|
พระประวัติและปฏิปทา
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)
พุทธศักราช ๒๓๒๕-๒๓๓๗
วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร
แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร
พระประวัติในเบื้องต้น
สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
มีพระนามเดิมว่า “ศรี” (บางตำราเขียนว่า “สี”)
พระประวัติในเบื้องต้นมีความเป็นมาอย่างไรไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด
ทราบแต่เพียงว่า เดิมเป็นเพียง พระอาจารย์ศรี ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ
อยู่ที่วัดพนัญเชิง อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศน์
พระสงฆ์ถูกฆ่า วัดวาอาราม พระไตรปิฎก ถูกเผาทำลายวอดวายจนสิ้นเชิง
พระภิกษุสามเณรต่างก็พากันหลบภัยไปอยู่ตามวัดต่างๆ ในต่างจังหวัด
พระอาจารย์ศรีก็ได้หลบภัยสงครามไปจำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งหนึ่ง
ในเมืองนครศรีธรรมราช ที่ซึ่งพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาโดยตลอด
ครั้นต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๑๒ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงยกทัพ
ไปปราบก๊กเจ้านครซึ่งตั้งตัวเป็นใหญ่ ที่เมืองนครศรีธรรมราช
จึงได้อาราธนาพระอาจารย์ศรี ขึ้นมาจำพรรษาอยู่ ณ วัดบางหว้าใหญ่
(ปัจจุบันคือ วัดระฆังโฆสิตาราม) เนื่องด้วยทรงคุ้นเคยและรู้จักเกียรติคุณ
ของพระอาจารย์ศรี มาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา
ในขณะนั้น พระอาจารย์ดี ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชอยู่ก่อน
แต่ต่อมาภายหลัง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงทราบว่า
พระอาจารย์ดีเคยบอกที่ซ่อนทรัพย์ของผู้อื่นให้แก่พม่าเมื่อเวลาถูกขังอยู่
จึงโปรดให้ถอดออกจากตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช
แล้วได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา พระอาจารย์ศรี
ขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราช แทน ในพ.ศ. ๒๓๑๒ นั้นเอง
นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๒ แห่งกรุงธนบุรี
ทรงถูกถอดจากตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช
ครั้นถึง พ.ศ. ๒๓๒๔ อันเป็นปีสุดท้ายแห่งรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) ได้ถูกถอดจากตำแหน่งเนื่องจากได้ถวายวิสัชนาร่วมกับ
พระพุฒาจารย์ วัดบางหว้าน้อย (วัดอมรินทราราม)
และพระพิมลธรรม วัดโพธาราม (วัดพระเชตุพนหรือวัดโพธิ์)
เรื่องพระสงฆ์ปุถุชนไม่ควรไหว้คฤหัสถ์ที่เป็นอริยบุคคล
เนื่องจากคฤหัสถ์เป็นหินเพศต่ำ พระสงฆ์เป็นอุดมเพศที่สูง
เพราะทรงผ้ากาสาวพัสตร์และพระจาตุปาริสุทธิศีลอันประเสริฐ ดังความว่า
“ถึงมาตรว่าคฤหัสถ์เป็นพระโสดาก็ดี แต่เป็นหินเพศต่ำ
อันพระสงฆ์ ถึงเป็นปุถุชน ก็ตั้งอยู่ในอุดมเพศอันสูง
เหตุทรงผ้ากาสาวพัสตร์ และพระจตุปาริสุทธิศีลอันประเสริฐ
ซึ่งจะไหว้นบคฤหัสถ์ อันเป็นพระโสดานั้นก็บ่มิควร”
ข้อวิสัชนาดังกล่าวนี้ไม่ต้องพระทัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
พระองค์จึงให้ถอดเสียจากตำแหน่งพระสังฆราช ลงมาเป็นพระอนุจร (พระธรรมดา)
แล้วทรงตั้งพระโพธิวงศ์ เป็นสมเด็จพระสังฆราช
และตั้งพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นพระวันรัต
เหตุการณ์ครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)
และพระราชาคณะทั้งสองรูปดังกล่าว เป็นพระเถระที่เคร่งครัดมั่นคงในพระธรรมวินัย
แม้จะต้องเผชิญกับราชภัยอันใหญ่หลวงก็มิได้หวั่นไหว
นับเป็นพระเกียรติคุณที่สำคัญประการหนึ่งของสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้น
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชครั้งที่ ๒
ครั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ทรงปราบดาภิเษกและสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕
ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คืนสมณฐานันดรศักดิ์และตำแหน่งดังเดิม
ให้แก่ สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)
ดังมีรายละเอียดบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดาร ดังนี้
“ทรงพระราชดำริว่า ฝ่ายข้างอาณาจักรได้แต่งตั้งข้าราชการตามตำแหน่งเสร็จแล้ว
ควรจะจัดการข้างฝ่ายพุทธจักร ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา
ซึ่งเสื่อมทรุดเศร้าหมองนั้นให้วัฒนารุ่งเรืองสืบไป
จึงดำรัสให้สึกพระวันรัต (ทองอยู่) กับพระรัตนมุนี (แก้ว) ออกเป็นฆราวาส
ดำรัสว่าเป็นคนอาสัตย์สอพลอทำให้เสียแผ่นดิน.....ดำรัสให้
สมเด็จพระสังฆราช พระพุฒาจารย์ และพระพิมลธรรม
ซึ่งเจ้ากรุงธนบุรีให้ลงโทษถอดเสียจากพระราชาคณะ เพราะไม่ยอมถวายบังคมนั้น
โปรดให้คงที่สมณฐานันดรศักดิ์ดังเก่า ให้คืนไปอยู่ครองพระอารามตามเดิม
และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และกรมพระราชวังบวรสถานมงคล
ดำรัสสรรเสริญว่า พระผู้เป็นเจ้าทั้งสามพระองค์นี้ มีสันดานสัตย์ซื่อมั่นคง
ดำรงรักษาพระพุทธศาสนาโดยแท้ มิได้อาลัยแก่ร่างกายและชีวิต
ควรเป็นที่นับถือไหว้นบเคารพสักการบูชา แม้มีข้อสงสัยสิ่งใดในพระบาลีไปภายหน้า
จะให้ประชุมพระราชาคณะไต่ถาม ถ้าพระผู้เป็นเจ้าทั้งสามว่าอย่างไรแล้ว
พระราชาคณะอื่นๆ จะว่าอย่างอื่นไป ก็คงจะเชื่อถ้อยคำพระผู้เป็นเจ้าทั้งสาม
ซึ่งจะเชื่อถือฟังความตามพระราชาคณะอื่นๆ
ที่เป็นพวกมากนั้นหามิได้ ด้วยเห็นใจเสียครั้งนี้แล้ว”
ความในพระราชดำรัสดังปรากฏในพระราชพงศาวดารข้างต้นนี้
ย่อมเป็นที่ประจักษ์ว่า สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) เป็นที่ทรงเคารพนับถือ
ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
และสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นอันมาก
ทั้งเป็นที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยในการที่จะฟื้นฟูทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา
ให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป เป็นปัจจัยประการหนึ่งที่ทำให้ทรงพระราชดำริ
ในอันที่จะทำสังคายนาพระธรรมวินัยให้บริสุทธิ์บริบูรณ์
เพื่อเป็นหลักของพระพุทธศาสนาในพระราชอาณาจักร ยั่งยืนสืบไปชั่วกาลนาน
และโดยที่เป็นที่ทรงเคารพนับถือและเป็นที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยดังกล่าวแล้ว
จึงกล่าวได้ว่า สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) คงจักทรงเป็นกำลังสำคัญ
ในการชำระและฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในครั้งรัชกาลที่ ๑ เป็นอย่างมาก
ทั้งในด้านความประพฤติปฏิบัติของพระภิกษุสามเณร
การบูรณปฏิสังขรณ์พุทธสถาน การชำระตรวจสอบพระไตรปิฎกให้ถูกถ้วนบริบูรณ์
ตลอดถึงในด้านความประพฤติปฏิบัติในทางที่ถูกที่ควรของพุทธศาสนิกชนทั่วไป
ดังจะเห็นได้ว่าในระหว่างที่ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)
ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชนั้น
ได้ทรงมีพระราชปุจฉาเกี่ยวกับการพระศาสนาด้านต่างๆ
ไปยังสมเด็จพระสังฆราชมากกว่า ๕๐ เรื่อง
สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) พร้อมด้วยพระสงฆ์ราชาคณะ
ก็ได้ถวายพระพรแก้พระราชปุจฉา เป็นที่ต้องตามพระราชประสงค์ทุกประการ
สิ่งแสดงถึงพระราชศรัทธาเคารพนับถือใน
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชที่ทรงมีต่อ
สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) อีกประการหนึ่งก็คือ
เมื่อทรงตั้งเป็นสมเด็จพระสังฆราชแล้วได้โปรดเกล้าฯ
ให้รื้อตำหนักทองของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไปปลูกเป็นกุฎีถวาย ณ วัดบางว้าใหญ่
แต่น่าเสียดายที่ตำหนักทองนี้ถูกไฟไหม้เสียเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๓
พระประวัติและปฏิปทา
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
(พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ มนุสฺสนาโค)
พุทธศักราช ๒๔๕๓-๒๔๖๔
วัดบวรนิเวศวิหาร
แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
พระประวัติในเบื้องต้น
หลังจาก สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) วัดราชประดิษฐ์ สิ้นพระชนม์
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒ แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
ไม่ทรงสถาปนาพระเถระรูปใดในตำแหน่งที่สมเด็จพระสังฆราช อีกจนตลอดรัชกาล
ในช่วงปลายรัชกาลที่ ๕ จึงว่างสมเด็จพระสังฆราชอยู่เป็นเวลา ๑๑ ปี ถึงรัชกาลที่ ๖
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงถวายมหาสมณุตมาภิเษกแด่
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระวชิรญาณวโรรส เป็น
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
กล่าวอย่างสามัญทั่วไปก็คือ ทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชนั่นเอง
พระองค์เจ้าบุตรี กรมหลวงวรเสรฐสุดา
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ทรงเป็นพระราชโอรส องค์ที่ ๔๗
ใน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
และ เจ้าจอมมารดาแพ ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๕ แรม ๗ ค่ำ
ปีวอก จุลศักราช ๑๒๒๑ ตรงกับวันที่ ๑๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๐๓
ณ ตำหนักหลัง พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานมุขหลัง ในพระบรมมหาราชวัง
เมื่อวันประสูตินั้นฝนตกใหญ่ พระบรมชนกนาถจึงทรงถือเป็นมงคลนิมิต
พระราชทานนามว่า “พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ”
หลังจากประสูติได้เพียงปีเดียว เจ้าจอมมารดาของพระองค์ก็ถึงแก่กรรม
พระองค์จึงทรงอยู่ในความเลี้ยงดูของกรมหลวงวรเสรฐสุดา อาทิอักษรวรรคศรี
(พระองค์เจ้าบุตรี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓)
ซึ่งเป็นพระญาติ ทรงเรียกว่าเสด็จป้า มาตั้งแต่ทรงพระเยาว์
ต่อมา ทรงย้ายมาอยู่กับท้าวทรงกันดาร (ศรี) ผู้เป็นยาย
เมื่อพระชนมายุ ๘ พรรษา ทรงเริ่มศึกษาภาษาบาลี
ทรงศึกษาอยู่จนสามารถแปลธรรมบทได้ก่อนที่จะทรงผนวชเป็นสามเณร
และทรงเริ่มศึกษาภาษาอังกฤษกับครูฝรั่งเมื่อพระชนมายุ ๑๒ พรรษา
นอกจากนี้ ยังทรงศึกษาโหราศาสตร์กับครู
ที่เชี่ยวชาญทางโหราศาสตร์มาแต่พระชนม์ยังน้อย
เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ ๕ พรรษา
ทรงบรรพชาและอุปสมบท
เมื่อพระชนมายุ ๑๔ พรรษา ทรงผนวชเป็นสามเณรตามพระราชประเพณี
ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับเจ้านายอื่นอีก ๒ พระองค์
โดยมี สมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์
และ หม่อมเจ้าพระธรรมุณหิศธาดา (มีพระนามเดิมว่า ศิขเรศ)
เป็นผู้ประทานสรณะและศีล เมื่อทรงผนวชแล้วมาประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร
ทรงผนวชเป็นสามเณรอยู่ ๒ เดือนเศษ จึงทรงลาผนวช
ครั้นพระชนมายุ ๒๐ พรรษา ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ
ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๒
โดยมี สมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์
และ พระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จันทรังสี)
วัดมกุฎกษัตริยาราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์
ทรงได้รับพระนามฉายาว่า “มนุสฺสนาโค”
ทรงผนวชแล้วเสด็จมาอยู่จำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร
เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ ๑๕ พรรษา
ถึงหน้าเข้าพรรษาของปีพุทธศักราช ๒๔๒๒ นั้นเอง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนิน
มาทรงถวายพุ่มพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ตามพระราชประเพณี
และในคราวนั้นได้เสด็จฯ ไปถวายพุ่มพรรษาแด่
พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ
ซึ่งเพิ่งทรงผนวชใหม่ถึงกุฏิที่ประทับ พร้อมทั้งทรงกราบด้วยพระอาการเคารพ
อันเป็นพระอาการที่ไม่เคยทรงปฏิบัติต่อพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์อื่นที่ทรงผนวช
เป็นเหตุให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้น
ทรงตัดสินพระทัยไม่ทรงลาผนวชแต่วันนั้น
ดังที่พระองค์ได้ทรงบันทึกไว้ในพระประวัติตรัสเล่าว่า
เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ ๑๕ พรรษา
“เสด็จกุฎีเราทรงประเคนพุ่ม เราเห็นท่านทรงกราบด้วยเคารพอย่างเป็นพระแปลก
จากพระอาการที่ทรงแสดงแก่พระองค์อื่นเพียงทรงประคอง อัญชลี
เรานึกสลดใจว่า โดยฐานเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ท่านก็เป็นเจ้าของเรา
โดยฐานเนื่องในพระราชวงศ์เดียวกัน ท่านก็เป็นพระเชฏฐะของเรา
โดยฐานเป็นผู้แนะราชการพระราชทาน ท่านก็เป็นครูของเรา
เห็นท่านทรงกราบแม้จะนึกว่าท่านทรงแสดงความเคารพแก่ธงชัยพระอรหันต์ต่างหาก
ก็ยังวางใจไม่ลง ไม่ปรารถนาจะให้เสียความวางพระราชหฤทัยของท่าน
ไม่ปรารถนาจะให้ท่านทอดพระเนตรเรา
ผู้ที่ท่านทรงกราบแล้ว ถือเพศเป็นคฤหัสถ์อีก
ตรงคำที่เขาพูดกันว่า กลัวจัญไรกิน เราตกลงใจว่าจะไม่สึกในเวลานั้น”
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
พระอุปัชฌาย์ในคราวทรงบรรพชาและอุปสมบท
พระรูปหล่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีภายในพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร
ในการจัดตั้งมหามกุฏราชวิทยาลัยนั้นสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ
ได้ทรงวางวัตถุประสงค์ไว้ ๓ ประการ คือ
๑. เพื่อเป็นสถานที่ศึกษาพระปริยัติธรรมของพระสงฆ์ธรรมยุกติกนิกาย
๒. เพื่อเป็นสถานที่ศึกษาวิทยา ซึ่งเป็นของชาติภูมิและต่างประเทศแห่งกุลบุตร
๓. เพื่อเป็นสถานที่จัดการสั่งสอนพระพุทธศาสนา
และพระองค์ได้ทรงอธิบายขยายความของวัตถุประสงค์ทั้ง ๓ ประการไว้ดังนี้
๑. การเล่าเรียนของภิกษุสามเณรนั้นประเพณีเดิมเคยเรียนมูลปกรณ์ก่อน
แล้วจึงเรียนอรรถกถาธรรมบท มังคลัตถทีปนี สารัตถสังคหเป็นต้น
ถึงกำหนด ๓ ปี มีการสอบปริยัติธรรม ครั้งหนึ่ง บางคราวถ้าขัดข้องก็เลื่อนออกไป
ถึง ๖ ปีครั้งหนึ่ง หนังสือสำหรับสอบนั้นมี ๒ อย่าง
สำหรับฝ่ายไทยอย่าง ๑ สำหรับฝ่ายรามัญอย่าง ๑
สำหรับฝ่ายไทยนั้นจัดเป็น ๙ ชั้น
อรรถกถาธรรมบทแบ่งเป็น ๓ ชั้น
คือ ชั้นที่ ๑ ชั้นที่ ๒ ชั้นที่ ๓ มังคลัตถทีปนีบั้นต้นชั้นที่ ๔
สารัตถสังคหชั้นที่ ๕ สารัตถทีปนีฏีกาพระวินัยชั้นที่ ๙
ภิกษุสามเณรผู้จะสอบความรู้ จับประโยคแล้ว
รับหนังสือตามประโยคมาดูเสร็จแล้ว
เข้าไปแปลในที่ประชุมพระราชาคณะด้วยปาก ตามเวลาที่กำหนดให้
ถ้าแปลได้ตลอดประโยคในเวลาที่กำหนดไว้นั้น
จัดเป็นได้ ถ้าครบกำหนดเวลาแล้วยังแปลไม่ตลอดประโยค จัดเป็นตก
ผู้ที่สอบได้ตั้งแต่ชั้นที่ ๓ ขึ้นไป จึงนับว่าเป็น “เปรียญ”
แม้สอบชั้นที่ ๑ ชั้นที่ ๒ ได้แล้ว ถ้าตกชั้นที่ ๓ ก็นับว่าตก
ถึงคราวหน้าจะเข้าแปลใหม่ต้องแปลตั้งแต่ชั้นที่ ๑ ขึ้นไปอีก
ฝ่ายรามัญนั้นจัดเป็น ๔ ชั้น บาลีมหาวิภังค์ คืออาทิกัณฑ์
หรือปาจิตตีย์อย่างใดอย่างหนึ่งตามแต่จะเลือก
เป็นชั้นที่ ๑ บาลีมหาวิภังค์หรือจุลลวัคค์
อย่างใดอย่างหนึ่งตามแต่จะเลือก
เป็นชั้นที่ ๒ บาลีมุตตกวินัยวินิจฉัย
เป็นชั้นที่ ๓ ปฐมสมันตปาสาทิกาอรรถกถาพระวินัย
เป็นชั้นที่ ๔ แปลเป็นภาษารามัญ แต่ต้องบอกสัมพันธ์ด้วย
ถ้าแปลได้ตั้งแต่ชั้นที่ ๒ ขึ้นไป จึงนับว่าเป็น “เปรียญ”
เปรียญเหล่านี้ถ้ายังไม่ได้แปลถึงชั้นที่สุด
หรือยังไม่ได้รับตำแหน่งยศเป็นพระราชาคณะ
แม้ถึงจะมีพรรษายุกาลมากก็ยังนับว่ามีหน้าที่จะต้องแปลชั้นสูงขึ้นไปอีก
ต่อเมื่อใดแปลถึงชั้นที่สุดแล้วก็ดี ได้รับตำแหน่งยศเป็นพระราชาคณะ
ในระหว่างนั้นก็ดี จึงนับว่าสิ้นเขตที่จะแปลหนังสืออีก
ภิกษุสามเณรผู้เริ่มเรียน กว่าจะเรียนจบมูลปกรณ์ก็ช้านาน
มักเป็นที่ระอาเบื่อหน่ายแล้วละทิ้งเสีย แม้ถึงเรียนตลอดบ้างก็ไม่เข้าใจตลอดไปได้
เพราะธรรมดาคนเรียนใหม่ ไม่อาจเข้าใจฉบับเรียนที่พิสดารให้ตลอดไปได้
จะกำหนดจำได้แต่เพียงพอแก่สติปัญญา
เหมือนเด็กน้อยที่ผู้ใหญ่ป้อนอาหารคำโตกว่าปากขึ้นไป
รับบริโภคได้พอประมาณปากของตน
ฉะนั้น ท่านผู้ชำนาญในวิธีสอนบางท่านจึงได้คิดแต่งวิธีสอนผู้เริ่มเรียนใหม่
เรียกชื่อว่าบทมาลา ย่อบ้าง พิสดารบ้าง ตามความประสงค์ของท่าน
สำหรับสอนแทนมูลปกรณ์ เพื่อจะให้เวลาเรียนเร็วขึ้น
ส่วนการเรียนนั้น สถานที่หนึ่งก็มีครูคนหนึ่งสอนนักเรียนทุกชั้นไม่ได้ปันเป็นแผนก
จึงหาครูที่มีความรู้พอจะสอนได้ตลอดเป็นอันยาก
ทั้งเป็นที่ลำบากของครูผู้สอนจะสอนนั้นด้วย
ส่วนกำหนดเวลาสอบความรู้ ๓ ปีครั้งหนึ่ง หรือ ๖ ปีครั้งหนึ่งนั้น
เป็นการนาน ผู้ที่เรียนมีความรู้พอจะสอบได้
แต่ยังไม่ถึงสมัยที่จะสอบ หรือผู้ที่สอบตกแล้ว
มักสิ้นหวังที่จะรอคอยคราวสอบครั้งหน้า
แลนักเรียนคนหนึ่งสอบคราวหนึ่งก็ได้ไม่กี่ชั้นนัก
จึงไม่ใคร่จะมีเปรียญประโยคสูง จะหาครูที่สอนหนังสือชั้นสูงๆ
ได้ก็ยากเข้าทุกที ถึงจะมีผู้สอบชั้นสูงได้บ้าง
ก็คงต้องรับตำแหน่งยศพระราชาคณะเสียในระหว่างยังไม่ทันสอบชั้นสูง
ด้วยเหตุจำเป็น มีจะต้องเป็นเจ้าอาวาสเป็นต้น
เมื่อเป็นฉะนี้ ก็ไม่ค่อยมีนักเรียนที่สอบได้ถึงชั้นที่สุดตามแบบที่ตั้งไว้
ส่วนการแปลด้วยปากนั้น สอบวันหนึ่งไม่ได้กี่รูป
กว่าจะจบการสอบคราวหนึ่งถึง ๓ เดือน
เมื่อเป็นเช่นนี้ จะกำหนดการสอบให้เร็วเข้ามาก็ไม่ได้อยู่เอง
แลเปรียญที่สอบความรู้ได้ถึงชั้นนั้นๆ แล้ว
ก็มีความรู้พออ่านหนังสือเข้าใจได้เท่านั้น
ผู้สอบยังทราบไม่ได้ว่าเป็นผู้ทรงธรรมวินัย
สมควรจะปกครองหมู่คณะแล้วหรือไม่
อาศัยเหตุผลที่กล่าวมานี้ การเรียนพระปริยัติธรรมของภิกษุสามเณร
จึงนับว่าเจริญดีแล้วยังไม่ได้
เพื่อจะคิดแก้ไขให้การเล่าเรียนพระปริยัติธรรมของภิกษะสามเณร
เจริญดีขึ้นทันเวลาที่เป็นอยู่บัดนี้
วิทยาลัยจึงได้จัดวิธีสอนแลสอบความรู้ดังนี้ ในเบื้องต้น
ให้เรียนบาลีไวยากรณ์ ซึ่งเป็นหนังสือชนิดเดียวกับบทมาลา แล้วจึงขึ้นคัมภีร์ต่อไป
แบบที่สำหรับสอบความรู้นั้น บาลีไวยากรณ์เป็นชั้นนักเรียนที่ ๓
อรรถกถาธรรมบท ความนิทาน เป็นชั้นนักเรียนที่ ๒
แก้กถาธรรมบทบั้นปลาย เป็นนักเรียนชั้นที่ ๑
แก้กถาธรรมบทบั้นต้น เป็นชั้นเปรียญที่ ๓
(ต่อไปถ้ามีกำลังจะพิมพ์มังคลัตถทีปนีได้ จะใช้เป็นแบบสำหรับสอบชั้นเปรียญที่ ๓)
พระบาลีพระวินัยมหาวัคค์และจุลลวังคค์ กับบาลีพระอภิธรรมบางเล่ม
เป็นชั้นเปรียญที่ ๑ กำหนดสอบไล่ทุกปี วิธีสอบไล่นั้นใช้เขียน
แต่ยอมให้ผิดได้ไม่เกินกำหนด ถ้าได้ชั้นไหนแล้วก็เป็นอันได้
วิทยาลัยได้รับพระบรมราชานุญาตให้สอบไล่ได้โดยวิธีที่จัดนี้ เป็นส่วนพิเศษ
๒. การที่ประชุมชนจะเข้าใจในพระพุทธศาสนาได้ชัดเจนมีอยู่ ๓ ทาง
คือ ด้วยได้ฟังธรรมเทศนา ด้วยได้สนทนาธรรม ด้วยได้อ่านหนังสือที่เป็นคำสั่งสอน
การเทศนานั้นมีที่วัดตามกำหนดวันพระบ้าง มีที่โรงธรรมในที่นั้นๆ บ้าง
มีด้วยกิจนิมนต์ในมังคลามังคลสมัยบ้าง เทศที่จัดตามกำหนดวันพระนั้น
จะได้ฟังก็แค่คนที่เข้าวัดเท่านั้น
ส่วนเทศนาในโรงธรรมนั้นตั้งขึ้นที่ไหนก็มีแต่คนในจังหวัดนั้น
และมักจะเทศนาแต่เรื่องนิทานนิยายอะไรต่างๆ
ไม่เป็นทางที่จะให้เข้าใจในพระพุทธศาสนาดีขึ้น
การเทศนาด้วยกิจนิมนต์ในมังคลามังคลสมัยนั้นก็มักมีแบบไว้สำหรับพิธีนั้นๆ
ใครเคยฟังเรื่องใดก็ฟังเรื่องนั้นซ้ำๆ อยู่นั่น ไม่ค่อยจะได้ฟังเรื่องที่แปลกจากนั้น
ส่วนการสนทนาธรรมนั้น เป็นทางที่จะเข้าใจในพระพุทธศาสนาได้ชัดเจน
เพราะผู้ฟังถามข้อที่ตัวไม่เข้าใจหรือสงสัยอยู่ได้
แต่จะหาผู้ที่เข้าใจในการสนทนานี้ยากยิ่งนัก
ส่วนการอ่านหนังสือที่เป็นคำสั่งสอนนั้น
เป็นที่เข้าใจในพระพุทธศาสนาได้ดีกว่าฟังเทศนา
เพราะอ่านเองมีเวลาที่จะกำหนดตรึกตรองได้ตามชอบใจ
และถ้าจำได้แล้วลืมเสียกลับดูอีกก็ได้
แต่หนังสือที่สำหรับจะอ่านเช่นนั้นยังไม่มีแพร่หลายพอที่ประชุมชนจะแสวงหาไว้อ่านได้
หนังสือที่มีอยู่แล้วก็ยังไม่ได้แสดงคำสอนในพระพุทธศาสนาให้สิ้นเชิง
เป็นแต่แสดงบางข้อความตามประสงค์ของผู้แต่งหนังสือนั้นๆ
ความยินดีในธรรมของคนก็ต่างกัน
บางคนยินดีในธรรมที่ลึกซึ้ง บางคนยินดีในธรรมที่ไม่ลึกซึ้ง
ถ้าถูกอัธยาศัยก็พอใจอ่าน ถ้าไม่ถูกอัธยาศัยก็ไม่พอใจอ่าน
หนังสือสำหรับสั่งสอนประชุมชน
ควรจะมีหลายอย่างตามอัธยาศัยของคนต่างๆ กัน
ในการที่จะแนะนำให้ประชุมชนเข้าใจในพระพุทธศาสนาชัดเจนดีนั้น
เป็นกิจที่วิทยาลัยควรจุด ๒ อย่าง คือ
มีธรรมเทศนาที่วัดตามกำหนดวันพระอย่างหนึ่ง
จัดพิมพ์หนังสือแสดงคำสั่งสอนอย่างหนึ่ง
ส่วนการมีเทศนาตามกำหนดวันพระนั้น ได้เคยมีเป็นประเพณีของวัดมาแล้ว
ส่วนการพิมพ์หนังสือแสดงคำสอนนั้นวิทยาลัยจะจัดขึ้นตามกำลังที่จะจัดได้
๓. การฝึกสอนเด็กชาวเมืองนั้น วิทยาลัยจะจัดให้มีโรงเรียนสำหรับสอนหนังสือไทย
แลเลขแลฝึกกิริยาเด็กให้เรียบร้อย สอนให้รู้จักดีชั่วตามสมควร
ใน ๓ ข้อที่กล่าวแล้วนี้ การเล่าเรียนของภิกษุสามเณร วิทยาลัยได้จัดแล้ว
ส่วนอีก ๒ ข้อนั้นอาจจัดได้เมื่อใด ก็จะจัดเมื่อนั้นตามลำดับ
จากพระอธิบายข้างต้นนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ได้ทรงชี้ให้เห็นว่า
การศึกษาของพระสงฆ์เท่าที่ผ่านมาไม่เจริญก้าวหน้า
เพราะสาเหตุหลายประการ กล่าวคือ
(๑) ตำราเรียนบางส่วนไม่เหมาะสม ทำให้ผู้เรียนต้องใช้เวลาเรียนนานเกินจำเป็น
จนผู้เรียนเกิดความเบื่อหน่ายเรียนไปไม่ค่อยตลอด
(๒) เนื่องจากตำราเรียนยากเกินความจำเป็น
แม้ผู้ที่เรียนผ่านไปได้ก็มักจะไม่มีความรู้ความเข้าใจอย่างชัดเจน
(๓) การเรียนไม่มีการจัดเป็นชั้นอย่างเป็นระบบ ครูคนเดียวสอนหมดทุกอย่าง
เป็นเหตุให้หาครูที่สอนได้อย่างสมบูรณ์ตามหลักสูตรยาก
(๔) การสอบไม่มีกำหนดที่แน่นอนและทิ้งระยะนานเกินไป
คือ ๓ ปีครั้งบ้าง ๖ ปีครั้งบ้าง
(๕) วิธีการสอบยังล้าหลัง คือสอบด้วยวิธีแปลด้วยปาก
ซึ่งการสอบแต่ละครั้งต้องใช้เวลามาก แต่สอบนักเรียนได้จำนวนน้อยคน
เนื่องจากสาเหตุต่างๆ ดังกล่าวนี้นั่นเอง
ที่ทำให้ผู้ที่ผ่านการสอบได้แล้วก็มั่นใจไม่ได้ว่าเป็นผู้รู้พระธรรมวินัยดี
เพราะส่วนใหญ่ไม่ค่อยเข้าใจในสิ่งที่ตนเรียน
และเรื่องที่เรียนในชั้นนั้นๆ บางทีก็ไม่ใช่เรื่องที่จำเป็นจะต้องรู้ปัญหาต่างๆ เหล่านี้
หากกล่าวโดยสรุปก็คือ เป็นปัญหาเกี่ยวกับวิธีสอนและวิธีสอบนั่นเอง
วิธีที่ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงพระดำริขึ้น
เพื่อแก้ไขการศึกษาของภิกษุสามเณรให้เจริญทันกาลสมัย
ดังที่ได้จัดขึ้นในมหามกุฏราชวิทยาลัย
ก็คือในด้านการสอนนั้นจัดหลักสูตรให้มีน้อยชั้น
สามารถเรียนให้จบได้ในเวลาอันสั้น เรียนได้ง่ายขึ้น
แต่ได้ความรู้พอเพียงแก่ความต้องการ
ส่วนการสอบนั้น ให้มีการสอบทุกปีและสอบด้วยวิธีเขียน
กล่าวโดยสรุปก็คือจัดหลักสูตรให้เหมาะสม ใช้เวลาเรียนสั้น
เรียนง่ายได้ความรู้มาก และวัดผลได้แม่นยำ
ตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
ข้อมูลพื้นฐานปัจจุบันของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
ชื่อมหาวิทยาลัย
ภาษาไทย : มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย อักษรย่อ คือ มมร.
ภาษาอังกฤษ : Mahamakut Buddhist University อักษรย่อ คือ MBU
ศาสนสุภาษิตประจำมหาวิทยาลัย
วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน โส เสฏฺโฐ เทวมานุเส
ผู้สมบูรณ์ด้วยความรู้และความประพฤติ เป็นผู้ประเสริฐในหมู่เทพและมนุษย์
สีประจำมหาวิทยาลัย
สีส้ม หมายถึง สีประจำพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ซึ่งตรงกับวันพฤหัสบดี อันเป็นวันพระราชสมภพ
ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย
ต้นโพธิ์ ต้นไม้ที่ประทับตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
คติพจน์ประจำตัวนักศึกษา
ระเบียบ สามัคคี บำเพ็ญประโยชน์
ตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย
พระมหามงกุฏ :
หมายถึง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔
พระผู้ทรงเป็นที่มาแห่งนาม “มหามกุฏราชวิทยาลัย”
พระเกี้ยวประดิษฐานแบบหมอนรอง :
หมายถึง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕
ซึ่งทรงเป็นผู้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งมหามกุฏราชวิทยาลัย
และพระราชทานทรัพย์บำรุงปีละ ๖๐ ชั่ง
หนังสือ :
หมายถึง คัมภีร์และตำราทางพระพุทธศาสนา
โดยที่มหามกุฏราชวิทยาลัยจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งผลิตคัมภีร์และตำรา
ทางพระพุทธศาสนา สำหรับส่งเสริมการศึกษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนา
ปากกาปากไก่ ดินสอ และม้วนกระดาษ :
หมายถึง อุปกรณ์ในการศึกษาเล่าเรียน ตลอดถึงอุปกรณ์ในการผลิตคัมภีร์
และตำราทางพระพุทธศาสนา เพราะมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
ทำหน้าที่เป็นทั้งสถานศึกษาและแหล่งผลิตตำราทางพระพุทธศาสนา
ช่อดอกไม้แย้มกลีบ ในทางการศึกษา :
หมายถึง ความเบ่งบานแห่งสติปัญญาและวิทยาความรู้
แต่ในทางพระศาสนาหมายถึง กิตติศัพท์ กิตติคุณ
ที่ฟุ้งขจรไปดุจกลิ่นแห่งดอกไม้โดยมีความหมายรวม
คือความเจริญรุ่งเรืองและเกียรติยศ อิสริยยศ บริวารยศ
พานรองรับหนังสือหรือคัมภีร์ :
หมายถึง มหามกุฏราชวิทยาลัยเป็นสถาบันเพื่อความมั่นคง
และแพร่หลายของพระพุทธศาสนา ทั้งในด้านการศึกษาและการเผยแผ่
วงรัศมี :
หมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา
ที่บังเกิดขึ้นจากกิจกรรมของมหามกุฏราชวิทยาลัย
ภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ของพระมหากษัตริย์ไทย
มหามกุฏราชวิทยาลัย :
หมายถึง สถาบันการศึกษาระดับปริญญาตรี, โท, เอก
ปัจจุบัน คือ “มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย”
วัตถุประสงค์หลัก (Objectives)
(๑) ผลิตบัณฑิตพระภิกษุ สามเณร ให้มีความเป็นเลิศทางวิชาการ
ตามแนวพระพุทธศาสนาเพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนาในระดับชาติและนานาชาติ
(๒) ผลิตบัณฑิตคฤหัสถ์ทุกคน ให้เป็นคนดี คือ คิดดี พูดดี และทำดี
ตามแนวทางแห่งพระพุทธศาสนา
(๓) บริการวิชาการตามแนวพระพุทธศาสนาแก่สังคมให้เกิดผลสัมฤทธิ์
เป็นประจักษ์ชัดเจน ต่อสังคมไทยและสังคมโลก
(๔) ผลิตบัณฑิตเป็นผู้นำ เพื่อสร้างสังคมไทยให้มีความเข้มแข็งทางสังคมศาสตร์
และมีคุณภาพทั้งด้านความรู้และความประพฤติ
(๕) ผลิตบัณฑิตเป็นผู้นำ เพื่อสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งภูมิปัญญา
การเรียนรู้ และเป็นศูนย์กลางทางวิชาการพระพุทธศาสนาเถรวาท
(๖) ผลิตบัณฑิตเป็นผู้นำ เพื่อสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งสมานฉันท์
ความเอื้ออาทรต่อกันและความสามัคคี โดยใช้หลักสาราณียธรรมและพรหมวิหารธรรม
(๗) สร้างระบบการบริหารองค์การให้เป็นองค์การที่มีลักษณะของความเป็น
มหาวิทยาลัยเฉพาะทางพระพุทธศาสนาและมีมาตรฐานระดับสากล
พันธกิจ (Mission Statements)
(๑) ผลิตบัณฑิตทางด้านพระพุทธศาสนาให้มีคุณสมบัติตามปรัชญาของมหาวิทยาลัย
และกระจายโอกาสให้พระภิกษุสามเณร คฤหัสถ์ และผู้สนใจมีโอกาสศึกษามากขึ้น
(๒) ให้บริการวิชาการตามแนวพระพุทธศาสนาแก่สังคม ชุมชน และท้องถิ่น
โดยเฉพาะวิชาการทางพระพุทธศาสนา เพื่อมุ่งเน้นการเผยแผ่พุทธธรรม
การแก้ปัญหาสังคม การนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันให้เกิดสันติสุข
การชี้นำสังคมในทางสร้างสรรค์ และการยุติข้อขัดแย้งด้วยหลักวิชาการพระพุทธศาสนา
(๓) วิจัยและพัฒนางานวิชาการเชิงลึกด้านพระพุทธศาสนา
เพื่อสร้างองค์ความรู้ทางด้านวิชาการพระพุทธศาสนาใหม่ๆ
ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
และเผยแผ่องค์ความรู้ในระบบเครือข่ายการเรียนรู้ที่ทันสมัย
(๔) รวบรวมและจัดเก็บข้อมูลด้านศาสนาและศิลปวัฒนธรรม
เพื่อให้มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งค้นคว้า ทำนุบำรุงรักษาภูมิปัญญาไทยและท้องถิ่น
รวมทั้งสร้างชุมชนที่เข้มแข็งเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันวัฒนธรรมที่ไม่เหมาะสม
ปณิธาน (Aspiration)
มุ่งเน้นให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต ผลิตบัณฑิตให้มีความเป็นเลิศทางวิชาการ
ตามแนวพระพุทธศาสนา พัฒนากระบวนการดำรงชีวิตในสังคมด้วยศีลธรรม
ชี้นำและแก้ปัญหาสังคมด้วยหลักพุทธธรรมทั้งในระดับชาติและนานาชาติ |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น