวดลายมีเฉพาะที่เพดาน บัวกั้นผนังชั้นล่าง ชั้นบน  และกรอบประตูหน้าต่างเท่านั้น ผนังนอกนั้นเป็นสีขาวไม่มีลวดลาย
                ที่หัวเสาพระวิหารมีเครื่องตกแต่งเป็นสัญลักษณ์ เรียกว่า หัวเม็ดยอดปลีหมายถึงเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นเครื่องตกแต่งอาคารเฉพาะวังและวัดเท่านั้น

 พระประทีปวโรทัย
                ในพระวิหารประดิษฐานพระประธาน นามว่า พระประทีปวโรทัย ประดิษฐานอยู่บนชุกชี เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยของเก่าที่ซ่อมขึ้นใหม่ เศวตฉัตรที่กั้นเหนือองค์พระเดิมเป็นเศวตฉัตรกั้นพระโกศพระบรมศพ ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า
                ด้านหน้าและด้านขวาของ พระประทีปวโรทัยพระประธานในพระวิหาร ประดิษฐาน พระรูปหล่อสมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) พระรูปภาพ และเจดีย์พระอัฐิ ของอดีตสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้
                หลังพระประธานเป็น ตู้พระไตรปิฎกขนาดใหญ่ ๓ ตู้ เป็นพระไตรปิฎกฉบับใบลานบรรจุอยู่ในกล่องไม้สัก ทาน้ำมันบ้าง ทาสีบ้าง และมีลวดลายทำด้วยเส้นทองเหลืองฝังลงไปในเนื้อไม้ มีตราของหลวง พระไตรปิฎกเหล่านี้กล่าวกันว่า ได้รับพระราชทานมาตั้งแต่ครั้งสร้างวัด บางท่านกล่าวว่าอาจเป็นพระไตรปิฎกสมัยรัชกาลที่ ๑ ที่ยังเหลืออยู่ ส่วนตู้พระไตรปิฎกนั้นเป็นของสร้างขึ้นในสมัย พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า (หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท สิริวฑฺฒโน) ทรงครองวัด
                วัดแห่งนี้ไม่มีหอไตรเหมือนกับพระอารามหลวง (วัดหลวง) โดยทั่วๆ ไป ดังนั้น พระวิหารของวัดจึงเท่ากับเป็น หอไตรไปด้วย

 พระวิหารทิศหรือพระวิหารมุข
                มี ๒ หลัง อยู่ทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ตรงกับพระมหาเจดีย์  เป็นทางเข้าสู่บริเวณภายในพระระเบียงคดรอบองค์พระมหาเจดีย์ ลักษณะรูปทรงคล้ายกับพระวิหาร แต่ขนาดย่อมกว่า มีมุขด้านหน้าทั้ง ๒ หลัง ที่หน้าบันมุขชั้นบนเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ ส่วนหน้าบันมุขชั้นล่างเป็นรูปช้างสามเศียรเทิดบุษบก
และซุ้มประตูทางเข้าเป็นทรงยอดมณฑปครึ่งซีก แต่บานประตูเป็นภาพเขียนสีรูปเซี่ยวกางตามคตินิยมของจีน
Description: รูปภาพ

 พระระเบียงคดหรือพระวิหารคด
                เป็นส่วนที่เชื่อมต่อกัน มีทั้งหมด ๔ ด้าน เชื่อมระหว่างพระอุโบสถ พระวิหารทิศทั้ง ๒ หลัง
และพระวิหาร โดยล้อมองค์พระมหาเจดีย์ ผนังประดับด้วยกระเบื้องเคลือบลายเบญจรงค์หลากสี ด้านนอกมีทางเดินปูด้วยหินอ่อน และมีเสาหินกลมรับเชิงชาย ส่วนด้านในเป็นพื้นสองชั้น มีเสาหินกลม ปูด้วยหินอ่อน บัวหัวเสาก่ออิฐถือปูนย่อเหลี่ยม ลงรักปิดทอง ประดับกระจก รองรับเครื่องบนและเชิงชาย
Description: รูปภาพ

 ศาลาราย
                เป็นศาลาโถงหลังเล็กๆ ขนาด ๒ ห้องรอบไพที มีทั้งหมด ๘ หลัง
ตั้งอยู่ทางด้านหน้าพระอุโบสถ ๒ หลัง พระวิหาร ๒ หลัง
และพระวิหารทิศทั้งด้านตะวันออกและด้านตะวันตกด้านละ ๒ หลัง
ลักษณะเป็นศาลาทรงไทย หลังคามุงกระเบื้องเคลือบสี
มีช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์
ที่หน้าบันของศาลารายเป็นรูปเทพพนมอยู่ท่ามกลางลายกระหนก

 เกยและพลับพลาเปลื้องเครื่อง
                อยู่ทางมุมกำแพงวัดด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ตัวพลับพลาก่ออิฐถือปูน หลังคาลด ๒ ชั้น มุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันเป็นตราราชวัลลภ
                ด้านหน้าพลับพลาเป็น เกยชาลา ก่ออิฐถือปูนเกยและพลับพลานี้สร้างขึ้นตามคติพระราชประเพณีโบราณ คือ เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินโดยทางสถลมารค จะเสด็จมาประทับที่เกย จากนั้นจะเสด็จขึ้นพลับพลา ทรงเปลื้องเครื่องขัตติยราชภูษิตาภรณ์ และพระชฎามหากฐินแล้วแต่งพระองค์ใหม่ ก่อนจะทรงพระราชดำเนินไปยังพระอุโบสถ ในการพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน ดังนั้น จึงเรียกนามพลับพลาว่า พลับพลาเปลื้องเครื่อง
                ซึ่งเป็นเครื่องแสดงว่าวัดแห่งนี้เป็นวัดสำคัญยิ่ง เพราะพระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จมาถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เอง แต่ต่อมาเมื่อมีการนำรถม้าและรถยนต์เข้ามาใช้ตามลำดับ เกยและพลับพลาเปลื้องเครื่องนี้ก็ไม่ได้ถูกใช้
Description: รูปภาพ

 หอระฆัง
                อยู่ทางด้านทิศตะวันออก ในเขตคณะนอกใกล้กับศาลา ๑๐๐ ปี เป็นหอระฆัง ๒ ชั้น ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ชั้นบนทำเป็นซุ้มโปร่งทั้ง ๔ ด้าน ตรงมุมย่อเหลี่ยมไม้สิบสอง ยอดเป็นรูปพระเกี้ยว ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบลายเบญจรงค์ อยู่ในบริเวณที่จัดเป็นรูปเทพพนมอยู่ท่ามกลางลายกระหนก
Description: รูปภาพ

 หอกลอง
                มีลักษณะเป็นอาคาร ๒ ชั้น ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ชั้นบนทำเป็นซุ้มโปร่งทั้ง ๔ ด้าน ตรงมุมย่อเหลี่ยมไม้สิบสอง ยอดเป็นรูปพระเกี้ยว ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบลายเบญจรงค์ แบบเดียวกันกับหอระฆัง แต่กรุด้วยกระจกสี ๓ ด้านที่ซุ้มประตู หอระฆังกับหอกลองอยู่คนละด้าน หอระฆังอยู่ด้านถนนเฟื่องนคร
ส่วนหอกลองจะอยู่ใกล้ๆ กับสุสานหลวงและศาลาการเปรียญคณะใน

 ๒  อนุสาวรีย์ยอดปรางค์
                อยู่ใกล้ๆ กับหอระฆัง แต่อยู่ในเขตพุทธาวาส เป็นอนุสาวรีย์หินอ่อนยอดปรางค์
บรรจุพระสรีรังคารและจารึกพระประวัติของ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร
(หม่อมเจ้ากระจ่าง ลดาวัลย์ อรุโณ)
เจ้าอาวาสพระองค์แรกของวัดนี้ (ครองวัด พ.ศ. ๒๔๑๓-๒๔๔๔)
                ส่วนที่ใกล้กับหอกลองเป็นอนุสาวรีย์หินอ่อนยอดปรางค์เช่นเดียวกัน บรรจุพระสรีรังคารของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า (หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท สิริวฑฺฒโน) เจ้าอาวาสพระองค์ที่ ๒ ของวัดนี้ โดยมีแผ่นหินอ่อนจารึกพระประวัติ ๓ ด้าน และมีจารึกพระโอวาทอันน่าจับใจอยู่ทางด้านตะวันตก

 ทวารบาล
                วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นวัดหนึ่งที่มีทวารบาลที่แปลกและโดดเด่น เช่น บานประตูของวัดจะเป็นรูปทหารต่างๆ แต่งกายไม่เหมือนกันสลักติดไว้ เข้าใจว่าเป็นทหารมหาดเล็ก ซึ่งจัดตั้งมาตั้งแต่ต้นสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงเครื่องแต่งตัวหลายครั้ง จึงนำมาสลักไว้ในหลายรูปแบบ

 ปูชนียวัตถุ-ปูชนียสถานในเขตสังฆาวาส
                (๑) คณะนอก มีศาลาการเปรียญคณะนอก (ศาลาร้อยปีในปัจจุบัน) พระที่นั่งสีตลาภิรมย์ (พระตำหนักเก๋ง) กุฏิสงฆ์คณะนอก หอฉัน ด้านหน้าของคณะนอกมีศาลาทำบุญ สระน้ำ หอระฆัง
พระที่นั่งสีตลาภิรมย์ (พระตำหนักเก๋ง) แห่งนี้
                เดิมพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นพระที่นั่งเย็นในพระราชฐานชั้นใน ในพระบรมมหาราชวัง อยู่ในบริเวณพระตำหนักสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ใกล้ประตูสนามราชกิจ เป็นอาคารแบบจีน ขนาด ๓ ห้อง สูง ๓ ชั้น
                ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้รื้อมาปลูกสร้างเป็นเสนาสนะสำหรับเจ้าอาวาสวัดในคณะนี้ นับแต่สถาปนาพระอารามหลวงแห่งนี้เป็นต้นมา ได้มีการบูรณะส่วนที่มีการชำรุดเป็นบางโอกาส ต่อมาพระที่นั่งนี้มีสภาพทรุดโทรมมากขึ้น โดยเฉพาะตัวไม้เครื่องบนและกระเบื้องมุงหลังคา จนใช้อยู่อาศัยไม่ได้ จึงได้มีการบูรณะ โดยรื้อหลังคาออกทำใหม่ ทำห้องเพิ่มที่เฉลียงด้านข้างชั้นบน ข้างละ ๑ ห้อง ขูดสีที่ทาทับลวดลายแกะสลักแบบจีนที่บานหน้าต่าง เปลี่ยนเป็นลงรักปิดทอง และทาสีภายในชั้นบน ชั้นกลาง และภายนอกตัวอาคารทั้งหมด
                (๒) คณะใน มีศาลาการเปรียญคณะใน กุฏิสงฆ์คณะในแถวใน พระตำหนักอรุณ คือมีถาวรวัตถุเหมือนกับคณะนอก แต่ต่างกันตรงที่คณะในนี้มีหอกลอง ไม่มีหอระฆัง
                พระตำหนักอรุณ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร เจ้าอาวาสพระองค์แรก เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๑๓ ส่วนนามพระตำหนักอรุณนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า (หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท สิริวฑฺฒโน) ทรงประทานชื่อในภายหลัง เพื่อเป็นที่ระลึกถึงพระองค์เจ้าพระองค์นั้น
                พระตำหนักอรุณ เป็นอาคารแบบตะวันตก ขนาด ๕ ห้อง ๓ ชั้น โดยมีระเบียงรอบ แต่เดิมหันหลังให้กับหน้าพระวิหารหลวง หันหน้าชนกับพระที่นั่งสีตลาภิรมย์ (พระตำหนักเก๋ง) มีบันไดขึ้นข้างนอก ๒ ข้าง ด้านหน้าพระตำหนักทั้งสองนั้น เมื่อขึ้นบันไดข้างใดข้างหนึ่งแล้ว สามารถเข้าพระตำหนักอรุณชั้นกลาง ชั้นบน และพระที่นั่งสีตลาภิรมย์ (พระตำหนักเก๋ง) ชั้นบนได้ เพราะมีชานแล่นถึงกัน
                ต่อมา พระยาบริบูรณ์ราชสมบัติ (ม.ร.ว.มูล ดารากร) อธิบดีกรมพระคลังข้างที่  ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตบูรณะซ่อมแซมให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น โดยการบูรณะได้รื้อลงจนถึงฐานราก สร้างฐานรากและคานคอนกรีตใหม่ แล้วสร้างใหม่ให้พระตำหนักอรุณหันหน้าตรงกับหน้าพระวิหารหลวง
                ปัจจุบันจัดเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงศิลปวัตถุอันเป็นสมบัติส่วนพระองค์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า (หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท สิริวฑฺฒโน) และสมบัติของวัด
                (๓) คณะกลาง มีกุฏิหลังใหญ่ ๓ ชั้น, กุฏิ ๒ ชั้น
กุฏิในเขตสังฆาวาสส่วนใหญ่ก่อสร้างตามแบบศิลปะตะวันตก

 อนุสาวรีย์ในเขตสุสานหลวง
                เขต สุสานหลวง ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของวัด ติดกับถนนอัษฎางค์ ริมคลองคูเมืองเดิม
โดยตั้งอยู่นอกเขตกำแพงมหาสีมาธรรมจักรของวัด แต่เดิมสุสานหลวงมีพื้นที่อาณาบริเวณกว้าง ๔ ไร่กว่า
ต่อมาในสมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ทางผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และทางกรุงเทพมหานคร ได้ตัดถนนอัษฎางค์ซึ่งกินพื้นที่สุสานหลวงไปบางส่วน จนปัจจุบันสุสานหลวงเหลือพื้นที่เพียง ๒ ไร่ครึ่งเท่านั้น
                “สุสานหลวงวัดราชบพิธฯ เป็นสุสานหลวงแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ผู้เป็นพระปิยมหาราชของปวงชนชาวไทย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้สร้างอนุสาวรีย์ในเขตสุสานหลวงขึ้นเป็นที่บรรจุพระอัฐิ (กระดูก) และพระสรีรางคาร (เถ้ากระดูก) เพื่ออุทิศพระราชกุศลแก่พระบรมราชเทวี พระราชเทวี เจ้าจอมมารดา ตลอดจน พระราชโอรส พระราชธิดา พระนัดดา และพระปนัดดา ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
                ด้วยมีพระราชประสงค์จะให้ผู้ที่มีความรักใคร่ห่วงใยอย่างใกล้ชิด คือ พระบรมราชเทวี พระราชเทวี เจ้าจอมมารดา ตลอดจน พระราชโอรส พระราชธิดา พระนัดดา และพระปนัดดา ได้อยู่รวมกันหลังจากที่ล่วงลับไปแล้ว สภาพโดยทั่วไปในสุสานหลวง จะเป็นการสร้างอนุสาวรีย์ ของพระบรมราชเทวี พระราชเทวี หรือเจ้าจอมมารดา เพื่อให้ลูกได้อยู่กับแม่หรืออย่างน้อยในบ้านของแม่  เว้นในกรณีที่พระราชโอรสหรือพระราชธิดาสิ้นพระชนม์ก่อน พระมารดาก็สร้างอนุสาวรีย์ของพระเจ้าลูกเธอพระองค์นั้นไปก่อน
                สุสานหลวงที่วัดราชบพิธฯ แห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ เป็นแม่กองก่อสร้างขึ้นในที่รอบๆ ชานกำแพงด้านทิศตะวันตกของวัด และเมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้านิลวรรณ เป็นแม่กองก่อสร้างสืบต่อมา ทั้งนี้ มีอนุสาวรีย์บางส่วนที่พระบรมวงศานุวงศ์ทรงสร้างขึ้นในสมัยหลัง อาจกล่าวได้ว่าเป็นสุสานหลวงอนุสรณ์สถานสำหรับ จุฬาลงกรณราชสันตติวงศ์
                โดยตามความเชื่อแล้ว หลังจากพิธีเผาศพของผู้ตาย จะมีการนำอัฐิธาตุไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์หรือสถูป  ครั้นต่อมาก็พัฒนาไปสู่การบรรจุอัฐิหรืออังคาร ไว้ใต้ฐานพระพุทธรูปหรือตามช่องกำแพงแก้ว
ซึ่งแม้แต่พระบรมราชสรีรางคารของพระมหากษัตริย์ ก็มีการอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ ณ พุทธบัลลังก์แห่งพระพุทธปฏิมาพระประธาน ด้วยการบรรจุอัฐิหรืออังคารไว้ตามสถานที่ดังกล่าว จะเป็นการกระทำให้บรรดาลูกหลานในวงศ์ตระกูลใช้เป็นสถานที่เคารพบูชา
                ลักษณะของสถาปัตยกรรมของอนุสาวรีย์ต่างๆ ภายในสุสานหลวงแห่งนี้ ทำเป็นรูปแบบพระเจดีย์ พระปรางค์ พระวิหาร และอาคาร เป็นต้น ทั้งที่เป็นศิลปะแบบยุโรป ศิลปะแบบขอม และศิลปะแบบไทย  อันเป็นพุทธศิลปแห่งหลักแนวคิดการพัฒนาเมืองไทยให้ทัดเทียมกับอารยประเทศ
                บริเวณสุสานหลวงได้รับการตกแต่งดูแลอย่างดีจากสำนักพระราชวัง จึงเป็นสวนที่ร่มรื่นไปด้วยไม้ดอกไม้ใบนานาพันธุ์ หลายต้นเป็นไม้โบราณ เช่น กล้วยทอง กรรณิการ์ สารภี เข็ม ตะแบก ลั่นทม (ลีลาวดี) เป็นต้น ปัจจุบันถูกดัดแปลงให้มีลักษณะกึ่งสวนหย่อม กึ่งอนุสรณ์สถาน และในวันที่ ๒๐ กันยายน ของทุกปี  สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (ครั้งยังมีพระชนม์ชีพอยู่) จะเสด็จเป็นประธานในนามของ คณะพระราชนัดดาปนัดดาสายสัมพันธ์ในราชกุลรัชกาลที่ ๕ ในการบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายรัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๘ ซึ่งทั้งสองพระองค์มีวันประสูติร่วมกัน
                ปัจจุบัน รวมอนุสาวรีย์ต่างๆ ที่อยู่ภายในสุสานหลวงมีทั้งหมด ๓๔ องค์โดยมีการจัดตั้งกองทุนสุสานหลวงวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร ขึ้นมาดูแลรักษาสุสานหลวงให้มีความงดงามเพื่อชนรุ่นหลังได้เข้าสักการะต่อไป
                อนุสาวรีย์ในเขตสุสานหลวงที่โดดเด่นเป็นสง่าคือ พระเจดีย์สีทอง ๔ องค์ (๑ องค์เล็ก กับ ๓ องค์ใหญ่) มีลักษณะคล้ายกัน เรียงลำดับจากเหนือไปใต้ ได้แก่ สุนันทานุสาวรีย์, รังษีวัฒนา, เสาวภาประดิษฐาน และสุขุมาลนฤมิตร์ โดยสุนันทานุสาวรีย์ เป็นพระเจดีย์สีทองที่มีขนาดองค์เล็กที่สุด ซึ่งรัชกาลที่ ๕ ทรงสร้างอุทิศพระราชทานแก่พระมเหสีเทวี ๔ พระองค์
Description: รูปภาพ         

  พระมหาเจดีย์ใหญ่
                บนไพทีที่ยกพื้นสูงกว่าพื้นปกติ มีปูชนียวัตถุ-ปูชนียสถานที่สำคัญภายในวัด อาทิเช่น พระมหาเจดีย์ใหญ่ พระอุโบสถ พระวิหาร พระวิหารทิศหรือพระวิหารมุข พระระเบียงคด ศาลาราย ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ภายในวงล้อมของกำแพงสูงประมาณ ๑ เมตร ปูด้วยหินอ่อนทั้งบริเวณ ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบลายเบญจรงค์หลากสี อีกทั้งยังใช้กระเบื้องเคลือบลายเบญจรงค์นี้ประดับปูชนียวัตถุ-ปูชนียสถาน และถาวรวัตถุต่างๆ ภายในวัดแห่งนี้ โดยเฉพาะในเขตพุทธาวาส สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงค์ทรงกล่าวไว้ว่าเป็นฝีมือพระอาจารย์แดง ช่างเขียนมีชื่อเกิดในรัชกาลที่ ๓
มามีชื่อเสียงขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นผู้ออกแบบลายแล้วส่งไปทำเป็นกระเบื้องเคลือบ ณ ประเทศจีน นำเข้ามาประดับ
                ไม่มีชื่อเรียกพระมหาเจดีย์เหมือนวัดอื่น ได้สร้างขึ้นก่อนสิ่งก่อสร้างอื่นๆ เช่น พระอุโบสถ พระวิหาร พระวิหารทิศ พระระเบียงคด เป็นต้น ลักษณะการก่อสร้างเป็นแบบฉบับการสร้างปูชนียวัตถุแบบโบราณ คือสร้าง พระมหาเจดีย์ไว้ตรงกลาง ถือเป็นหลักสำหรับเคารพบูชาหรือเป็นประธานของวัด ต่างจากวัดต่างๆ ในปัจจุบันที่สร้างพระอุโบสถเป็นประธานตรงกลาง
                องค์พระมหาเจดีย์ใหญ่มีลักษณะเป็นทรงไทยย่อเหลี่ยม ทรงระฆังกลม ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณที่สูงในระดับแนวหลังคาพระระเบียงคด (พระวิหารคด) คือสูงประมาณ ๔๓ เมตร ความยาวโดยรอบฐาน ๕๖.๒๐ เมตร ฐานคูหาประดับด้วยกระเบื้องเคลือบเบญจรงค์โดยตลอดทั้งองค์ เหนือฐานพระมหาเจดีย์ใหญ่มีซุ้มคูหากระจกประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ ตลอดจน พระรูปหล่อของพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า (หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท สิริวฑฺฒโน) และ
พระรูปหล่อของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) รวมทั้ง รูปหล่อของพระเถระสำคัญรูปอื่นๆ ประดิษฐานอยู่โดยรอบรวมทั้งหมด ๑๔ ซุ้ม ส่วนบนของซุ้มคูหากระจกประดับด้วยลายเทพนมแบบปูนปั้นอย่างงดงาม
                เหนือซุ้มคูหาพระพุทธรูปเหล่านี้มีบริเวณชานเดินประทักษิณและกำแพงแก้ว สำหรับเดินรอบองค์พระมหาเจดีย์ มีบันไดขึ้นจากด้านในพระมหาเจดีย์ ทางเข้าข้างในขึ้นบันไดอยู่ทางทิศเหนือ ด้านข้างพระอุโบสถ กลางองค์พระมหาเจดีย์ มีฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูปศิลาปางนาคปรก ศิลปะลพบุรี สลักจากหินทรายจำนวน ๒ องค์ ผินพระพักตร์ไปทางทิศเหนือและทิศใต้และพระพุทธรูปปางนาคปรกขนาดย่อมอีก ๒ องค์ ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตก นอกจากนี้ ยังมีพระพุทธรูปอื่นๆ อีกหลายองค์ เล่ากันว่าพระพุทธรูปศิลาปางนาคปรกนี้ขุดพบใต้ต้นตะเคียนริมคลองหลอด อีกทั้งเป็นที่เชื่อกันว่าคนที่อยากมีบุตรให้มาขอพรที่นี่ ก็จะได้มีบุตรสมใจ และตามผนังด้านในขององค์พระมหาเจดีย์ มีช่องขนาดย่อมสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปอีก ๖ ช่อง คือผนังด้านทิศตะวันออก ทิศตะวันตก และทิศใต้ ทิศละ ๒ ช่องรวมทั้ง มีตู้พระธรรมตั้งอยู่อีก ๑ ตู้
                ส่วนบนยอดปลีของพระมหาเจดีย์เป็นลูกแก้วกลม ครอบผอบที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๒

























ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น