วันพุธที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2558

วัดประจำรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร

วัดประจำรัชกาลที่ ๒
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร

ประวัติความเป็นมา
          วัดประจำรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย คือ วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหารหรือ วัดแจ้งเมื่อครั้งที่พระองค์ท่านดำรงตำแหน่งเป็นวังหน้าในรัชกาลที่ ๑ ที่ประทับของท่านจะอยู่ที่พระราชวังเดิม ฝั่งธนบุรี และวัดที่อยู่ใกล้กับพระราชวังเดิมที่สุดก็คือวัดอรุณราชวราราม พระองค์ท่านจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดอรุณฯ และยังได้ทรงลงมือปั้นหุ่นพระพักตร์ พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก พระประธานในพระอุโบสถ ด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เองอีกด้วย และเมื่อพระองค์ท่านทรงเสด็จสวรรคต พระบรมอัฐิของพระองค์ ก็ถูกนำมาประดิษฐานไว้ที่พระอุโบสถวัดอรุณราชวรารามแห่งนี้
                วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร เป็นวัดโบราณเก่าแก่สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่พบหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้างวัดในสมัยโบราณ ตามหลักฐานเท่าที่ปรากฏมีเพียงว่า เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีมาก่อนรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พุทธศักราช ๒๑๙๙-๒๒๓๑) เพราะมีแผนที่เมืองธนบุรีซึ่ง เรือเอก เดอ ฟอร์บัง (Claude de Forbin) กับ นายช่าง เดอ ลามาร์ (de Lamare) ชาวฝรั่งเศส
ทำขึ้นไว้เป็นหลักฐานในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อีกทั้งวัดแห่งนี้ยังมีพระอุโบสถและพระวิหารของเก่าที่ตั้งอยู่ ณ บริเวณหน้าพระปรางค์ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นฝีมือช่างสมัยกรุงศรีอยุธยา
                มูลเหตุที่เรียกชื่อวัดนี้แต่เดิมว่า วัดมะกอก นั้น ตามทางสันนิษฐานเข้าใจว่าคงจะเรียกคล้อยตามชื่อตำบลที่ตั้งวัด ซึ่งสมัยนั้นมีชื่อว่า ตำบลบางมะกอก’ (เมื่อนำชื่อ ตำบลบางมะกอกมาเรียกรวมกับคำว่า วัดในตอนแรกๆ คงเรียกว่าวัดบางมะกอกภายหลังเสียงหดลงคงเรียกสั้นๆ ว่า วัดมะกอก’) ตามคติการเรียกชื่อวัดของไทยในสมัยโบราณ เพราะชื่อวัดที่แท้จริงมักจะไม่มี จึงเรียกชื่อวัดตามชื่อตำบลที่ตั้ง ต่อมาเมื่อได้มีการสร้างวัดขึ้นใหม่อีกวัดหนึ่งในตำบลเดียวกันนี้ แต่อยู่ลึกเข้าไปในคลองบางกอกใหญ่ ชาวบ้านเรียกชื่อวัดที่สร้างใหม่ว่า วัดมะกอกใน (ในปัจจุบันคือ วัดนวลนรดิศวรวิหาร) แล้วเลยเรียก วัดมะกอกเดิม ซึ่งอยู่ตอนปากคลองบางกอกใหญ่ ว่า วัดมะกอกนอก เพื่อให้ทราบว่าเป็นคนละวัดกัน
                ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๓๑๐ เมื่อ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงมีพระราชประสงค์จะย้ายราชธานี มาตั้ง ณ กรุงธนบุรี จึงเสด็จกรีฑาทัพล่องลงมาทางชลมารคถึงหน้าวัดมะกอกนอกแห่งนี้เมื่อเวลารุ่งอรุณพอดี จึงทรงเปลี่ยนชื่อวัดมะกอกนอก เป็น วัดแจ้ง เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงการได้เสด็จมาถึงวัดนี้เมื่อเวลาอรุณรุ่ง
                เมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้ย้ายราชธานีจากกรุงศรีอยุธยามาตั้ง ณ กรุงธนบุรี ในปี พ.ศ.๒๓๑๑ และได้ทรงสร้างพระราชวังใหม่ มีการขยายเขตพระราชฐาน เป็นเหตุให้วัดแจ้งตกเข้ามาอยู่กลางพระราชวัง จึงโปรดไม่ให้มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษา การที่เอาวัดแจ้งเป็นวัดภายในพระราชวังนั้น คงจะทรงถือแบบอย่างพระราชวังในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่มีวัดพระศรีสรรเพชญ์อยู่ในพระราชวัง การปฏิสังขรณ์วัดเท่าที่ปรากฏอยู่ตามหลักฐานในพระราชพงศาวดารก็คือ ปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ และพระวิหารหลังเก่าที่อยู่หน้าพระปรางค์ กับโปรดให้สร้างกำแพงพระราชวังโอบล้อมวัด เพื่อให้สมกับที่เป็นวัดภายในพระราชวัง แต่ไม่ปรากฏรายการว่า ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์หรือก่อสร้างสิ่งใดขึ้นบ้าง
                ในสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี ถือกันว่าวัดแจ้งเป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง เนื่องจากเป็นวัดที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตและพระบาง ซึ่ง สมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึก (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑) ไปตีเมืองเวียงจันทน์ได้ในปีกุน เอกศก จุลศักราช ๑๑๔๑ (พ.ศ.๒๓๒๒) แล้วอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญ ๒ องค์คือ พระแก้วมรกตและพระบาง ลงมากรุงธนบุรีด้วย และมีการสมโภชเป็นเวลา ๒ เดือน ๑๒ วัน
จนกระทั่งถึงวันวิสาขปุณณมี วันเพ็ญกลางเดือน ๖ ปีชวด โทศก จุลศักราช ๑๑๔๒ (พุทธศักราช ๒๓๒๓) โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางขึ้นประดิษฐานไว้ในมณฑป ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถเก่าและพระวิหารเก่า หน้าพระปรางค์ อยู่ในระยะกึ่งกลางพอดี มีการจัดงานสมโภชใหญ่ ๗ คืน ๗ วันด้วยกัน
                เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ได้โปรดให้สร้างพระนครใหม่ข้างฝั่งตะวันออก ของแม่น้ำเจ้าพระยา และรื้อกำแพงพระราชวังกรุงธนบุรีออก ด้วยเหตุนี้วัดแจ้งจึงไม่ได้อยู่ในเขตพระราชวังอีกต่อไป พระองค์จึงโปรดให้วัดแจ้งเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษาอีกครั้งหนึ่ง โดยนิมนต์ พระโพธิวงศาจารย์ จากวัดบางหญ้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพฯ) มาครองวัด พร้อมทั้งพระศรีสมโพธิและพระภิกษุสงฆ์จำนวนหนึ่งมาเป็นพระอันดับ
                นอกจากนั้นพระองค์ทรงมอบหมายให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (รัชกาลที่ ๒)เป็นผู้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์วัดแจ้ง แต่การปฏิสังขรณ์คงสำเร็จเพียงกุฏิสงฆ์ ส่วนพระอุโบสถและพระวิหาร ยังไม่ทันแล้วเสร็จ ก็พอดีสิ้นรัชกาลที่ ๑ ในปี พ.ศ.๒๓๕๒ เสียก่อน(เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๗ พระแก้วมรกตได้ย้ายมาประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง ส่วนพระบางนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้โปรดพระราชทานคืนไปยังนครเวียงจันทร์ ประเทศลาว)
                ต่อมาในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ พระองค์ทรงดำเนินการปฏิสังขรณ์ต่อจนเสร็จ มีการจัดงานสมโภชใหญ่ถึง ๗ วัน ๗ คืน แล้วโปรดพระราชทานพระนามวัดว่า วัดอรุณราชธาราม
                ในสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดอรุณฯ ใหม่หมดทั้งวัด พร้อมทั้งโปรดให้ลงมือก่อสร้างพระปรางค์ตามแบบที่ทรงคิดขึ้นด้วย ซึ่งการก่อสร้างและปฏิสังขรณ์สิ่งต่างๆ ภายในวัดอรุณฯ นี้สำเร็จลงแล้ว แต่ยังไม่ทันมีงานฉลองก็สิ้นรัชกาลที่ ๓ ในปี พ.ศ.๒๓๙๔
                เมื่อ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ในปี พ.ศ.๒๓๙๔
พระองค์ได้โปรดให้สร้างและปฏิสังขรณ์สิ่งต่างๆ ในวัดอรุณฯ เพิ่มเติมอีกหลายอย่าง อีกทั้งยังได้อัญเชิญ พระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มาบรรจุไว้ที่ พระพุทธอาสน์ของพระประธานในพระอุโบสถ ที่พระองค์ทรงพระราชทานนามว่า พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลกและเมื่อได้ทรงปฏิสังขรณ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้พระราชทานนามวัดเสียใหม่ว่า วัดอรุณราชวรารามดังที่เรียกกันมาจนถึงปัจจุบัน
                ครั้นในสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงปฏิสังขรณ์พระปรางค์จนเสร็จสมบูรณ์สวยงามดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน แม้จะมีการปฏิสังขรณ์ใหม่อีกครั้งหนึ่งในสมัย รัชกาลที่ ๙ รัชกาลปัจจุบัน แต่ก็ยังคงความสวยงามในสภาพเดิมไว้ทุกประการ ตามที่รัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้ปฏิสังขรณ์ไว้ดังนี้
                พระปรางค์องค์ใหญ่ตั้งอยู่ภายในรั้วล้อมทั้ง ๔ ด้าน คือด้านตะวันออก ตะวันตก เหนือ และใต้ ตอนล่างเป็นกำแพงก่ออิฐถือปูนเตี้ยๆ ทาด้วยน้ำปูนสีขาว ตอนบนเป็น รั้วลูกกรงเหล็กทาสีแดง มีรูปครุฑจับนาค อันเป็นพระบรมราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์ในรัชกาลที่ ๒ ทำด้วยเหล็ก ติดอยู่ตอนบนที่รั้วลูกกรงเหล็กทาสีแดงทุกช่อง แต่ละช่องกั้นด้วยเสาก่ออิฐถือปูนเหมือนกำแพง ตอนล่างทางด้านตะวันตกหลังพระปรางค์ใหญ่นั้น มี เก๋งจีน แบบของเก่าเหลืออยู่อีก ๑ เก๋ง หน้าบันและใต้เชิงชายประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสี และภาพสีเทาเขียนเป็นรูปดอกไม้ ต้นไม้ และรูปสัตว์ต่างๆ แบบจีน ผนังของเก๋งจีนด้านในทาด้วยน้ำปูนสีขาว ซึ่งแต่เดิมนั้นเป็นภาพสีเกี่ยวกับนรก ในรัชกาล ๕ โปรดให้ลบออกเสียเพราะทรงพิจารณาเห็นว่าไม่งาม ส่วนรั้วด้านใต้ที่ติดกับกำแพงพระราชวังเดิมนั้น เป็นรั้วก่อด้วยอิฐถือปูนทึบตลอดทั้งด้าน
                ลานพระปรางค์องค์ใหญ่ตั้งแต่รั้วถึงฐานพระปรางค์ปูด้วยกระเบื้องหิน มีท่อระบายน้ำจากพื้นลานลงไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยา แต่ละมุมด้านในของรั้วมีแท่นก่อไว้มีลายเป็นขาโต๊ะตั้งติดกันเข้าใจว่าจะเป็นที่สำหรับตั้งเครื่องบูชา หรือวางของรอบๆ ฐานพระปรางค์มี ตุ๊กตาหินแบบจีน เป็นรูปสัตว์ต่างๆ เช่น วัว ควาย ลิง สิงโต เป็นต้น กับ รูปทหารจีน ตั้งไว้เป็นระยะๆ และบริเวณลานที่ตรงกับพระมณฑปทิศ มีราวเทียนและที่สำหรับปักธูปบูชาทั้ง ๔ พระมณฑป
                องค์พระปรางค์ใหญ่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมาก โปรดให้เปลี่ยนเพียงรูปกินนรกินรี และแจกันปักดอกไม้ตามช่องต่างๆ เป็นซีเมนต์ครึ่งซีกติดกับผนังคูหาด้านใน แทนของเก่า ซึ่งสลักด้วยหินเป็นตัวๆ ตั้งไว้ เพราะถ้าจะทำใหม่ให้เหมือนเก่า จะต้องใช้เงินมาก ด้วยของเก่าเหลืออยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ได้โปรดให้รื้อประตูเข้าพระปรางค์ใหญ่ออกหมดทั้ง ๙ ประตู แล้วสร้างขึ้นใหม่เพียง ๕ ประตู เป็นประตูซุ้มแบบ วัดราชประดิษฐ์ฯ
                ซุ้มเหนือบานประตูทางเข้าพระปรางค์ทั้งด้านนอกและด้านในเป็นลายปูนปั้นลงสี ทำเป็น รูปพระราชลัญจกรประจำพระองค์ในรัชกาลที่ ๑ ถึง รัชกาลที่ ๕ ติดอยู่ตรงด้านนอกและด้านใน คือที่รั้วด้านตะวันออกหน้าพระปรางค์มี ๓ ประตู ซุ้มเหนือบานประตูที่อยู่เหนือโบสถ์น้อยเป็น รูปครุฑจับนาค ประจำรัชกาลที่ ๒ ประตูกลางระหว่างโบสถ์น้อยและวิหารน้อยเป็น รูปพระเกี้ยว ประจำรัชกาลที่ ๕ และประตูข้างใต้พระวิหารน้อยเป็น รูปพระมงกุฎ ประจำรัชกาลที่ ๔ ส่วนที่รั้วทางด้านตะวันตกหลังพระปรางค์มี ๒ ประตู
ซุ้มเหนือบานประตูเหนือเก๋งจีนเป็น รูปอุณาโลมอยู่ในกลีบบัว ประจำรัชกาลที่ ๑ ประตูใต้เก๋งจีนเป็น รูปอุณาโลมอยู่ในปราสาท ประจำรัชกาลที่ ๓
                องค์พระปรางค์ประดับด้วยกระเบื้องทำเป็นลวดลายต่างๆ สวยงามมาก แต่ที่น่าทึ่งก็คือ การที่จะสร้างพระปรางค์องค์สูงใหญ่อยู่ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำและยังคงแข็งแรงมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ได้นี้ แสดงว่าฝีมือของช่างในสมัยนั้นไม่ธรรมดาเลยทีเดียว
สถานะและที่ตั้ง
                พระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ที่ตั้ง ๓๔ ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร สังกัด มหานิกาย
สิ่งสำคัญในวัด
 รูปภาพ
พระปรางค์ทิศ มีช่องรูปกินรีและกินนร และรูปมารกับกระบี่แบกสลับกัน

รูปภาพ
ซุ้มคูหารูปพระพายทรงม้าของพระปรางค์ทิศ


รูปภาพ
ช่องรูปกินรี ที่ฐานของพระปรางค์ทิศ และพระมณฑปทิศ

รูปภาพ
ช่องรูปกินรีและกินนร ที่ฐานของพระปรางค์ทิศ และพระมณฑปทิศ

รูปภาพ
สถาปัตยกรรมอันโดดเด่นและงดงามของพระปรางค์องค์ใหญ่

รูปภาพ
บันไดทางขึ้นไปสู่พระปรางค์องค์ใหญ่ ส่วนทางขวามือเป็นพระมณฑปทิศ

รูปภาพ
พระมณฑปทิศ และพระปรางค์ใหญ่

รูปภาพ
พระมณฑปทิศ มีรูปคนธรรพ์แบก ๒ พระมณฑป

รูปภาพ
พระมณฑปทิศ ตั้งอยู่บนฐานทักษิณชั้นที่ ๒ ในระยะระหว่างพระปรางค์ทิศ

รูปภาพ
บันไดขึ้น-ลงพระปรางค์ใหญ่ และพระมณฑปทิศ

รูปภาพ
พระปรางค์ทิศ         
          พระปรางค์ใหญ่ พระปรางค์ทิศและพระมณฑปทิศ พระปรางค์ทิศ
ล้อมรอบด้วย พระปรางค์ทิศและพระมณฑปทิศ พระปรางค์ทิศ เป็นพระปรางค์องค์เล็กๆ ตั้งอยู่บนมุมทักษิณชั้นล่าง ของพระปรางค์องค์ใหญ่ มีอยู่ ๔ ทิศ ทิศละองค์ คือทิศตะวันออก เฉียงเหนือ ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และทิศตะวันตกเฉียงใต้ พระปรางค์ทิศทั้ง ๔ องค์มีขนาดและรูปทรงเหมือนกัน กล่าวคือ ตอนฐานของพระปรางค์ทิศแต่ละพระปรางค์มี ช่องรูปกินรีและกินนรสลับกันโดยรอบ ที่เชิงบาตรเหนือช่องมี รูปมารกับกระบี่แบกสลับกัน เหนือขึ้นไปเป็น ซุ้มคูหารูปพระพายทรงม้า และเหนือขึ้นไปอีกบนยอดพระปรางค์ทิศมี รูปครุฑจับนาคและเทพพนม อยู่เหนือซุ้มคูหา องค์พระปรางค์ทิศก่อด้วยอิฐถือปูน ประดับถ้วยกระเบื้องเคลือบสีลวดลายต่างๆ แบบเดียวกับพระปรางค์องค์ใหญ่ และบนส่วนยอดสุดขององค์พระปรางค์ทิศ เป็น ยอดนภศูลปิดทอง แต่ไม่มีมงกุฎปิดทองครอบอีกชั้นหนึ่ง (มงกุฎปิดทองครอบยอดนภศูลจะมีเฉพาะพระปรางค์องค์ใหญ่เท่านั้น)
                ในสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระองค์ไม่ได้ทรงมีการปฏิสังขรณ์และเปลี่ยนแปลงพระปรางค์ทิศแต่อย่างใด ส่วน พระมณฑปทิศ มีอยู่ ๔ ทิศ คือทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก ตั้งอยู่บนฐานทักษิณชั้นที่ ๒ ในระยะระหว่างพระปรางค์ทิศ ภายในองค์พระมณฑปทิศประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ แต่จะเป็นปางใดบ้างนั้น ไม่พบหลักฐาน เมื่อปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลที่ ๕
                ตามรายงานของ พระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) ชี้แจงว่า มีแต่ฐานพระพุทธรูป องค์พระพุทธรูปไม่มี ตอนฐานของพระมณฑปทิศแต่ละพระมณฑปมี ช่องรูปกินรีและกินนร และเหนือช่องมี รูปกุมภัณฑ์แบก ๒ พระมณฑป คือทิศเหนือกับทิศใต้ มี รูปคนธรรพ์แบก ๒ พระมณฑป คือทิศตะวันออกและทิศตะวันตกพระมณฑปก่อด้วยอิฐถือปูน ประดับกระเบื้องเคลือบสีลวดลายต่างๆ
แบบเดียวกับพระปรางค์องค์ใหญ่และพระปรางค์ทิศ
                ในการปฏิสังขรณ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธรูปปางต่างๆ ที่เหลืออยู่ในพระวิหารคด รอบพระปรางค์ของเก่าที่ถูกรื้อไปนั้น นำขึ้นไปประดิษฐานไว้ในมณฑปทิศ คือ พระมณฑปทิศเหนือ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางประสูติ ทำเป็นรูปพระนางสิริมหามายา พุทธมารดา ประทับยืนเหนี่ยวกิ่งไม้รัง เบื้องพระพักตร์มีรูปพระมหาสัตว์หรือพระพุทธเจ้าแรกประสูติ ประทับยืนอยู่เหนือดอกบัว ยกพระพาหาข้างขวาขึ้นเหนือพระเศียร ชูนิ้วพระหัตถ์ขึ้น ๑ นิ้ว ประกาศว่าจะทรงเป็นมหาบุรุษผู้เลิศในโลกนี้ และมีรูปเทวดา ๒ องค์ ประคองพระแท่นที่ประทับยืน พระพุทธรูปที่นำขึ้นไปประดิษฐานอยู่ในพระมณฑปทิศเหนือนี้ เป็นของทำขึ้นใหม่ทั้งหมด เพราะแต่เดิมไม่มี
                พระมณฑปทิศตะวันออก ประดิษฐานพระพุทธรูปปางตรัสรู้ มีพระพุทธรูปปางนาคปรกอยู่กลาง และพระพุทธรูปรูปางมารวิชัยอยู่สองข้าง ประทับอยู่ใต้ร่มโพธิ์และร่มไทร
                พระมณฑปทิศใต้ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางเทศนาพระธรรมจักร มีพระปัญจวัคคีย์ ๕ องค์นั่งพนมมือฟังอยู่เฉพาะพระพักตร์ สำหรับพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ นี้ เป็นของทำขึ้นใหม่ เพราะของเก่าแตกทำลายหมด
                พระมณฑปทิศตะวันตก ประดิษฐานพระพุทธรูปปางเสด็จดับขันธปรินิพพาน มีพระพุทธรูปปางไสยาสน์อยู่เหนือแท่นพระบรรทมใต้ต้นรังทั้งคู่ และมีพระภิกษุสงฆ์พุทธสาวกอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ (ข้างหลัง) 
รูปภาพ
พระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม สถาปัตยกรรมชิ้นสำคัญอันสวยงามยิ่ง 
รูปภาพ

รูปภาพ
พระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม
                             
พระอุโบสถ
                ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวัด เป็นสถาปัตยกรรมชิ้นสำคัญ ที่มีความสวยงามยิ่งชิ้นหนึ่งของฝีมือช่างในสมัยรัชกาลที่ ๒ เป็นพระอุโบสถยกพื้นสูง หลังคาลด ๒ ชั้น มุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีทองและสีเขียวใบไม้ ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ ลงรักปิดทองประดับกระจก หน้าบันทั้งด้านหน้าและด้านหลังสลักด้วยไม้ลงรักปิดทองเป็นรูปเทวดายืนถือพระขรรค์ประทับในปราสาท เป็นไม้แกะ มีสังข์ และคันโทน้ำวางอยู่บนพานข้างสะพาน ประดับลายกระหนก ชื่อว่า ช่อกระหนกหางโต ลงรักปิดทอง ตัวพระอุโบสถมีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง มีเสาใหญ่รับเชิงชายทั้งด้านทิศเหนือและทิศใต้ มีชานเดินได้ พื้นหน้ามุขและพื้นรอบพระอุโบสถปูด้วยหินอ่อน บันได เสาบันไดเป็นหินทราย ระหว่างเสาใหญ่ด้านทิศเหนือและทิศใต้ มีกำแพงเตี้ยๆ ประดับด้วย หินสลักรูปดอกไม้ ใบไม้ ที่หุ้มกลองด้านหน้าอยู่ระหว่างประตูทั้ง ๒ ข้าง มีบุษบกที่สร้างไว้ระหว่างประตูด้านหน้าทั้งสองข้างของพระอุโบสถ ซึ่งเป็น บุษบกยอดปรางค์ จำหลักลายวิจิตร ปิดทองประดับกระจก

รูปภาพ


พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก พระประธานในพระอุโบสถ 
รูปภาพ
พระประธาน, พระอัครสาวก ๒ องค์ และพัดยศพระประธาน 
พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก
                พระประธานในพระอุโบสถ มีนามว่า พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงพระราชทานนามให้ พระประธานองค์นี้เล่าขานกันว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒  ทรงปั้นหุ่นพระพักตร์ด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีขนาดหน้าตักกว้าง ๓ ศอกคืบหรือ ๑.๗๕ เมตร ศิลปกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ ประดิษฐานเหนือแท่นไพทีบนฐานชุกชี พระพุทธรูปองค์นี้เดิมยังไม่มีพระนาม เบื้องพระพักตร์มีรูปหล่อพระอัครสาวก ๒ องค์หันหน้าเข้าหาองค์พระประธาน  ระหว่างกลางรูปหล่อพระอัครสาวก ๒ องค์นั้น มี พัดยศพระประธาน (พัดแฉกใหญ่) ตั้งอยู่เช่นเดียวกับ พระพุทธเทวปฏิมากรวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
                พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้ทรงอัญเชิญ พระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ มาประดิษฐานบรรจุไว้ที่ ผ้าทิพย์ซึ่งประดับด้วยลายพระราชลัญจกรเป็นรูปครุฑจับนาค ตรง ใบพัดยศพระประธาน ในบริเวณ พระพุทธอาสน์ ของพระประธานในพระอุโบสถ แล้วถวายพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงสันนิษฐานเกี่ยวกับ พัดยศพระประธาน ดังกล่าวนี้ไว้ว่า
                 นึกได้ว่าในเรื่องพุทธประวัติ มีพระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่ง ดูเหมือนจะเป็นพระเจ้าปเสนทิ ได้ทำพัดงาถวายพระพุทธองค์ สำหรับทรงถือในเวลาประทานพระธรรมเทศนา เรื่องนั้นพวกสร้างพระพุทธรูปได้เอาเป็นคติ  ทำพระพุทธรูปปางหนึ่งทรงถือพัด มีมาแต่โบราณ ยกตัวอย่างดังเช่น พระชัยนวรัฐ ที่เจ้าเชียงใหม่ถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เป็นต้น แลยังมีอยู่ในพิพิธภัณฑสถานอีกหลายองค์ แต่ชั้นเก่าทำพัดเป็นรูปกลมหรือรูปไข่  เช่น รูปพัดงาสาน พระชัยของหลวงสร้างประจำรัชกาล ก็คงมาแต่พระปางนั้น  เป็นแต่แก้รูปพัดเป็นพัดแฉก คงเป็นแบบพระชัยหลวง มาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงทรงสร้างพระชัยประจำรัชกาลที่ ๑ เป็นปางทรงถือพัดแฉก ยังมีคติเนื่องกับพระพุทธรูปปางถือพัดต่อไปอีกอย่างหนึ่ง
ที่พระเจ้าแผ่นดินถวายพัดแฉกเป็นพุทธบูชา ตั้งไว้บานฐานชุกชีข้างหน้าพระประธานในพระอารามหลวง
เคยเห็นที่วัดอรุณ วัดราชบุรณะ และทำเป็นพัดแฉกขนาดใหญ่ ถวายพระพุทธเทวปฏิมากรวัดพระเชตุพน ยังปรากฏอยู่จนบัดนี้
รูปภาพ
‘บุษบกยอดปรางค์’ ที่สร้างไว้ระหว่างประตูด้านหน้าทั้งสองข้างของพระอุโบสถ
ภายในประดิษฐาน ‘พระพุทธนฤมิตร’ พระพุทธรูปฉลองพระองค์ในรัชกาลที่ ๒


รูปภาพ
‘บุษบกยอดปรางค์’ ด้านหลังของพระอุโบสถ วางพานพุ่มตรงกลาง 
 พระพุทธนฤมิตร
                เป็นพระพุทธรูปยืน ปางห้ามสมุทร (ยกพระกรทั้งสองขึ้นเสมอพระอุระ)  ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของการสร้างพระพุทธรูปฉลองพระองค์ (พระพุทธรูปเท่าพระองค์ของพระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์) ที่สร้างขึ้นเฉพาะพระพุทธรูปยืน ปางห้ามสมุทรนี้เท่านั้น พระพุทธนฤมิตรนี้เป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์ในรัชกาลที่ ๒ ที่หุ้มกลองด้านหลังระหว่างประตูทั้ง ๒ ข้างเหมือนกัน บุษบกยอดปรางค์มีพาน ๒ ชั้น ลงรักปิดทอง มีพุ่มเทียนตั้งอยู่ ผนังด้านนอกถือปูนประดับกระเบื้องจีนลายดอกไม้ร่วง บัวหัวเสาและบัวเชิงเสาลงรักปิดทองประดับกระจก หน้าต่างทั้งหมดมี ๑๔ ช่อง ด้านเหนือ ๗ ช่อง ด้านใต้ ๗ ช่อง บานหน้าต่างด้านนอกเป็นลายรดน้ำซ่อมใหม่ ด้านในเป็นภาพต้นไม้
                จึงถือว่าวัดอรุณราชวรารามแห่งนี้ เป็นวัดที่มีความผูกพันกับ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ มากที่สุด ซึ่งปัจจุบันก็มี พระบรมราชานุสาวรีย์ของรัชกาลที่ ๒ ของพระองค์ท่านตั้งอยู่บริเวณด้านริมแม่น้ำเจ้าพระยา ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้ง ๔ ด้าน ซึ่งฝีมืองดงามยิ่งนัก เป็นภาพพระพุทธประวัติ เช่น ภาพผจญมาร และภาพในชาดก เช่น เวสสันดรชาดก เป็นต้น
                ภายในพระอุโบสถยังมี ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนัง ฝีมือของครูคงแป๊ะและครูทองอยู่ ช่างเขียนจิตรกรรมฝาผนังชั้นครู ที่เคยฝากฝีมือไว้ที่วัดสุวรรณาราม ราชวรวิหาร เขตบางกอกน้อย ไว้ด้วยเช่นกัน
                พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเมื่อปีมะโรง พ.ศ.๒๔๑๑ การปฏิสังขรณ์วัดอรุณฯ ในรัชกาลนี้ควรนับได้ว่าเป็นการใหญ่ เพราะได้โปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์ใหม่หมดเกือบทั้งวัด เริ่มต้นจากพระวิหารที่กำลังชำรุดทรุดโทรม และบุษบกที่มุขหน้าและมุขหลังของพระอุโบสถที่ค้างไว้
                ปีมะแม วันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๓๘ เวลา ๑๖.๐๐ นาฬิกา ได้เกิดอัคคีภัยไหม้พระอุโบสถ สาเหตุเกิดจากลูกไฟปลิวมาจาก โรงถ่านที่อยู่เหนือคลองนครบาล หรือคลองวัดแจ้ง ตึกกุฏิสงฆ์ริมคลองลุกไหม้ขึ้นก่อน แล้วเปลวไฟปลิวมาไหม้พระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้รีบเสด็จพระราชดำเนินมาอำนวยการดับเพลิงด้วยพระองค์เอง และอัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ ๒ สมเด็จพระบรมอัยกาธิราช ออกไปได้ทัน  ในการเกิดเพลิงไหม้ครั้งนี้ พระอุโบสถได้รับความเสียหายมาก เพลิงไหม้หลังคาพระอุโบสถจนหมด และทำให้ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังเสียหายไปบ้าง
                จึงโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์พระอุโบสถใหม่เกือบทั้งหมดให้คืนดีดังเดิม โดยได้โปรดให้ กรมหมื่นปราบปรปักษ์ เป็นแม่กองในการบูรณะ ซึ่งเท่ากับเป็นการสร้างใหม่ ตลอดจนเขียนภาพผนังด้านใน และปฏิสังขรณ์พระระเบียงรอบพระอุโบสถ กับถาวรวัตถุอื่นๆ ที่ควรปฏิสังขรณ์ด้วย สิ้นพระราชทรัพย์ครั้งนี้เป็นเงิน ๑๒,๘๐๐ บาท ซึ่งพระบรมวงศ์ฝ่ายในได้ทรงร่วมบริจาคทรัพย์เป็นเงิน ๒๔,๐๐๐ บาท เพื่อการปฏิสังขรณ์และสถาปนาถาวรวัตถุภายในวัด และโปรดเกล้าฯ ให้นำเงินที่เหลือจากการบริจาคของพระบรมวงศานุวงศ์ ไปสร้างโรงเรียนตรงบริเวณกุฎีเก่าด้านเหนือ ซึ่งชำรุดไม่มีพระสงฆ์อยู่ เป็นตึกใหญ่ แล้วพระราชทานนามว่า โรงเรียนทวีธาภิเศก
                นอกจากนั้นยังได้โปรดให้ พระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) เป็นนายงานอำนวยการปฏิสังขรณ์พระปรางค์องค์ใหญ่ และบริเวณทั่วไปตามของเดิม แก้ไขเพิ่มเติมบางอย่างตามที่ควรจะแก้ การปฏิสังขรณ์พระปรางค์ได้เริ่มแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๕๑ และเมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงโปรดให้มีการฉลองพระปรางค์ร่วมกับงานฉลองพระไชยนวรัฐ และงานบำเพ็ญพระราชกุศลพระชนมายุสมมงคล คือมีพระชนมายุเสมอพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รวม ๓ งานพร้อมกัน ซึ่งทั้ง ๓ งานนี้เป็นงานใหญ่ รวมเวลา ๙ วัน ได้เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๒-๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๕๒
                ต่อมาในสมัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ รัชกาลปัจจุบัน ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์หลายอย่าง โดยเฉพาะพระปรางค์วัดอรุณฯ ได้รับการปฏิสังขรณ์เป็นการใหญ่  มีการประกอบพิธีบวงสรวงก่อนเริ่มการบูรณะพระปรางค์  ในวันพุธที่ ๒๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๐
และการบูรณะก็สำเร็จด้วยดีดังเห็นเป็นสง่างามอยู่จนทุกวันนี้
รูปภาพ
ซุ้มประตูทางเข้า-ออกของพระวิหารคด (พระระเบียงคด) ซึ่งล้อมรอบพระอุโบสถ
ด้านหน้ามีเสาหินแกะสลักอันงดงามตั้งเด่นเป็นสง่าจำนวน ๒ เสา 
พระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม ไม่มี กำแพงแก้ว แต่มี พระวิหารคด (พระระเบียงคด) ล้อมรอบ
สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ เช่นกัน ภายในพระวิหารคด (พระระเบียงคด) มีพระพุทธรูปปางมารวิชัยประดิษฐานอยู่โดยรอบถึง ๑๒๐ องค์ บริเวณรอบๆ พระอุโบสถนั้น มี ตุ๊กตาหินจีน ขนาดเล็กตั้งเรียงราย อยู่เต็มไปหมด นับตั้งแต่ระหว่างซุ้มเสมายอดมณฑปทั้ง ๘ ซุ้ม ก็มี สิงโตหินจีน ตัวเล็กตั้งอยู่บนแท่นเรียงกัน เว้นไว้แต่ตรงช่องบันไดทางขึ้นพระอุโบสถเท่านั้น และด้านหน้าบริเวณลานพระระเบียงคดที่ล้อมรอบอุโบสถนั้น ก็มีตุ๊กตาหินจีนเป็นรูปคน แต่งกายในชุดแบบจีนยืนอยู่ในลักษณะต่างๆ กันเรียงเป็นแถวครบทั้งสี่ด้าน
รูปภาพ
พระเจดีย์หินแบบจีน มีโป๊ยเซียนตั้งอยู่ในซุ้มของเจดีย์ทั้ง ๘ ทิศ
ประดิษฐานอยู่ที่มุมพระอุโบสถทั้ง ๔ มุม 

 พระเจดีย์หินแบบจีน
                นอกจากนี้ที่มุมพระอุโบสถทั้ง ๔ มุมยังมี พระเจดีย์หินแบบจีน แต่มียอดเป็นปล้องๆ คล้ายปล้องไฉนของไทย มีผู้วิเศษจีนแปดรูป หรือที่เรียกว่า โป๊ยเซียน ตั้งอยู่ในซุ้มคูหาขององค์พระเจดีย์หินแบบจีนนั้นทั้ง ๘ ทิศด้วยกัน

รูปภาพ

รูปภาพ
หน้าบันประตูซุ้มยอดมงกุฎ 
 ประตูซุ้มยอดมงกุฎ
                ด้านหลังทิศตะวันออกทางที่จะเข้าสู่บริเวณพระอุโบสถมี ประตูซุ้มยอดมงกุฎ ซึ่งตั้งอยู่ตรงกึ่งกลางพระระเบียงของพระอุโบสถด้านทิศตะวันออก สร้างขึ้นในสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เป็นประตูจตุรมุข หลังคา ๓ ชั้น เฉลียงรอบ มียอดเป็นทรงมงกุฎ ประดับด้วยกระเบื้องถ้วยสลับสี หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ ช่อฟ้า ใบระกา หัวนาค และหางหงส์ เป็นปูนประดับกระเบื้องถ้วย หน้าบันเป็นปูนประดับกระเบื้องถ้วย มีลวดลายเป็นใบไม้ ดอกไม้ เชิงกลอนคอสองประดับด้วยกระเบื้องถ้วยเช่นเดียวกัน เสาในร่วมมุขหน้าใช้ไม้สักหน้า ๕.๑๑ นิ้ว ประกับรับสะพานด้านละ ๒ อัน ๔ ด้าน
                ประตูซุ้มนี้เคยทำใหม่มาแล้วครั้งหนึ่งเพราะชำรุดทรุดโทรมมาก จึงมีผู้เสนอให้รื้อทิ้ง ซึ่งหากบูรณะจะต้องเสียเงินจำนวนมาก แต่ยังคงรูปแบบเดิมไว้ครบถ้วน เพราะเมื่อคราวจะสร้างใหม่นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โปรดให้ถ่ายภาพซุ้มประตูเดิมไว้ และให้สร้างตามรูปแบบเก่านั้น โดยทรงรับสั่งว่า ซุ้มประตูนี้อยากจะให้คงรูปเดิม เพราะปรากฏแก่คนว่าเป็นหลักของบางกอกมาช้านานแล้วและขอให้ถ่ายรูปเดิมไว้ให้มั่นคง เวลาทำอย่าให้แปลกกว่าเก่าเลยเป็นอันขาด อย่าเพ่อให้รื้อจะไปถ่ายรูปไว้เป็นพยาน...
รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ
ยักษ์ทศกัณฐ์ และยักษ์สหัสเดชะ ยืนเฝ้าที่ประตูซุ้มยอดมงกุฎทางเข้าพระอุโบสถ
อีกหนึ่งรูปแบบอันโดดเด่นของนายทวารบาล เทพผู้พิทักษ์รักษาประตู 


รูปภาพ
ยักษ์ด้านใต้กายสีเขียว มีชื่อว่า “ทศกัณฐ์”

รูปภาพ
ยักษ์ด้านเหนือกายสีขาว มีชื่อว่า “สหัสเดชะ”
 รูปภาพ
สิงโตหินข้างยักษ์ทั้งสองตนที่ประตูซุ้มยอดมงกุฎ 
 ยักษ์วัดแจ้ง
                บริเวณด้านหน้า ประตูซุ้มยอดมงกุฎก่อนเข้าสู่พระอุโบสถ มีพญายักษ์หรือที่เรียกกันติดปากว่า ยักษ์วัดแจ้งยืนเฝ้าอยู่ ๒ ตนรูปร่างเป็นยักษ์ไทยตัวใหญ่ เขี้ยวแหลมโง้ง ตัวมีขนาดใหญ่กว่ายักษ์วัดโพธิ์มือทั้งสองกุมไม้กระบองสีขาวเป็นอาวุธ ยืนอยู่บนแท่น มีความสูงประมาณ ๓ วา โดยยักษ์ด้านเหนือกายสีขาว มีชื่อว่า สหัสเดชะ ยักษ์ด้านใต้กายสีเขียว มีชื่อว่า ทศกัณฐ์ ยักษ์ทั้งสองตนเป็นยักษ์ปูนปั้นประดับกระเบื้องเคลือบสีเป็นลวดลายและเครื่องแต่งตัวของเดิมสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทำหน้าที่เป็น นายทวารบาลตามคติความเชื่อเทพผู้พิทักษ์รักษาประตู เพื่อให้เทพได้ปกปักรักษาสถานที่สำคัญทางศาสนา ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการปั้นรูปยักษ์ยืนในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ในเวลาต่อมา
                ยักษ์เป็นอมนุษย์ชนิดหนึ่ง มีกล่าวถึงทั้งในทางศาสนาและวรรณคดี เป็นความเชื่อของไทยที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ โดยเชื่อว่ายักษ์มีหลายระดับขึ้นอยู่กับบุญบารมี ยักษ์ชั้นสูงจะมีวิมานเป็นทอง มีรูปร่างสวยงาม ปกติไม่เห็นเขี้ยว เวลาโกรธจึงจะมีเขี้ยวงอกออกมา ยักษ์ชั้นกลางส่วนใหญ่จะเป็นบริวารของยักษ์ชั้นสูง ส่วนยักษ์ชั้นต่ำที่บุญน้อยก็จะมีรูปร่างน่ากลัว ผมหยิกตัวดำผิวหยาบ นิสัยดุร้าย
                จะเห็นได้ว่าในวัดวาอารามต่างๆ มักจะมียักษ์มาประกอบเป็นส่วนหนึ่งของวัดหรือโบราณสถาน ไม่ว่าจะเป็นรูปปั้นยักษ์แบกพระเจดีย์ในวัดพระแก้ว รูปปั้นยักษ์แบกองค์พระปรางค์ในวัดแจ้ง หรือยักษ์วัดโพธิ์ เป็นต้น ซึ่งตามตำนานเล่าว่า พระพุทธเจ้าได้เทศน์สั่งสอนยักษ์ให้ลดทิฐิมานะ ยักษ์ที่ได้ฟังและเข้าใจในพระธรรม จึงได้กลายมาเป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำชูพระพุทธศาสนา หรืออีกนัยหนึ่งก็หมายถึง ผู้แบกสรวงสวรรค์ และทำหน้าที่เป็นผู้ปกป้องคุ้มครองสถูปสถาน และอาคารศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเป็นการค้ำชูพระพุทธศาสนาให้มั่งคงและเจริญรุ่งเรืองสืบต่อมา

                สำหรับตำนานเรื่องเล่า หลายคนคงเคยได้ยินตำนานกำเนิดท่าเตียน ที่เล่าปากต่อปากกันมาว่า บริเวณท่าเตียนอันเป็นพื้นที่โล่งเตียนนั้น เป็นผลจากการต่อสู้ของ ยักษ์วัดแจ้งกับ ยักษ์วัดโพธิ์ โดยมี ยักษ์วัดพระแก้วเป็นผู้ห้ามทัพ
                ตำนานกำเนิดท่าเตียน มีว่า ยักษ์วัดโพธิ์ซึ่งทำหน้าที่ดูแลวัดโพธิ์และยักษ์วัดแจ้งซึ่งทำหน้าที่ดูแลวัดแจ้งหรือวัดอรุณฯ ฝั่งตรงข้ามนั้น ทั้ง ๒ ตนเป็นเพื่อนรักกัน วันหนึ่งทางฝ่ายยักษ์วัดโพธิ์ไม่มีเงิน จึงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปขอยืมเงินจากยักษ์วัดแจ้ง พร้อมทั้งนัดวันที่จะนำเงินไปส่งคืน เมื่อถึงกำหนดส่งเงินคืน ยักษ์วัดโพธิ์กลับไม่ยอมจ่ายหนี้ เบี้ยวเอาเสียดื้อๆ  ยักษ์วัดแจ้งเมื่อรอแล้วรอเล่าจนทนไม่ไหว จึงตัดสินใจข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาทวงเงินคืน แต่ยักษ์วัดโพธิ์ไม่ยอมให้
                ดังนั้น ในที่สุดยักษ์ทั้ง ๒ ตนจึงเกิดการทะเลาะถึงขั้นต่อสู้กัน แต่เพราะรูปร่างที่ใหญ่โตมหึมาและมีกำลังมหาศาลของยักษ์ทั้ง ๒ ตน เมื่อต่อสู้กันจึงทำให้ต้นไม้ในบริเวณนั้นถูกยักษ์ทั้งสองเหยียบย่ำจนล้มตายลงหมด หลังจากที่เลิกต่อสู้กันแล้วบริเวณที่ยักษ์ทั้งสองประลองกำลังกันนั้น จึงราบเรียบเป็นหน้ากลองกลายเป็นสถานที่ที่โล่งเตียนไปหมด ไม่มีอะไรเหลือเลย ซึ่งตามตำนานเรื่องเล่าดังกล่าวยังสรุปไม่ได้ว่า ยักษ์วัดไหนเป็นฝ่ายชนะ
                ครั้นเมื่อพระอิศวร (พระศิวะ) ได้ทราบเรื่องราวการต่อสู้กัน ทำให้บรรดามนุษย์และสัตว์ทั้งหลายในบริเวณนั้นเดือดร้อน จึงได้ลงโทษโดยการสาปให้ยักษ์ทั้ง ๒ กลายเป็นหิน  แล้วให้ยักษ์วัดโพธิ์ ทำหน้าที่ยืนเฝ้าหน้าพระอุโบสถ วัดโพธิ์  และให้ยักษ์วัดแจ้ง ทำหน้าที่ยืนเฝ้าพระวิหาร วัดแจ้ง เรื่อยมา ส่วนฤทธิ์จากการสู้รบของยักษ์ทั้งคู่ที่ทำชุมชนละแวกนี้ราบเรียบเป็นหน้ากลอง ทำให้ชาวบ้านพากันเรียกว่า ท่าเตียนเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ แต่ที่แน่ๆ สำหรับ ยักษ์วัดแจ้งนี้ถือว่าเป็นยักษ์ชื่อดังที่ทุกคนรู้จักกันดีจากวรรณคดีสำคัญเรื่องรามเกียรติ์ นั่นก็คือยักษ์ทศกัณฐ์
                รูปยักษ์ยืนทั้งสองตนนี้เป็นของทำขึ้นใหม่ ที่ทำไว้เก่าสมัยรัชกาลที่ ๓ นั้น เป็นฝีมือหลวงเทพ (กัน) สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ตรัสว่าหลวงเทพ...ที่ปั้นยักษ์วัดอรุณคู่ที่พังเสียแล้ว เรียกว่าหลวงเทพกัน มีชื่อเดิมติดและเรื่องหลวงเทพ (กัน) นี้ สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นี้ ได้ทรงอธิบายถวายสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ไว้ว่ายักษ์วัดแจ้งนั้นเขาพูดถึงของเดิมว่าเป็นฝีมือหลวงเทพกัน คำที่ว่าหลวงเทพฯ นั้น
จะเป็นหลวงเทพรจนาหรือหลวงเทพยนต์อะไรก็ไม่ทราบ แต่คำ กัน นั้น เป็นชื่อตัว แต่เพราะฝีมือแกดีจึงโปรดให้ปั้นไว้ รูปเก่านั้นพังไปเสียแล้ว ที่ยืนอยู่บัดนี้เป็นของใหม่ แต่ใหม่ก่อนท่านเจ้านาคไปอยู่แน่  เข้าใจว่ายักษ์วัดแจ้งนั่นแหละพาให้เกิดยักษ์ในวัดพระแก้วขึ้น ในที่สุดยักษ์ก็ต้องมี ที่ต้องมีนั้นจ้างเจ๊กทำก็ได้ เพราะราคาค่อยถูกหน่อย นี่ว่าถึงวัดพระแก้ว แต่ยักษ์คู่ใหม่ที่วัดแจ้งนั้นไม่ทราบ เกล้ากระหม่อมเห็นว่าถ้าหาช่างฝีมือดีปั้นไม่ได้ ไม่ต้อมียักษ์ก็ได้และว่ายักษ์วัดพระแก้วนั้นคงทำขึ้นในรัชกาลที่ ๓ เป็นประเดิม  เพราะจำได้ว่าคู่ทศกัณฐ์กับสหัสเดชะนั้นเป็นฝีมือหลวงเทพรจนา (กัน) คือ มือที่ปั้นยักษ์วัดอรุณ สันนิษฐานว่า เพราะเวลานั้นมีช่างฝีมือดีๆ จึงให้ทำขึ้นไว้
                เรื่องรูปยักษ์คู่ที่ไม่ใช่ของเก่านั้น ท่านเจ้าคุณพระเทพมุนี (เจียร ปภสฺสโร) (สมณศักดิ์สุดท้ายในพระราชทินนามที่ พระธรรมคุณาภรณ์) อดีตเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม รูปที่ ๑๒ ได้บันทึกเรื่องยักษ์ไว้เป็นใจความว่าวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๓ ตรงกับวันอาทิตย์ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะเมีย โทศก จุลศักราช ๑๒๙๒ กลางคืนฝนตกหนัก อสุนีบาตตกถูกยักษ์หน้าพระอุโบสถด้านเหนือ (สหัสเดชะ) พังลงมาต้องสร้างใหม่
                เวลาที่รูปยักษ์ล้มนี้ อยู่ในช่วงพระพิมลธรรม (นาค สุมนฺนาโค) เป็นเจ้าอาวาส ความจริงรูปยักษ์คู่นี้เคยซ่อมมาหลายครั้งแล้ว ดังปรากฏในรายงานมรรคนายก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ ก็มีรายการซ่อมยักษ์ และใน พ.ศ. ๒๔๕๖ ก็ซ่อมแขนยักษ์อีก ส่วนที่ซ่อมและสร้างใหม่นี้ สืบไม่ได้ว่า ใครเป็นผู้ซ่อม ข้างยักษ์ตัวด้านเหนือ สหัสเดชะมีสิงโตหิน ๓ ตัว และข้างตัวด้านใต้ ทศกัณฐ์มีสิงโตหินอีก ๓ ตัวเช่นเดียวกัน
รูปภาพ
พระวิหารวัดอรุณราชวราราม

รูปภาพ
ด้านข้างพระวิหารมีระฆังแขวนไว้ที่เสาไม้ 

รูปภาพ

รูปภาพ
ซุ้มบานหน้าต่างของพระวิหาร 
รูปภาพ
พระพุทธมงคลญาณลักษณ์ปทุมพิมานเนรมิต ประดิษฐานอยู่ด้านข้างพระวิหาร 
 พระวิหาร
                ตั้งอยู่ระหว่างมณฑปพระพุทธบาทจำลองกับหมู่กุฏิคณะ ๑ สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ เช่นกัน เป็นพระวิหารยกพื้นสูงเช่นเดียวกับพระอุโบสถ หลังคาลด ๓ ชั้น
มุงด้วยกระเบื้องเคลือบสี หน้าบันสลักด้วยไม้มีรูปเทวดาถือพระขรรค์ยืนอยู่บนแท่น  ประดับด้วยลายกระหนก ลงรักปิดทองประดับกระจก มีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ด้านหน้ามีประตูเข้า ๓ ประตู ด้านหลังมี ๒ ประตู
ผนังด้านนอกประดับด้วยกระเบื้องเคลือบลายก้านแย่งกระบวนไทย เป็นกระเบื้องที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงสั่งมาจากเมืองจีนเพื่อใช้ประดับผนังด้านนอกพระอุโบสถ แต่ไม่งามพระราชหฤทัย จึงทรงโปรดให้เอามาประดับผนังด้านนอกพระวิหารนี้
                ด้านนอกของประตูและหน้าต่างทั้ง ๑๔ ช่อง ทำขึ้นใหม่ เป็นลายรดน้ำรูปดอกไม้ ผนังด้านใน เดิมคงมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง เพราะเสาสี่เหลี่ยมข้างใน และเรือนแก้วหลังพระประธานและบนบานประตูและหน้าต่างด้านใน ยังมีภาพสีปรากฏอยู่ แต่ปัจจุบันผนังได้ฉาบด้วยน้ำปูนสีเหลืองเสียหมดแล้ว ยังเห็นเป็นรอยเลือนลางได้บางแห่ง แต่น้อยเต็มที ปัจจุบันได้ใช้พระวิหารหลังนี้เป็น ศาลาการเปรียญ ของวัดด้วย
 รูปภาพ
พระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตร พระประธานในพระวิหาร 
รูปภาพ

รูปภาพ
พระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตร พระประธานในพระวิหาร 

 พระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตร

                 พระประธานในพระวิหาร มีนามว่า พระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตรเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๖ ศอก หล่อด้วยทองแดงปิดทอง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้หล่อขึ้นในคราวเดียวกันกับ พระพุทธตรีโลกเชษฐ์  พระประธานในพระอุโบสถวัดสุทัศเทพวราราม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๖ ทางวัดได้พบพระบรมธาตุ ๔ องค์บรรจุอยู่ในโกศ ๓ ชั้น อยู่ในพระเศียร
                ที่ฐานชุกชีด้านหน้าพระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตร  ได้ประดิษฐาน พระอรุณหรือ พระแจ้งพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยสำริด ศิลปะล้านช้าง หน้าตักกว้าง ๕๐ เซนติเมตร ซึ่งองค์พระพุทธรูปและผ้าทรงครองได้หล่อด้วยทองต่างสีกัน
                ตามประวัติกล่าวว่า เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๐๑ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระอรุณหรือพระแจ้งมาจากเมืองเวียงจันทน์  โดยมีพระราชประสงค์จะอัญเชิญมาประดิษฐานในพระบรมมหาราชวัง  แต่ภายหลังพระองค์ได้มีพระราชดำริที่จะย้ายพระอรุณหรือพระแจ้ง มาประดิษฐาน ณ วัดอรุณราชวราราม แทน ด้วยเหตุที่นามพระพุทธรูปพ้องกับชื่อวัด  ดังปรากฏหลักฐานจากพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ถึงพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระอนุชาธิราชในรัชกาลที่ ๔ เมื่อปีมะเมีย จุลศักราช ๑๒๒๐ (พุทธศักราช ๒๔๐๑) ความตอนหนึ่งว่า
                “...ยังมีพระที่มีชื่อเอามาแต่เมืองเวียงจันทน์อีกสองพระองค์ พระอินแปลงน่าตัก ๒ ศอกเศษ พระอรุณน่าตักศอกเศษ...พระอรุณนั้น ฉันคิดว่าจะเชิญลงมาไว้ในพระวิหารวัดอรุณ เพราะชื่อวัดกับชื่อพระต้องกัน สมควรแต่จะให้จัดแจงที่ฐานเสียให้เสร็จก่อน แล้วจึงจะเชิญลงมาต่อน่าน้ำ...
                จากพระราชดำริดังกล่าว ในเวลาต่อมาจึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญ พระอรุณหรือพระแจ้งมาประดิษฐานในพระวิหารวัดอรุณราชวราราม  โดยโปรดให้ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชี ด้านหน้าพระพุทธชัมภูนุทฯ  ซึ่งเป็นพระประธานในพระวิหาร นับแต่นั้นมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
                ช่วงวันสงกรานต์ของทุกปี ในวันที่ ๑๒ เมษายน วัดอรุณฯ จะอัญเชิญพระอรุณองค์จำลองแห่เวียน
ตั้งแต่ถนนอรุณอมรินทร์ไปจนถึงถนนอิสรภาพ และในวันที่ ๑๓ เมษายน จะอัญเชิญพระอรุณองค์จำลองออกมาให้ประชาชนสรงน้ำพระเป็นประจำทุกปี
รูปภาพ

รูปภาพ
พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ ๒ 
พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ ๒
                ก้าวแรกจากเรือขึ้นสู่เทียบท่าน้ำจะเป็นการเข้าสู่เขตพื้นที่ของวัดอรุณราชวรารามหรือวัดแจ้ง สิ่งแรกที่มองเห็นคือ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ซึ่งประดิษฐานหันพระพักตร์ไปสู่ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีช้างเผือก ๓ เชือก ซึ่งเข้ามาสู่พระบารมีในรัชกาลของพระองค์ประดับแวดล้อมด้านหลังของฐานพระบรมราชานุสาวรีย์

                พระราชประวัติโดยย่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พ.ศ.๒๓๕๒-๒๓๖๗ ครองราชย์ ๑๕ พรรษา พระชนมายุ ๕๙ พรรษา เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๓๑๐ พระนามเดิมว่า ฉิม เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ก่อนขึ้ครองราชย์ ทรงดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ตำแหน่งพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล
พระองค์มีความสามารถทางอักษรศาสตร์เป็นอย่างดี ทรงร่วมนิพนธ์วรรณคดีกับสมเด็จพระราชบิดาไว้หลายเรื่อง ได้แก่ อุณรุท รามเกียรติ์ อิเหนา และดาหลัง ซึ่งเรียกว่า พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑
                นอกจากนี้ยังได้ทรงนำบทละครเก่ามานิพนธ์ขึ้นใหม่ได้แก่ ไกรทอง คาวี ไชยเชษฐ์ สังข์ทอง มณีพิไชย ฯลฯ ด้านดนตรี ทรงเป็นเอตทัคคะในทางสีซอสามสายด้านศิลปะ ทรงโปรดการเขียนลวดลายอันวิจิตรงดงามตัวอย่างที่เด่นชัดปรากฏที่บานประตูวัดสุทัศน์เทพวราราม เมื่อปฐมวัยได้ทรงติดตามสมเด็จพระบรมราชบิดาไปในงานสงครามแทบทุกครั้งตั้งแต่พระชมมายุได้ ๘ พรรษา
                ทรงผนวชเมื่อพระชนมายุได้ ๒๒ พรรษา ทรงเสด็จจำพรรษา ณ วัดราชาธิวาส (วัดสมอราย) เป็นเวลา ๑ พรรษา หลังจากลาผนวชแล้ว ทรงอภิเษกสมรสกับพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าหญิงบุญรอด ซึ่งต่อมาได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี
ในรัชสมัยของพระองค์ ประเทศโปรตุเกสและประเทศอังกฤษ ได้ส่งผู้แทนทางการทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีเป็นครั้งแรกในสมัยรัตนโกสินทร์คือได้ส่งมาเมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๖๑ และพุทธศักราช ๒๓๖๓ ตามลำดับ ด้านกฎหมาย ทรงปรับปรุงและออกกฎหมายต่างๆ ได้แก่ กฎหมายห้ามขายฝิ่น สัญญาเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดิน พินัยกรรม รวมทั้งกฎหมายอาญาอื่นๆ เช่น ความผิดเกี่ยวกับการลงโทษทั้งฝ่ายอาณาจักรและพุทธจักรสุนทรภู่ กวีเอกของไทย มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในรัชกาลนี้
รูปภาพ
พระพุทธรูปปางมารวิชัยประดิษฐานรอบพระวิหารคด (พระระเบียงคด)  
พระวิหารคด (พระระเบียงคด)
รูปภาพ
พระวิหารคด (พระระเบียงคด) ซึ่งล้อมรอบพระอุโบสถแทนกำแพงแก้ว 
                พระอุโบสถวัดอรุณราชวรารามแห่งนี้ ไม่มี กำแพงแก้ว แต่มี พระวิหารคด (พระระเบียงคด) ล้อมรอบแทน สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ เช่นกัน ภายในพระวิหารคด (พระระเบียงคด)มีพระพุทธรูปปางมารวิชัยประดิษฐานอยู่โดยรอบถึง ๑๒๐ องค์
                พระระเบียงคดมุงหลังคาด้วยกระเบื้องเคลือบสีทองและสีเขียวใบไม้ มีประตูเข้าออกอยู่กึ่งกลางพระระเบียงคดทั้ง ๔ ทิศ โดยเฉพาะด้านทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตก มีซุ้มจระนำเหนือประตู หน้าบันทำเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ ประดับด้วยลายกระหนก ลงรักปิดทองอย่างงดงามมาก
                สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ช่างเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ทรงชมเชยไว้ว่า
                “พระระเบียงมีอยู่ให้ดูได้สมบูรณ์   ทรวดทรงงามกว่าพระระเบียงที่ไหนหมด เป็นศรีแห่งฝีมือในรัชกาลที่ ๒ ควรชมอย่างยิ่ง
                แต่ลายเขียนผนังนั้นเป็นฝีมือในสมัยรัชกาลที่ ๓ ทำเพิ่มเติม ลายเขียนที่ผนังที่ทรงกล่าวถึงนั้น เขียนเป็นรูปซุ้มเรือนแก้วลายดอกไม้ ใบไม้ มีนกยูงแบบจีนคาบอยู่ตรงกลาง เสาพระระเบียงเป็นเสาอิฐถือปูนย่อเหลี่ยม บัวหัวเสาที่รับเชิงชายลงรักปิดทองประดับกระจกทุกต้น ที่ด้านในบานประตูทุกด้าน เป็นภาพสีรูปคนถือหางนกยูงยืนอยู่เหนือ สัตว์ป่าหิมพานต์ มีราชสีห์ปละคชสีห์ เป็นต้น ด้านนอกเป็นลายรดน้ำ
                พระระเบียงคดนี้ได้ปฏิสังขรณ์ครั้งหลังเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๙ โดยเปลี่ยนเป็นกระเบื้องเคลือบใหม่ทั้งหมด ช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ ตามซุ้มจระนำ ทำใหม่บ้าง ลงรักปิดทองประดับกระจกสวยงาม
                บริเวณพระวิหารคด (พระระเบียงคด) มี ช้างหล่อโลหะ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ซึ่งทรงเฉลิมพระนามาภิไธยว่า พระเจ้าช้างเผือก
รูปภาพ
มณฑปพระพุทธบาทจำลอง และ พระเจดีย์ย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบ 

รูปภาพ
รอยพระพุทธบาทจำลอง

รูปภาพ
มณฑปพระพุทธบาทจำลอง 

มณฑปพระพุทธบาทจำลอง
                ตั้งอยู่ระหว่างพระเจดีย์ย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบ ๔ องค์ กับพระวิหารใหญ่  ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสก่ออิฐถือปูนประดับด้วยกระเบื้องถ้วยสีต่างๆ  มีฐานทักษิณ ๒ ชั้น อยู่ระหว่างพระอุโบสถและพระวิหารใหญ่
ภายในมี รอยพระพุทธบาทจำลอง เป็นหินสลักจากกวางตุ้ง
                สร้างในรัชกาลที่ ๓ หลังคาพระมณฑปเดิมเป็นยอดเกี้ยวแบบจีน  ได้พังลงมาเมื่อปีรัตนโกสินทร์ศก ๑๑๔ (พุทธศักราช ๒๔๓๘) สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระจักรพรรดิพงษ์ ทรงรับจัดการเงินและเรี่ยไรซ่อม มีพระประสงค์จะเปลี่ยนหลังคาเป็นยอดมงกุฎ ๔ เหลี่ยม แต่ทำยังไม่ทันแล้วเสร็จ ก็ประชวรสิ้นพระชนม์เสียก่อน
และพระยาราชสงคราม (ทัด หงสกุล) ผู้ปฏิสังขรณ์ก็ถึงอนิจกรรม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ พระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) ขณะเป็นพระราชโยธาเทพ ทำตามรูปเดิม แต่ในปัจจุบันหลังคาพระมณฑปเป็นของสร้างใหม่ ทำด้วยซีเมนต์ สืบได้ความว่า หลังคาพระมณฑปที่ซ่อมใหม่นี้เป็นของทำขึ้นในสมัย พระธรรมเจดีย์ (อุ่ม ธมฺมธโร) เป็นเจ้าอาวาส

 พระเจดีย์ย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบ ๔ องค์
                ตั้งอยู่ระหว่างพระระเบียงพระอุโบสถด้านใต้กับมณฑปพระพุทธบาทจำลอง  ซึ่งเรียงเป็นแถวตรงจากทิศตะวันออก ไปทิศตะวันตก ห่างกันพอควร เป็นพระเจดีย์แบบเดียวกัน และมีขนาดเท่ากันทั้งหมดทั้ง ๔ องค์
คือ เป็นพระเจดีย์ก่อด้วยอิฐถือปูน ย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบ ประดับกระเบื้องถ้วยและกระจกสีต่างๆ เป็นลวดลายดอกไม้และลายอื่นๆ งดงามมาก มีฐานทักษัณสำหรับขึ้นไปเดินรอบองค์พระเจดีย์ ๑ ชั้น มีบันไดขึ้นลงทางด้านเหนือ บริเวณพระเจดีย์ติดกับพระระเบียงพระอุโบสถปูด้วยแผ่นกระเบื้องหิน
                พระเจดีย์ทั้ง ๔ องค์นี้ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ คราวปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ ต่อมาปฏิสังขรณ์อีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ ๕ ขณะที่ปฏิสังขรณ์พระปรางค์นั้น สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี และพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏฯ  ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมราชชินีนาถ, สมเด็จพระบรมราชเทวี, พระราชเทวี และพระอัครชายา โดยลำดับ ได้ทรงบริจาคเงินองค์ละ ๑,๐๐๐ บาท เพื่อปฏิสังขรณ์พระเจดีย์แต่ละองค์
 รูปภาพ
ซุ้มเสมายอดมณฑป 

ซุ้มเสมายอดมณฑป และสิงโตหินจีนขนาดเล็ก
 ซุ้มเสมายอดมณฑป
                องค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งซึ่งส่งผลให้เสมามีความโดดเด่น และมีความงดงามมากยิ่งขึ้นนั่นคือ ซุ้มเสมาซุ้มเสมาเป็นอีกรูปแบบสถาปัตยกรรมหนึ่งที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรม  โดยสืบทอดแบบอย่างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เป็นแบบแผนที่ยังคงมีให้ศึกษามาจวบจนกระทั่งถึงปัจจุบัน สำหรับซุ้มเสมาวัดอรุณราชวรารามนั้นเป็น  ซุ้มเสมายอดมณฑป คือซุ้มเสมาที่ทำส่วนยอดซุ้ม ให้มีลักษณะคล้ายอย่างเรือนยอดพระมณฑปหรือบุษบก
                โดยรอบพระอุโบสถจะมี ซุ้มเสมายอดมณฑปทั้งหมด ๘ ซุ้ม ใบเสมาเป็นหินสลักลวดลายงดงาม มีใบเสมา ๒ ใบ เรียกว่าเสมาคู่ ประดิษฐานอยู่ในซุ้มหินอ่อน ทำเป็นรูปบุษบกยอดเจดีย์ย่อเหลี่ยมไม้สิบสอง ระหว่างช่องเสมามี สิงโตหิน ตั้งอยู่บนแท่นรอบพระอุโบสถ หน้าพระระเบียงมี ตุ๊กตาหินทหารจีน ตั้งเรียงเป็นแถวรอบพระอุโบสถ

 หอไตร
                มีหอไตร ๒ หอ อยู่ทางด้านหน้าของหมู่กุฏิคณะ ๑ ใกล้กับสระเล็กๆ และรั้วด้านตะวันตกของพระปรางค์ ๑ หลัง ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา ทำเป็นปูนปั้นประดับกระเบื้องถ้วยเป็นชิ้นๆ หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบสี กรอบหน้าต่างเป็นปูนปั้นลายดอกไม้ ลงรักปิดทอง และอีกหลังหนึ่งอยู่มุมด้านเหนือหน้าคณะ ๗ มีช่อฟ้า ใบระกา ลงรักปิดทอง ประดับกระจก บานหน้าต่างเป็นลายรดน้ำรูปต้นไม้ คติเกี่ยวกับที่มีหอไตร ๒ หอ พระเถระผู้ใหญ่ในวัดนี้เล่าว่า เป็นเพราะวัดแห่งนี้แต่เดิมมีพระราชาคณะได้ ๒ รูป
 รูปภาพ
ซุ้มเหนือบานประตูกลางระหว่าง ซ้าย : พระวิหารน้อย และ ขวา : โบสถ์น้อย
เป็น “รูปพระเกี้ยว” ซึ่งเป็นรูปพระราชลัญจกรประจำพระองค์ในรัชกาลที่ ๕
รูปภาพ
“พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” ภายในโบสถ์น้อย

 โบสถ์น้อยและพระวิหารน้อย
                โบสถ์น้อยและพระวิหารน้อย (พระวิหารเล็ก) ตั้งอยู่หน้าพระปรางค์ใหญ่ ซึ่งโบสถ์น้อยและพระวิหารน้อยนั้นเป็นโบสถ์และพระวิหารเดิมของวัดมะกอกนอก สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเคียงคู่กันมากับพระปรางค์ใหญ่องค์เดิม โดยมีการสันนิษฐานว่าโบสถ์น้อยนั้นเป็นโบสถ์หลังแรกของวัดแห่งนี้เมื่อครั้งอดีต

 ซุ้มเหนือบานประตูกลาง
                ระหว่างโบสถ์น้อยและพระวิหารน้อยเป็น รูปพระเกี้ยว ซึ่งเป็นรูปพระราชลัญจกรประจำพระองค์ในรัชกาลที่ ๕ ในปัจจุบันยังใช้ประตูกลางเป็นทางผ่านเข้าไปสู่พระปรางค์ใหญ่ด้านหน้าได้ด้วย ภายในโบสถ์น้อยมีพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย เป็นประธานของอาคาร ด้านหน้าองค์พระประธานก่ออิฐเป็นลับแลกั้นอยู่เพื่อแบ่งสัดส่วนภายในโบสถ์น้อย ส่วนทางด้านข้างขององค์พระประธานนั้นเป็นที่ประดิษฐานของ
พระบรมรูปหล่อ, ศาลสถิตดวงพระวิญญาณและพระแท่นสำหรับทรงเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน (พระแท่นบรรทม) ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
                สำหรับพระแท่นสำหรับทรงเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน (พระแท่นบรรทม) นั้น เป็นพระแท่นทำด้วยไม้กระดานแผ่นเดียว มีขนาดใหญ่โตกว่าไม้กระดานแผ่นใดใดที่เคยพบเห็นมา
                ผู้ดูแลวัดได้บอกไว้ว่า หากใครได้ลอดใต้พระแท่นสำหรับทรงเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน (พระแท่นบรรทม) ของพระองค์ท่านแล้ว ถือได้ว่าเป็นการล้างอาถรรพ์ต่างๆ ให้หมดไปจากชีวิตซึ่งหากใครต้องการจะลอดแล้วก็สามารถทำได้ แต่ต้องทำกระทำด้วยความสำรวม
                พระแท่นฯ ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตามพระราชพงศาวดารได้กล่าวไว้ว่า
ครั้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจะสิ้นรัชกาล ได้ทรงผนวชและเสด็จพระราชดำเนินมาประทับที่โบสถ์ บ้างก็ว่าทรงถูกพวกกบฏบังคับให้ผนวชและจับพระองค์กักขังไว้ที่โบสถ์ พระแท่นนี้นับเป็นงานประณีตศิลป์ที่มีคุณค่ามาก แต่ตำแหน่งที่ตั้งของพระแท่นในปัจจุบันยังอยู่ในมุมที่ไม่เด่น สำหรับพระวิหารน้อยปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐาน พระจุฬามณีเจดีย์ซึ่งเป็นพระเจดีย์ขนาดใหญ่ หล่อด้วยโลหะ มีรูปปั้นท้าวจตุโลกบาลยืนเฝ้าพระเจดีย์อยู่ทั้ง ๔ มุม ในอดีตนั้นพระวิหารน้อยแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐาน พระแก้วมรกตเมื่อครั้งที่ได้อัญเชิญมาจากเมืองเวียงจันทร์ ประเทศลาว


รูปภาพ

รูปภาพ
ศาลาท่าน้ำรูปเก๋งจีน ๖ หลัง ตั้งอยู่ที่เขื่อนบริเวณหน้าวัด

รูปภาพ
ที่ศาลาท่าน้ำรูปเก๋งจีนมี สะพาน ยื่นลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา 
 ศาลาท่าน้ำรูปเก๋งจีน
                มีศาลาท่าน้ำรูปเก๋งจีน ทั้งหมด ๖ หลัง ตั้งอยู่ที่เขื่อนบริเวณหน้าวัด ตรงมุมเหนือสุดที่ปากคลองวัดแจ้งหลัง ๑ ตรงกับประตูซุ้มยอดมงกุฎ ๓ หลัง ตรงกับต้นพระศรีมหาโพธิ์หลัง ๑ และตรงกับทางเข้าพระปรางค์ใหญ่อีกหลัง ๑
                ที่ศาลาท่าน้ำรูปเก๋งจีนมี สะพาน ยื่นลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา เว้นแต่ด้านเหนือสุด ส่วนหลังที่ตรงกับทางเข้าพระปรางค์นั้น มีรูปจระเข้หินอยู่ด้านหน้าข้างละตัว ศาลาเหล่านี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ เหมือนกันหมด คือหลังคาเป็นรูปเก๋งจีน มียกพื้นสำหรับนั่งพักทำด้วยหินทรายสีเขียว โดยเฉพาะ ๓ หลังตรงประตูซุ้มยอดมงกุฎนั้น หลังเหนือและใต้มีแท่นหินสีเขียวตั้งอยู่ตรงกลาง เข้าใจว่าจะเป็นที่สำหรับวางของ และหลังศาลาเก๋งจีน ๓ หลังนี้มีรูปกินรีแบบจีนทำด้วยหินทรายสีเขียวตั้งอยู่ ๒ ตัว

 ภูเขาจำลอง
                อยู่หน้าวัดทางด้านเหนือ หลังศาลาท่าน้ำรูปเก๋งจีน ๓ หลัง กล่าวกันว่า เดิมรัชกาลที่ ๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างภูเขาจำลองขึ้นในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๓ โปรดให้นำมาไว้ที่วัดนี้
ภูเขาจำลองนี้มีรั้วล้อมไว้เป็นส่วนหนึ่งโดยเฉพาะ มีตุ๊กตาจีน ๒ ตัวนั่งบนแท่นอยู่นอกรั้วด้านหน้า ตรงประตูเข้าทำเป็นรูปทหารเรือเฝ้าอยู่ ๒ คน

 อนุสาวรีย์ธรรมเจดีย์
                อยู่ด้านใต้ของภูเขาจำลอง มีถนนที่ขึ้นจากศาลาท่าน้ำรูปเก๋งจีน ๓ หลังไปพระอุโบสถคั่นกลาง อนุสาวรีย์แห่งนี้มีกำแพงเตี้ยๆ เป็นรั้วล้อมรอบ ภายในรั้วนอกจากจะมีโกศหินทรายสีเขียวแบบจีน ที่ใช้บรรจุ อัฐิของพระธรรมเจดีย์ (อุ่ม ธมฺมธโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม รูปที่ ๙ แล้ว ยังมีประตู มีภูเขาจำลองเตี้ยๆ มีปราสาทแบบจีนเล็กๆ และมีตุ๊กตาหินนอนอยู่ภายใน มีภาษาจีนกำกับซึ่งชาวจีนอ่านว่า ฮก ลก ซิ่ว
รูปภาพ
ตุ๊กตาหินจีน และ สิงโตหินจีน ขนาดเล็กจำนวนมากรอบๆ พระอุโบสถ

 ตุ๊กตาหินจีน
                ตุ๊กตาหินจีนในวัดอรุณฯ นี้ ถือเป็นหนึ่งในสี่วัดที่มีตุ๊กตาหินจีนอยู่มากที่สุด แต่โดยมากแล้วจะเป็นตุ๊กตาหินขนาดเล็กเสียเป็นส่วนใหญ่ โดยอีก ๓ วัด ที่มีตุ๊กตาหินจีนอยู่เป็นจำนวนมากเช่นกัน ก็คือ วัดโพธิ์ (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม) วัดสุทัศนเทพวราราม และวัดราชโอรสาราม เฉพาะที่ลานพระระเบียงคดที่ล้อมรอบพระอุโบสถมีถึง ๓๐๔ ตัว (ไม่รวมตุ๊กตาหินจีนที่ประดับอยู่รอบๆ) ที่ตั้งเรียงรายอยู่เต็มไปหมด นับตั้งแต่ระหว่างซุ้มเสมายอดมณฑปทั้ง ๘ ซุ้ม ก็มี สิงโตหินจีนตัวเล็ก ตั้งอยู่บนแท่นเรียงกัน เว้นไว้แต่ตรงช่องบันไดทางขึ้นพระอุโบสถเท่านั้น ตุ๊กตาหินจีนในวัดอรุณฯ นี้ส่วนใหญ่มีขนาดเล็กกว่าที่วัดโพธิ์ นอกจากนี้ยังมีส่วนประกอบของงานสถาปัตยกรรมอื่นๆ อีกไม่ว่าจะเป็น ศาลเจ้า ถะ เขามอ และเสามังกร เป็นต้น
ตุ๊กตาหินจีนนั้นสันนิษฐานกันว่ามาโดยพวกที่แล่นเรือสำเภาจีน เข้ามาค้าขายได้นำเข้ามาด้วย ๒ จุดประสงค์คือ เพื่อนำมาเป็นราชบรรณาการแด่รัชกาลที่ ๕ และเพื่อถ่วงน้ำหนักเรือให้สามารถแล่นผ่านคลื่นผ่านลมพายุในทะเลมาได้โดยไม่ล่มเสียก่อน ซึ่งตุ๊กตาเหล่านี้ได้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เครื่องอับเฉาเรือ
 รูปภาพ

• งานเทศกาลวัดอรุณ ร.ศ.๑๐๐

งานเทศกาลวัดอรุณ ร.ศ.๑๐๐ จัดขึ้นโดย “โครงการอนุรักษ์วัดอรุณ”
ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากผู้มีใจรักในโบราณสถานแห่งประวัติศาสตร์ ‘วัดอรุณ’
งานเทศกาลวัดอรุณ ร.ศ.๑๐๐ มีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟู
นาฏยศิลป์ไทยโบราณที่สาบสูญหรือหาชมได้ยากให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง
ด้วยบรรยากาศของการสมโภชพระปรางค์อย่างสมัยเมื่อครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์
นาฏยศิลป์ที่จัดแสดงในงานเทศกาลวัดอรุณ ร.ศ.๑๐๐
จึงมุ่งเน้นนาฏยศิลป์ไทยในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็นสำคัญ

การจัดงานครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๕๔๓ มีการรื้อฟื้นมหรสพโบราณ
ที่สาบสูญไปนานกว่าร้อยปีให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง
ทั้งหุ่นหลวง โขนชักรอก ละครนอก ละครใน หนังใหญ่ มโหรี
และอาหารตำรับไทยเดิม ต่อมาในปีที่สอง พ.ศ.๒๕๔๔
ได้จับเอานาฏยศิลป์ไทยและจีนมาจัดแสดง อันประกอบไปด้วย
โขนชักรอก งิ้วแต้จิ๋ว หุ่นละครเล็ก หุ่นจีนไหหลำ ญวนหก-กระบี่กระบอง
พะบู๊ และสิงโตกวางตุ้ง เพื่อสะท้อนถึงภาพของสังคมสหอารยธรรม
ของสยามประเทศ ที่มีลักษณะเป็นสังคมเปิด
ยอมรับความหลากหลายทางด้านเชื้อชาติ สังคม วัฒนธรรม
และกลายเป็นที่ชุมนุมแห่งอารยธรรมลุ่มสุวรรณภูมิ
ซึ่งการจัดงานเทศกาลวัดอรุณ ร.ศ.๑๐๐ นั้นมีเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้

จิตวิญญานของความเป็นไทยและการดำรงอยู่ของวัฒนธรรมไทย
เป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนควรหวงแหนเอาใจใส่
ผู้ดำเนินการโครงการอนุรักษ์วัดอรุณหวังเป็นอย่างยิ่งว่า
งานเทศกาลวัดอรุณ ร.ศ.๑๐๐ จะเป็นประกายไฟเล็กๆ ที่จุดประทีป
แห่งวัฒนธรรมไทยให้เรืองรองทั่วผืนแผ่นดินแห่งเอกราชของเราสืบไป

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ
บรรยากาศงานเทศกาลวัดอรุณ ร.ศ.๑๐๐
ชุดสัจจะธรรม...เปิดประตูสู่อารยะ ประจำปี พ.ศ.๒๕๔๙ 
รูปภาพ
ตุ๊กตาหินทหารจีนรอบๆ ฐานพระปรางค์องค์ใหญ่

รูปภาพ
ตุ๊กตาหินทหารจีน

รูปภาพ
กุฏิคณะ ๕

รูปภาพ

รูปภาพ
ต้นสาละลังกา (Cannon-ball Tree) ซึ่งไม่ใช่โพธิญาณพฤกษา
ปลูกไว้อยู่ใกล้กับพระวิหารใหญ่ วัดอรุณราชวราราม
รูปภาพ
ป้ายชื่อวัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น