วันอังคารที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2558

พระประวัติและปฏิปทา สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์


Image

พระประวัติและปฏิปทา
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
(พระองค์เจ้าฤกษ์ ปญฺญาอคฺโค)
พุทธศักราช ๒๔๓๔-๒๔๓๕


วัดบวรนิเวศวิหาร
แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร



พระประวัติในเบื้องต้น

นับแต่ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
สิ้นพระชนม์ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๙๖ ในรัชกาลที่ ๔ แล้ว
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงสถาปนาพระเถระรูปใด
เป็นสมเด็จพระสังฆราชอีกจนตลอดรัชกาล เป็นเวลานานถึง ๑๕ ปี

ฉะนั้น ในรัชกาลที่ ๔ จึงว่างสมเด็จพระสังฆราชจนเกือบตลอดรัชกาล
เพราะ สมเด็จฯ กรมพระยาปรมานุชิตชิโนรส
ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชอยู่เพียงปีเศษตอนต้นรัชกาลเท่านั้น

เมื่อ สมเด็จฯ กรมพระยาปรมานุชิตชิโนรส
ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชนั้น
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
ทรงดำรงพระอิศริยยศเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์
ทรงดำรงสมณฐานันดรเป็นที่สองจาก สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
มาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
ก็มิได้โปรดเกล้าฯ สถาปนาพระเถระรูปใดเป็นสมเด็จพระสังฆราช
ตลอดช่วงต้นแห่งรัชกาล เป็นเวลานานถึง ๒๓ ปี

ฉะนั้น ในช่วงต้นรัชกาลที่ ๕ จึงว่างสมเด็จพระสังฆราชอยู่ถึง ๒๓ ปี
จึงได้ทรงสถาปนา สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
ขณะทรงดำรงพระอิศริยยศเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ
เป็น สมเด็จพระสังฆราช นับเป็นพระองค์ที่ ๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
ทรงเป็นพระราชโอรส องค์ที่ ๑๘
ใน สมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์
และ เจ้าจอมมารดาน้อยเล็ก
ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะเส็ง เอกศก
จุลศักราช ๑๑๗๑ ตรงกับวันที่ ๑๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๓๕๒
อันเป็นวันเริ่มสวดมนต์ ตั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒
จึงได้พระราชทานนามว่า “พระองค์เจ้าฤกษ์”

Image
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
(พระองค์เจ้าฤกษ์ ปญฺญาอคฺโค)



ทรงบรรพชาและอุปสมบท

พ.ศ. ๒๓๖๕ พระชนมายุ ๑๓ พรรษา ทรงผนวชเป็นสามเณร ณ วัดมหาธาตุ
สมเด็จพระสังฆราช (มี) เป็นพระอุปัชฌาย์ ทรงศึกษาพระปริยัติธรรม
อยู่ในสำนักพระญาณสมโพธิ (รอด) ครั้งทรงผนวชเป็นสามเณรได้ ๔ พรรษา
ประชวรไข้ทรพิษต้องลาผนวชออกมารักษาพระองค์ เมื่อหายประชวรแล้ว
สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพย์ ในรัชกาลที่ ๓
ทรงจัดการให้ทรงผนวชเป็นสามเณรอีกครั้งหนึ่ง

พ.ศ. ๒๓๗๒ พระชนมายุครบทรงผนวชเป็นพระภิกษุ
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ
ให้ทรงลาผนวชออกสมโภช แล้วแห่พร้อมด้วย
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๒ เจ้าฟ้าอาภรณ์
ที่จะทรงผนวชเป็นเป็นสามเณรในเวลานั้น
ในการทรงผนวชเป็นพระภิกษุนั้น
สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) เป็นพระอุปัชฌาย์
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
ขณะทรงดำรงพระอิศริยยศเป็นกรมหมื่นนุชิตชิโนรส
และ พระวินัยรักขิต วัดมหาธาตุ เป็นพระกรรมวาจาจารย์
ทรงได้รับพระนามฉายาว่า “ปญฺญาอคฺโค”

เมื่อทรงผนวชเป็นพระภิกษุแล้วทรงศึกษาพระปริยัติธรรม
ในสำนักพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ซึ่งทรงผนวชเป็นพระภิกษุอยู่ ณ วัดมหาธาตุ นั้นเช่นกัน

ในเวลานั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
ทรงพระเจริญพระชนมายุกว่า ๕ พรรษา เป็นเหตุให้ทรงเลื่อมใส
ในลัทธิธรรมวินัยตามอย่างพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ
ภายหลังจึงได้ทรงทำทัฬหีกรรม อุปสมบทซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ในนทีสีมา
ตามธรรมเนียมนิยมของพระสงฆ์ธรรมยุตในครั้งนั้น
โดยมี พระสุเมธาจารย์ (พุทธวังสะ) เป็นพระอุปัชฌาย์
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เป็นพระกรรมวาจาจารย์

สมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
ทรงศึกษาพระปริยัติธรรมจนทรงแตกฉานในภาษาบาลี
แต่ไม่ทรงเข้าสอบเพื่อเป็นเปรียญ
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพัดยศสำหรับเปรียญเอก
ที่เคยพระราชทานแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ
เมื่อครั้งยังมิได้ทรงเป็นพระราชาคณะให้ทรงถือเป็นเกียรติยศสืบมา
พระนิพนธ์อันเป็นเครื่องแสดงถึงพระปรีชาสามารถ
ในภาษาบาลีของพระองค์ก็คือ พระนิพนธ์เรื่อง สุคตวิทัตถิวิธาน
ซึ่งทรงนิพนธ์เป็นภาษาบาลีว่าด้วยเรื่องการวิเคราะห์คืบพระสุคต
อันเป็นมาตราวัดที่มีกล่าวถึงในทางพระวินัย

นอกจากนี้ ก็ได้ทรงนิพนธ์เรื่องเบ็ดเตล็ดอื่นๆ เป็น ภาษาบาลีไว้อีกหลายเรื่อง
นับว่าทรงเป็นปราชญ์ทาง ภาษาบาลีที่สำคัญพระองค์หนึ่งในยุครัตนโกสินทร์

ในรัชกาล ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ
ตั้งเป็นพระราชาคณะสมณศักดิ์ เสมอพระราชาคณะสามัญ
พระราชทานตาลปัตรแฉกถมปัดเป็นพัดยศ

พ.ศ. ๒๓๙๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะยังทรงผนวชอยู่
ทรงเป็นพระเถราจารย์ประธานแห่งพระสงฆ์ธรรมยุตินิกาย
ทรงลาผนวชเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นรัชกาลที่ ๔
จึงได้ทรงสถาปนาพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าฤกษ์
เป็นกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์
ทรงอิศริยยศเป็นประธานาธิบดีแห่งพระสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย
ซึ่งขณะนั้นเรียกว่า “ธรรมยุติกนิกายิกสังฆมัธยมบวรนิเวสาธิคณะ”
ทรงดำรงสมณฐานันดรเป็นที่สองรองจาก สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆปริณายก คือสมเด็จพระสังฆราชอยู่ในขณะนั้น
สมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
จึงทรงเป็นเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุตเป็นพระองค์แรก

Image
พระรูปหล่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีภายในพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร



ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์

พ.ศ. ๒๔๑๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
สมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ขณะทรงพระอิศริยยศ
เป็นกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์
สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์
ที่ พระสาสนโสภณ เป็นพระราชกรรมวาจาจารย์
เมื่อทรงผนวชแล้ว เสด็จประทับที่พระพุทธรัตนสถานมนทิราราม
ในพระบรมมหาราชวังชั้นใน
โดยทรงเชิญเสด็จ สมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
และนิมนต์พระราชาคณะผู้ใหญ่ต่างวัดเข้าไปอยู่ด้วยพอครบคณะสงฆ์
ทรงผนวชอยู่ ๑๕ วันก็ทรงลาผนวช

หลังจากเสด็จออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุแล้ว
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชปรารภ
ที่จะถวายมหาสมณุตมาภิเษกพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์
ในตำแหน่งที่สมเด็จพระสังฆราช
แต่สมเด็จมหาสมณเจ้าฯ พระองค์นั้นไม่ทรงรับ
ทรงถ่อมพระองค์อยู่ว่า เป็นพระองค์เจ้าในพระราชวังบวรฯ
จักข้ามเจ้านายที่เป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอทั้งทรงเจริญพระชนมายุกว่าก็มี
จักเป็นที่ทรงรังเกียจของท่าน จึงทรงรับเลื่อนเพียงเป็นกรมพระ
เสมอด้วยเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ในชั้นเท่านั้น
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระอิสริยยศเป็น
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๖

การที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเลื่อนพระอิศริยยศ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ครั้งนี้
แม้ว่าพระองค์จะไม่รับถวายมหาสมณุตมาภิเษกในที่สมเด็จพระสังฆราช
แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ก็ถวายพระเกียรติยศในทางสมณศักดิ์สูงสุดเท่ากับทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราช
ดังปรากฏในคำประกาศเลื่อนกรมดังนี้

“สมควรเป็นสังฆปรินายกประธานาธิบดี มีสมณศักดิ์อิศริยยศ
ใหญ่ยิ่งกว่าบรรดาสงฆ์บรรพสัชทั้งปวงในฝ่ายพุทธจักร”


ฉะนั้น ในช่วงต้นรัชกาลมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๓๔
เป็นเวลา ๒๓ ปี จึงว่างสมเด็จพระสังฆราช

Image
รัชกาลที่ ๕ ขณะทรงผนวชเป็นพระภิกษุ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๖


ทรงรับมหาสมณุตมาภิเษก

เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๓๔ อันเป็นบั้นปลายแห่งพระชนม์ชีพ
แห่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้น
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
จึงทรงถวายมหาสมณุตมาภิเษกเป็นที่สมเด็จพระสังฆราช
ขณะเมื่อทรงรับถวายมหาสมณุตมาภิเษกนั้น
สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงเจริญพระชนมายุถึง ๘๒ พรรษาแล้ว
มาในคราวนี้ ทรงยอมรับถวายมหาสมณุตมาภิเษก
เพราะเจ้านายชั้นเดียวกันสิ้นพระชนม์แล้วทั้งสิ้น
มีเจ้านายผู้ใหญ่เจริญพระชนมายุเหลืออยู่แต่พระองค์เพียงพระองค์เดียว


การพระราชพิธีมหาสมณุตมาภิเษก
(ของเดิมเขียน มหาสมณุตมาภิเศก)

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระราชพิธีสงฆ์ในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร
มีเทียนชัยและเตียงพระสวดภาณวารตั้งพระแท่นเศวตฉัตร
ในนั้น ตั้งพระแท่นสรงที่ศาลากำแพงแก้ว
โรงพิธีพราหมณ์ตั้งริมคูนอกกำแพงบริเวณนั้นออกมา
มีสวดมนต์ตั้งน้ำวงด้ายวัน ๑ พระสงฆ์ ๒๐ รูป
รุ่งเช้าจุดเทียนชัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้น
โปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นวชิรญาณวโรรสทรงจุด
พระสงฆ์เข้าพระราชพิธี ๓๐ รูป สวดมนต์ ๓ เวลาและสวดภาณวาร ๓ วัน ๓ คืน
เช้าวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๔ สรงแล้ว เสด็จขึ้นพระแท่นเศวตรฉัตร
มีประกาศกระแสพระบรมราชโองการทรงสถาปนาแล้ว
ทรงรับพระสุพรรณบัฏ เครื่องยศ ดอกไม้ธูปเทียนและต้นไม้ทองเงินของหลวงแล้ว
ทรงถวายศีล เป็นเสร็จการรับมหาสมณุตมาภิเษกเพียงเท่านี้
ต่อนั้นทรงธรรม ๔ กัณฑ์อนุโลมตามบรมราชาภิเษกกัณฑ์ทศพิธราชธรรมจรรยา
เปลี่ยนเป็นไตรสิกขาและ ทรงรับดอกไม้ธูปเทียนของ
พระสงฆ์พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ

Image
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
(พระองค์เจ้าฤกษ์ ปญฺญาอคฺโค) 


Image
พัดยศสำหรับพระสมณศักดิ์ที่
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์



ประกาศการมหาสมณุตมาภิเศก

“ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาล เป็นอดีตภาคล่วงแล้ว ๒๔๓๔
ปัตยุบันกาล จันทรคตินิยม สสสังวัจฉรกรรติกมาศกาฬปักษ์
พาระสีดิถี ศุกรวาร สุริยคติกาล รัตนโกสินทรศก ๑๑๐
พฤศจิกายนมาศ สัตตวีสติมวารปริเฉทกาลกำหนด

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฏ
บุรุษรัตนราชรวิวงศ์ วรุตมพงศ์บริพัตรวรขัติยราชนิกโรดม
จาตุรัตนบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศอุภโตสุชาติสังสุทธเคราะหณี
จักรีบรมนารถ มหามกุฏราชวรางกูรสุจริตมูลสุสาธิต อรรคอุกฤษฐไพบูลย์
บูรพาดูลย์กฤาฎาภินิหารสุภาธิการรังสฤษดิ ธัญญลักษดิ
ธัญญลักษณวิจิตรโสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคประณตบาทบงกชยุคล
ประสิทธิสรรพศุภผลอุดมบรมสุขุมาล ทิพยเทพาวตาร
ไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษสรรพเทเวศรานุรักษ์ วิสิฐศักดิสมญา
พินิตประชานารถเปรมกระมลขัตยราชประยูร มูลมุขมาตยาภิรมย์
อุดมเดชาธิการ บริบูรณ์คุณสารสยามาทินคร วรุตเมกราชดิลก
มหาปริวารนายกอนันต์ มหันตวรฤทธิเดช สรรพวิเศษศิรินธร
อเนกชนิกร สโมสารสมมต ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ
นพปดลเสวตรฉัตราดิฉัตร ศิริรัตโนปลักษณมหาสวามินทร์
มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนารถ ชาติอาชาวไศรย
พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์ อดุลยศักดิอรรคนเรศราธิบดี
เมตตากรุณาสีตลหฤทัย อโนปมัยบุญการ สกลไพศาลมหารัษฎาธิบดินทร์
ปรมินทรธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตรพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงพระราชดำริว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์
ได้ดำรงพระยศเปน พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าต่างกรมผู้ใหญ่
แลเปนสังฆปรินายกปธานาธิบดีมีสมณะศักดิใหญ่ยิ่งกว่าบรรดาสงฆบรรพสัช
ทั่วพระราชอาณาเขตร มาตั้งแต่วันศุกร์ เดือน ๓ ขึ้น ๖ ค่ำ
ปีระกาเบญจศก จุลศักราช ๑๒๓๕ ล่วงมาจนกาลบัดนี้
มีพระชนมายุเจริญยิ่งขึ้นจนไม่มีพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใด
ในมหาจักรีบรมราชตระกูลนี้ ที่ล่วงลับไปแล้วก็ดี ที่ยังดำรงอยู่ดี
จะได้มีพระชนมายุยืนยาวมาเสมอด้วยพระชนมายุสักพระองค์เดียว
เปนเหตุให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แลพระบรมวงศานุวงศ์ทรงยินดี
มีความเคารพนับถือยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน

อีกประการหนึ่งฝ่ายบรรพชิต บรรดาพระสงฆ์ซึ่งมีสมณศักดิ์ในเวลานี้
ก็ไม่มีผู้ใดซึ่งจะมีพรรษาอายุเจริญยิ่งกว่าพระชนมายุแลพรรษา
ก็ย่อมเปนที่ยินดีเคารพนับถือยิ่งใหญ่ในสมณะมณฑลทั่วทุกสถาน

อนึ่งแต่ก่อนมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระราชทานมหาสมณุตมาภิเศกแด่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ก็ด้วยทรงพระราชปรารถ
พระชนมายุซึ่งเจริญยิ่งกว่าพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งปวง

อีกประการหนึ่ง ด้วยการที่ทรงผนวชมาช้านาน
ทรงคุณธรรมทางฏิบัติในพระพุทธสาสนา
แลได้เปนครูอาจารย์แห่งราชตระกูลแลมหาชน เป็นอันมากเป็นที่ตั้ง
ก็ถ้าจะเทียบแต่ด้วยคุณธรรมการปฏิบัติในทางพระพุทธสาสนาฤา
ด้วยการที่เป็นครูอาจารย์ของพระบรมวงศานุวงศ์แลมหาชนเปนอันมากนี้
ก็พิเศษกว่า ด้วยได้ทรงเปนพระอุปัธยาจารย์ในพระเจ้าแผ่นดิน
และพระบรมวงศานุวงศ์มีเจ้าฟ้า แลพระองค์เจ้าต่างกรม แลพระองค์เจ้า
จนตลอดข้าราชการเป็นอันมาก จนถึงในครั้งนี้ก็ยังได้ทรงเปนพระอุปัธยาจารย์
ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฏราชกุมาร
ซึ่งยังทรงผนวชเปนสามเณรอยู่ในบัดนี้
เพราะฉะนั้นบรรดาบรมราชตระกูลแลตระกูลทั้งปวงทั้งในสมณะมณฑล
ทั่วทุกหมู่เหล่าย่อมมีความเคารพนับถือในพระองค์ทั้งสองประการ
คือเป็นพระเจ้าบรมวงศ์ซึ่งทรงมีพระชนมายุเจริญ
ยิ่งกว่าพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งปวง แลทั้งเปนพระอุปัธยาจารย์ด้วยอีกฝ่ายหนึ่ง
จึงมีความนิยมยินดีที่จะใคร่ให้ได้ดำรงพระยศอันยิ่งใหญ่
เสมอกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส โดยรับมหาสมณุตาภิเศกแลเลื่อนกรม
เป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมสมเด็จพระ ให้เต็มตามความยินดีเลื่อมใส
จะได้เปนที่เคารพสักการบูชา เป็นที่ชื่นชมยินดีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
แลพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยแลอเนกนิกรมหาชนบรรดา
ซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาทั่วหน้า

จึงมีพระบรมราชโองการมาณพระบัณฑูรสุรสิงหนาทโปรดเกล้าฯ
ให้ตั้งการมหาสมุตาภิเศก แลเลื่อนพระอิสริยยศ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์
ขึ้นเปนกรมสมเด็จพระ มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัตรว่า

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ บวรรังสีสุริยพันธุ์
ปิยพรหมจรรย์ธรรมวรยุตร ปกิบัติสุทธิคณะนายก ธรรมนิติสาธกปวรัยบรรชิต
สรรพธรรมิกกิจโกศล สุวิมลปรีชาปัญญาอะค มหาสมณุดม บรมพงศาธิบดี
จักรีบรมนารถ มหาเสนานุรักษ์อนุราชวรางกูร ปรมินทร
บดินทร์สูริย์หิโตปัธยาจารย์ มโหฬารเมตยาภิธยาไศรย
ไตรปิฎกโหรกลาโกศล เบญจปดลเสวตรฉัตร
ศิริรัตโนปลักษณมหาสมณุตมาภิเศกาภิสิต ปรมุกฤฐสมณศักดิธำรง
มหาสงฆปรินายก พุทธสาสนดิลกโลกุตม มหาบัณฑิตย์ สุนทรวิจิตรปฏิภาณ
ไวยัติญาณมหากระวี พุทธาทิศรีรัตนไตรยคุณารักษ์
เอกอรรคมหาอนาคาริยรัตน์ สยามาธิโลกยปฏิพัทธพุทธบริสัษยเนตร
สมณคณินทราธิเบศร์ สกลพุทธจักโรปการกิจ
สฤษดิศุภการมหาปาโมกษประธานวโรดม บรมนารถบพิตร
เสด็จสถิตย์ ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร พระอารามหลวง (มุสิกนาม)


ให้ทรงศักดินา ๑๕๐๐๐ ตามพระราชกำหนด
อย่างพระองค์เจ้าต่างกรมตำแหน่งใหญ่ ในพระบรมมหาราชวัง
แลดำรงพระยศฝ่ายสมณศักดิ์เป็นเจ้าคณะใหญ่แห่งพระสงฆ์ทั้งกรุงเทพฯ
แลหัวเมืองทั่วพระราชอาณาเขต พระราชทานนิตยภัทรบูชาเดือนละ ๑๒ ตำลึง
ขออาราธนาให้ทรงรับธุระพระพุทธศาสนาเปนภาระสั่งสอน
ช่วยระงับอธิกรณ์พระภิกษุสงฆ์สามเณรทั่วไป
โดยสมควรแก่พระอิศริยยศสมณศักดิ์
จงทรงเจริญพระชนมายุพรรณศุขพลปฏิภาณคุณสารสมบัติสรรพศิริสวัสดิ
พิพัฒมงคล วิบูลยศุภผลจิรฐิติกาลในพระพุทธศาสนาเทอญฯ”
*

หมายเหตุ : อักขรวิธีตามต้นฉบับ

Image
ที่ประทับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
อยู่ด้านหน้าพระตำหนักจันทร์ (พระตำหนักเดิม) วัดบวรนิเวศวิหาร 


Image
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
(พระองค์เจ้าฤกษ์ ปญฺญาอคฺโค)



ทรงเป็นปราชญ์ทางภาษาบาลี

สมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
ทรงพระอัจฉริยภาพในหลายด้าน ซึ่งคนส่วนมากไม่ค่อยจะได้รู้จัก
ประการแรก ทรงเป็นปราชญ์ทางภาษาบาลี
ที่สำคัญพระองค์หนึ่งในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีอยู่จำนวนไม่มากนัก
ผลงานด้านภาษาบาลีที่สำคัญของพระองค์ก็คือ
พระนิพนธ์เรื่อง “สุคตวิทิตถิวิธาน”
ซึ่งทรงวิเคราะห์ และอธิบายเรื่องคืบพระสุคต
พระนิพนธ์เรื่องนี้ ทรงพระนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๘ ในปลายรัชกาลที่ ๓
และได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในลังกา
ในตอนต้นรัชกาลที่ ๕ สำหรับในประเทศไทยนั้น
เพิ่งจะมารู้จักพระนิพนธ์เรื่องนี้เมื่อต้นรัชกาลที่ ๖
นอกจากพระนิพนธ์เรื่องนี้แล้ว
พระองค์ยังทรงพระนิพนธ์เรื่องอื่นๆ เป็นภาษาบาลีไว้อีกหลายเรื่อง
ส่วนพระนิพนธ์ในภาษาไทยก็ทรงไว้หลายเรื่องเช่นกัน ทั้งทางคดีโลกและคดีธรรม
และทรงพระปรีชาสามารถทั้งในทางร้อยแก้วและร้อยกรอง ที่สำคัญ
เช่น ลิลิตพงศาวดารเหนือ โครงพระราชประวัติในรัชกาลที่ ๔


ทรงเป็นสถาปนิก

พ.ศ. ๒๓๙๖ อันเป็นปีที่ ๒ ในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระราชดำริที่จะปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ ซึ่งองค์เดิมเป็นพระเจดีย์ขนาดย่อม
ให้เป็นพระมหาเจดีย์สำหรับเป็นที่สักการบูชาของมหาชนสืบไทย
จึงโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
แต่ยังทรงเป็นกรมหมื่นออกแบบพระเจดีย์
และทรงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค)
เป็นแม่กองปฏิสังขรณ์ เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาฯ ถึงแก่พิราลัย
ก็โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค)
เป็นผู้บัญชาการทำการปฏิสังขรณ์ต่อมาจนสำเร็จ
พระปฐมเจดีย์ดังที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้
จึงเป็นผลงานออกแบบของ สมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์


ทรงเป็นนักโบราณคดี

เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงผนวชอยู่
ได้เสด็จธุดงค์ไปยังหัวเมืองต่างๆ เป็นเหตุให้ทรงพบ
ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ และจารึกอื่นๆ ในเวลาต่อมาอีกมาก
และพระองค์ทรงพยายามศึกษา จนสามารถทรงอ่านข้อความในจารึกดังกล่าวนั้นได้
ซึ่งอำนวยประโยชน์ต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ของชาติไทยอย่างมหาศาล

สมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ซึ่งทรงเป็นศิษย์ใกล้ชิด
ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์หนึ่ง ก็ได้ทรงดำเนินรอยตาม
เป็นเหตุให้ทรงเชี่ยวชาญในทางโบราณคดีพระองค์หนึ่งของไทย
ในยุคนั้น ทรงเป็นนักอ่านศิลาจารึกรุ่นแรกของไทย
ได้ศึกษาและรวบรวมจารึกต่างๆ ในประเทศไทยไว้มาก
และได้ทรงอ่านจารึกสุโขทัยหลักที่ ๒ (อักษรขอม) เป็นพระองค์แรก


ทรงเป็นนักประวัติศาสตร์

นอกจากจะทรงสนพระทัยในการศึกษาทางโบราณคดีแล้ว
สมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ยังทรงสนพระทัยในเรื่องประวัติศาสตร์ด้วย
ดังจะเห็นได้จากผลงานทางด้านประวัติศาสตร์ที่ทรงพระนิพนธ์ไว้หลายเรื่อง
เช่น ลิลิตพงศาวดารเหนือ เรื่องพระปฐมเจดีย์
พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เป็นต้น


ทรงเป็นนักดาราศาสตร์และโหราศาสตร์

สมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงเป็นที่เลื่องลือว่า
เชี่ยวชาญในทางโหราศาสตร์เป็นอันมากแต่ไม่ทรงนิยมการพยากรณ์
ในด้านดาราศาสตร์ก็ทรงเชี่ยวชาญเป็นอย่างยิ่ง
ได้ทรงพระนิพนธ์ “ตำราปักขคณนา”
(คือตำราการคำนวณปฏิทินทางจันทรคติ) ไว้อย่างพิสดาร
พระนิพนธ์อันเป็นผลงานของพระองค์ในด้านนี้ไม่ค่อยได้ตีพิมพ์ออกเผยแพร่
คนทั่วไปจึงไม่ค่อยรู้จักพระอัจฉริยภาพของพระองค์ในเรื่องดังกล่าวเหล่านี้มากนัก


ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์

สมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงบันทึกจำนวนฝนตกเป็นรายวัน
ติดต่อกันเป็นเวลาถึง ๔๕ ปี เริ่มแต่ปี พ.ศ. ๒๓๘๙ ในรัชกาลที่ ๓
จนถึง พ.ศ. ๒๔๓๓ ในรัชกาลที่ ๕ เพื่อเป็นการเก็บสถิติน้ำฝนในประเทศไทย
นับว่าทรงมีความวิริยะอุตสาหะเป็นอย่างยิ่ง
ทรงเรียกบันทึกของพระองค์ว่า “จดหมายเหตุบัญชีน้ำฝน”
และในจดหมายเหตุนี้ยังได้ทรงบันทึกเหตุการณ์บ้านเมืองที่สำคัญๆ ไว้ด้วย
นับเป็นจดหมายเหตุทางประวัติที่มีค่ามากเรื่องหนึ่ง


ทรงเป็นกวี

สมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
ทรงพระนิพนธ์เรื่องราวต่างๆ ไว้มาก
ทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาบาลี ในส่วนที่เป็นภาษาไทยนั้น
ทรงพระนิพนธ์เป็นโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ไว้ก็จำนวนมาก
เช่น โคลงพระราชประวัติรัชกาลที่ ๔
กาพย์เสด็จนครศรีธรรมราช ลิลิตพงศาวดารเหนือ เป็นต้น
จึงกล่าวได้ว่าพระองค์ทรงเป็นกวีนักอักษรศาสตร์
ที่สำคัญพระองค์หนึ่งในยุคกรุงรัตนโกสินทร์


ทรงให้กำเนิดพระกริ่งในประเทศไทย

เมื่อกล่าวถึงเรื่องพระกริ่ง คนส่วนมากก็คงจะเคยได้ยินเรื่อง พระกริ่งปวเรศ
ซึ่งนิยมนับถือกันว่าเป็นยอดแห่งพระกริ่งในสยามพระกริ่งปวเรศเป็นพุทธศิลป์
ที่สมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ ได้ทรงพระดำริสร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๕
นับเป็นการให้กำเนิดพระกริ่งขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก
และได้เป็นแบบอย่างให้มีการสร้างพระกริ่ง กันขึ้นในเวลาต่อมาจนกระทั่งทุกวันนี้

Image
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕


พระอวสานกาล

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
ทรงเป็นที่เคารพนับถือของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๕ ตลอดถึงพระบรมวงศานุวงศ์เป็นอันมาก
ทรงเป็นที่ปรึกษาในกิจการบ้านเมืองที่สำคัญๆ
ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ มาตลอดพระชนมชีพ
ดังจะเห็นได้จากความในพระราชหัตถเลขา
ที่กราบทูลสมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้น บางตอนว่า

“ทุกวันนี้หม่อมฉันเหมือนตัวคนเดียว
ได้อาศัยอยู่แค่สมเด็จกรมพระกับสมเด็จเป็นที่พึ่งที่ปรึกษา
เป็นพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ ขอให้ทรงพิเคราะห์การให้ละเอียดด้วย”


ในบั้นปลายแห่งพระชนมชีพ สมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
ทรงประชวรต้อกระจก ในที่สุดพระเนตรมืด ครั้ง พ.ศ. ๒๔๓๕
ทรงประชวรพระโรคกลัดพระบังคนหนัก จัดเข้าในพระโรคชรา
สิ้นพระชนม์เมื่อเช้าตรู่ของวันพฤหัสบดีที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๕
ตรงกับวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๑ สิริรวมพระชนมายุได้ ๘๓ พรรษา
ทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นเวลา ๔๑ ปี
ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช อยู่เพียง ๑๑ เดือน ๑ วัน
ก็สิ้นพระชนม์ ได้พระราชทานพระโกศกุดั่งใหญ่ทรงพระศพ

พระศพ สมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
ประดิษฐานอยู่ ณ พระตำหนักเดิม (คือที่เสด็จประทับ) วัดบวรนิเวศวิหาร
เป็นเวลาถึง ๘ ปี จึงได้พระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุ ท้องสนามหลวง
เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๓

Image
พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖


ทรงสถาปนาเปลี่ยนคำนำพระนาม

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
ขณะเมื่อทรงดำรงพระสมณฐานันดรเป็นสมเด็จพระมหาสังฆปริณายก
ที่สมเด็จพระสังฆราชนั้น ยังไม่มีคำนำพระนามที่บ่งบอกถึงพระเกียรติยศ
ในทางสมณศักดิ์ คือเรียกพระนามไปตามพระอิศริยยศแห่งบรมราชวงศ์ว่า
“พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์”
มาในรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเปลี่ยนคำนำพระนามเป็น
“สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์”
ในคราวเดียวกันกับที่ทรงสถาปนา
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๔ จึงได้เรียกกันว่า
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ แต่นั้นเป็นต้นมา
Image
บริเวณพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร


ประวัติและความสำคัญของวัดบวรนิเวศวิหาร

วัดบวรนิเวศวิหาร หรือ วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร
วัดประจำรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว
เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย
ตั้งอยู่ต้นถนนตะนาวและถนนเฟื่องนคร เขตพระนคร กรุงเทพฯ
แต่เดิมวัดแห่งนี้ ชื่อว่า “วัดใหม่” ตั้งอยู่ใกล้กับวัดรังษีสุทธาวาส
โดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ วังหน้าในรัชกาลที่ ๓
ได้ทรงสร้างขึ้นใหม่ด้วยศิลปะไทยผสมจีน
โดยทรงผูกพัทธสีมาเป็นครั้งแรกเมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๗๒
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยุบวัดรังษีสุทธาวาสมารวมกับวัดบวรนิเวศวิหาร


วัดบวรนิเวศวิหาร ได้รับการทะนุบำรุงและสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ ขึ้น
จนเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่ง โดยเฉพาะในสมัยปลายรัชกาลที่ ๓
ครั้นเมื่อตำแหน่งเจ้าอาวาสของวัดว่างเว้นลง
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ได้ทรงอาราธนา
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฏ สมมุติเทวาวงศ์
(ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔)
ที่ทรงผนวชเป็นพระภิกษุและจำพรรษาอยู่ที่วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส)
ให้เสด็จมาครองและทรงเป็นเจ้าอาวาส เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๕
แล้วจึงพระราชทานนามวัดแห่งนี้ใหม่ว่า “วัดบวรนิเวศวิหาร”
ซึ่งอาจเป็นการแสดงนัยว่าพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฏฯ นั้น
ทรงเทียบได้ว่าอยู่ในพระสถานะกรมพระราชวังบวรสถานมงคล
ที่มีสิทธิ์ที่จะเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติสืบราชสันตติวงศ์ต่อไป
ทำให้วัดนี้ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ และเสริมสร้างสิ่งต่างๆ ขึ้น

Image
พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร ประดับหินอ่อนดูตระการตา


เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
ทรงเป็นพระราชาคณะ ในระหว่างที่เสด็จประทับที่วัดแห่งนี้อยู่นั้น
ได้ทรงตั้งคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายขึ้น โดยทรงปรับปรุงและ
วางหลักเกณฑ์วัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย
มีพระสงฆ์ประพฤติปฏิบัติตามอย่างพระองค์เป็นจำนวนมาก
วัดบวรนิเวศวิหารจึงเป็นวัดแห่งแรกในประเทศไทย
ที่มีคณะสงฆ์เป็นธรรมยุติกนิกาย


อีกทั้งได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์และสร้างถาวรวัตถุต่างๆ เพิ่มเติมขึ้นหลายอย่าง
พร้อมทั้งได้รับพระราชทานพระตำหนักจากรัชกาลที่ ๓ ด้วย

ในสมัยต่อมาวัดแห่งนี้เป็นวัดที่ประทับของพระมหากษัตริย์
เมื่อทรงผนวชหลายพระองค์ เช่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕
และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน
จึงทำให้วัดนี้ได้รับการทะนุบำรุงให้คงสภาพดีอยู่เสมอ

ในปัจจุบันนี้ ศิลปกรรมโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุหลายสิ่งหลายอย่าง
ยังอยู่ในสภาพดีพอที่จะชม และศึกษาได้เป็นจำนวนไม่น้อย

วัดบวรนิเวศวิหารนี้มีศิลปกรรมและถาวรวัตถุที่มีค่าควรแก่การศึกษาไม่น้อย
แบ่งออกเป็นศิลปกรรมในเขตพุทธาวาสและศิลปกรรมในเขตสังฆวาส
เขตทั้งสองนี้ถูกแบ่งโดยกำแพงและคูน้ำ แยกจากกันอย่างชัดเจน
มีสะพานเชื่อมถึงกัน ทำให้เดินข้ามไปมาได้อย่างสะดวก
ศิลปกรรมล้ำค่าที่สำคัญภายในวัดแห่งนี้ที่น่าสนใจ มีดังนี้

Image
สวนด้านหน้าพระอุโบสถ 
Image
พระสุวรรณเขต (องค์หลัง)-พระพุทธชินสีห์ (องค์หน้า)
สององค์พระประธานต่างความงามต่างสมัยในพระอุโบสถ



• ศิลปกรรมล้ำค่าในเขตพุทธาวาส

ศิลปกรรมล้ำค่าในเขตพุทธาวาสที่สำคัญเริ่มจาก พระอุโบสถ
ซึ่งได้สร้างขึ้นมาตั้งแต่ครั้งสร้างวัดในสมัยรัชกาลที่ ๓
แต่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ ซ่อมแซมต่อมาอีกหลายครั้ง
รูปแบบของพระอุโบสถที่สร้างตามแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ ๓
มีมุขหน้ายื่นออกมาเป็นพระอุโบสถ และมีปีกยื่นออกซ้ายขวาเป็นวิหารมุข
หน้าที่เป็นพระอุโบสถมีเสาเหลี่ยมมีพาไลรอบซุ้มประตูหน้าต่าง
และหน้าบันประดับด้วยลายปูนปั้น พระอุโบสถหลังนี้ได้รับการบูรณะ
ในสมัยรัชกาลที่ ๔ โดยโปรดเกล้าฯ ให้มุงกระเบื้องเคลือบลูกฟูก
ประดับลายหน้าบันด้วยกระเบื้องเคลือบสี และโปรดเกล้าฯ ให้
ขรัวอินโข่ง เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ
ขรัวอินโข่งเป็นพระสงฆ์ผู้มีฝีมือในการวาดภาพและเป็นคนไทยคนแรก
ที่ใช้วิธีการวาดภาพแบบตะวันตกคือมีการแสดงระยะใกล้ไกล

ส่วนภายนอกได้รับการบูรณะด้วยการบุผนังด้วยหินอ่อนทั้งหมด
เสาด้านหน้าของพระอุโบสถเป็นเสาเหลื่ยม มีบัวหัวเสาเป็นลายฝรั่ง
ซุ้มประตูและซุ้มหน้าต่างปิดทองประดับด้วยกระจก

Image
ใบเสมาที่ตั้งไว้ติดอยู่กับผนังพระอุโบสถ


ด้านหน้าของพระอุโบสถ มี “ใบเสมา” รุ่นเก่าสมัยอู่ทอง
ทำด้วยหินทรายแดงนำมาจากวัดวังเก่า จังหวัดเพชรบุรี
ส่วนใบเสมาอื่นๆ มีลักษณะแปลกแตกต่างออกไป กล่าวคือ
เป็นเสมาที่ตั้งไว้หรือประดับเข้ากับส่วนของผนังพระอุโบสถ
ซึ่งแตกต่างจากวัดทั่วไปที่จะตั้งไว้บนลานรอบพระอุโบสถ

พระอุโบสถหลังนี้มีรูปแบบที่มีลักษณะเฉพาะต่างไปจากพระอุโบสถทั่วไป
เพราะเป็นการผสมกันระหว่างศิลปะแบบพระราชนิยมของรัชกาลที่ ๓
ซึ่งกระเดียดไปทางศิลปะจึนและศิลปะแบบรัชกาลที่ ๔ ซึ่งเป็นศิลปะที่มีอิทธิพลฝรั่ง
จึงทำให้พระอุโบสถหลังนี้มีลักษณะผสมของอิทธิพลศิลปะต่างชาติทั้งสองแบบ
แต่ทั้งหมดตั้งอยู่บนพื้นฐานของศิลปะไทย

เมื่อมองโดยรวมแล้วพระอุโบสถหลังนี้
จึงมีเอกลักษณ์เฉพาะตนที่งดงามแปลกตาไม่น้อยทีเดียว

ศิลปกรรมภายในพระอุโบสถ นอกเหนือไปจากพระพุทธรูปแล้ว
ก็มีภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
โปรดเกล้าฯ ให้ขรัวอินโข่งเขียนขึ้น เป็นงานจิตรกรรมฝาผนังที่มีค่ายิ่ง
เพราะเป็นรูปแบบของจิตรกรรมหัวเลี้ยวหัวต่อของการรับอิทธิพลยุโรป
มาผสมผสานกับแนวคิดตามขนบนิยมของไทย

Image
พระพักตร์ยิ้มเล็กน้อยในแบบศิลปะสุโขทัยของพระพุทธไสยาสน์


ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังนี้ สันนิษฐานว่า
เขียนตั้งแต่สมัยที่พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฏฯ เข้าครองวัด
โดยเขียนบนผนังเหนือประตูหน้าต่างขึ้นไป มีอยู่ ๑๖ ตอน
เริ่มต้นจากทางหลังของผนังด้านซ้ายทางทิศตะวันตก
นับเป็นผนังที่ ๑ วนทักษิณาวัตพระพุทธรูปในพระอุโบสถตามลำดับ
มีคำจารึกพรรณาเขียนไว้ที่ช่องประตู หน้าต่าง รวม ๑๖ บาน

นอกจากภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังแล้ว
ที่เสาพระอุโบสถได้เขียนภาพแสดงปริศนาธรรม
เปรียบด้วยน้ำใจคน ๖ ประเภท เรียกว่า ฉฬาภิชาติ ด้วย

ภายในพระอุโบสถนี้มีพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองสำคัญอยู่ ๒ องค์ คือ
พระพุทธรูปองค์ข้างหลังชื่อ “พระสุวรรณเขต” หรือ “พระโต”
หรือ “หลวงพ่อเพชร”
(พระประธานในพระอุโบสถสมัยแรก)
เป็นพระพุทธรูปโบราณหล่อโลหะขนาดใหญ่ ศิลปะขอม
ขนาดหน้าพระเพลา (หน้าตัก) กว้าง ๙ ศอก ๒๑ นิ้ว
หันพระพักตร์ออกมาทางด้านหน้าของพระอุโบสถ
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ผู้สร้างวัด
ได้ทรงอัญเชิญมาจากวัดสระตะพาน จังหวัดเพชรบุรี
เพื่อมาเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร
โดยรื้อออกเป็นท่อนๆ ตามรอยประสานเดิม แล้วนำมาประกอบขึ้นใหม่
สันนิษฐานว่าเดิมเป็นพระทวาราวดี ลักษณะแบบขอม พระศกเดิมโต
พระยาชำนิหัตถการ นายช่างของสมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ
เลาะพระศกเดิมออกเสีย แล้วทำพระศกใหม่ด้วยดินเผาให้เล็กลง
ตามที่เห็นว่างามในเวลานั้น ประดับเข้าที่แล้วลงรักปิดทอง
มีพระสาวกใหญ่นั่งคู่หนึ่ง เป็นพระปั้นขนาดหน้าตักกว้าง ๒ ศอก

Image
พระพุทธไสยาสน์ ศิลปะสุโขทัย

Image
พระสุวรรณเขต (องค์หลัง)-พระพุทธชินสีห์ (องค์หน้า) พระประธานในพระอุโบสถ
เบื้องหน้ามีพระรูปหล่อสมเด็จพระสังฆราช ๓ พระองค์ประดิษฐานเรียงกันบนฐานชุกชี



นอกจากนี้ ใต้ฐานพุทธบัลลังก์ของพระสุวรรณเขตหรือพระโต
ยังเป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคารของ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖

ผู้ทรงเคยผนวช ณ วัดแห่งนี้ เมื่อยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศที่
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฏราชกุมาร

ส่วนพระพุทธรูปองค์ข้างหน้าชื่อ “พระพุทธชินสีห์”
(พระประธานในพระอุโบสถสมัยหลัง)
ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าพระสุวรรณเขตหรือพระโต
ลักษณะของพระพุทธชินสีห์ต่างจากพระพุทธรูปอื่นแบบเก่าในบางอย่าง
เช่น มีนิ้วพระหัตถ์ทั้ง ๔ นิ้ว นิ้วพระบาททั้ง ๔ นิ้ว ยาวเสมอกัน
ต้องตามคัมภีร์มหาปุริสลักษณะ แสดงว่าผู้สร้างได้ทราบคัมภีร์นั้น
พระพุทธรูปที่ได้สร้างกันขึ้นชั้นหลังได้ถือเป็นแบบสืบมาจนทุกวันนี้
แต่ก่อนนั้นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในเมืองไทย ทั้งทางเมืองเหนือและเมืองใต้
ทำปลายนิ้วพระหัตถ์เป็นหลั่นกัน เหมือนกับนิ้วมือคนสามัญ

แต่เดิมพระพุทธชินสีห์เป็นพระพุทธรูปองค์สำคัญของหัวเมืองฝ่ายเหนือ
พระพุทธรูปสำริดขนาดหน้าพระเพลา (หน้าตัก) กว้าง ๕ ศอก ๔ นิ้ว
เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองปางมารวิชัยสมัยสุโขทัยผสมเชียงแสน
และเป็นที่กราบสักการะของพระมหากษัตริย์และสาธุชนมาเกือบ ๗๐๐ ปี
ประดิษฐาน ณ พระวิหารทิศเหนือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก

ประวัติการสร้างพระพุทธชินสีห์ ตำนานกล่าวว่า เมื่อปี พ.ศ. ๑๕๐๐
พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกมหาราช แห่งเมืองเชียงแสน เสด็จมาตีเมืองสองแควได้
แล้วสร้างเมืองสองแควขึ้นใหม่ พระราชทานนามว่า เมืองพิษณุโลก

จากนั้นได้สร้างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเป็นพระอารามหลวง
อีกทั้ง ได้ทรงหล่อพระพุทธรูป ๓ องค์ ได้แก่
พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา
โปรดให้ประดิษฐานพระพุทธชินสีห์ ณ พระวิหารทิศเหนือ
และประดิษฐานพระศรีศาสดา ณ พระวิหารทิศใต้
พระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดา
จึงประดิษฐานอยู่ในพระวิหารเดียวกันตลอดมาถึง ๙๐๐ กว่าปี

ครั้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
พระวิหารที่ประดิษฐานพระพุทธชินสีห์ชำรุดทรุดโทรมขาดผู้รักษาดูแล
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ จึงโปรดให้อัญเชิญมายังกรุงเทพฯ
เพื่อมาประดิษฐาน ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งเป็นวัดที่ประทับของ
สมเด็จพระสังฆราชถึง ๔ พระองค์ และเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์
และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ครั้งทรงผนวช อีกหลายพระองค์ด้วย

“พระพุทธชินสีห์” จึงเป็นพระคู่พระบารมีของพระมหากษัตริย์
และสมเด็จพระสังฆราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มาช้านาน


พระพุทธชินสีห์นั้นเป็นพระพุทธรูปที่ชาวพิษณุโลกและชาวเมืองเหนือ
เคารพบูชาอย่างยิ่งองค์หนึ่ง ในคราวที่อัญเชิญพระพุทธชินสีห์ลงมากรุงเทพฯ
ในปี พ.ศ. ๒๓๗๓ นั้น มีบันทึกที่กล่าวถึงความรู้สึกของชาวเมืองไว้ว่า

Image
พระมหาเจดีย์ใหญ่ หรือพระเจดีย์กลม


“..เมื่ออัญเชิญออกจากวิหารนั้น ราษฎรพากันมีความเศร้าโศกร้องไห้เป็นอันมาก
เงียบเหงาสงัดไปทั้งเมือง เหมือนศพลงเรือน แลแต่นั้นมาฝนก็แล้งไป ๓ ปี
ชาวเมืองพิษณุโลกได้ความยากยับไปเป็นอันมาก ตั้งแต่พระพุทธชินสีห์ลงมาถึง
กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพก็ทรงพระประชวรพระโรคมานน้ำ
ได้ปีเศษก็เสด็จสวรรคต ราษฎรพากันกล่าวว่า
เพราะเหตุที่ไปอัญเชิญพระพุทธชินสีห์อันเป็นสิริของเมืองพิษณุโลกลงมา..”

‘พระพุทธชินสีห์’ แต่เดิมประดิษฐานไว้ในมุขหลังของ
พระอุโบสถของวัดบวรนิเวศวิหารที่เป็นจตุรมุข
ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมัยยังทรงผนวช
และทรงครองวัดบวรนิเวศวิหารนั้น ได้ทูลขอพระบรมราชานุญาต
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
อัญเชิญพระพุทธชินสีห์มาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ
ออกสถิตหน้าพระสุวรรณเขตหรือพระโต พระพุทธรูปองค์ใหญ่ ดังทุกวันนี้

พระพุทธชินสีห์ประทับบนแท่นหล่อสำริด สถิตสถาพรมั่นคง
ภายใต้ฉัตรตาล ๙ ชั้น ดูร่มเย็นเป็นสุข พระอุณาโลมฝังเพชร
มีเครื่องราชสักการะ ต้นไม้เงินต้นไม้ทอง ถวายเป็นพุทธบูชา
เป็นพระพุทธรูปที่พระมหากษัตริย์ชาติไทย
เสด็จพระราชดำเนินมาถวายเครื่องราชสักการะสืบมายาวนาน

Image
พระบรมรูปหล่อรัชกาลที่ ๔ ประดิษฐานอยู่ด้านข้างพระมหาเจดีย์ใหญ่


พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนับถือเลื่อมใสพระพุทธชินสีห์มาก
เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๓ ได้โปรดให้ทำกาไหล่พระรัศมีองค์พระด้วยทองคำ
ฝังพระเนตรฝังเพชรใหม่ และตัดพระอุณาโลม แล้วปิดทองทั้งองค์พระ
ปี พ.ศ. ๒๓๙๗ ทรงให้หล่อฐานด้วยทองสำริด ปิดทองใหม่ทั้งองค์พระและฐาน

เบื้องหน้าพระพุทธชินสีห์มีโต๊ะหมู่บูชาตั้งอยู่บนฐานชุกชีที่รับฐานพระ
ถัดลงมาเป็นม้าหมู่บูชา ๓ ที่ เป็นผลงานการออกแบบของ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
สถาปนิกเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

พระรูปหล่อ ๓ องค์ ซึ่งประดิษฐานเรียงกันบนฐานชุกชี ประกอบไปด้วย
พระรูปหล่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
(พระองค์เจ้าฤกษ์ ปญฺญาอคฺโค)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๘
พระรูปหล่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
(พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ มนุสฺสนาโค)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๐
และพระรูปหล่อสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
(ม.ร.ว.ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๓
ซึ่งทุกพระองค์ทรงเคยเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร


Image
พระรูปหล่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
(สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)



ถัดจากพระอุโบสถออกไปเป็น พระมหาเจดีย์ใหญ่ หรือพระเจดีย์กลม
มีขนาดใหญ่สีทองสุกใสตั้งสูงโดดเด่นเป็นสง่า มองเห็นแต่ไกล
ตรงกลางประดิษฐานพระเจดีย์ที่คะเนว่าสูงจากฐานประมาณ ๔ เมตรกว่า
พระเจดีย์องค์นี้มีฐานกลม ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
หุ้มกระเบื้องสีทองในรัชกาลปัจจุบัน รอบฐานพระเจดีย์มี ศาลาจีนและซุ้มจีน
ส่วนด้านข้างของพระเจดีย์มี พระบรมรูปหล่อรัชกาลที่ ๔ ประดิษฐานอยู่
โดยทั่วไปไม่สามารถเข้าไปชมด้านในองค์พระเจดีย์ได้
เนื่องจากทางวัดจะเปิดให้ประชาชนเข้าชมได้ในวันสำคัญๆ เท่านั้น

สำหรับพระเจดีย์ที่น่าสนใจอีกองค์หนึ่งก็คือ พระเจดีย์ไพรีพินาศ
ที่อยู่ในบริเวณเดียวกัน เจดีย์องค์นี้เป็นที่ประดิษฐาน พระไพรีพินาศ
พระพุทธรูปปางประทานพร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำคัญและมีชื่อเสียงของวัด
แม้ว่าทางวัดจะไม่เปิดให้คนทั่วไปเข้าสักการะพระไพรีพินาศ
แต่ว่าทางวัดก็ได้สร้างพระไพรีพินาศจำลองไว้ให้สาธุชนกราบไหว้แทน

Image
พระรูปหล่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
(สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)



ข้างหลังพระเจดีย์กลมออกไปเป็น พระวิหารเก๋งจีน
ข้างในมีภาพเขียนฝีมือช่างจีน เทคนิคและฝีมืออยู่ในเกณฑ์ดี

ถัดจากพระวิหารเก๋งจีนเป็น พระวิหารพระศาสดา
ซึ่งเป็นพระวิหารขนาดใหญ่แบ่งเป็น ๒ ห้อง มีประตูทะลุผ่านกันได้
มุขหน้าประดิษฐาน พระศาสดา พระพุทธรูปที่รัชกาลที่ ๔
โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาจากวัดสุทัศน์เทพวราราม กรุงเทพฯ
เชื่อกันว่าเมื่อได้สักการบูชาแล้วจะมีอำนาจบารมีอันศักดิ์สิทธิ์
ปกปักรักษาจากสิ่งชั่วร้ายให้กับผู้ประพฤติธรรม

ส่วนมุขหลังประดิษฐาน พระพุทธไสยาสน์ หรือพระไสยา
กล่าวกันว่า งดงามที่สุดในบรรดาพระไสยาสน์ในเมืองไทย
เป็นพระศิลาลงรักปิดทองศิลปะสุโขทัย สร้างขึ้นราว พ.ศ. ๑๘๐๐-๑๘๙๓
ยาวแต่พระบาทถึงพระจุฬา (พระเกศ) ๖ ศอกคืบ ๕ นิ้ว พระรัศมี ๑ คืบ
เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดพระพายหลวง อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย

Image
พระรูปหล่อสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
(สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)



พระพุทธไสยาสน์ หรือพระไสยา เป็นพระพุทธรูปที่รัชกาลที่ ๔
ทรงทอดพระเนตรเห็นเมื่อครั้งยังทรงผนวช
และเสด็จไปประพาสวัดพระพายหลวง เมืองสุโขทัย
ด้วยลักษณะเป็นพระไสยาศิลาลงรักปิดทองที่งามกว่าพระไสยาองค์อื่น
ดังนั้นเมื่อเสด็จมาประทับจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร
จึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ในพระวิหารเดียวกันกับพระศาสดา

โดยเรื่องนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ทรงนิพนธ์ถึงเรื่องของพระองค์นี้ไว้ในหนังสือตำนานวัดบวรนิเวศวิหาร
ความตอนหนึ่งว่า “พระศิลาอย่างนี้ไม่ได้ทำไว้เพื่อประดิษฐานเป็นพระศิลาอย่างเดิม
ทำพอเป็นแกนที่เป็นพระใหญ่ต่อเป็นท่อน เพราะอย่างนี้จึงได้ลงรักปิดทอง...”
ภายหลังเมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงสิ้นพระชนม์
จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระอัฐิไปบรรจุไว้ในฐานพระไสยาองค์นี้
เชื่อกันว่า การกราบไหว้พระไสยาจะทำให้เป็นผู้ใจสงบ มีสมาธิ คนรักใคร่

ภายในพระวิหารพระศาสดามีภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนัง
อายุนับร้อยๆ ปี เรื่องพระพุทธประวัติ ชาดก และเหล่าเทวดา ฯลฯ
อันวิจิตรงดงาม มีสีสันสดสวย ทรงคุณค่าและประมาณค่ามิได้

Image
พระศาสดา ประดิษฐาน ณ พระวิหารพระศาสดา


ในบริเวณพุทธาวาสนั้นยังมีศิลปกรรมน่าสนใจอีกหลายอย่างเช่น
ศาลาพระพุทธบาท เป็นศาลาห้องกระจก ตั้งอยู่ข้างพระอุโบสถ
ที่ภายในศาลาแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐาน รอยพระพุทธบาทจำลอง
เป็นรอยพระพุทธบาทของเก่าแก่โบราณสมัยสุโขทัยที่อายุราว ๑ พันปี
ซึ่งเป็นแผ่นศิลาขนาดใหญ่สลักรอยพระพุทธบาทคู่
ที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ได้ทรงอัญเชิญมาจากจังหวัดชัยนาท
นับว่าต่างจากรอยพระบาททั่วไปที่จะมีเพียงรอยพระบาทเดี่ยว
บนรอยพระพุทธบาทจำลองมีเหรียญต่างๆ วางอยู่ข้างบน
เนื่องจากผู้คนที่แวะเวียนมามักจะวางเหรียญเพื่อเป็นการสักการบูชา
เชื่อกันว่าเมื่อได้สักการบูชาแล้วจะพ้นจากภัยพาลเคราะห์ร้าย

อีกทั้ง พลับพลาเปลื้องเครื่อง ซึ่งสร้างขึ้นเป็นเครื่องแสดงว่า
วัดแห่งนี้ได้รับพระราชทานผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค
ที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จเปลื้องเครื่องทรงในศาลานี้ก่อนเสด็จเข้าวัด

Image
พลับพลาเปลื้องเครื่อง


นอกจากนี้ ตรงประตูทางเข้าวัดบวรนิเวศวิหาร ด้านหน้าพระอุโบสถ
มี “ประตูเซี่ยวกาง” ศิลปะทวารบาลที่ได้รับอิทธิพลจากจีนมาอย่างเด่นชัด
โดยประตูเซี่ยวกางแห่งนี้เป็นรูปเทวดาผี ใช้ไม้แกะเป็นรูปเทวดา
หนวดเครายาว ปิดทองเหลืองอร่าม ตนหนึ่งมือซ้ายถือสามง่าม มือขวาถือกริช
เหยียบบนหลังจระเข้ อีกตนหนึ่งมือขวาถือโล่ มือซ้ายถือดาบ เหยียบบนหลังมังกร
มีตำนานอยู่ในลัทธิมหายานว่า เป็นจอมแห่งเทวดาผู้พิทักษ์ประตูวัด
ซึ่งกรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพย์ ได้ทรงปฏิสังขรณ์ใหม่
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามคตินิยมแบบจีน
คำว่าเซี่ยวกาง สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า “เซ่ากัง” ที่แปลว่า ยืนยาม นั่นเอง

ส่วนที่แปลกและสะดุดตาของคนที่เดินทางผ่านไป-มา ก็คือ
บริเวณปากของ “เซี่ยวกาง” นายทวารบาล จะมีสีดำ
ซึ่งแม่ค้าพวงมาลัยหน้าประตูวัดเล่าว่า สมัยก่อนยุคที่เมืองไทยยังดูดฝิ่น
ได้มีชาวจีนคนหนึ่งติดฝิ่นงอมแงม
พอต่อมาทางการได้ปราบทำลายโรงงานยาฝิ่นจนหมดสิ้น
เมื่อแกหาฝิ่นดูดไม่ได้ สุดท้ายเลยไปลงแดงตายตรงประตูนี้

Image
“ประตูเซี่ยวกาง” ที่มีปากสีดำอันโดดเด่นของวัดบวรนิเวศวิหาร


หลังจากเมื่อทางวัดมาพบจึงได้ทำพิธีกงเต๊กให้
ต่อมาชาวจีนคนนั้นได้ไปเข้าฝันสมเด็จท่านเจ้าอาวาส
ว่าให้ทำที่ให้แกอยู่แล้วแกจะเฝ้าวัดให้ ทางวัดจึงได้สร้างกำแพงทำซุ้มประตู
แล้วอันเชิญดวงวิญญาณชาวจีนคนนั้นมาสถิตย์อยู่ ณ ประตูแห่งนี้

ต่อมาก็มีเรื่องเล่ากันว่าของในวัดที่เคยถูกขโมยไปหลายครั้ง
ล้วนได้คืนกลับมาหมดด้วยความศักดิ์สิทธิของดวงวิญญาณคนจีนที่คอยเฝ้าวัด
ทำให้เกิดการสักการบูชาประตูเซี่ยวกางขึ้น ซึ่งหลายๆ คนต่างเชื่อกันว่า
ถ้าบนอะไรแล้ว ก็จะได้สิ่งนั้นตามที่ขอหมด
โดยนิยมนำฝิ่นมาป้ายปาก และนำถุงโอยัวะกับพวงมาลัยมาแขวนบูชา

ในช่วงรัชกาลที่ ๒ หรือรัชกาลที่ ๓ พวกคนจีนเข้ามาในเมืองไทยมาก
เพื่อมาเป็นแรงงาน คนจีนพวกนี้ส่วนมากจะสูบฝิ่นติดฝิ่น
แล้วอาจจะมาขอหวยอะไรทำนองนี้ แล้วปรากฏว่าถูก
คิดว่าเราเองชอบฝิ่น เจ้าก็คงชอบเหมือนกัน เลยเอาขี้ฝิ่นดิบมาป้ายปาก
ปากก็เลยมีสีดำ แต่ในปัจจุบันความเชื่อมันก็เริ่มกลายไป
กลายเป็นว่าท่านโปรดของดำทั้งหมดเลย เหมือนพระราหู
พอเราผ่านไปก็เลยเห็นเป็นถุงโอยัวะบ้าง
ถุงโอเลี้ยงบ้าง ถุงซุปไก่ดำบ้าง ตามความเชื่อของแต่ละบุคคล

Image
ศาลาพระพุทธบาท ที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง

Image
รอยพระพุทธบาทจำลอง ซึ่งเป็นแผ่นศิลาสลักรอยพระพุทธบาทคู่


Image
พระตำหนักปั้นหยา


• ศิลปกรรมล้ำค่าในเขตสังฆาวาส

ศิลปกรรมในเขตสังฆาวาสส่วนใหญ่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔
เพื่อเป็นพระตำหนักที่ประทับของพระมหากษัตริย์ขณะทรงผนวชในวัดนี้
พระตำหนักต่างๆ ที่อยู่ในคณะพระตำหนัก ประกอบด้วย พระตำหนักปั้นหยา
พระตำหนักจันทร์ พระตำหนักเพ็ชร์ พระตำหนักทรงพรต พระตำหนักใหญ่
พระตำหนักซ้าย พระตำหนักล่าง พระตำหนักบัญจบเบญจมา และหอสหจร

ความเป็นมาของพระตำหนักต่างๆ เริ่มจาก พระตำหนักปั้นหยา
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงสร้างพระราชทาน
พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฏฯ เมื่อทรงอาราธนาให้เสด็จมาประทับที่วัดแห่งนี้
และประทับอยู่ที่พระตำหนักปั้นหยาตลอดระยะเวลาแห่งการผนวช
โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อมาจากสวนขวาในพระบรมมหาราชวัง
ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒

Image
พระตำหนักจันทร์ (พระตำหนักเดิม)


ต่อมา พระตำหนักนี้ได้เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์
และเจ้านายทุกพระองค์ที่ทรงผนวชและเสด็จประทับอยู่ที่วัดแห่งนี้
รูปทรงของพระตำหนักเป็นตึก ๓ ชั้น สถาปัตยกรรมแบบยุโรป
ก่ออิฐถือปูน หน้าจั่วประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ
ภายในแบ่งเป็นห้องพระ ห้องพระบรรทม และห้องทรงพระอักษร
อีกทั้งยังมีคำจารึกที่แผ่นศิลาในพระตำหนักปั้นหยาชั้นล่าง
พระตำหนักปั้นหยาตั้งอยู่ทางซ้ายมือของคณะพระตำหนักต่างๆ
เป็นเขตหวงห้ามสำหรับสตรี คือห้ามมิให้สตรีเพศขึ้นพระตำหนักนี้

Image
ที่ประทับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าพระตำหนักจันทร์ (พระตำหนักเดิม)



ถัดจากพระตำหนักปั้นหยาคือ พระตำหนักจันทร์ (พระตำหนักเดิม)
เป็นพระตำหนักที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
ทรงสร้างด้วยทรัพย์ส่วนพระองค์ของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ
เจ้าฟ้าจันทราสรัทธาวาส กรมขุนพิจิตเจษฐฃฏาจันทร์

ถวายเป็นที่ประทับของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระวชิรญาณวโรรส
ในบริเวณพระตำหนักจันทร์ด้านทิศตะวันออก ติดกับรั้วเหล็กมีศาลาเล็กๆ
มีพาไล ๒ ด้าน ฝาล่องถุนก่ออิฐถือปูน โถงเป็นเครื่องไม้ หลังคามุงกระเบื้อง
ศาลาหลังนี้เดิมเป็นพลับพลาที่ประทับของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี
ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงสร้างไว้ในสวนพระราชวังเดิม
แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายมาปลูกไว้ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๒

Image
พระตำหนักเพ็ชร


พระตำหนักเพ็ชร ตั้งอยู่ทางขวามือเมื่อเข้าจากทางหน้าวัด
เป็นพระตำหนัก ๒ ชั้นแบบฝรั่ง มุขหน้าประดับด้วยลวดลายไม้ฉลุงดงาม
พระตำหนักนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
เมื่อครั้งยังทรงผนวช ได้สร้างถวายด้วยพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์
เพื่อให้เป็นที่ทรงงาน และเป็นท้องพระโรงสำหรับรับแขกของ
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
โดยมีการฉลองพระตำหนักเพ็ชร เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๗

ภายในห้องพระโรงเป็นที่ประดิษฐาน พระบรมรูปหล่อรัชกาลที่ ๔
ซึ่งปั้นขึ้นมาเป็นต้นแบบขนาดเท่าพระองค์จริงเป็นองค์แรก
และได้กลายเป็นต้นแบบของพระบรมรูปหล่อต่างๆ ในเวลาต่อมา

ปัจจุบัน พระตำหนักเพ็ชรใช้เป็นสถานที่ประชุมกรรมการมหาเถรสมาคม
และเป็นสถานที่เก็บรักษาตู้พัดยศ พัดรอง กล่องงาแกะสลักรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า
เครื่องบริขารสงฆ์ เครื่องใช้ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ก่อนๆ

พระตำหนักทรงพรต เป็นพระตำหนักที่ทรงเคยประทับ
ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน
ครั้งทรงผนวชเป็นพระภิกษุ และเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร

อย่างไรก็ตามศิลปกรรมและถาวรวัตถุของวัดบวรนิเวศวิหาร
ยังมีอีกมากมายหลายอย่างซึ่งส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในสภาพดี

นอกจากนี้ในเขตสังฆาวาสยังเป็นที่ประดิษฐาน พระไพรีพินาศจำลอง
พระพุทธรูปปางประทานพร ตั้งอยู่ไม่ไกลจากพระเจดีย์กลมมากนัก
เมื่อเดินเข้าไปจะมีป้ายบอกทางชี้บอกไว้
เดินตรงไปเรื่อยๆ จนสุดทางข้ามสะพานข้ามน้ำเล็กๆ
มองไปทางขวามือก็จะเห็น ศาลาพระไพรีพินาศจำลอง

Image
พระไพรีพินาศจำลองประดิษฐานอยู่ในเขตสังฆาวาส


Image
พระตำหนักเพ็ชร


• ความสำคัญของวัดบวรนิเวศวิหาร

ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในประเทศไทย
วัดบวรนิเวศวิหาร ถือเป็นวัดที่มีความเคลื่อนไหว
ทางศาสนาที่สำคัญๆ หลายประการ ถือกำเนิดขึ้น อาทิ

- ความพยายามในการปฏิรูปสงฆ์ไทย ซึ่งทำให้เกิด “นิกายธรรมยุต” ขึ้นมา

- ความพยายามในการก่อตั้งวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรก ได้แก่
มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
สมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

- ความพยายามในการริเริ่มตรวจชำระคัมภีร์ภาษาบาลี
โดยความริเริ่มของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

Image
ตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย


- ความพยายามในการก่อตั้งโรงพิมพ์แห่งแรกที่คนไทยเป็นเจ้าของ
จนวิวัฒนาการมาเป็น โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย ดังในปัจจุบัน

- ความพยายามในการรื้อฟื้นมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
โดยมีวัดบวรนิเวศวิหารสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง
จนประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยสงฆ์ไว้ผลิตศาสนทายาทที่เหมาะสมแก่สมัย

- ความพยายามในการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐแห่งแรกของประเทศ

- วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นที่ตั้งของ “พระตำหนักเพ็ชร”
ซึ่งใช้เป็นสถานที่ประชุมกรรมการมหาเถรสมาคม ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

Image
เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน


นอกจากนี้ วัดบวรนิเวศวิหารยังเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช
องค์พระประมุขแห่งคณะสงฆ์ไทย ถึง ๔ พระองค์ ด้วยกัน ได้แก่

(๑) สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑ แห่งวัดบวรนิเวศวิหาร
และสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

(๒) สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๒ แห่งวัดบวรนิเวศวิหาร
และสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

(๓) สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๓ แห่งวัดบวรนิเวศวิหาร
และสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

(๔) สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)
ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๔ แห่งวัดบวรนิเวศวิหาร
และสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ พระองค์ปัจจุบันแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

Image
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ เมื่อครั้งทรงเป็น “พระอภิบาล”
ของพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน
ในระหว่างที่ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ และเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร



สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาเปรียญธรรม ๙ ประโยค
แต่ในเวลาเดียวกัน พระองค์ก็ทรงเน้นหนักในด้านจิตตภาวนา
โดยได้ทรงฝึกสมาธิจิตทั้งสมถและวิปัสสนากรรมฐาน
ตามแนวทางปฏิบัติของพระป่ามาเป็นระยะเวลานาน

ครั้นต่อมา สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
(ม.ร.ว.ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต)
วัดบวรนิเวศวิหาร พระราชอุปัธยาจารย์
ของ พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน
ทรงเลือกพระองค์เมื่อครั้งทรงเป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระโศภณคณาภรณ์
ให้เป็น “พระอภิบาล” (พระพี่เลี้ยง) ของพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ในระหว่างที่ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ และเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร
โดยเสด็จมาประทับ ณ พระตำหนักปั้นหยา หนึ่งคืนตามพระราชประเพณี
แล้วจึงเสด็จมาประทับ ณ พระตำหนักทรงพรต ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕

ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๒ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
ที่เสด็จออกทรงพระผนวชขณะทรงครองราชย์อยู่
(พระองค์แรกคือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕)
และทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๕ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
ที่ได้เสด็จออกทรงพระผนวชต่อจากพระบูรพกษัตราธิราชเจ้ารัชกาลที่ ๔-๗

Image
“ปัญจมหาราชา” ๕ พระบูรพกษัตราธิราชเจ้าแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
คือรัชกาลที่ ๔-๗ และรัชกาลที่ ๙ ภายใต้ร่มเงาเศวตฉัตรแห่งพระบวรพุทธศาสนา



ดังนั้น พระบูรพกษัตราธิราชเจ้าแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
ภายใต้ร่มเงาเศวตฉัตรแห่งพระบวรพุทธศาสนา ปัจจุบันมี ๕ พระองค์
เรียกว่า “ปัญจมหาราชา” ประกอบด้วยรัชกาลที่ ๔-๗ และรัชกาลที่ ๙

ในระหว่างทรงผนวช พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน
ได้ทรงดำรงสมณเพศ ประทับทรงปฏิบัติพระธรรมวินัย
อยู่ในสำนักสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ตลอด ๑๕ ราตรี
ระหว่างวันจันทร์ที่ ๒๒ ตุลาคม ถึง วันจันทร์ที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๙

ทรงลาผนวชเมื่อวันจันทร์ที่ ๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๙
แม้เมื่อทรงลาผนวชแล้ว พระองค์ยังคงเสด็จมาประทับ
นั่งสมาธิกรรมฐานเป็นครั้งคราว ณ พระตำหนักทรงพรต

อนึ่ง วัดบวรนิเวศวิหารยังเป็นที่ตั้งของ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
ซึ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ เป็นสถานศึกษาชั้นสูงของคณะสงฆ์
ต่อมา สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
ได้ทรงประกาศตั้งสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘
ซึ่งนับเป็นสถาบันการศึกษาสงฆ์ระดับมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย

Image
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (หม่อมราชวงศ์ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต)
ทรงประทับหน้าพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร ทรงฉายเมื่อพระชนมายุ ๗๔ พรรษา



หลังจากนั้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๐ คณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย
ก็ประกาศตั้งมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในวัดมหาธาตุฯ

ในปัจจุบัน วัดบวรนิเวศวิหารยังเป็นที่พำนักของพระภิกษุนาคหลวง
ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหลายรูป
และยังเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครั้งทรงผนวช
รวมทั้ง เป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ อาทิเช่น
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร ครั้งทรงผนวชอีกด้วย

ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ทรงผนวช
และเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้
ประติมากรของกรมศิลปากรปั้นหุ่นและสร้างพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร
โดยทรงเสด็จพระราชดำเนินหล่อพระพุทธรูป เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๙
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
ได้ถวายพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระพุทธนาราวันตบพิตร”

Image
พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน
ทรงประทับหน้าใบเสมาพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร
เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙



Image
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ทรงฉายเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ซึ่งเป็นปีสุดท้ายแห่งพระชนมชีพ



• การศึกษาปริยัติธรรมในวัดบวรนิเวศวิหาร

วัดบวรนิเวศวิหารได้ส่งเสริมการศึกษาภาษาบาลีมาตั้งแต่เริ่มมีวัดนี้
โดยเฉพาะในยุคที่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงครองวัด
กล่าวกันว่าทรงเน้นให้ศึกษาอย่างเข้มงวด
จนกระทั่งว่าศิษยานุศิษย์ของพระองค์สามารถสนทนาภาษาบาลีได้เพราะ
ทรงจัดให้มีการเรียนการสอนภาษาบาลีแก่พระภิกษุสามเณรภายในวัด
อย่างแตกฉานเพื่อให้สามารถอ่านคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถา ฯลฯ
ได้จากต้นฉบับใบลาน หลังจากนั้น เป็นต้นมา
วัดบวรนิเวศวิหารก็ได้เป็นสดมภ์หลักในการตรวจชำระคัมภีร์ใบลานภาษาบาลี
แล้วจัดพิมพ์ออกมาในรูป พระไตรปิฎก คัมภีร์อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา ฯลฯ
ออกมาเผยแผ่ไปทั่วประเทศ ซึ่งล้วนแต่เป็นผลงานของคณะศิษยานุศิษย์
ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทั้งนั้น

Image
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)


มีการกล่าวถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ
ระหว่างทรงผนวช ในหนังสือตำนานวัดบวรนิเวศวิหาร เล่ม ๑ หน้า ๒๒ ว่า

ทรงทำนุบำรุงการเรียนพระปริยัติธรรมให้รุ่งเรือง
ทรงบอกพระปริยัติธรรมเอง มีภิกษุสามเณรเป็นศิษย์เข้าแปลในสนามหลวง
ได้เป็นเปรียญประโยคสูงถึงประโยค ๙ ก็มีหลายรูป พระสำนักอื่นมาขอเรียนบ้างก็มี
ทรงเป็นหลักอยู่ในการไล่หนังสือพระองค์หนึ่ง
ครั้งนั้น พระเปรียญพูดมคธได้คล่อง
มีพระลังกาเข้ามาจึงต้องทรงมีหน้าที่เป็นผู้รับรองในราชการ
มีคณะไว้สำหรับพระลังกาที่วัด


วัดบวรนิเวศวิหารเคยมีชื่อเสียงโด่งดังด้านการศึกษาพระปริยัติธรรมมาก
สามเณรสา ปุสฺสเทโว หรือ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)
ในกาลต่อมา
ผู้สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค ถึง ๒ ครั้ง ก็เคยอยู่วัดแห่งนี้
ครั้งแรกเมื่อสอบได้เปรียญ ๙ ประโยค ยังเป็นสามเณรสา ที่วัดราชาธิวาสวิหาร
ครั้งที่ ๒ มาสอบได้เปรียญ ๙ ประโยคอีกครั้ง ที่วัดบวรนิเวศวิหารนี้เอง

Image
ตึกมนุษยนาคมานพวิทยาทาน ณ วัดบวรนิเวศวิหาร


สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ผู้ทรงเป็นปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาและภาษาบาลี
ก็เคยทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร
ระหว่างทรงครองวัดในฐานะเจ้าอาวาส
พระองค์ก็ทรงจัดพิมพ์ตำรับตำราภาษาบาลีมากมาย
ระยะหลังมีประชาชนจำนวนมากมีศรัทธาเลื่อมใสเข้ามาบวช
อยู่ในวัดบวรนิเวศวิหารระยะสั้นตลอดทั้งปี

เนื่องจากวัดบวรนิเวศวิหารรับภาระในการจัดอบรมหลักสูตรนวกะระยะสั้น
เสียเป็นส่วนมาก ดังนั้นเสนาสนะจึงค่อนข้างจำกัด

ในที่สุด วัดบวรนิเวศวิหารจึงหันมาเน้นให้การศึกษาอบรมแก่ผู้บวชระยะสั้น
ทั้งในพรรษาและนอกพรรษา ปริมาณผู้สอบเปรียญบาลีสูงๆ ได้จึงลดลงมาก

Image
พระรูปหล่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ประดิษฐาน ณ ตึกมนุษยนาคมานพวิทยาทาน วัดบวรนิเวศวิหาร



แต่ในยุคสมัยที่ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ปัจจุบันทรงครองวัด พระองค์ได้ทรงแต่งตั้ง
พระพรหมมุนี (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต ป.ธ. ๙)
เป็นผู้อำนวยการสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อดูแลการศึกษาพระปริยัติธรรม
และก็มีพระภิกษุสามเณรสอบเปรียญธรรมได้ทุกๆ ปีไม่เคยขาด
โดยมีวัดธรรมยุตอีกประมาณ ๙ วัดขึ้นกับสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร
อาทิ วัดดวงแข, วัดเขมาภิรตาราม, วัดบวรมงคล, วัดตรีทศเทพ,
วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม, วัดบุรณศิริมาตยาราม
ฯลฯ

นอกจากนั้น ในยุคสมัยของพระองค์ยังมีผู้สอบเปรียญ ๙ ประโยคได้
ขณะยังเป็นสามเณรและได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ เป็นนาคหลวง
อุปสมบทในพระบรมราชานุเคราะห์ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ในพระบรมมหาราชวัง จำนวน ๒ รูป คือ
สามเณรปฐมพงษ์ โพธิ์ประสิทธินันท์ และสามเณรฉัตรชัย มูลสาร
โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์
และจัดงานมุทิตาเนื่องในวันประสูติของพระองค์แก่สามเณรทั้งสองรูป

Image
Image
พระแท่นที่บรรทมสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๔ ประดิษฐาน ณ วัดบวรนิเวศวิหาร

Image
ทัศนียภาพวัดบวรนิเวศวิหาร


• วัดบวรนิเวศวิหารกับงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา

วัดบวรนิเวศวิหารได้เป็นที่มั่นที่สำคัญ
ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งปริยัติและปฏิบัติ

ในฝ่ายปฏิบัตินั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงสร้างวัดอีกวัดหนึ่ง
คู่กับวัดบวรนิเวศวิหาร คือ “วัดบรมนิวาส ราชวรวิหาร”
ไว้เป็นสถานที่สำหรับฝึกวิปัสสนาจารย์โดยเฉพาะ
ในกรณีที่ศิษยานุศิษย์ของพระองค์ประสงค์จะฝึก
ต่อมา วัดบรมนิวาสแห่งนี้ยังกลายเป็นวัดที่พระวิปัสสนาจารย์รุ่นแรกๆ
อาทิ หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล, หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เป็นต้น
ได้มาพำนักอาศัยและศึกษาเพิ่มเติม
จนกลายเป็นพระวิปัสสนาจารย์สายวัดป่าที่มีชื่อเสียงไปทั่วประเทศ

Image

ด้วยเหตุนี้พระป่าสายธรรมยุตจึงยกย่องพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ว่า
เป็นผู้วางรากฐานการปฏิบัติสายพระป่าไว้อย่างมั่นคง
เพราะทรงเน้นศิษยานุศิษย์ของพระองค์ที่อยู่วัดบวรนิเวศวิหาร
และอยู่ที่วัดบรมนิวาสให้มีศีลสิกขาอย่างเคร่งครัดก่อนจะลงมือปฏิบัติ
หมายความว่ามีความรู้ปริยัติที่ถูกต้องก่อนลงมือปฏิบัตินั่นเอง

ส่วนฝ่ายปริยัตินั้น วัดบวรนิเวศวิหารก็มีการอบรมทั้งพระนวกะ
และผู้ประสงค์จะศึกษาภาษาบาลีระยะยาวอยู่ทุกๆ ปี

ปัจจุบันนี้ วัดบวรนิเวศวิหารยังขยายการเผยแผ่ไปยังต่างประเทศ
โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ
ทรงกระตุ้นให้เกิดการแปลคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา
เป็นภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้นมากมาย ทำให้หลักสูตรนักธรรมและธรรมศึกษา
มีการเผยแผ่ไปยังต่างประเทศด้วย

Image

ตำราที่พระองค์ทรงบุกเบิกให้แปลเป็นภาษาอังกฤษนั้นมีจำหน่ายที่
มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

นอกจากนั้น วัดบวรนิเวศวิหารยังเป็นที่ตั้งสำนักงานของ
มูลนิธิแผ่นดินธรรม ซึ่งผลิตรายการธรรมะออกเผยแผ่พุทธธรรม
ทุกวันอาทิตย์ เวลา ๐๖.๓๐-๗.๐๐ น. และทุกวันพฤหัสบดี
เวลา ๑๔.๐๐-๑๔.๓๐ น. ทางโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง ๕

อีกทั้งยังเป็นสำนักงานที่ตั้งของ
ศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย
ซึ่งมีหน้าที่ส่งเสริมและพิทักษ์พระพุทธศาสนาอีกด้วย

Image
น้ำพุด้านข้างพระตำหนักเพ็ชร
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น