วันอังคารที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2558

พระประวัติและปฏิปทา สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ)


Image

พระประวัติและปฏิปทา
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ)
พุทธศักราช ๒๕๐๓-๒๕๐๕


วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรวิหาร
แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร



พระประวัติในเบื้องต้น

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ)
มีพระนามเดิมว่า “ปลด เกตุทัต” พระนามฉายาว่า “กิตฺติโสภโณ”
ประสูติเมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๓๒
ตรงกับวันจันทร์ แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๖ ปีฉลู เอกศก
จุลศักราช ๑๒๕๑ เวลา ๑๐ ทุ่ม (๐๔.๐๐ นาฬิกา) เศษ
ที่บ้านในตรอกหลังตลาดพาหุรัด ติดกับวัดราชบุรณะ ในพระนคร

โยมบิดามีนามว่า ขุนพิษณุโลกประชานาถ (ล้ำ เกตุทัต)
โยมมารดามีนามว่า ท่านปลั่ง เกตุทัต

ท่านขุนพิษณุโลกประชานาถ (ล้ำ) เป็นมหาดเล็กใกล้ชิด
ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
และสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ

เป็นเจ้ากรมคนแรกในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
ในเวลาที่สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นั้นทรงกรมเป็นกรมขุนฯ
และได้ลาออกเสียก่อนที่จะทรงกรมเป็นกรมหลวงฯ
เนื่องจากสุขภาพไม่สมบูรณ์ ถึงแก่กรรมเมื่ออายุได้ ๕๑ ปี

หลังจากโยมบิดาได้ถึงแก่กรรมแล้ว
ท่านปลั่ง โยมมารดานั้น ได้ไปตั้งหลักฐานอยู่ในตรอกหลังพระราชวังเดิม
(โรงเรียนทหารเรือ ในปัจจุบัน) และได้มีอาชีพค้าขายอยู่ที่ตลาดท่าเตียน

ภายหลังได้ติดตามมาอยู่ที่บ้านข้าง วัดเบญจมบพิตร
หลังจากที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จได้ทรงบรรพชา อุปสมบทแล้ว
จนถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๕ อายุได้ ๗๑ ปี

สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ) เคยรับสั่งว่า
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ได้รับสั่งชี้แจงให้ทราบว่า มีสายตระกูลสัมพันธ์กันโดยฐานพระญาติ
ในสายตระกูล เกตุทัต, หงสกุล, สกุณะสิงห์ และคชาชีวะ

โดยท่านเจ้ากรมล้ำ เป็นบุตรท่านสั้น และหลวงรักษ์ราชหิรัญ (หนูพิณ)
และสมเด็จพระสังฆราชทรงใช้นามสกุลว่า “เกตุทัต” เสมอ
เพราะทรงถือว่าเป็นสายใหญ่

ส่วนท่านปลั่งนั้น โดยสายตระกูลเพียงแต่แจ้งว่าเป็นญาติกับหม่อมสว่าง
ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงศ์
โดยสมเด็จพระสังฆราช ทรงทั้งอยู่ในฐานะเป็นน้าของพระโอรสธิดา
ในสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นั้น ที่กำเนิดแต่หม่อมสว่าง


เมื่อทรงพระเยาว์และเริ่มการศึกษา

ท่านปลั่ง โยมมารดาได้พา สมเด็จพระสังฆราช แต่ยังทรงพระเยาว์
ไปอยู่กับท่านตาหรั่งและท่านยายน้อย (ท่านตาและท่านยายของสมเด็จพระสังฆราช)
ที่บ้านเดิมในตรอกหลังพระราชวังเดิมธนบุรี ทรงเจริญวัย ณ บ้านนี้
จนถึงเวลาไปบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ที่ วัดพระเชตุพน เมื่อพระชนม์ ได้ ๑๒ ปี

เมื่อได้ทรงศึกษาอักขรสมัยพออ่านออกเขียนได้แล้ว
เริ่มเรียนภาษาบาลีแต่เมื่อพระชนม์ได้ ๘ ปี
โดยท่านตาเป็นผู้พาไปเรียนกับอาจารย์และรับกลับบ้าน
ได้เรียน มูลกัจจายน์ กับ อาจารย์ฟัก วัดประยุรวงศาวาส จนจบ การก
และเรียน ธมฺมปทฏฺฐกถา กับ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (เปีย)
แต่ยังเป็น พระเทพมุนี วัดกัลยาณมิตร วัดพระเชตุพน
และ พระยาธรรมปรีชา (บุญ) แต่ยังเป็น พระวิจิตรธรรมปริวัตร
ซึ่งเป็นอาจารย์หลวงสอนพระปริยัติธรรม ณ วัดสุทัศนเทพวราราม

การเรียนภาษาบาลีของพระองค์ในระยะนี้
คล้ายกับนักเรียนไปโรงเรียนอย่างในปัจจุบัน
กล่าวคือ ยังคงอยู่ที่บ้าน แล้วมาเรียนหนังสือตามสถานที่ดังกล่าว
แบบนักเรียนไปกลับ จนถึง พ.ศ. ๒๔๔๓ พระชนม์ได้ ๑๒ ปี
จึงทรงบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ ณ วัดพระเชตุพน


Image
เมื่อครั้งทรงเป็นสามเณรปลด เกตุทัต เปรียญ ๙ ประโยค
และได้รับพระราชทานย่าม จ.ป.ร. คราวเสด็จนิวัตจากยุโรป



ทรงบรรพชาเป็นสามเณรประโยค ๙ รูปแรกในรัชกาลที่ ๕

ในปีชวด พ.ศ. ๒๔๔๓ เมื่อพระชนม์ได้ ๑๒ ปี
ได้ทรงศึกษาบาลีภาษา มีความรู้พอจะเข้าสอบได้แล้ว
จึงได้รับการบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ในสำนักของ พระราชโมลี (บัว)
วัดพระเชตุพน
ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาธุศีลสังวร

ต่อมาอีก ๓ เดือนก็ได้เข้าสอบแปลพระปริยัติธรรมในปลายปีนั้น ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
โดยมี พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร
(หม่อมเจ้ากระจ่าง ลดาวัลย์ อรุโณ)
วัดราชบพิธ ทรงเป็นอธิบดีการสอบไล่

และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงฟังการแปลในวันนั้นด้วย
และเมื่อ สามเณรปลด เกตุทัต (สมเด็จพระสังฆราช)
จับประโยค ๑ เพื่อเข้าแปลเป็นครั้งแรกนั้น
เป็นวันเดียวกับพระวัดเบญจมบพิตรเข้าแปลเป็นปีแรกเช่นเดียวกัน

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้ทรงทอดพระเนตรเห็นสามเณรปลดเข้าแปลได้ประโยค ๑ ก็รับสั่งว่า

“เณรเล็กๆ ก็แปลได้”

และรับสั่งถามถึง อาจารย์ท่านเจ้าคุณพระสาธุศีลสังวร (บัว) จึงนำถวายตัว

ครั้นทรงสอบถามได้ความว่าเป็นบุตรเจ้ากรมล้ำก็ยิ่งทรงพระกรุณา
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อยู่ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ตั้งแต่วันนั้น

ต่อมาได้เข้าในวันที่ ๒ แปลประโยค ๒ ได้ ๒ ประโยค
และวันที่ ๓ ประโยค ๓ ได้ ๓ ประโยคในการสอบไล่คราวนั้น
จึงเป็นอันว่าทรงแปลพระปริยัติธรรม ๓ ประโยค เมื่อพระชนมายุ ๑๒ ปี

ดังปรากฏตามรายการพระราชกุศล
ในการสถาปนาวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ภาคที่สี่ ร.ศ. ๑๒๐ ว่า

“สามเณรปลด ประโยค ๑ แปลวันที่ ๒๓ มีนาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๙
ธรรมบทบั้นต้น ผูก ๑๘ หนังสือ ๑๐ บรรทัด
ขึ้นต้น เตปิ วาณิชกา ราชกุลํ คนฺตวา ลงท้าย สาสนํ ปหิตํ เทวีติ
แปลสองพัก ๒๐ นาที ความรู้เป็นชั้นสอง

ประโยค ๒ แปลวันที่ ๔ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๐
ธรรมบทบั้นต้น ผูก ๑ หนังสือ ๑๐ บรรทัด
ขึ้นต้น ตตฺถ กิญฺจาปิ มโนติ ลงท้าย มโน เสฎฺโฐ
แปลสองพัก ๑๕ นาที ความรู้เป็นชั้นที่สอง

ประโยค ๓ แปลวันที่ ๘ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๐
ธรรมบทบั้นต้น ผูก ๓ หนังสือ ๔๐ บรรทัด
ขึ้นต้นอสาเร สารมติโนติ อิมํ ลงท้าย ปธานํ ปทหิตฺวา
แปลพักเดียว ๒๕ นาทีความรู้เป็นชั้นที่สอง”


ดังนี้ชื่อว่า สามเณรปลดสอบได้เปรียญ ๓ ประโยค

Image
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร
(หม่อมเจ้ากระจ่าง ลดาวัลย์ อรุโณ) วัดราชบพิธ


Image
สมเด็จพระวันรัต (จ่าย ปุณฺณทตฺโต) วัดเบญจมบพิตร

Image
สมเด็จพระวันรัต (ฑิต อุทฺโย) วัดมหาธาตุ


เมื่อได้มาอยู่ วัดเบญจมบพิตร แล้ว
ก็ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมสูงขึ้นโดยลำดับ

ประโยค ป.ธ. ๔-๕-๖ ได้ศึกษากับท่านอาจารย์
คือ สมเด็จพระวันรัต ปุณณทัตตมหาเถระ (จ่าย)
เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร
องค์ประถม
และ สมเด็จพระวันรัต อุทยมหาเถระ (ฑิต) เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ
ผู้กำกับการวัดเบญจมบพิตร และอาจารย์อื่นๆ อีกหลายท่าน
เช่น พระยาปริยัติธรรมธาดา ณ วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นต้น

ประโยค ป.ธ. ๗-๘-๙ ได้ศึกษากับ
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นประจำ
แต่บางครั้งได้ไปศึกษากับ สมเด็จพระวันรัต อุทยมหาเถระ (ฑิต) บ้าง
สำหรับเจ้าพระคุณสมเด็จฯ องค์นี้ สมเด็จพระสังฆราชเคยรับสั่งว่า
ท่านแม้จะเป็นเปรียญเพียง ๔ ประโยค
แต่ความรู้แล้ว พระเปรียญ ๙ ประโยคทำอะไรไม่ได้

ผลของการศึกษา ปรากฏว่าทรงสอบไล่พระปริยัติธรรม

ประโยค ๔ ได้เมื่อพระชนม์ได้ ๑๓ ปี (พ.ศ. ๒๔๔๔)

ประโยค ๕ ได้เมื่อพระชนม์ได้ ๑๔ ปี (พ.ศ. ๒๔๔๕)

ประโยค ๖ ได้เมื่อพระชนม์ได้ ๑๕ ปี (พ.ศ. ๒๔๔๖)

ประโยค ๗ ได้เมื่อพระชนม์ได้ ๑๖ ปี (พ.ศ. ๒๔๔๗)

ประโยค ๘ ได้เมื่อพระชนม์ได้ ๑๙ ปี (พ.ศ. ๒๔๕๐)

และประโยค ๙ ได้เมื่อพระชนม์ย่างเข้าปีที่ ๒๐ (พ.ศ. ๒๔๕๑)


เจ้าประคุณสมเด็จฯ ทรงเป็นสามเณรเปรียญ ๙ ประโยค
รูปแรกในรัชกาลที่ ๕ และเป็นรูปที่ ๒ ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์


(รูปแรกในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ คือ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)
วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ซึ่งทรงสอบได้ในรัชกาลที่ ๓)


ดังมีปรากฏในรายการพระราชกุศลในการสถาปนาวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
ภาคที่ ๑๗ รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๘ ว่า

“สามเณรปลด ประโยค ๙ แปลวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก ๑๒๗ (พ.ศ. ๒๔๕๑)
ฎีกาอภิธัมมัตถสังคห ผูก ๘ ว่าด้วยอารมณ์ของอภิญญา หนังสือ ๑๐ บรรทัด
ขึ้นต้น เอตฺถหิ อิทฺธิวิธญาณสฺส ตาว ฯลฯ ลงท้าย อยเมเตสํ อารมฺมณวิภาโค
แปลพักเดียว ๑๔ นาที ความรู้ชั้น ๑”
ดังนี้

Image
สามเณรปลด เกตุทัต เปรียญ ๙ ประโยค ร.ศ. ๑๒๗

Image
ประกาศนียบัตรสามเณรปลด เกตุทัต เปรียญ ๙ ประโยค ร.ศ. ๑๒๗ 

Image
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
กับสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ



ทรงอุปสมบท

เมื่อพ.ศ. ๒๔๕๒ พระชนมายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อุปสมบทเป็นนาคหลวง
ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ดังมีรายละเอียดปรากฏในประวัติวัดเบญจมบพิตร ดังนี้

ด้วยสามเณรปลด วัดเบญจมบพิตร
สอบไล่พระปริยัติธรรมในที่ประชุมพระเถรานุเถระ ณ สนามวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ได้เป็นเปรียญสามัญ แต่ยังย่อมเยาว์ เมื่อต้นศก ๑๒๐ (พ.ศ. ๒๔๔๔)

ต่อมาปลายศก ได้เป็นเปรียญตรี ครั้น ศก ๑๒๖ ได้เป็นเปรียญโท
เมื่อศก ๑๒๗ (พ.ศ. ๒๔๕๑) ได้เป็นเปรียญเอก ๙ ประโยค
แต่เมื่ออายุยังไม่ถึง ๒๐ ปี ศก ๑๒๘ (พ.ศ. ๒๔๕๒)
บัดนี้อายุครบบริบูรณ์ควรจะอุปสมบทได้แล้ว

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชหฤทัยยินดี
ในความสามารถของสามเณรปลด เปรียญ
ซึ่งสอบสอบไล่ได้เป็นเปรียญ ๙ ประโยค
แต่เมื่อยังเป็นสามเณรหาได้โดยยาก เป็นเหตุให้ทรงพระกรุณา

จึงโปรดเกล้าฯ ที่จะอุปสมบทมีทำขวัญด้วย
เจ้าพนักงานจัดการที่จะทำขวัญ ที่พระที่นั่งทรงธรรม
ตกแต่งประดับประดาธรรมาสน์ประดับมุก อันเป็นบัลลังก์เรือ
ด้วยใบไม้ดอกไม่ ณ เบื้องบน เหมือนธรรมาสน์เทศนมหาชาติ

ด้านตะวันออกตั้งเก้าอี้สำหรับพระสงฆ์นั่ง ด้านตะวันตกตั้งพระราชอาสน์
และตั้งเก้าอี้พระบรมวงศานุวงศ์ต่อออกมา
ในพระฉากตั้งเก้าอี้พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายใน

หว่างตั้งเครื่องอัฏบริขาร และของถวายในการอุปสมบท
และตั้งบายศรีเครื่องทำขวัญ มีบายศรีทองเงินขนาดเล็กคู่หนึ่ง
แต่งดอกไม้แทนของคาวหวาน

ส่วนที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้น ก็ได้เตรียมการที่จะอุปสมบทตามธรรมเนียม

วันที่ ๓ กรกฏาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๘
เวลาบ่าย ๕ โมง ๑๕ นาที


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินแต่ราชวังดุสิต
โดยรถม้าพระที่นั่งถึงวัดเบญจมบพิตร
เสด็จพระราชดำเนินทางประตูหน้าพระอุโบสถ
เลี้ยวข้ามสะพานพระรูป ประทับบนพระที่นั่งทรงธรรม

มีพระราชดำรัสด้วยสมเด็จพระวันรัต (อุทยมหาเถระ ทิต) ตามสมควรแล้ว
เสด็จกลับมาประทับพระราชอาสน์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้
สามเณรปลด เปรียญ ขึ้นนั่งบนธรรมาสน์

แล้วโปรดเกล้าฯ ให้พราหมณ์เบิกแว่นเวียนเทียนคำขวัญ
พระสงฆ์ในพระอารามนี้ (วัดเบญจมบพิตร) ซึ่งนั่งเก้าอี้อยู่นั้นกับสมเด็จพระวันรัต
ซึ่งเป็นประธาน สวดชัยมงคลคาถา เวียนเทียนรอบหนึ่ง สวดจบหนึ่งทุกรอบ

พระบรมวงศานุวงศ์ข้าทูลละอองธุลีพระบาทเวียนเทียน
พราหมณ์เป่าสังข์แกว่งบัณเฑาะว์ ชาวประโคม ประโคมแตรสังข์ฆ้องชัยพิณพาทย์

ครั้นถ้วนเบญจมวารแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เสด็จฯ ไปพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่สามเณรปลด เปรียญ
แล้วสมเด็จพระวันรัตถวายอดิเรก พระสงฆ์รับภวตุสัพพมังคลังแล้ว

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับศาลามุขบัญชรภาค
ทอดพระเนตรกระบี่กระบองซึ่งมีในการทำขวัญ
และพระราชทารางวัลตามสมควรทุกๆ คู่แล้ว

เวลาย่ำค่ำ ๓๕ นาที เสด็จพระราชดำเนินกลับพระราชวังสวนดุสิต

วันที่ ๔ กรกฏาคม เวลาบ่าย

กระบวนรถมอเตอร์คาร์ของหลวง และรถที่ขอแรงมาเข้ากระบวน
ได้มาเทียบอยู่ที่ถนนศก แล้วอ้อมพระรามมาตามถนนดวงตะวัน
ท้ายกระบวนจรดถนนเบญจมาศ

แต่รถซึ่งรับสามเณรปลด เปรียญ เทียบอยู่ตรงประตูข้างพระอารามด้านเหนือ
ตรงสะพานถ้วยรถหลวง และรถที่ขอแรงมาเข้ากระบวน
รับบรรทุกเครื่องสักการะธูปเทียนอุปัชฌาย์ เครื่องบริขาร
และของถวายพระนั่งหัตถบาศ

ครั้นเวลาบ่าย ๔ โมงเศษ
สามเณรปลด เปรียญ ขึ้นรถเสร็จแล้ว
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาวัดเบญจมบพิตร
แต่พระราชวังสวนดุสิต โดยรถพระที่นั่งมอเตอร์คาร์

ทอดพระเนตรกระบวนโดยตลอดแล้ว
เสด็จพระราชดำเนินล่วงหน้าตามทางที่กระบวนจะดำเนินนั้น
หยุดประทับรถพระที่นั่งคอยทอดพระเนตรอยู่หน้าประตูสวัสดิโสภา

ครั้นเวลา บ่าย ๔ โมง ๓๐ นาที

กระบวนรถเคลื่อนจากวัดเบญจมบพิตรเป็นลำดับกัน
ไปตามถนนศก ๒ ข้ามสะพานโสภาคย์ ไปถึงถนนคอเสื้อ
เลี้ยวข้ามสะพานชมัยมรุเชษฐ ตรงไปเลี้ยวถนนตลาด
ข้ามสะพานเทวกรรมรังรักษ์ เลี้ยวไปตามถนนกรุงเกษม
ข้ามสะพานร้อยปี ตรงไปเลี้ยวถนนบำรุงเมือง
ข้ามสะพานแม้นศรี ข้ามสะพานสมมติอมรมารค
ตรงป่านเสาชิงช้า ข้ามสะพานช้างโรงสี ตรงไปเลี้ยวถนนสนามชัย
ผ่านรถพระที่นั่ง ซึ่งประทับคอยทอดพระเนตรอยู่ที่หน้าประตูสวัสดิโสภานั้น

พระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาท
ลงจากรถรอคอยตามเสด็จพระราชดำเนิน
แล้วปล่อยรถล่วงไปทางป้อมเผด็จดัสกร

เมื่อใกล้จะถึงรถสามเณรปลด เปรียญ
โปรดเกล้าฯ ให้รถเข้าประตูสวัสดิโสภา ไป ๓ หลัง

คือรถบรรทุกเครื่องสักการะ ๑
รถบรรทุกเครื่องอัฏบริจาร ๑
รถสามเณรปลด เปรียญ ๑

รถพระที่นั่งตามเข้าประตูสวัสดิโสภาไป
หยุดรถพระที่นั่งที่ประตูระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้ว
เสด็จพระราชดำเนินทรงพาสามเณรปลด เปรียญ
เข้าประตูพระระเบียงตรงหน้าพระพุทธปรางค์ ตามทางลาดพระบาท
พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาท
แล้วเสด็จเข้าในพระอุโบสถ ทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการแล้ว

สามเณร ปลด เปรียญจุดเทียนบูชาระมหามณีรัตนปฏิมากรแล้ว
พระราชทานไตร สามเณรปลด เปรียญครองผ้าเสร็จแล้ว
นำเครื่องสักการะเข้าไปขอนิสสัยต่อสมเด็จพระวันรัต

เมื่อสมเด็จพระวันรัตรับเป็นอุปัชฌาย์และบอกบาตรจีวรแล้ว
ขับสามเณรปลด เปรียญออกไปนอกหัตถบาสสงฆ์

พระธรรมวโรดม และพระธรรมเจดีย์ สวดสมมติตนต่อสงฆ์แล้ว
ออกมาถามอันตรายิกธรรมต่อสามเณรปลด เปรียญ
แล้วกลับเข้าไปประกาศแก่พระสงฆ์

และเรียกสามเณรปลด เปรียญ ไปถามอันตรายิกธรรมต่อหน้าสงฆ์อีกวาระหนึ่งแล้ว
สามเณรปลด เปรียญ ขออุปสมบทต่อสงฆ์
พระธรรมวโรดม และพระธรรมเจดีย์ สวดญัตติจตุตกรรมวาจา
ให้สามเณรปลด เปรียญ สำเร็จอุปสมบทเป็นอุปสัมบันขึ้นในพระพุทธศาสนา
มีพระนามฉายาว่า “กิตฺติโสภโณ”

เมื่อเสร็จอุปสมบทแล้ว โปรดฯ ให้เปลี่ยนพระธรรมไตรโลกจารย์
ออกมาบอกอนุสาสน์ กรณียากรณียะ

พระมหาปลด รับอามะภัณเต ๘ หนแล้ว

โปรดฯ ให้พระมหาปลดถวายของแด่สมเด็จพระวันรัต พระธรรมวโรดม พระธรรมเจดีย์
และพระธรรมไตรโลกาจารย์ และพระสงฆ์นั่งหัตถบาส ๒๑ รูปแล้ว

พระราชทานบริขารของหลวงแล้ว
โปรดฯ ให้พระมหาปลดไปรับของที่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ
ซึ่งทรงปวารณาในศกนี้ ที่พระฉากด้านใต้แล้ว
ออกมารับของพรบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการฝ่ายหน้าเสร็จแล้ว

สมเด็จพระวันรัต ยถา พระมหาปลดกรวดน้ำ
พระสงฆ์อนุโมทนาต่อ โส อัตถลัทโธ จบแล้ว
สมเด็จพระวันรัตถวายอดิเรก พระสงฆ์รับภวตุสัพพมังคลัง จบแล้ว

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินจากพระอุโบสถ
ตามทางเดิมขึ้นประทับรถพระที่นั่ง เสด็จกลับทางถนนสนามไชย
ถนนราชดำเนินใน ข้ามสะพานผ่านพิภพลีลา ถนนราชดำเนินกลาง
ข้ามสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถนนราชดำเนินนอก
ข้ามสะพานมัฆวานรังสรรค์ ตรงไปถนนเบญจมาศถึงหน้าพระลานประทับ

รถพระที่นั่งคอยทอดพระเนตรกระบวนกลับพระมหาปลด
โดยเสด็จพระราชดำเนินออกมาขึ้นรถที่ประตูพระระเบียงแล้ว
เลื่อนรถออกมาคอยกระบวนอยู่ที่หน้าประตูสวัสดิโสภา

เมื่อหมดกระบวนหน้าแล้ว
ออกรถเข้ากระบวนไปตามทางเสด็จพระราชดำเนินผ่านรถพระที่นั่งที่หน้าพระลานแล้ว
เลี้ยวถนนดวงตะวันไปเลี้ยวถนนศก
ส่งพระมหาปลดกลับเข้าวัดเบญจมบพิตร
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินกลับพระราชวังดุสิต เป็นเสร็จการฯ


Image
เมื่อครั้งทรงเป็นพระมหาปลด กิตฺติโสภโณ เปรียญ ๙ ประโยค 

Image
ครูบาศรีวิชัย


การพระศาสนา

โดยที่ทรงมีพระอัธยาศัยน้อมไปในเนกขัมมะ
ได้ศึกษาอักขรสมัยบาลีภาษา และธรรมวินัย แต่เมื่อมีพระชนม์ยังน้อย
ได้บรรพชาเป็นสามเณร ในเวลาที่มีพระชนม์เพียง ๑๒ ปี เท่านั้น

และเพราะมีพระอัธยาศัยรักในทางธรรม ทรงค้นคว้าศึกษาจนแตกฉาน
สามารถสอบเป็นเปรียญ ๙ ประโยคได้แต่ครั้งเป็นสามเณร
และได้รับการอุปสมบทติดต่อมา ด้วยพระบรมราชูปถัมภ์เป็นพิเศษ

ดังนั้นเมื่อพระองค์ได้รับการอุปสมบทเป็นภิกษุแล้ว
การศึกษาพระปริยัติธรรมตามหลักสูตรการศึกษา ก็เป็นอันจบด้วยดีแล้ว

นอกจากจะทรงค้นคว้าศึกษาเป็นพิเศษอื่นๆ ตามพระอัธยาศัย

ซึ่งก็เพราะเหตุนี้เอง พระองค์จึงได้รับภารกิจพระศาสนามาเป็นอันมาก
และภาระหน้าที่ที่พระองค์ได้ทรงรับแล้วนั้นๆ ก็ทรงสามารถปฏิบัติให้สำเร็จไปด้วยดี
และบางครั้งต้องประกอบด้วยอุบายวิธี

เช่น การที่จะป้องกันมิให้ ท่านครูบาศรีวิชัย และศิษย์อื่นๆ
ทำการบรรพชาอุปสมบทบุคคลไม่เลือก คือเมื่อมีบุคคลมาขอบวชแล้ว
จะเป็นบุคคลเช่นไรไม่คำนึงถึง ให้การบรรพชาอุปสมบททันที

ครั้นบุคคลเหล่านั้นนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์แล้ว เพราะไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัย
จึงก่อความลำบากแก่วงการคณะสงฆ์ในภาคพายัพ

พระองค์ในฐานะเป็นเจ้าคณะมณฑลพายัพ
ครั้นจะปฏิบัติการอะไรรุนแรงลงไปก็ไม่ได้

เพราะ ครูบาศรีวิชัย เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนเป็นอันมาก
ซึ่งโดยความเป็นจริง ครูบาศรีวิชัยเป็นภิกษุที่ดีมาก ยากที่จะหาผู้เสมอเหมือนได้

แต่บรรดาสานุศิษย์ของครูบาเอง
พยายามที่จะใช้บารมีธรรมของท่านไปในทางที่ไม่ถูกต้อง
จึงเกิดความไม่เรียบร้อยขึ้นในวงการคณะสงฆ์ โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่

พระองค์จึงได้อาราธนา ครูบาศรีวิชัย ลงมาพักอยู่ที่วัดเบญจมบพิตร
เพื่อขอให้ครูบาศรีวิชัยได้ทำสัญญาว่าจะไม่บวชพระเณรก่อนได้รับอนุญาต

ในขณะเดียวกันก็ได้ปรึกษาหารือเพื่อความเรียบร้อยแห่งวงการคณะสงฆ์ด้วย
ซึ่ง ครูบาศรีวิชัย ก็ได้เห็นชอบด้วยดีและยอมทำสัญญาไว้กับพระองค์

เมื่อได้ตกลงกันแล้ว พระองค์ก็ได้ทรงอนุญาตให้ ครูบาศรีวิชัย กลับเชียงใหม่ได้
และการคณะสงฆ์ก็เรียบร้อยแต่นั้นมา

เจ้าประคุณสมเด็จฯ เคยรับสั่งว่า ครูบาศรีวิชัย เป็นภิกษุที่ดีมาก
และได้รักษาสัญญานั้นเป็นอันดีมาจนตลอดชนมชีพของท่าน

นี่เป็นเรื่องหนึ่งในหลายๆ เรื่อง ที่ได้ทรงปฏิบัติการไปเพื่อกิจพระศาสนา

และกิจการพระศาสนาที่ได้ทรงปฏิบัติตลอดพระชนมชีพของพระองค์นั้น
พอจะสรุปลงได้ในองค์การพระศาสนาทั้ง ๔ องค์การ ดังต่อไปนี้

Image
สัญญาบัตร สมัยดำรงสมณศักดิ์ที่พระศรีวิสุทธิวงศ์ 


Image
ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระราชเวที


๑. องค์การปกครอง

เมื่อได้รับการอุปสมบทแล้ว ในฐานะที่เป็นเปรียญเอก ๙ ประโยค
ก็คงจะได้รับมอบหมายให้ช่วยการปกครองคณะเป็นการภายในบ้าง
แต่ไม่ปรากฏหลักฐาน

ลำดับสมณศักดิ์และงานปกครองคณะสงฆ์

ต่อล่วงมาอีก ๖ ปี พระชนมายุได้ ๒๖ ปี พรรษา ๖
ในต้นรัชกาลที่ ๖ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น
พระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระศรีวิสุทธิวงศ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗

และเป็น ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร
ลำดับสมณศักดิ์ และงานปกครองคณะสงฆ์ของพระองค์
จึงปรากฏเป็นหลักฐานตั้งแต่นั้นมา ซึ่งมีเป็นลำดับดังนี้

๑. เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๗ ถึง พ.ศ. ๒๔๗๑

๒. เป็นเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๑ ถึงสิ้นพระชนม์

๓. เป็นแม่กองสอบไล่นักธรรมสาขามณฑลพายัพ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕

๔. ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่
พระราชเวที เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖


Image
ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระเทพมุนี


๕. เป็นเจ้าคณะแขวงกลาง จังหวัดพระนคร (เทียบเท่าเจ้าคณะจังหวัด)
ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๘ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๕

๖. ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพมุนี

๗. สมเด็จพระวันรัต (จ่าย ปุณฺณทตฺโต) เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร ถึงแก่มรณภาพ
เจ้าประคุณสมเด็จฯ ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเทพมุนี
ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร สืบต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๗๑
และเป็นเจ้าคณะมณฑลพายัพ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๑ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๕

๘. ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่
พระธรรมโกศาจารย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒


Image
ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมโกศาจารย์


๙. เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม
ตามพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑
ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๓ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๕

๑๐. เป็นแม่กองบาลีสนามหลวง ถึง พ.ศ. ๒๕๐๓

๑๑. เป็นเจ้าคณะมณฑลพิษณุโลก ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๑ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๔ และในศกเดียวกันนี้

๑๒. เป็นประธานคณะบัญชาการคณะสงฆ์แทนสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)
วัดสุทัศนเทพวราราม ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๑ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๔ ในรัชกาลที่ ๘

๑๓. เมื่อพระชนม์ได้ ๕๑ พรรษา ๓๑ ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็น
พระราชาคณะ ตำแหน่งเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏที่ พระพรหมมุนี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒

๑๔. พ.ศ. ๒๔๘๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา
พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔
ขึ้นแทนพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑

การปกครองคณะสงฆ์ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ นี้
อนุวัติตามการปกครองของบ้านเมือง คือ
มี สังฆสภา คณะสังฆมนตรี และคณะวินัยธร

เจ้าประคุณสมเด็จฯ ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ พระพรหมมุนี
เป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การศึกษา ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๕ ถึง พ.ศ. ๒๕๐๓

๑๕. เป็นแม่กองธรรมสนามหลวง ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๕ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๖


Image
ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระวันรัต


๑๖. ในรัชกาลปัจจุบัน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๐ พระชนม์ได้ ๕๙ พรรษา ๓๘
ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะ
ตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ชั้นสุพรรณบัฏที่ สมเด็จพระวันรัต

๑๗. เป็นสังฆนายก ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๔ ถึง พ.ศ. ๒๕๐๓

๑๘. เมื่อ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
ทรงประชวร และไม่ทรงสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามปกติได้
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น ผู้บัญชาการคณะสงฆ์
แทนสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ตั้งแต่วันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๑

และเมื่อสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ สิ้นพระชนม์แล้ว
โปรดเกล้าฯ ให้ รักษาการในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช
ตั้งแต่วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๑



Image
พระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม


๒. องค์การศึกษา

ได้ทรงรับภารกิจพระศาสนาในด้านการศึกษามาเป็นอันมาก
เริ่มแต่การศึกษาในสำนักเรียนวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม อาจกล่าวได้ว่า

นับตั้งแต่จบการศึกษาตามหลักสูตรแล้วก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นครูสอนบาลีผู้หนึ่ง
ดังปรากฏตามรายการพระราชกุศลในการสถาปนา วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
ภาคที่ ๑๗ รัตนโกสินทร ๑๒๘ ว่าด้วยการเล่าเรียนพระปริยัติธรรม

“พระสงฆ์สามเณรวัดเบญจมบพิตรได้จัดการเปลี่ยนแปลงใหม่
เพราะมีพระสงฆ์สามเณรและศิษย์วัดได้เล่าเรียนทวีมากขึ้น
มีระเบียบการสอนเป็นชั้นๆ ดังนี้ ฯลฯ ชั้นเปรียญสามัญ
ตั้งแต่ประโยค ๑ ถึง ประโยค ๓ เรียนธรรมบทบั้นต้นบั้นปลาย
พระมหาโชติ เปรียญ ๘ ประโยคเป็นผู้สอนประจำชั้น
แต่บางคราวให้พระมหาปลด เปรียญ ๙ ประโยคเป็นผู้สอนแทน”


ดังนี้ ปรากฏว่าทรงเป็นครูที่ดี สามารถถ่ายเทความรู้ให้แก่ศิษย์ได้เป็นอย่างดี
ศิษย์ของพระองค์ได้สำเร็จการศึกษาเป็นเปรียญประโยคต่างๆ เป็นจำนวนมาก
ได้เป็นกำลังพระศาสนา และที่ออกไปรับราชการ
และประกอบอาชีพต่างๆ มีเป็นอันมาก

ทรงรักงานสอนหนังสือมาก เคยรับสั่งเสมอว่าเวลาที่สุขสบายใจ
ก็คือการสอนและการแสดงธรรมโดยปฏิภาณโวหาร

ทรงทำการสอนด้วยพระองค์เอง และอำนวยการให้พระภิกษุอื่นๆ สอน
ทั้งในสำนักเรียนวัดเบญจมบพิตรและในมณฑลพายัพ

โดยส่งพระเปรียญจากจังหวัดพระนครไปทำการสอนในจังหวัดต่างๆ เป็นอันมาก
ทำให้การศึกษาภาษาบาลีใน ๗ จังหวัดมณฑลพายัพ
ได้เจริญรุ่งเรืองมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

สำหรับพระองค์เองได้สอนตั้งแต่ชั้นสามัญ
คือประโยค ๓ จนถึงประโยค ๙ โดยเฉพาะประโยค ๙

ทรงสอนมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๘๗ จึงได้ยุติการสอน
เพราะมีพระเปรียญที่เป็นศิษย์สามารถสอนแทนได้แล้ว

และเพราะภาวะสงคราม
พระภิกษุสามเณรต่างกลับไปอยู่ตามภูมิลำเนาเดิมเสียเป็นส่วนมาก
ครั้นเสร็จภาวะสงครามแล้ว ก็ต้องทรงรับภาระพระพุทธศาสนาในฝ่ายอื่นมาก
ไม่มีเวลาที่จะทำการสอนได้

แต่ถึงอย่างนั้น ในการสอนพระภิกษุใหม่ซึ่งเป็นสัทธิวิหาริกของพระองค์
ได้ทรงสอนนับแต่ได้รับมอบหมายจากสมเด็จฯ เจ้าอาวาสองค์ประถมเป็นต้นมา

จนถึงพรรษาสุดท้าย คือพรรษาในปี พ.ศ. ๒๕๐๔
ในฝ่ายการศึกษาพระปริยัติธรรมนั้น
เมื่อสรุปแล้วพระองค์ทรงดำรงตำแหน่งต่างๆ ดังนี้

๑. เป็นผู้อำนวยการรักษาในสำนักเรียนวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
ในฐานะเป็นอาจารย์ใหญ่และเจ้าสำนักเรียน

๒. เป็นผู้อำนวยการรักษาในแขวงกลางจังหวัดพระนคร
ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๘ ตลอดพระชนมายุ

๓. เป็นผู้อำนวยการรักษาในมณฑลพายัพ นับแต่เป็นผู้ช่วย
ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๑ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๕

๔. เป็นแม่กองสอบไล่นักธรรมสาขามณฑลพายัพ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๕
จนถึงปีที่ได้รวมการสอนนักธรรมเขาเป็นองค์นักธรรมสนามหลวง
และเป็นแม่กองธรรมสนามหลวงเองตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๕ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๖

๕. เป็นกรรมการสอบพระปริยัติธรรมในสนามหลวงที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ตั้งแต่พรรษาแรกที่ได้อุปสมบท และในสมัยที่สอบโดยวิธีเขียน
ก็ได้เป็นกรรมการตรวจข้อสอบประโยคบาลีสนามหลวงตลอดมา

ในระยะหลังได้เป็นกรรมการในกองที่ ๑ ซึ่งมีหน้าที่ตรวจประโยคเปรียญเอก

๖. เป็นแม่กองบาลีสนามหลวง ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๙ ถึง พ.ศ. ๒๕๐๓
เป็นเวลาติดต่อกัน ๒๕ ปี

๗. เป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การศึกษา
ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๕ ถึง พ.ศ. ๒๕๐๓ รวม ๑๘ ปี


นอกจากจะทรงสอนด้วยพระองค์ และอำนวยการให้ผู้อื่นสอน
ยังดำรงตำแหน่งในทางการศึกษาดังกล่าวมาแล้ว

ในส่วนการสร้างสถานที่ศึกษา โดยเฉพาะใน วัดเบญจมบพิตร
ทรงอำนวยการให้จัดการสร้าง โรงเรียนพระปริยัติธรรม ขึ้น ๒ หลัง
เป็นตึกสองชั้นก่ออิฐถือปูน และให้สร้าง หอสมุด ป. กิตติวัน ขึ้นอีกหลังหนึ่ง

ในส่วนการศึกษาวิชาสามัญทางคดีโลก
พระองค์ได้ทรงอุปการะอุปถัมภ์ในการศึกษาแผนกนี้โดยสมควรแก่ความจำเป็น
และได้สร้างโรงเรียนเทศบาลขึ้นในวัดเบญจมบพิตรหลังหนึ่ง

ส่วนในมณฑลพายัพ ก็ได้ทรงอำนวยให้มีการศึกษาในวัดต่างๆ หลายวัด
ช่วยเหลือบ้านเมืองโดยสมควรแก่ภาวะสมณะ

Image
พระรูปตั้งอยู่เบื้องขวาของพระพุทธชินราชจำลอง
ประดิษฐานภายในพระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม


๓. องค์การเผยแผ่

ในการเผยแผ่ศาสนธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น
สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ)
ถึงแม้จะไม่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การเผยแผ่
แต่ก็ได้ทรงแสดงธรรมทั้งที่ได้เรียบเรียงขึ้นแสดง
และทรงแสดงโดยปฏิภาณโวหารในโอกาสต่างๆ และในวันธรรมสวนะเป็นประจำ

สำหรับหนังสือธรรมะที่ทรงเรียบเรียงและพิมพ์ออกเผยแผ่ก็มีมาก
เรื่องที่มีผู้พิมพ์แจกเป็นธรรมบรรณาการมากที่สุด
ที่ควรยกขึ้นกล่าวในที่นี้ก็คือ “มงคลภาษิต”
ซึ่งมีผู้พิมพ์ออกเผยแผ่หลายหมื่นเล่ม

นอกจากนี้ยังมี “ปราภวภาษิต ศีลธรรมอันดีของประชาชน”
เป็นต้น ก็มีผู้ขอพิมพ์เผยแผ่ไปแล้วหลายหมื่นเล่มเช่นเดียวกัน

อนึ่ง พระธรรมเทศนาที่ทรงแสดงนั้นๆ ล้วนมีสำนวนโวหารง่ายๆ
เป็นที่เข้าใจทราบซึ้ง และใช้เวลาแสดงไม่นานจนเกินสมควรไป

พระองค์จึงได้รับการยกย่องให้เป็นพระคณาจารย์โททางเทศนา
ตั้งแต่สมัยที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ยังทรงพระชนม์อยู่
ซึ่งในสมัยนั้นนับว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่งสำหรับท่านที่ได้รับยกย่องเช่นนั้น
และการเผยแผ่นี้ ได้ทรงกระทำทั้งในด้านเทศนา
ทั้งในด้านการหนังสือ ทั้งในด้านความประพฤติปฏิบัติ
อันเป็นทางให้ผู้อื่นถือเป็นทิฏฐานุคติ
ซึ่งก็ได้ทรงปฏิบัติและทรงวางพระองค์อย่างเหมาะสมตลอดมา

๔. องค์การสาธารณูปการ

ในการพระศาสนาส่วนนี้ทรงปฏิบัติได้ดีจนเป็นตัวอย่าง
และได้รับความชมเชยโดยเฉพาะวัดเบญจมบพิตร
ความสะอาดสะอ้านในพระอาราม นับแต่สนามหญ้า,
ต้นไม้, เสนาสนะ, พระอุโบสถ, พระวิหาร, กุฏิที่อยู่อาศัย

นอกจากนี้พระองค์ได้ทรงอำนวยการปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมถาวรวัตถุ
อันวิจิตรงดงามในพระอาราม รักษาศิลปกรรมประณีตศิลป์ไว้เป็นอันดี
ความเป็นระเบียบของเสนาสนะ ไม่ทำการก่อสร้างขึ้น
จนเสียแบบแปลนแผนผังของวัด ไม่ให้มีบ้านคฤหัสถ์ติดกำแพงวัด

และโดยเฉพาะศาสนสมบัติทั้งของวัดและศาสนสมบัติกลาง
พระองค์ทรงเอาพระทัยใส่เป็นพิเศษ พยายามรักษามิให้รั่วไหล
ด้วยการทรงสอดส่องดูแลเป็นอย่างดี

ในการพระศาสนาต่างๆ นี้ เมื่อทรงได้รับมอบหมายธุระหน้าที่ใด
ก็ทรงเอาพระทัยใส่เป็นอย่างยิ่ง และในการไปตรวจการคณะสงฆ์
ทั้งในหน้าที่ผู้แทน สมเด็จพระวันรัต (จ่าย ปุณฺณทตฺโต)
ในฐานะเจ้าคณะมณฑลพายัพ และเป็น เจ้าคณะมณฑลพายัพ เอง
พระองค์ได้เสด็จไปเกือบทุกจังหวัด เว้นแต่จังหวัดแม่ฮ่องสอน
เพราะการเดินทางไม่สะดวก และเพราะยังไม่มีกิจที่ควรจะไป
เนื่องจากกิจการคณะสงฆ์ ในจังหวัดนั้นไม่มีอะไรแปลกขึ้น
แต่ก็ได้สั่งให้ผู้ช่วยเจ้าคณะมณฑลพายัพขึ้นไปอยู่ประจำแทนเป็นครั้งคราว

Image
สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) พร้อมเครื่องประกอบสมณศักดิ์


และโดยที่ได้ดำรงตำแหน่งประธานคณะบัญชาการคณะสงฆ์
แทนองค์ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) วัดสุทัศนเทพวราราม
พระองค์ได้ไปตรวจการคณะสงฆ์ในมณฑลปักษ์ใต้ เกือบจะกล่าวได้ว่าทุกจังหวัด
และในหน้าที่สังฆนายกก็ได้ไปตรวจการคณะสงฆ์มณฑลตะวันออกเฉียงเหนือหลายจังหวัด

และถ้าหากสุขภาพของพระองค์ไม่ทรุดโทรมลงเพราะอาพาธจนถึงการผ่าตัดใหญ่
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ แล้ว เข้าใจว่า มณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ
ก็คงจะได้เสด็จทุกจังหวัดทีเดียว ซึ่งก็ได้ตระเตรียมการเสด็จไว้แล้ว
ในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ นี้เอง แต่เกิดอาพาธเป็นนิ่วเสีย จึงเสด็จไปไม่ได้

กล่าวโดยสรุปแล้ว ในกิจธุระพระศาสนาสมเด็จพระสังฆราช
ทรงเอาพระทัยใส่เป็นอย่างดี ทั้งในหน้าที่และมิใช่หน้าที่โดยตรง

Image
พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖


พระเกียรติคุณด้านตำราวิชาการ

เจ้าประคุณสมเด็จฯ ทรงได้รับการยกย่องให้เป็นพระคณาจารย์โททางศาสนา
กล่าวกันว่า ในสมัยเมื่อครั้งที่ยังทรงดำรงสมณศักดิ์เป็น
พระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระศรีสุทธิวงศ์ ในปี พ.ศ. ๒๔๖๖
ได้ถวายพระธรรมเทศนาในงานพระราชพิธีวิสาขบูชา
ที่ค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญ จังหวัดเพชรบุรี
พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาธีรราชเจ้า รัชกาลที่ ๖
ได้มีพระราชดำรัสชมเชยพระธรรมเทศนาวิสาขบูชาที่ถวายในคราวนั้นว่า

“เป็นเทศนาที่เหมาะใจของข้าพเจ้ายิ่งนัก
เพราะพระศรีวิสุทธิวงศ์ได้เก็บคดีธรรมผสมกับคดีโลกอย่างสนิทสนมกลมกล่อม
และใช้สำนวนโวหารอันเข้าใจง่าย สำหรับบุคคลไม่เลือกว่าชั้นใด”


อนึ่ง สารคดีธรรมและพระธรรมเทศนาที่ทรงนิพนธ์นั้นมีจำนวนมาก
และมีการจัดพิมพ์เผยแพร่แล้วเป็นส่วนมาก
และพระเกียรติคุณด้านวิชาการและตำราที่นับว่าสำคัญก็คือ
การชำระคัมภีร์สำคัญทางพระพุทธศาสนา

ซึ่งเจ้าประคุณสมเด็จฯ ทรงได้ทำหน้าที่อันสำคัญนี้มาแต่ครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์
เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระศรีวิสุทธิวงศ์ เป็นต้นมา กล่าวคือ

Image
พัดรัตนภรณ์ ที่ทรงได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ ๖ (กลาง)


ในรัชกาลที่ ๖

ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระศรีวิสุทธิวงศ์
ทรงรับหน้าที่ชำระพระคัมภีร์ปรมตฺถทีปนี อรรถกถาอุทาน และอิติวุตตกะ
พระสุตตันตปิฎก และพระคัมภีร์ สทฺธธมฺมปชฺโชติกา อรรถกถามหานิเทศ
และจุลลนิเทศ พระสุตตันตปิฏก ๔ เล่ม

ในรัชกาลที่ ๗

ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเทพมุนี ทรงรับหน้าที่ชำระ
พระคัมภีร์มหานิเทส จุลลนิเทศ และชาดกแห่งพระสุตตันปิฎก ๔ เล่ม

และขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมโกศาจารย์
ทรงรับหน้าที่ชำระพระคัมภีร์สารัตถทีปนี ฎีกาพระวินัยปิฎก ๔ เล่ม

ในรัชกาลที่ ๘

ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระพรหมมุนี
ทรงเป็นประธานคณะกรรมการแปล พระไตรปิฎกเป็นภาษาไทย
อันเป็นการแปลพระไตรปิฎกจากภาษาบาลีเป็นภาษาไทยเป็นครั้งแรก
เริ่มดำเนินการแปลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓
และแปลเสร็จบริบูรณ์และจัดพิมพ์เป็นเล่มหนังสือจำนวน ๘๐ เล่ม
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ ในรัชกาลที่ ๙


Image
พระพุทธชินราชองค์จำลอง
พระประธานในพระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม



นอกจากนี้ยังมีการคณะต่างๆ ที่ควรกล่าวไว้เป็นพิเศษอีกคือ

การในวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

ในธุรกิจเกี่ยวกับการบริหารวัดเบญจมบพิตรนั้น
นับตั้งแต่ได้รับมอบหมายให้เป็น ผู้ช่วยเจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส
และเป็นเจ้าอาวาส
เอง เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๑
สืบต่อจากสมเด็จฯ เจ้าอาวาสองค์ประถมแล้ว
พระองค์ได้ปฏิบัติกรณียกิจ อำนวยให้เกิดประโยชน์
และความเจริญแก่วัดเบญจมบพิตรหลายสถาน

ในการปกครอง

ได้กวดขันให้ภิกษุสามเณรรักษาระเบียบแบบแผนประเพณี
อันเป็นพระราชประสงค์ในรัชกาลที่ ๕ ไว้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย
และเพื่อให้การปกครองเป็นไปโดยเรียบร้อย
พระองค์ได้ออกระเบียบกติกาของวัดขึ้นโดยเฉพาะในวันธรรมสวนะ

เวลาเช้าภิกษุสามเณรจะต้องลงทำวัตรฟังเทศน์เสมอ
เว้นแต่มีกิจนิมนต์ แต่ก็ต้องบอกลาไว้เป็นหลักฐาน

สำหรับการฟังพระปาติโมกข์ทุกกึ่งเดือนแล้วภิกบุปูใดจะขาดมิได้
เว้นแต่อาพาธหรือมีกิจนิมนต์จำเป็นจริงๆ
โดยเฉพาะพระองค์ได้ทรงทำเป็นตัวอย่างอันดีเสมอ
อันนี้เป็นที่ทราบกันดีของบรรดาภิกษุสามเณรวัดเบญจมบพิตร

ในการศึกษา

โดยพระราชประสงค์ในรัชกาลที่ ๕ ทรงต้องการให้วัดเบญจมบพิตร
เป็นแหล่งกลางการศึกษาพระปริยัติธรรมแห่งหนึ่ง
ซึ่งจะเห็นได้จากการที่ทรงสนับสนุนด้วยประการต่างๆ
เช่น ภายหลังจากการสอบไล่พระปริยัติธรรมแล้ว
หากภิกษุสามเณรใดสอบได้ ก็พระราชทานรางวัลเป็นพิเศษ
และเลี้ยงพระเป็นการฉลองสมโภชด้วย

ซึ่งในการเลี้ยงพระนี้ ภิกษุสามเณรรูปใดสอบตก
จะไม่ถูกนิมนต์เข้าร่วมในพิธีการนี้เลยเป็นต้น
และหากภิกษุสามเณรรูปใดสอบตกติดๆ กัน ๓ ปีแล้ว
ไม่มีพระราชประสงค์จะให้อยู่ต่อไปฯ

พระราชประสงค์ดังกล่าวนี้สมเด็จพระสังฆราชทรงทราบดีมาแต่ต้น
พระองค์จึงทรงเอาพระทัยใส่ในเรื่องการศึกษาเป็นพิเศษ
นับตั้งแต่เป็นครูอาจารย์สอนด้วยพระองค์เอง
และอำนวยการให้ภิกษุอื่นๆ ได้ช่วยทำการสอน
ควบคุมวิธีการเรียนการสอนด้วยพระองค์เอง
ทั้งในฐานะเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสและในฐานะเป็นเจ้าอาวาส

ซึ่งผลของการศึกษานั้น นับตั้งแต่พระองค์ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสเป็นต้นมา
ปรากฏมีผู้ที่เรียนพระปริยัติธรรมและสอบไล่ได้เป็นเปรียญเป็นจำนวนมาก
โดยเฉพาะในสมัยที่ทรงดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสนี้
มีผู้ที่สอบไล่ได้เป็นเปรียญธรรม ๙ ประโยค เกินกว่า ๑๐ รูปแล้ว
นับเป็นเกียรติประวัติอันดียิ่งของวัดเบญจมบพิตร

ซึ่งโดยปกติในจำนวนภิกษุสามเณรอยู่ประจำพระอารามประมาณ ๗๐-๘๐ รูปนั้น
มีที่เป็นเปรียญธรรม ตั้งแต่ ๓ ประโยค ถึง ๙ ประโยค ประมาณ ๖๐-๗๐ รูป

ในการเผยแผ่

นอกจากจะทรงแสดงธรรมสั่งสอนพุทธบริษัท
โดยปฏิภาณโวหารประจำวันธรรมสวนะแล้ว
ได้ทรงอำนวยการให้มีการเผยแผ่ด้วยประการอื่นๆ อีกหลายประการ
เป็นต้นว่ากวดขันความเป็นอยู่ของภิกษุสามเณร
ให้อยู่ในระเบียบแบบแผนขนบธรรมเนียมประเพณีของวัด

Image
โคมตราพระเกี้ยวแขวนเพดานพระอุโบสถ


ในการสาธารณูปการ

สำหรับพระอาราม พระองค์เคยรับสั่งว่าสมเด็จพระพันปีหลวงเคยรับสั่งกับพระองค์ไว้ว่า
การที่รัชกาลที่ ๕ ทรงยกย่องและอุปถัมภ์บำรุงพิเศษนั้น
ก็ด้วยมีพระราชประสงค์จะให้ได้รักษาพระอารามสืบพระราชกุศลให้ถาวรมั่นคงตลอดไป

ฉะนั้น ในการดูแลรักษาและจัดการเกี่ยวกับการสาธารณูปการในพระอาราม
เช่น ความสะอาด การปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมถาวรวัตถุอันวิจิตรงดงาม
และการกุฏิเสนาสนะวิหารภายในพระอารามโดยทั่วไป
จึงทรงเอาพระทัยใส่เป็นพิเศษ ถึงแม้ในการปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมถาวรวัตถุต่างๆ
เช่น พระอุโบสถ พระวิหาร และกุฎิเสนาสนะ
อันต้องทำการปฏิสังขรณ์เป็นอันมากนั้น จักไม่มีทุนมาทำการปฏิสังขรณ์มาแต่เดิม

พระองค์ได้ทรงขวนขวายจัดให้มีขึ้น โดยจัดการฟื้นฟูพระราชประเพณี
มีการจัดงานมนัสการพระพุทธชินราชประจำปีขึ้นในพระบรมราชูปถัมภ์
และขอความอุปถัมภ์จากรัฐบาลและประชาชนมาทำการ

ซึ่งได้จัดทำการปฎิสังขรณ์สำเร็จมาแล้วเป็นอันดี
และเสนาสนะอันจำเป็นแก่การศึกษาเช่น โรงเรียนพระปริยัติธรรม
ก็ได้จัดการให้กอสร้างหอศึกษาพระปริยัติธรรมขึ้น ๒ หลัง และหอสมุดอีกหลังหนึ่ง
แม้วัตถุเครื่องประดับในพระอุโบสถ
ซึ่งแต่เดิมก็ไม่มีบริบูรณ์ก็ได้จัดให้มีขึ้นหลายประการ คือ

Image
ภาพพระธาตุพนม ๑ ใน ๘ ของพระจอมเจดีย์
ที่ได้รับการเขียนไว้ในช่องคูหาของพระอุโบสถ



๑. โต๊ะหมู่เครื่องบูชาหมู่ ๙ หน้าพระพุทธชินราช
๒. โคมตราพระเกี้ยวแขวนเพดานพระอุโบสถ
๓. ภาพพระจอมเจดีย์ทั้ง ๘ ในช่องคูหาของพระอุโบสถ และ
๔. กระจกภาพเทพประนมลายสี บนกรอบหน้าต่างพระอุโบสถ เป็นต้น
และกำลังดำริที่จะทำการเปลี่ยนแปลงกำแพงแก้วหน้าพระอุโบสถ
ให้เป็นศิลาอ่อน ตามพระราชประสงค์ในรัชกาลที่ ๕ ด้วย

ในฝ่ายการศึกษาทางคดีโลก

สมเด็จพระสังฆราช ในฐานะเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร
ได้เอาพระทัยใส่สนับสนุนการศึกษาฝ่ายนี้โดยสมควร
คือได้ร่วมกับทางราชการสร้างโรงเรียนชั้นประถมศึกษาเทศบาลขึ้นหลังหนึ่ง
ในการอุปถัมภ์บำรุงนั้น ใน วัดเบญจมบพิตร
มีโรงเรียนที่สอนวิชาสามัญ ๒ โรง คือ โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร
และโรงเรียนเทศบาล ๘ ที่ได้สร้างขึ้น นั้น

สมเด็จพระสังฆราช ได้ทรงอุปถัมภ์อุปการะตามโอกาส
เช่น อบรมสั่งสอนเด็ก และให้รางวัลแก่เด็กนักเรียนที่สอบได้คะแนนเป็นเยี่ยม
เป็นการสนับสนุนการศึกษาของนักเรียนให้ดีขึ้น

สรุปรวมความแล้ว วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
ในสมัยที่สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส
เป็นเวลา ๓๓ ปี ๙ เดือน และ ๑ วัน ได้เจริญขึ้นโดยลำดับ
ทั้งในด้านการศึกษา ด้านการเผยแผ่
และในด้านการปกครองก็พยายามกวดขันภิกษุสามเณร
ให้ประพฤติดีปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย
และระเบียบแบบแผนประเพณีอันดีของวัด
ตามพระราชประสงค์ในรัชกาลที่ ๕
และพยายามทำนุบำรุงรักษาศิลปกรรมถาวรวัตถุต่างๆ ในพระอารามเป็นอันดี
สมกับความไว้วางพระราชหฤทัยในรัชกาลที่ ๕ และสมเด็จพระพันปีหลวง


การต่างประเทศ

ได้เสด็จไปต่างประเทศทั้งเป็นการส่วนพระองค์ และราชการรวม ๙ ครั้งคือ

ครั้งที่ ๑

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ ในฐานประธานคณะบัญชาการคณะสงฆ์
แทนพระองค์ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) วัดสุทัศนเทพวราราม
ไป ตรวจการคณะสงฆ์ภาคใต้ ได้ไปไทรบุรี ปีนัง ในสหพันธรัฐมลายา
โดยออกไปทางเบตง และกลับทางสงขลา

ครั้งที่ ๒

เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ ได้เป็นหัวหน้าคณะ
ไปร่วมปฏิบัติ งานฉัฎฐสังคายนาจตุตถสันนิบาต (สมัยไทย)
โดยเป็นประธานกระทำพิธีเปิดประชุมสังคายนาสมัยที่สี่นั้น
ณ ปาสาณคูหา ประเทศสหภาพพม่า
และในการไปครั้งนี้ ได้เสด็จไปเมืองสำคัญ ณ ในสหภาพพม่าด้วย เช่น
เมืองพะโค เมืองมัณฑเล เมืองอมรปุระ และเมเมี้ยว เป็นต้น เป็นเวลา ๑๕ วัน

ครั้งที่ ๓

เมื่อเดือนพฤษภาคม และมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้เป็นหัวหน้าคณะ
ไปร่วม พิธีฉลองพุทธชยันตี ๒๕ ศตวรรษแห่งพระพุทธศาสนา
ณ ประเทศลังกา โดยผ่านไปพักที่สิงคโปร์ ๓ วัน
แล้วไปร่วมพิธีที่เมืองซีลอนหรือโคลัมโบ เมืองแคนดี เมืองอนุราชปุระ
เมื่อเสร็จพิธีที่ประเทศลังกาแล้ว ได้เสด็จเลยไปสังเกตการพระศาสนา
ในประเทศอินเดียอีกด้วย เป็นเวลา ๓๐ วัน

ครั้งที่ ๔

เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ ได้เป็นหัวหน้าคณะ
ไปร่วมงานและเป็นประธานประกอบพิธีบรรจุพระบรมธาตุ
ณ วัดบุบผาราม เมืองปีนัง สหพันธรัฐมลายา

ซึ่งในการเสด็จไปครั้งนี้ได้เสด็จไปเมืองกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวง เป็นเวลา ๗ วัน

ครั้งที่ ๕

เมื่อเดือนมีนาคม และ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๒ ได้เป็นหัวหน้าคณะ
ไปร่วม พิธีฉลองพุทธยันตี ๒๕ ศตวรรษแห่งพระพุทธศาสนา
ณ ประเทศญี่ปุ่น
นอกจากจะเสด็จไปตามเมืองใหญ่ๆ หลายเมืองแล้ว
ยังได้เสด็จไปเยี่ยมทหารไทย ณ ประเทศเกาหลีด้วย เป็นเวลา ๓๐ วัน

ครั้งที่ ๖

เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๒ ได้เป็นหัวหน้าคณะ
นำพระสงฆ์ไทยไปอยู่ ณ วัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดีย
และได้เสด็จไปนมัสการปูชนียสถานสำคัญ
คือ สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล ด้วย เป็นเวลา ๑๐ วัน

ครั้งที่ ๗

เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๐๓ ในการไปประกอบพิธีเปิด
โรงเรียนพระปริยัติธรรม ณ วัดโพธิ์ชัย จังหวัดหนองคาย
ได้เลยไปเยี่ยมคณะสงฆ์และเยี่ยมวัดต่างๆ ในประเทศลาวด้วย

ครั้งที่ ๘

เมื่อเดือนมิถุนายน และกรกฏาคม พ.ศ. ๒๕๐๔
ได้เสด็จไปสังเกตการพระศาสนาการศึกษา และเยี่ยมประชาชน
ในประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรปบางประเทศ
ตามคำทูลอาราธนาของ มูลนิธิเอเซีย เป็นเวลา ๔๕ วัน

ครั้งที่ ๙

เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๐๕ ก่อนหน้าสิ้นพระชนม์เดือนเศษ
คือระหว่างวันที่ ๗ เมษายน ถึงวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๕
ได้เสด็จไป สังเกตการพระศาสนาและเยี่ยมประชาชนอินเดีย
ตามคำทูลอาราธนาของรัฐบาลอินเดีย เป็นเวลา ๒๐ วัน


Image
สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ)


พระกรณียกิจพิเศษ

กิจการคณะสงฆ์และการพระศาสนา นอกจากที่กล่าวแล้ว
ยังมีที่ทรงได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติกรณียะเป็นพิเศษอีกคือ

ในรัชกาลที่ ๖

ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระศรีวิสุทธิวงศ์
ได้รับมอบให้เป็นผู้ชำระคัมภีร์อรรถกถา พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ๔ คัมภีร์คือ
อรรถกถาอุทาน อิติวุตตก มหานิเทส และจุลนิเทส (พิมพ์เป็นเล่มสมุดอักษรไทย ๔ เล่ม)

ในรัชกาลที่ ๗

ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเทพมุนี
ได้รับมอบให้เป็นผู้ชำระคัมภีร์พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ๓ คัมภีร์
คือ มหานิเทส จุลนิเทส และชาดก (พิมพ์เป็นเล่มสมุดอักษรไทย ๔ เล่ม)

และขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมโกศาจารย์
ได้รับมอบให้ชำระคัมภีร์สารัตถทีปนี ฎีกาพระวินัย (พิมพ์เป็นเล่มสมุดอักษรไทย ๔ เล่ม)

ในรัชกาลที่ ๘

ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระพรหมมุนี
ได้เป็นประธานกรรมาธิการแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทย
และได้ดำเนินการต่อมาในรัชกาลปัจจุบัน
จนสำเร็จพิมพ์เป็นเล่มเรียบร้อย จำนวน ๘๐ เล่ม

ในรัชกาลปัจจุบัน

- ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระวันรัต สังฆนายก
ได้เป็นผู้ถวายพระธรรมเทศนาพระมงคลวิเสสกถา
ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ๑๐ ครั้ง

- ได้เป็น พระราชอนุศาสนาจารย์ ในพระราชพิธีทรงผนวช

- ได้เป็น ประธานสงฆ์ ในงานรัฐพิธีฉลอง ๒๕ ศตวรรษแห่งพระพุทธศาสนา

- ได้เป็น ผู้ตรวจหลักธรรม ในการประกวดแต่งหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก
เพื่อรับพระราชทานรางวัล และพิมพ์พระราชทานในงานพระราชพิธีวิสาขบูชาประจำปี

และการอื่น เช่น เทศนาอบรมข้าราชการทหาร นักเรียนนายร้อยทหาร
เป็นประธานประกอบสังฆกรรมผูกพัทธสีมา
เป็นประธานประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถ อาคารเรียน
เป็นประธานประกอบพิธียกช่อฟ้า เปิดป้ายสถานที่สำคัญ
เช่นโรงเรียนพระปริยัติธรรมตามจังหวัดต่างๆ หลายครั้ง

และยังค้างอยู่ยังสร้างไม่เสร็จ ก็คือ
เป็นประธานเริ่มการก่อสร้างอาคารโรคมะเร็งสำหรับภิกษุสามเณรผู้อาพาธ
ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
โดยเป็นประธานชักชวนหาทุนและทรงให้ออกทุนด้วยพระองค์เอง
จากทุนที่ได้รับในงานบำเพ็ญกุศลฉลองพระชนมายุประจำปี
ซึ่งขณะนี้อาคารโรคมะเร็งดังกล่าว ได้ทำการก่อสร้างเสร็จไปแล้ว
แต่ยังขาดทุนทรัพย์ที่จะให้ช่างรับเหมาก่อสร้างอีกประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ บาท
(ค่าก่อสร้างทั้งสิ้นประมาณ ๖๐๐,๐๐๐ บาท ในขณะนั้น)
 Image
 สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ)


สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ครั้นเมื่อถึงปีพุทธศักราช ๒๕๐๓ นี้ หลังจากพระราชทานเพลิงพระศพ
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ แล้ว
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้สถาปนาสมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺติโสภโณ) ขึ้นเป็น
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก
นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๐๓ ดังปรากฏจากข้อความนี้

(สำเนา)
ภูมิพลอดุลยเดช (ปร.)


พระบาทสมเด็จพระปริมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี
จักรีนฤบดินทรสยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร

มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า
โดยที่ตำแหน่งพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ได้ว่างลง
สมควรที่จะสถาปนาสมเด็จพระราชาคณะขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช
เพื่อจักได้บริหารการพระศาสนาให้สมบรูณ์ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์
พุทธศักราช ๒๔๘๔ และตามระเบียบราชประเพณีสืบไป

จึงทรงพระดำริว่า สมเด็จพระวันรัต ได้เป็นพระราชอนุศาสนาจารย์
มีคุณูปการแด่พระองค์ในคราวทรงผนวช นับว่าเป็นคุรุฐานิยบุคคล
แห่งองค์พระมหากษัตริย์ ส่วนในการพระศาสนาสมเด็จพระวันรัต
ก็เจริญด้วยวรรษายุกาล รัตตัญญูมหาเถระธรรม
มีปรีชาญาณรอบรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก
อันนัยว่าเป็นพหุลศรุตบัณฑิต มีฉันทจริตเพียงพร้อมไปด้วยสมณคุณเป็นอย่างดี

มีคุณูปการในพระศาสนกิจรับภารธุระปฏิบัติให้เจริญก้าวหน้ามาด้วยดี
ดั่งมีอรรถจริยาปรากฏเกียรติสมภาร
ตามความพิสดารในประกาศสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ มหาสังฆนายก
เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๙๐ นั้นแล้ว

ครั้นต่อมา สมเด็จพระวันรัตยิ่งเจริญด้วยอุตสาหะวิริยาธิคุณไม่ท้อถอย
สามารถประกอบพุทธศาสนกิจให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นเป็นลำดับตลอดมา
กล่าวโดยเฉพาะในประการที่สำคัญ คือในการปริยัติศึกษา

ได้เป็นแม่กองสอบบาลีสนามหลวง ติดต่อกันมาตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๘๐
จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา ๒๓ ปี

เป็นกรรมการแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทยมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๘๓
จนถึงในปัจจุบันเป็นเวลา ๒๐ ปี

ในการบริหารได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
มาตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๗๑ จนถึงในเวลาปัจจุบันเป็นเวลา ๓๒ ปีเศษ

ได้ดำรงตำแหน่งสังฆมนตรี ว่าการองค์การศึกษามาตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๘๕
จนถึงในปัจจุบันเป็นเวลา ๑๗ ปี

ดำรงตำแหน่งสังฆนายกติดต่อกันมาตั้งแต่ ปีพุทธศักราช ๒๔๙๔
จนถึงในเวลาปัจจุบันเวลา ๘ ปี
และดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการคณะสงฆ์ แทนองค์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๐๑ จนถึงในปัจจุบันเป็นเวลา ๑ ปี ๖ เดือนเศษ

และกรณียกิจซึ่งสมเด็จพระวันรัต ได้ปฏิบัติเป็นการพิเศษ
คือได้เป็นประธานสงฆ์ในงานรัฐพิธี ฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ
เมื่อเดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๐๐

ในการพระอารามนั้น
โดยที่วัดเบญจมบพิตรเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร
ซึ่งสมเด็จพระบรมอัยกาธิราช พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
โปรดให้สถาปนาขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๒ ด้วยมีพระราชศรัทธาอันยิ่งใหญ่
โปรดให้สร้างด้วยศิลปกรรมอันประรีตวิจิตรงดงาม ยิ่งนัก
โดยเฉพาะพระอุโบสถมีความงดงามเป็นพิเศษ ซึ่งจะหาที่อื่นเสมอเหมือนมิได้
ด้วยมีพระราชประสงค์ให้เป็นพราชานุสรณ์ในพระองค์
นับว่าเป็นพระอารามหลวงที่มีความสำคัญเป็นพิเศษยิ่ง

ทั้งนี้ย่อมตกเป็นภาระหนักแก่เจ้าวาส
ในการที่จะต้องระวังรักษาถาวรวัตถุเหล่านั้น มิให้ชำรุดทรุดโทรมเสียหาย
สมเด็จพระวันรัตได้รับหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสพระอารามนี้ในลำดับองค์ที่ ๒

และนับตั้งแต่นี้ได้รับหน้าที่นี้มาเป็นเวลา ๓๒ ปี ก็ปรากฏว่า
ได้เอาในใจใส่ดูแลระวังรักษาถาวรวัตถุต่างๆ ในพระอาราม
ให้มีสภาพสะอาดเรียบร้อยงดงาม ดำรงอยู่ในสภาพที่มั่นคงถาวร
ทั้งได้เอาใจใส่ให้จัดการบูรณปฏิสังขรณ์ และสร้างเสริมสิ่งที่ชำรุดบกพร่อง
ด้วยเหตุต่างๆ เช่นที่เกิดจากภัยสงครามเป็นต้น ให้กลับมีสภาพดีตามเดิม

ปรากฏเป็นที่เจริญศรัทธาปสาทะของประชาชนชาวไทยและชาวต่างประเทศ
บรรดาที่ได้มาพบเป็นตลอดกาลเนืองนิจ

จึงนับว่าสมเด็จพระวันรัต เป็นผู้ทรงคุณปรีชาสามารถ
ในการปกครองพระอาราม ซึ่งมีความสำคัญยิ่งดังกล่าว

ส่วนพระราชประสงค์ส่วนกลางพระศาสนาในต่างประเทศ
สมเด็จพระวันรัตได้เป็นหัวหน้าคณะไปร่วมปฏิบัติงานสังคายนา
จตุตถสันนิบาต (สมัยไทย) โดยเป็นประธานเปิดประชุมสมัยนั้น
ณ ปาสาณคูหา ประเทศพม่า เมื่อเดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๙๘

เป็นหัวหน้าคณะไปร่วมพิธี ฉลองพุทธชยันตี ณ ประเทศลังกา
เมื่อเดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๙

แล้วเลยไปสังเกตการณ์พระศาสนา ณ ประเทศอินเดียอีกด้วย

เป็นหัวหน้าคณะไปเป็นประธานไปประกอบพิธี บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
ณ วัดบุปผาราม เมืองปีนัง

แล้วเลยไปสังเกตการณ์พระศาสนา ณ สหพันธรัฐมาลายา
เมื่อเดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๐๑

เป็นหัวหน้าไปร่วมพิธีฉลองพุทธชยันตี ๒๕ พระพุทธศตวรรษแห่งพระพุทธศาสนา
ณ ประเทศญี่ปุ่น แล้วเลยไปเยี่ยมทหารไทย ณ ประเทศเกาหลี
เมื่อเดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๐๒

เป็นหัวหน้าคณะนำคณะสงฆ์ไทยไปอยู่ ณ วัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดีย
เมื่อเดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๐๒

สรรพกรณียกิจดังกล่าวมา สมเด็จพระวันรัต
ได้รับภาระปฏิบัติดำเนินการด้วยอุตสาหวิริยะปรีชาสามารถ
ปรากฏเป็นผลดียิ่งแก่การพระศาสนาและประเทศชาติประชาชน
เป็นที่ประจักษ์แก่มวลพุทธบริษัทและทางราชการ
ตลอดถึงพสกนิกรทั่วราชอาณาจักร ดังปรากฏอยู่แล้ว

บัดนี้ ก็เป็นที่ประจักษ์ว่า สมเด็จพระวันรัต
ยิ่งเจริญด้วยคุณวุฒิวัยวุฒิรัตตัญญูมหาเถรธรรม ยินดีในเนกขัมมปฏิบัติ
เป็นอจลพรหมจริยาภิรัต ประกอบด้วยมีสมรรถภาพในการพระศาสนา
เป็นที่เจริญศรัทธาปสาทะ และเป็นคารวสถานแห่งมวลพุทธบริษัททั่วสังฆมณฑล
ตลอดจนอาณาประชาราษฎร์ทั่วไป และตั้งอยู่ในฐานะเป็นครุฐานียบุคคล
ขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

สมควรจะสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ประธานาธิบดีแห่งสงฆมณฑล เพื่อเป็นศรีศุภมงคลแด่พระบวรพุทธศาสนาสืบไป

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระวันรัตขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช
มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สุขุมวิธานธำรง สกลมหาสงฆปริณายก
ตรีปิฎกกลากุสโลภาสภูมิพลมหาราช อนุศาสนาจารย์
กิตติโสภณาภิธานสังฆวิสุตปาวจนุตตมกิตติโศภน
วิมลศีลสมาจารวัตรพุทธศาสนิกบริษัทคารวสถานวิจิตรปฏิภาณพัฒนคุณ
อดุลคัมภีรญาณสุนทรบวรธรรมบพิตร


สมเด็จพระสังฆราชเสด็จสถิต ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร
พระอารามหลวงเป็นประธานในสงฆมณฑลทั่วราชอาณาจักร
ขออาราธนาให้ทรงรับธุระพระพุทธศาสนา เป็นภาระสั่งสอน
ช่วยระงับอธิกรณ์และอนุเคราะห์พระภิกษุสงฆ์สามเณรในสงฆมณฑลทั่วไป
โดยสมควรแก่พระอิสริยยศ ซึ่งพระราชทานนี้

จงทรงเจริญพระชนมายุ วรรณ สุข พล ปฎิภาณ คุณสารสิริสวัสดิ์
จิรัฏฐิติวิรุฬหิไพบูลย์ในพระพุทธศาสนา เทอญ ฯลฯ

ให้ทรงมีพระราชาคณะ และพระครูฐานานุกรม ประดับพระอิสริยศ ๑๕ รูป

คือ พระทักษิณคณาธิกร สุนทรธรรมนายก พุทธปาพจนดิลก
มหาเถรกิจจการี คณาธิบดีศรีรัตนคมกาจารย์ พระราชาคณะปลัดขวา ๑

พระอุดรคณาภิรักษ์อัครศาสนกิจบรรหาร มหาเถราธิการธุรการี
สมุหบดีศรีธรรมภาณกาจารย์ พระราชาคณะปลัดซ้าย ๑

พระครูธรรมกถาสุนทร ๑ พระครูวินัยกรณ์โศภน ๑ พระครูพรหมวิหาร
พระครูพระปริตร ๑ พระครูฌานวิสุทธิ์ พระครูพระปริตร ๑ พระครูวินัยธร ๑
พระครูธรรมธร ๑ พระครูพิมลสรภาณ พระครูคู่สวด ๑ พระครูพิศาลสรคุณ
พระครูคู่สวด ๑ พระครูพิบูลบรรณวัตร ๑ พระครูพิพัฒนบรรณกิจ ๑
พระครูสังฆบริหาร ๑ พระครูสมุห์ ๑ พระครูใบฎีกา ๑

ขอให้พระคุณผู้ได้รับตำแหน่งทั้งปวงนี้ มีความสุขสิริสวัสดิสถาพร
ในพระบวรพุทธศาสนา เทอญ

ประกาศ ณ วันที่ ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๐๓ เป็นปีที่ ๑๕ ในรัชกาลปัจจุบัน

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ส. ธนะรัชต์
นายกรัฐมนตรี


Image
พระฉายาลักษณ์ครั้งสุดท้าย ขณะทรงประน้ำพระพุทธมนต์
แด่ ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี
เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๕ เวลา ๑๒.๐๐ นาฬิกาเศษ



พระอวสานกาล

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ)
ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ เป็นเวลา ๒ ปี ๑ เดือน กับอีก ๑๓ วัน


ทั้งๆ ที่มีพระอนามัยสมบูรณ์ พระสุขภาพแข็งแรง
พระองค์ก็เคยอาพาธด้วยโรคซึ่งนายแพทย์ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งที่ต่อมปอสเตท
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ และได้รับการผ่าตัดใหญ่เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๐ ครั้งหนึ่ง

และอีกครั้งหนึ่งอาพาธเป็นโรคมีนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
และนายแพทย์ได้ขบให้แตกและนำออกจนหมดแล้ว
จนได้เสด็จไปประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรป และประเทศอินเดียได้เป็นปกติ

สำหรับความดันโลหิตก็มีไม่มาก ก่อนหน้าจะสิ้นพระชนม์
นายแพทย์ประจำพระองค์ได้ตรวจวัดความดันของพระโลหิต ก็มีเพียง ๑๔๐ เท่านั้น

ส่วนพระโรคประจำพระองค์นั้นก็มีปวดพระเศียรเป็นครั้งคราวเสมอมา
ซึ่งก็เยียวยาให้หายได้เพียงยาแอสไพริน หรือยา เอ.พี.ซี. ก็หาย

Image
พระโกศพระศพ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ)
ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม



ในวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๕ เวลาเช้าพระอาการทั่วไปเป็นปกติ
จะมีก็เพียงคงปวดพระเศียรตามธรรมดาซึ่งไม่หนักอะไร
เวลาเพลได้เสด็จไปเจริญพระพุทธมนต์และเสวยภัตตาหารเพล
เนื่องในงานทำบุญของท่าน จอมพลสฤษฎิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ได้เป็นปกติ
และเสด็จกลับมาถึงวัดเวลาประมาณ ๑๓.๐๐ น.
แล้วก็ได้ทรงพักผ่อนตามที่ทรงเคยปฏิบัติมา และในเวลาประมาณ ๑๔.๐๐ น.
และได้ทรงสนทนากับบิดามารดาของกุลบุตรผู้นำบุตรมาฝากบวช เป็นเวลานานพอสมควร

จนถึงเวลาประมาณ ๑๕.๐๐ น. เศษ พระอาการทั่วไปก็ยังปกติอยู่
ครั้นผู้ที่นำบุตรมาฝากบวชนั้นกลับแล้ว ก็เสด็จเข้าสรงน้ำตามปกติเช่นเคยมา
แต่แล้วพระอาการที่ไม่มีใครคาดฝันก็ปรากฏขึ้น
นั่นคือพระอาการปวดพระเศียรจนเกินกำลังความสามารถที่ทรงอดทนได้

เมื่อพระปฏิบัติรับใช้รีบเชิญนายแพทย์มาเฝ้าพระอาการ
พอทรงเห็นหน้านายแพทย์และรับสั่งได้เพียงไม่กี่คำ
พระองค์ก็สิ้นพระชนม์ด้วยพระอาการอันสงบ

ถึงแม้บรรดานายแพทย์จะพยายามช่วย
เพื่อให้ทรงฟื้นขึ้นมาอย่างเต็มความสามารถและความรู้
อย่างไรก็ตาม พระองค์ก็ทรงฟื้นมาได้ไม่

คณะแพทย์ได้ลงความเห็นพร้อมกันว่า สมเด็จพระสังฆราช
ได้สิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคเส้นโลหิตใหญ่ในพระสมองแตกอย่างปัจจุบัน
เมื่อเวลา ๑๖.๒๗ น. ของวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๕

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ)
สิ้นพระชนม์เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ ปีขาล
ตรงกับวันที่ ๑๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๐๕ เวลา ๑๖.๒๗ นาฬิกา
สิริพระชนมายุได้ ๗๓ พรรษา กับอีก ๒๑ วัน


Image
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระราชินีนาถฯ เสด็จพระราชดำเนิน
ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน ปัญญาสมวาร เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ 
Image
พระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม


ประวัติและความสำคัญของวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร
มีเนื้อที่ทั้งสิ้น ๑๐,๕๖๖ ตารางวา ๑๔ ตารางศอก
ตั้งอยู่แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ระหว่างถนนสายใหญ่คือ
ถนนพระรามที่ ๕ ถนนศรีอยุธยา ถนนราชดำเนินนอก และถนนพิษณุโลก

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
ทรงสถาปนาวัดนี้ขึ้นด้วยศิลปะสถาปัตยกรรมไทยโบราณ
และวางแบบแปลนแผนผังแยกสัดส่วนเป็นเขตพุทธาวาส สังฆาวาส
และที่ธรณีสงฆ์สำหรับผู้อุปัฏฐากภิกษุสามเณรอยู่อาศัย
ในเขตพุทธาวาสและสังฆาวาส มีสนามหญ้าและปลูกต้นไม้ให้ร่มรื่น
กุฏิที่อยู่ของภิกษุสามเณร เป็นระเบียบ ปลอดโปร่ง
ซึ่งถือว่าเป็นวัดที่มีการวางแปลนแผนผังที่ดีที่สุดวัดหนึ่ง

ประวัติเดิม

วัดเบญจมบพิตร เดิมเป็นวัดโบราณมีชื่อว่า “วัดแหลม” หรือ “วัดไทรทอง”
ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างในสมัยใด
จนถึงปี พ.ศ. ๒๓๖๙ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
จึงปรากฏชื่อขึ้นในประวัติศาสตร์ เมื่อเจ้าอนุวงศ์ผู้ครองนครเวียงจันทน์
ประเทศราชของไทย ได้ก่อการกบฎยกทัพมาตีไทย

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์
(พระองค์เจ้าพนมวัน พระเจ้าลูกยาเธอ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหน้านภาลัย
กับเจ้าจอมศิลา ต้นราชสกุล พนมวัน) เป็นผู้บัญชาการกองทัพในส่วนการรักษาพระนคร
โดยทรงตั้งกองบัญชาการอยู่ในบริเวณ “วัดแหลม” หรือ “วัดไทรทอง” นี้

เมื่อเสร็จสิ้นการปราบกบฏแล้ว พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์
พร้อมด้วยพระเชษฐภคินี พระขนิษฐภคินี และพระกนิษฐภาดา
ร่วมเจ้าจอมมารดาอีก ๔ พระองค์ ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้น
ประมาณปี พ.ศ. ๒๓๗๐-๒๓๗๑
แล้วทรงสร้างพระเจดีย์ ๕ องค์ รายด้านหน้าวัดเป็นอนุสรณ์

ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ ปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า
“วัดเบญจบพิตร” ซึ่งมีความหมายว่าเป็นวัดของเจ้านาย ๕ พระองค์
หรือวัดที่เจ้านาย ๕ พระองค์ทรงปฏิสังขรณ์ขึ้น

การเริ่มสถาปนา

ในปีพุทธศักราช ๒๔๔๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๕
มีพระราชประสงค์จะทรงสร้างพระราชอุทยาน
เป็นที่ประทับแรมสำราญพระราชอิริยาบถในวันสุดสัปดาห์
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดซื้อที่บริเวณด้านทิศเหนือของพระบรมมหาราชวัง
ระหว่างคลองสามเสนกับคลองผดุงกรุงเกษม
ซึ่งเป็นที่สวนและทุ่งนา ตามราคาจากราษฎร
ด้วยพระราชทรัพย์สำหรับใช้จ่ายการในพระองค์ พระราชทานนามว่า “สวนดุสิต”

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เริ่มลงมือตัดไม้ ปรับพื้นที่เพื่อสร้างสวนดุสิต
เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๑ และได้ทำการสืบมา
จนกระทั่งถึงวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๒ จึงได้เสด็จเถลิงพลับพลาเป็นครั้งแรก

การสร้างสวนดุสิต ได้ใช้พื้นที่ของวัดดุสิต หรือวัดดุสิดาราม
ที่อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม มีภิกษุอยู่เพียง ๑ รูป เป็นที่สร้างพลับพลา
และที่วัดร้างอีกวัดหนึ่งตัดเป็นถนนภายในสวนดุสิตด้วย
ประกอบกับมี “วัดเบญจบพิตร”
ที่ชำรุดทรุดโทรมอยู่ใกล้เขตพระราชฐานด้านทิศใต้ด้วย
จึงมีพระราชดำริที่จะทรงทำ “ผาติกรรม”

สถาปนาวัดขึ้นใหม่ โดยมีพระราชประสงค์สำคัญคือ

๑. เพื่อแสดงว่าพระองค์ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก
เมื่อทรงใช้ที่วัดสร้างพระราชอุทยาน ก็ทรงทำ “ผาติกรรม”
สร้างวัดขึ้นทดแทนตามประเพณี โดยสร้างเพียงวัดเดียว
แต่ทำให้เป็นพิเศษ วิจิตรงดงาม สมควรที่จะเป็นวัดอยู่ใกล้เขตพระราชฐาน

๒. เป็นที่แสดงแบบอย่างทางการช่างของสยามประเทศ
โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
ออกแบบก่อสร้างพระอุโบสถพร้อมพระระเบียงอย่างวิจิตรงดงาม
ด้วยแบบอย่างศิลปะและสถาปัตยกรรมไทยโบราณ

๓. เป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมพระพุทธรูปโบราณสมัยและปางต่างๆ
ที่สร้างขึ้นทั้งในและต่างประเทศ แสดงให้ประชาชนเห็นเป็นแบบอย่าง
ภายในพระระเบียง ซุ้มมุขหลังพระอุโบสถ และซุ้มมุขด้านนอกพระระเบียง

๔. เป็นที่เล่าเรียนพระปริยัติธรรมและวิชาชั้นสูงซึ่งทรงเรียกว่า
“คอเลซ” (College) เป็นการเกื้อกูลแก่คณะสงฆ์มหานิกาย

๕. เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์แห่งพระองค์
โดยเมื่อสถาปนาขึ้นแล้วพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดเบญจมบพิตร”
ซึ่งหมายถึงวัดของพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ ๕ กับได้ทรงแสดงพระราชประสงค์ไว้ว่า

เมื่อพระองค์สวรรคตและถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว
ให้นำพระสรีรางคารไปบรรจุไว้ใต้รัตนบัลลังก์พระพุทธชินราช
ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีบรรจุพระสรีรางคารตามพระราชประสงค์

เมื่อเริ่มการสถาปนา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อถอนสิ่งก่อสร้างในวัดเดิมทั้งหมด
ปรับพื้นที่ก่อสร้าง สังฆเสนาสน์สำหรับพระสงฆ์สามเณรอยู่อาศัยได้ ๓๓ รูป
เท่ากับปีที่ทรงครองราชสมบัติ โดยทรงมอบหมายให้
เจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว.เย็น อิศรเสนา เมื่อครั้งเป็นเจ้าหมื่นเสมอใจราช)
เป็นผู้รับผิดชอบ กับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอุโบสถชั่วคราว
เป็นอาคารไม้หลังคามุงจาก เพื่อทำสังฆกรรมไปพลางก่อน

วันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๒
ซึ่งเป็นวันเสด็จเถลิงพลับพลาประทับแรมที่สวนดุสิตครั้งแรก
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดเบญจมบพิตร
ทรงประเคนประกาศพระบรมราชูทิศถวายที่วิสุงคามสีมาแก่
สมเด็จพระวันรัต (แดง สีลวฑฺฒโน) วัดสุทัศนเทพวราราม ซึ่งเป็นประธานสงฆ์

สมเด็จพระวันรัต อ่านประกาศพระบรมราชูทิศในที่ประชุมสงฆ์
ซึ่งปรากฏข้อความในประกาศพระบรมราชูทิศตอนหนึ่งว่า

“.....ทรงพระราชทานนามวัด วัดเบญจมบพิตร
แสดงลำดับรัชกาลในมหาจักรีบรมราชวงศ์.....”


จึงถือได้ว่า วันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๒ เป็นวันที่
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
ทรงประกาศสถาปนาวัดเบญจมบพิตรขึ้น แล้วได้ดำเนินการก่อสร้างเป็นลำดับมา

ถึงปี พ.ศ. ๒๔๔๓ เมื่อการก่อสร้างสังฆเสนาสน์แล้วเสร็จตามพระราชประสงค์ในขั้นแรก
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แห่พระสงฆ์สามเณร ๓๓ รูป
ซึ่งโปรดให้คัดเลือกได้แล้ว และให้รวมฝึกอบรมอยู่ที่ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์
ไปอยู่วัดเบญจมบพิตร เมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๓

และในคราวนี้เองได้พระราชทานที่วัดเพิ่มเติม
และสร้อยนามต่อท้ายชื่อวัดว่า “ดุสิตวนาราม”
เรียกรวมกันว่า “วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม”

Image
พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ รัชกาลที่ ๕
เมื่อครั้งทรงผนวช องค์สถาปนาวัด
และพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวิดติวงศ์
องค์สถาปนิกผู้ออกแบบพระอุโบสถ



ในส่วนพระอุโบสถถาวร และพระระเบียง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
(พระองค์เจ้าจิตรเจริญ ต้นราชสกุล จิตรพงศ์) เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ
เป็นสถาปนิกเขียนแบบแปลนแผนผัง และเริ่มการก่อสร้างต่อไป
พร้อมๆ กับการก่อสร้างเสนาสนะอื่นๆ

ส่วนการก่อสร้างนั้น พระยาราชสงคราม (กร หงสกุล บุตรพระยาราชสงคราม ทัด)
ช่างก่อสร้างฝีมือดีที่สุดในขณะนั้น ได้ดำเนินการก่อสร้างมาตามลำดับ

จนถึงวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จสวรรคต
การก่อสร้างสังฆเสนาสน์อื่นๆ ยังไม่แล้วเสร็จครบถ้วน
ตามแผนผังที่ทรงวางไว้ การประดับตกแต่งพระอุโบสถบางส่วน
และสังฆเสนาสน์บางแห่ง ยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ตามพระราชประสงค์

ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
จึงทรงดำเนินการต่อมา โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ยกช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ขึ้น
และเมื่อหินอ่อนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สั่งซื้อจากประเทศอิตาลีเข้ามาถึงแล้ว
ก็โปรดเกล้าฯ ให้ประดับในส่วนที่ยังค้างอยู่จนเรียบร้อย
กับให้ช่างกรมศิลปากรเขียนผนังภายในพระอุโบสถด้วยสีน้ำมัน
เป็นลายไทยเทพนมพุ่มข้าวบิณฑ์สีเหลืองบนพื้นขาว ดังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรและพระระเบียงที่ประดับตกแต่งแล้ว
จึงวิจิตรงดงามสมบูรณ์แบบด้วยศิลปะและสถาปัตยกรรมไทยโบราณ
อย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง ดังปรากฏสืบมาถึงปัจจุบัน

ส่วนพระอุโบสถไม้ชั่วคราวหลังเดิม
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อไปสร้างเป็นพระอุโบสถวัดวิเวกวายุพัด
ตำบลคลองจิก อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

Image
พระฉายาลักษณ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวิดติวงศ์
องค์สถาปนิกผู้ออกแบบพระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม 
Image
พระอุโบสถ อันถือเป็น “สถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์แบบของศิลปะไทย” สร้างด้วย
หินอ่อนจากประเทศอิตาลี เป็นทรงจัตุรมุข หลังคาซ้อน ๔ ชั้น มีพระระเบียงรอบด้านหลัง



วิจิตรพุทธศิลป์แห่งศาสนสถานและศาสนวัตถุภายในวัด

พระอุโบสถ

ลักษณะทั่วไปของพระอุโบสถ เป็นแบบจตุรมุข มุขด้านตะวันออกขยายยาว
ด้านเหนือและใต้มีมุขกระสันต่อกับพระระเบียง หลังคา ๔ ชั้น
ด้านมุขกระสันทิศเหนือและทิศใต้ ๕ ชั้น มีพระระเบียงโอบรอบด้านหลัง

ด้านหน้าพระอุโบสถ มีกำแพงแก้ว บนมุมกำแพงแก้วซ้าย-ขวา
มีเสาคอนกรีตหัวเสาเป็นศิลาสลักรูปดอกบัวตูม
คือเครื่องหมาย “สีมา” สำหรับด้านหน้า
ส่วนสีมาด้านหลังพระอุโบสถ สลักรูปเสมาธรรมจักรที่แผ่นหินแกรนิตปูพื้น

ภายในกำแพงแก้ว ปูหินแกรนิตสีชมพูอ่อนและสีเทา

มุขตะวันออกมีเสากลมหินอ่อน ๔ ต้น
ข้างบันไดหินอ่อนมีสิงห์สลักหินอ่อน ๒ ตัว
ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ขุนสกลประดิษฐ์ ช่างในกรมช่างสิบหมู่
เป็นผู้ปั้นแบบ ตามภาพที่ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเขียน

ผนังรอบพระอุโบสถด้านนอกประดับด้วยแผ่นหินอ่อน ๔ เหลี่ยม
สีขาวบริสุทธิ์ หนา ๓ เซนติเมตร

มุขตะวันตกด้านนอก มีเสาและสิงห์เช่นเดียวกับด้านหน้า และที่ซุ้มจรนำ
ประดิษฐานพระพุทธรูปโบราณ เป็นพระยืนทรงเครื่องสมัยลพบุรี ปางห้ามญาติ
ถวายพระนามว่า “พระธรรมจักร” เพราะที่ฝ่าพระหัตถ์สลักเป็นรูปพระธรรมจักร

กับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุพระอังคาร
สมเด็จพระเจ้ามไหยิกาเธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร
(พระเจ้าราชวงศ์เธอ พระองค์เจ้าละม่อม ซึ่งทรงอภิบาลเลี้ยงดู
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แต่พระเยาว์มา
ประหนึ่งสมเด็จพระราชชนนี) ใต้ฐานพระด้วย

ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ลำยอง ลงรักปิดทองทึบ อ่อนช้อย
รับกันทุกชิ้นมีคันทวยรับเชิงชายเป็นระยะๆ

หลังคาพระอุโบสถมุงกระเบื้องเคลือบสีเหลือง เรียกว่ากระเบื้องกาบู
ซึ่งมีลักษณะเป็นกาบโค้งครอบแผ่นรอง เชิงชายเป็นแผ่นเทพนม
ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำกระเบื้องวัดกัลยาณมิตร
ส่งไปเป็นตัวอย่างทำสีจากเมืองจีน

หน้าบันพระอุโบสถโปรดเกล้าฯ ให้ผูกลายประกอบพระราชลัญจกรต่างๆ คือ

๑. หน้าบันมุขตะวันออก จำหลักไม้ ผูกลายประกอบตราเป็นพระนารายณ์ทรงครุฑ
ซึ่งถอดจากพระราชลัญจกร “พระครุฑพาห์”
ในลายมีหมู่เทวดาอัญเชิญเครื่องสูงประกอบซ้ายขวาด้วย

๒. มุขตะวันตก จำหลักไม้ ผูกลายประกอบตราเป็นอุณาโลมในบุษบก
ซึ่งถอดจากพระราชลัญจกร “มหาอุณาโลม” หรือ “มหาโองการ”

๓. มุขเหนือ ปั้นปูน ผูกลายประกอบตราเป็นช้างสามเศียร บนหลังมีบุษบก
ซึ่งถอดจากพระราชลัญจกร “ไอยราพต”

๔. มุขใต้ ปั้นปูน ผูกลายประกอบตราเป็นรูปจักรรถ
ซึ่งถอดมาจากพระราชลัญจกร “จักรรถ”
แต่เพราะพระราชลัญจกรจักรรถเหมือนกับ “พระธรรมจักร”
จึงเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “พระธรรมจักร”

Image
บานประตูพระอุโบสถ ด้านนอกติดแผ่นโลหะนูนภาพทวารบาล
ด้านในเขียนภาพลายรดน้ำเหมือนด้านนอก



อนึ่ง ในการผูกลายประกอบพระราชลัญจกร
นอกจาก สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ แล้ว
ส่วนหนึ่ง พระเจ้าบวรวงศ์เธอ กรมหมื่นวรวัฒน์ศุภากร
(พระองค์เจ้าเฉลิมลักษณวงศ์ ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว)
ช่วยเขียนแบบ และอยูในกำกับของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ด้วย

บานประตูด้านนอกติดแผ่นโลหะนูน ภาพเทวดารักษาประตู (ทวารบาล)
ด้านในเขียนลายรดน้ำภาพเหมือนกับด้านนอก
บานหน้าต่างด้านนอกติดแผ่นโลหะนูนภาพมาร (ยักษ์) แบก
ด้านในเขียนลายรดน้ำภาพเหมือนด้านนอก

ภายในพระอุโบสถ มุขตะวันตก ประดิษฐานพระพุทธชินราช
ด้านหน้าพระพุทธชินราชเป็นรั้วหินอ่อนกลมสีเขียวหยก

พระแท่นรัตนบัลลังก์พระพุทธชินราช ผนังเสมอกรอบหน้าต่าง
และพื้นพระอุโบสถ ประดับหินอ่อนหลากสี

ณ พระแท่นรัตนบัลลังก์นั้น
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุพระสรีรางคาร
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ผู้ทรงสถาปนาวัด

ผนังเหนือกรอบหน้าต่างขึ้นไปซึ่งเป็นส่วนถือปูน
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ช่างกรมศิลปากรเขียนลายไทยเทพนมทรงพุ่มข้าวบิณฑ์
สีเหลืองบนพื้นขาวอมเหลืองอ่อน ตลอดถึงเพดาน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๗

Image
กระจกรับแสง เขียนสีลายไทยเทพพนมอย่างงดงาม เหนือช่องหน้าต่าง


เหนือหน้าต่าง ๑๐ ช่อง เป็นช่องกระจกรับแสง
เขียนสีลายไทยเทพนม โดยช่างกรมศิลปากร
ออกแบบสั่งทำจากเมืองฟลอเรนซ์ (Florence) ประเทศอิตาลี
ในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงรับเป็นเจ้าภาพ

ด้านบน ขื่อในและขื่อนอก ๓ ชั้น ลงรักปิดทองลายรดน้ำ
เพดานในล่องชาด ประดับดาวกระจาย ๒๓๒ ดวง ดาวใหญ่ ๑๑ ดวง
มีโคมไฟระย้าแก้วขาวอย่างดี ตราเลข ๕ ซึ่งเป็น ตราวัดเบญจมบพิตร
๖ โคม พร้อมสายบรอนซ์ ซึ่งสั่งทำจากประเทศเยอรมนี

ช่องคูหาทั้ง ๘ เขียนภาพสถูปเจดีย์ที่สำคัญทุกภาค
จัดเป็น “จอมเจดีย์” ในประเทศไทย
โดยว่าจ้างให้กรมศิลปากรออกแบบและเขียน
แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ คือ

พระมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี,
พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม,
พระมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช,
พระเจดีย์ชัยมงคล จังหวัดนครศรีอยุธยา,
พระมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย,
พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม,
พระมหาธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน,
พระศรีรัตนธาตุ จังหวัดสุโขทัย

อนึ่ง เฉพาะช่อง “พระมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช” นั้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงรับเป็นเจ้าภาพ
ส่วน ช่อง “พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงรับเป็นเจ้าภาพ
นอกจากนี้มีพระบรมวงศานุวงศ์ และผู้มีจิตศรัทธารับเป็นเจ้าภาพ

สำหรับหินอ่อนที่ประดับตกแต่งพระอุโบสถ พระระเบียง
ตลอดจนสถานที่อื่นๆ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
ทรงวัดขนาดทำแบบส่งไปเป็นตัวอย่าง
โดยเรียกประกวดราคาโดยตรงจากบริษัทขายหินอ่อน ประเทศอิตาลี

และในการออกแบบประดับหินอ่อน มีวิศวกรและสถาปนิกชาวอิตาเลียน
จากกรมโยธาธิการ ร่วมดำเนินการด้วยคือ วิศวกร อัลเลกริ (Carlo Allegri)
ประสานงานสั่งซื้อหินอ่อน, สถาปนิก ตะมาโย (Mario Tamagno)
เป็นผู้ช่วยเขียนแบบบางส่วน

สำหรับหินอ่อนทั้งหมดนั้น ได้มีการสั่งซื้อและเรียกประกวดราคาไปหลายแห่ง
ส่วนหนึ่งเป็นหินอ่อนจาก ห้างโนวี ยัวเสปเป้ (Novi Guiseppe) เมืองเยนัว
กับหินอ่อนจาก เมืองคาร์รารา (Carrara) ประเทศอิตาลี
ที่ถือว่าเป็นเมืองที่มีหินอ่อนมากและดีที่สุด

มีเอกสารหลักฐานการสั่งซื้อมากมายเป็นหลักฐาน
มิใช่เป็นหินอ่อนที่เหลือจากสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม
ดังที่นักเขียนหลายๆ คนเข้าใจและเขียนเผยแพร่อยู่ในหนังสือต่างๆ แต่อย่างใด
โดยในช่วงแรกมี มิสเตอร์ มูโซ่ (Mr. L. Mosso) ซึ่งเป็นช่างจากบริษัทขายหินอ่อน
เป็นนายช่างประดับหินอ่อน มีช่างคนไทยเป็นลูกมือ

Image
สิงห์สลักหินอ่อนนั่งเฝ้าพระอุโบสถอยู่ด้านหน้า

Image
พระพุทธชินราชจำลอง ประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่ภายในพระอุโบสถ
ใต้ฐานบัลลังก์บรรจุพระสรีรังคารของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕



พระพุทธชินราชจำลอง

พระพุทธชินราชจำลอง วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย นั่งสมาธิราบ สมัยสุโขทัย
จำลองแบบมาจากพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก วัสดุสัมฤทธิ์

พระพุทธชินราชจำลอง มีขนาดหน้าตัก ๕ ศอกคืบ ๕ นิ้ว มีเศษ
น้ำหนักทองที่ใช้หล่อ ๓,๙๔๐ ชั่ง

ตามตำนานเล่าว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
สถาปนาวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๒
โปรดให้ออกแบบพระอุโบสถตกแต่งไว้ด้วยหินอ่อนงดงามวิจิตร
จำเป็นต้องแสวงหาพระประธานที่มีความทัดเทียมกัน

ทรงระลึกได้ว่า เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๐๙ ทรงบรรพชาเป็นสามเณร
ได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
ไปนมัสการพระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปที่งดงามไม่มีที่เปรียบ
แต่การจะอัญเชิญลงมา ย่อมไม่สมควร
ด้วยเป็นสิริของชาวพิษณุโลก จึงมีดำริให้หล่อขึ้นใหม่

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระประสิทธิปฏิมา
(ม.ร.ว.เหมาะ ดวงจักร เมื่อครั้งเป็นหลวงประสิทธิปฏิมา)
จางวางช่างหล่อขวา ซึ่งเป็นช่างหล่อฝีมือดีที่สุด
ขึ้นไปปั้นหุ่นถ่ายแบบจากพระพุทธชินราชองค์เดิมที่
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก แล้วเสด็จพระราชดำเนิน
ทรงเททองหล่อเป็นส่วนๆ เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๔๔

อัญเชิญล่องเรือมาคุมองค์และแต่งที่กรมทหารเรือ
โดย พระยาชลยุทธโยธิน (Andre du Plessis de Richelieu)
ชาวเดนมาร์ก เข้ามารับราชการเป็นทหารเรือ
มียศเป็นพลเรือโท ตำแหน่งผู้บัญชาการกรมทหารเรือ
เป็นผู้ควบคุมการแต่งองค์พระ เสร็จแล้วเชิญลงเรือมณฑป
แห่ไปประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร
เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๔๔

การทั้งปวงตั้งแต่ปั้นหุ่น หล่อ ตกแต่ง และอัญเชิญขึ้นประดิษฐาน
ในพระอุโบสถสำเร็จเรียบร้อยดี ทรงปีติโสมนัสอย่างยิ่ง

“จึงทรงเปลื้องสายสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ นพรัตน์ราชวราภรณ์
ซึ่งกำลังทรงอยู่นั้น ถวายพระพุทธชินราชเป็นพุทธบูชา”


เมื่อเชิญพระพุทธชินราชขึ้นประดิษฐานในพระอุโบสถ
เครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับราชตระกูล
ซึ่งทางวัดได้เก็บรักษาไว้อย่างดี
และอัญเชิญมาคล้องถวายที่พระหัตถ์พระพุทธชินราชจำลอง
ในวันปิยมหาราช ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๓ ตุลาคม ของทุกปี

ต่อมาถึงปลายปี พ.ศ. ๒๔๕๒ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้จ้าง มร.จุรุหระ (Mr. Tsuruhara)
ครูช่างในโรงเรียนวิชาช่างกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
เข้ามาทำการปิดทองจนแล้วเสร็จ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้จัดงานสมโภชในวันที่ ๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๕๓

พระพุทธชินราชจำลอง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย นั่งสมาธิราบ
สมัยสุโขทัย มีเรือนแก้ว ประทับนั่งเหนือรัตนบัลลังก์หินอ่อน
เรือนแก้วนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำถวาย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ แต่ช่างทำไม่งาม
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗
จึงโปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขใหม่สวยงามตามที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

Image
พระระเบียงคด (พระวิหารคด) วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม


พระระเบียงคด (พระวิหารคด)

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
ทรงออกแบบพระระเบียงให้เชื่อมต่อมุขกระสันพระอุโบสถ
ทั้งด้านทิศเหนือและทิศใต้ โอบอ้อมไปบรรจบด้านหลังพระอุโบสถ
โดยเว้นเนื้อที่เป็นลานกว้าง มีประตูด้านทิศตะวันตก
ตรงกับมุขตะวันตกของพระอุโบสถ ด้านใต้และด้านเหนือ มีด้านละ ๒ ประตู
บานประตูด้านนอกติดแผ่นโลหะนูนภาพเสี้ยวกาง
ด้านในเขียนลายรดน้ำภาพเหมือนกับด้านนอก

บริเวณหลังพระอุโบสถ เป็นลานกว้าง ปูด้วยหินแกรนิตสีชมพูอ่อนและสีเทา

พื้นพระระเบียงปูหินอ่อนสีเหลืองอ่อนและสีขาวตลอด

เสาพระระเบียงเป็นเสากลมหินอ่อนทั้งแท่ง ๖๔ ต้น
เสาเหลี่ยมประกบแผ่นหินอ่อน ๒๘ ต้น ปลายเสาปั้นบัวประดับกระจกทั้งหมด

ผนังด้านในถือปูน ด้านนอกประดับแผ่นหินอ่อนสีขาว และทำเป็นหน้าต่างทึบ
มีหินอ่อนเป็นลูกกรง รอบพระระเบียง รวม ๔๘ ช่อง

ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ลำยอง ลงรักปิดทองทึบ

หน้าบัน เป็นภาพจำหลักลายไทยประกอบตราประจำกระทรวงต่างๆ
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ตามที่ได้ทรงปรับปรุงการบริหารราชการแผ่นดินเป็น ๑๐ กระทรวง

พิจารณาดูจากด้านทิศใต้ (ริมคลอง)
มุขตะวันออกวนไปทิศใต้และทิศตะวันตก ตามลำดับดังนี้

๑. ตราราชสีห์ ประจำกระทรวงมหาดไทย

๒. ตราพระยมทรงสิงห์ ประจำกระทรวงนครบาล

๓. ตราพระสุริยมณฑล (ใหญ่) มีนกยูงรำแพนอยู่ท้ายรถที่เทียมราชสีห์
ประจำกระทรวงคลังมหาสมบัติ

๔. ตราพระเพลิงทรงระมาด ประจำกระทรวงธรรมการ

๕. ตราบัวแก้ว (อยู่หน้าบันซุ้มประตูหลังด้านนอก) ประจำกระทรวงต่างประเทศ

๖. ตราพระพิรุณทรงนาค (อยู่หน้าบันซุ้มประตูหลังด้านใน)
ประจำกระทรวงเกษตราธิการ

๗. ตราพระรามทรงรถ ประจำกระทรวงโยธาธิการ (ต่อมาเป็นกระทรวงคมนาคม)

๘. ตราจันทรมณฑล (มีกระต่ายนั่งท้ายรถ) ประจำกระทรวงยุติธรรม

๙. ตราพระนารายณ์ยืน (บน) ท่าอสูร ตรานี้น่าจะประจำกระทรวงวัง
ที่เหลืออยู่เพียงกระทรวงเดียว (เพราะกระทรวงที่ ๑๐ ต่อไปก็ทราบแน่ชัดแล้ว)
แต่ตามเอกสารยืนยันว่า กระทรวงวังใช้ตราพระมหาเทพทรงนนทิกร (พระโคเผือก)
จึงอาจเป็นไปได้ว่า เป็นตราประจำกระทรวงวังเดิม)

๑๐. ตราคชสีห์ ประจำกระทรวงกลาโหม

Image
พระพุทธรูปปางต่างๆ ในแต่ละสมัย
ประดิษฐานรอบพระระเบียงคด (พระวิหารคด) ด้านหลังพระอุโบสถ



ภายในพระระเบียง ขื่อลงรักปิดทองลายรดน้ำ เพดานล่องชาด
ประดับดาวทอง ๖๑๐ ดวง ประดิษฐานพุทธรูปต่างๆ จำนวน ๕๒ องค์
ซึ่งเป็นพระพุทธรูปหล่อสัมฤทธิ์มีทั้งพระพุทธรูปโบราณ
และหล่อขยายหรือย่อส่วนจากพระพุทธรูปโบราณ
โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
(พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร ต้นราชสกุลดิศกุล) ทรงเสาะหามาทั้งในกรุงเทพฯ
และหัวเมือง ตลอดจนถึงต่างประเทศ เช่น อินเดีย ญี่ปุ่น พม่า และลังกา

พระพุทธรูปทั้ง ๕๒ องค์นี้ บางองค์ที่ควรกล่าวถึงเป็นการเฉพาะ
เนื่องจากมีผู้สนใจเป็นพิเศษ ดังนี้คือ

องค์แรก

เป็นพระพุทธรูปปาง “ทุกรกิริยา” (ลำดับที่ ๗)
เป็นพุทธจริยาตอนที่พระพุทธองค์ ทรงบำเพ็ญเพียรทุกรกิริยาจนพระวรกายซูบผอม
แสดงถึงจินตนาการและสุนทรีย์ทางศิลปะอย่างเอกของช่าง
พระพุทธรูปองค์นี้หล่อขยายจากพระพุทธรูปปูนพลาสเตอร์
ที่เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์เมืองละฮอร์ ประเทศอินเดีย (ปัจจุบันอยู่ในประเทศปากีสถาน)
จำลองจากพระพุทธรูปศิลาโบราณ สมัยคันธาระ โดยช่างชาวโยนก
ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๗-๘ ส่งเข้ามาถวายสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

Image
พระพุทธรูปปางลีลา แสดงพุทธลีลาเมื่อพระพุทธองค์เสด็จลงมาจากดาวดึงส์
เพื่อโปรดพุทธมารดาประดิษฐานอยู่ ณ บริเวณรอบพระระเบียงคด (พระวิหารคด)



องค์ที่สอง

คือพระพุทธรูป “ปางลีลา” (ลำดับที่ ๒๖)
แสดงถึงพุทธจริยาหรือพุทธลีลาตอนที่พระพุทธองค์เสด็จลงจากดาวดึงส์
หรือเสด็จโปรดเวไนยสัตว์ เป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะลีลางามเป็นเลิศ
เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของผู้ชม ศาสตราจารย์ ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล
ทรงเขียนไว้ในหนังสือศิลปะในประเทศไทยว่า

“งดงามไม่แพ้ประติมากรรมชิ้นเอกอื่นๆ ในโลก”

นอกจากพระพุทธรูปภายในพระระเบียงแล้ว ด้านนอกใต้หน้าบันด้านตะวันตก
มุมทิศเหนือและทิศใต้ เป็นมุขซุ้ม ประดิษฐานพระพุทธรูปศิลาโบราณ
ในพระอริยายถยืน ๔ องค์คือ พระศิลาสมัยทวาราวดี ประทับยืนบนฐานบัว
มีจารึกอักษรปัลลวะ ภาษามอญโบราณ
ซึ่งแปลได้ความว่า

“เจ้าปู่ (พร้อมกับ) ลูกหลานได้กระทำองค์พระพุทธรูปให้เปล่งปลั่ง”

ได้มาจากวัดข่อย จังหวัดลพบุรี,
พระศิลาสมัยทวาราวดี ได้มาจากจังหวัดลพบุรี,
พระศิลาสมัยอมราวดี ได้มาจากเมืองลังกา (ศรีลังกา)
และพระศิลาสมัยอยุธยา ได้มาจากจังหวัดลพบุรี

Image
พระที่นั่งทรงธรรม


นอกจากนี้ ภายในวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
ยังมีศาสนสถานและศาสนวัตถุที่น่าใจอีกหลายประการ อาทิ

พระที่นั่งทรงผนวช
วิหารสมเด็จ สผ.
พระที่นั่งทรงธรรม
หอระฆังบวรวงศ์
ศาลาสี่สมเด็จ
ศาลาหน้าพระอุโบสถ
คลองน้ำ
ศาลาตรีมุข
สะพาน
สังฆเสนาสน์
โรงเรียนเบญจมบพิตร
ต้นพระศรีมหาโพธิ์
ศาลาอุรุพงษ์
กำแพงวัด
หอสมุด ป. กิตติวัน
พิพิธภัณฑ์พระอนุสรณ์ อปก.
ศาลาร้อยปี
ศาลาธรรมชินราช และ ฯลฯ

Image
พระที่นั่งทรงผนวช 

Image
พระรูปหล่อสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ)
ประดิษฐาน ณ พิพิธภัณฑ์พระอนุสรณ์ อปก. วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม



พระอารามหลวงอันเป็นศรีสง่าแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม นับจำเดิมแต่กาลสมัยที่
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงสถาปนาขึ้น
จนถึงรัชกาลปัจจุบันได้รับพระมหากรุณาธิคุณอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์มาโดยตลอด

นอกจากจะเป็นพระอารามหลวงสำคัญเป็นที่เชิดหน้าชูตาสง่างาม
เป็นที่ดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
ดังได้กล่าวมาแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญในทางการคณะสงฆ์ไทย ดังนี้คือ

การปกครองคณะสงฆ์

เจ้าอาวาสและพระเถรานุเถระของวัดนี้ มีตำแหน่งเป็น
พระสังฆาธิการปกครองคณะสงฆ์ต่างต่างวาระกัน
ตั้งแต่ระดับสูงสุด คือ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ลงมาถึงระดับสังฆนายก เจ้าคณะใหญ่ กรรมการมหาเถรสมาคม
เจ้าคณะมณฑล เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ
เป็นที่น่าภาคภูมิใจแก่ศิษย์วัดเบญจมบพิตรเป็นอย่างยิ่ง

Image
ขวา : พระรูปหล่อสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ)
ซ้าย : รูปหล่อสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สุวรรณ สุวณฺณโชโต) อดีตเจ้าอาวาส
ประดิษฐาน ณ พิพิธภัณฑ์พระอนุสรณ์ อปก. วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม



การศึกษาของคณะสงฆ์

นอกจากการจัดตั้งและดำเนินการสำนักเรียนวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
อันเป็นส่วนการศึกษาพระปริยัติธรรม
ซึ่งมีผู้สอบได้นักธรรมตรี-โท-เอก และเปรียญ ๓-๙ ประโยคเป็นจำนวนมากแล้ว

ยังได้ส่งเสริมการศึกษาของภิกษุสามเณรในฝ่ายคดีโลกอีกด้วย
มีผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี-โท-เอก
ทั้งในประเทศและต่างประเทศมากมาย

ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์สำหรับเยาวชน
ได้มีการจัดการศึกษาสงเคราะห์แก่ชาวเขา
ให้การสนับสนุนการจัดโรงเรียนประถมและมัธยมศึกษาภายในวัด
อย่างเต็มกำลังความสามารถ ทั้งยังได้ให้ทุนการศึกษา
ทั้งระดับประถม มัธยม และอุดมศึกษา อีกจำนวนมากทุกปี

การเผยแผ่พระพุทธศาสนา

นอกจากการแสดงพระธรรมเทศนา บรรยายธรรม การฝึกอบรมสมาธิ
ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำแล้ว ยังเป็นวัดแรกที่จัดโครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน
ร่วมกับกรมประชาสงเคราะห์ดำเนินการโครงการพระธรรมจาริกแก่ชาวเขา
ร่วมกับทางคณะสงฆ์ดำเนินการโครงการพระธรรมทูต
ส่งเสริมการศึกษาของพระภิกษุให้ไปศึกษาต่อต่างประเทศ

ดำเนินการสร้างวัดไทยเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา
ตลอดจนดูการพระศาสนาและเผยแผ่ในทวีปเอเชียแทบทุกประเทศ

Image
พระพุทธรูปปางต่างๆ ในแต่ละสมัย
ประดิษฐานรอบพระระเบียงคด (พระวิหารคด) ด้านหลังพระอุโบสถ



การสาธารณูปการ

นอกจากการบูรณปฏิสังขรณ์และก่อสร้างถาวรวัตถุภายในพระอารามแล้ว
ยังมีการจัดตั้งห้องสมุดของวัดขึ้น
เพื่อเป็นที่ศึกษาค้นคว้าของพระภิกษุสามเณรและประชาชนทั่วไป
ที่สำคัญคือ วัดเบญจมบพิตรได้ชื่อว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ทางพุทธศิลป์อีกแห่งหนึ่ง

นอกจากสถาปัตยกรรมอันสวยงามวิจิตรประณีต
ของสิ่งก่อสร้างต่างๆ อันมีพระอุโบสถเป็นต้นแล้ว

ยังเป็นที่เก็บรวบรวมพระพุทธรูปปางต่างๆ ขนาดและสมัยต่างๆ มากมาย
เป็นแหล่งศึกษาศิลปะโบราณคดีด้านพุทธศิลป์เป็นอย่างดี

การวางผังและจัดภูมิทัศน์ของพระอารามแห่งนี้สวยงาม
เป็นที่น่าทัศนาและเจริญใจของผู้เข้ามาเยี่ยมชม และบำเพ็ญกุศลเป็นอย่างยิ่ง

อนึ่ง เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๒
คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ
ได้มอบหมายให้กรมการปกครองจัดพิธีเสกทำน้ำพระพุทธมนต์ขึ้น
ณ พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายเป็นน้ำสรงอภิเษกแด่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลปัจจุบัน
เนื่องในการพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา
ครบ ๖ รอบ ๗๒ พรรษา ในวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๒


Image
พระระเบียงคด (พระวิหารคด) 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น