วันอังคารที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2558

พระประวัติและปฏิปทา สมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)

Image

พระประวัติและปฏิปทา
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)
พุทธศักราช ๒๓๒๕-๒๓๓๗


วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร
แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร



พระประวัติในเบื้องต้น

สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
มีพระนามเดิมว่า “ศรี” (บางตำราเขียนว่า “สี”)
พระประวัติในเบื้องต้นมีความเป็นมาอย่างไรไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด
ทราบแต่เพียงว่า เดิมเป็นเพียง พระอาจารย์ศรี ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ
อยู่ที่วัดพนัญเชิง อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศน์
พระสงฆ์ถูกฆ่า วัดวาอาราม พระไตรปิฎก ถูกเผาทำลายวอดวายจนสิ้นเชิง
พระภิกษุสามเณรต่างก็พากันหลบภัยไปอยู่ตามวัดต่างๆ ในต่างจังหวัด
พระอาจารย์ศรีก็ได้หลบภัยสงครามไปจำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งหนึ่ง
ในเมืองนครศรีธรรมราช ที่ซึ่งพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาโดยตลอด

ครั้นต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๑๒ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงยกทัพ
ไปปราบก๊กเจ้านครซึ่งตั้งตัวเป็นใหญ่ ที่เมืองนครศรีธรรมราช
จึงได้อาราธนาพระอาจารย์ศรี ขึ้นมาจำพรรษาอยู่ ณ วัดบางหว้าใหญ่
(ปัจจุบันคือ วัดระฆังโฆสิตาราม) เนื่องด้วยทรงคุ้นเคยและรู้จักเกียรติคุณ
ของพระอาจารย์ศรี มาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา
ในขณะนั้น พระอาจารย์ดี ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชอยู่ก่อน
แต่ต่อมาภายหลัง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงทราบว่า
พระอาจารย์ดีเคยบอกที่ซ่อนทรัพย์ของผู้อื่นให้แก่พม่าเมื่อเวลาถูกขังอยู่
จึงโปรดให้ถอดออกจากตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช
แล้วได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา พระอาจารย์ศรี
ขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราช แทน ในพ.ศ. ๒๓๑๒ นั้นเอง
นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๒ แห่งกรุงธนบุรี


ทรงถูกถอดจากตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช

ครั้นถึง พ.ศ. ๒๓๒๔ อันเป็นปีสุดท้ายแห่งรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) ได้ถูกถอดจากตำแหน่งเนื่องจากได้ถวายวิสัชนาร่วมกับ
พระพุฒาจารย์ วัดบางหว้าน้อย (วัดอมรินทราราม)
และพระพิมลธรรม วัดโพธาราม (วัดพระเชตุพนหรือวัดโพธิ์)
เรื่องพระสงฆ์ปุถุชนไม่ควรไหว้คฤหัสถ์ที่เป็นอริยบุคคล
เนื่องจากคฤหัสถ์เป็นหินเพศต่ำ พระสงฆ์เป็นอุดมเพศที่สูง
เพราะทรงผ้ากาสาวพัสตร์และพระจาตุปาริสุทธิศีลอันประเสริฐ ดังความว่า

“ถึงมาตรว่าคฤหัสถ์เป็นพระโสดาก็ดี แต่เป็นหินเพศต่ำ
อันพระสงฆ์ ถึงเป็นปุถุชน ก็ตั้งอยู่ในอุดมเพศอันสูง
เหตุทรงผ้ากาสาวพัสตร์ และพระจตุปาริสุทธิศีลอันประเสริฐ
ซึ่งจะไหว้นบคฤหัสถ์ อันเป็นพระโสดานั้นก็บ่มิควร”


ข้อวิสัชนาดังกล่าวนี้ไม่ต้องพระทัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
พระองค์จึงให้ถอดเสียจากตำแหน่งพระสังฆราช ลงมาเป็นพระอนุจร (พระธรรมดา)
แล้วทรงตั้งพระโพธิวงศ์ เป็นสมเด็จพระสังฆราช
และตั้งพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นพระวันรัต
เหตุการณ์ครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)
และพระราชาคณะทั้งสองรูปดังกล่าว เป็นพระเถระที่เคร่งครัดมั่นคงในพระธรรมวินัย
แม้จะต้องเผชิญกับราชภัยอันใหญ่หลวงก็มิได้หวั่นไหว
นับเป็นพระเกียรติคุณที่สำคัญประการหนึ่งของสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้น

Image
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑


ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชครั้งที่ ๒

ครั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ทรงปราบดาภิเษกและสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕
ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คืนสมณฐานันดรศักดิ์และตำแหน่งดังเดิม
ให้แก่ สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)
ดังมีรายละเอียดบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดาร ดังนี้

“ทรงพระราชดำริว่า ฝ่ายข้างอาณาจักรได้แต่งตั้งข้าราชการตามตำแหน่งเสร็จแล้ว
ควรจะจัดการข้างฝ่ายพุทธจักร ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา
ซึ่งเสื่อมทรุดเศร้าหมองนั้นให้วัฒนารุ่งเรืองสืบไป
จึงดำรัสให้สึกพระวันรัต (ทองอยู่) กับพระรัตนมุนี (แก้ว) ออกเป็นฆราวาส
ดำรัสว่าเป็นคนอาสัตย์สอพลอทำให้เสียแผ่นดิน.....ดำรัสให้
สมเด็จพระสังฆราช พระพุฒาจารย์ และพระพิมลธรรม
ซึ่งเจ้ากรุงธนบุรีให้ลงโทษถอดเสียจากพระราชาคณะ เพราะไม่ยอมถวายบังคมนั้น
โปรดให้คงที่สมณฐานันดรศักดิ์ดังเก่า ให้คืนไปอยู่ครองพระอารามตามเดิม
และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และกรมพระราชวังบวรสถานมงคล
ดำรัสสรรเสริญว่า พระผู้เป็นเจ้าทั้งสามพระองค์นี้ มีสันดานสัตย์ซื่อมั่นคง
ดำรงรักษาพระพุทธศาสนาโดยแท้ มิได้อาลัยแก่ร่างกายและชีวิต
ควรเป็นที่นับถือไหว้นบเคารพสักการบูชา แม้มีข้อสงสัยสิ่งใดในพระบาลีไปภายหน้า
จะให้ประชุมพระราชาคณะไต่ถาม ถ้าพระผู้เป็นเจ้าทั้งสามว่าอย่างไรแล้ว
พระราชาคณะอื่นๆ จะว่าอย่างอื่นไป ก็คงจะเชื่อถ้อยคำพระผู้เป็นเจ้าทั้งสาม
ซึ่งจะเชื่อถือฟังความตามพระราชาคณะอื่นๆ
ที่เป็นพวกมากนั้นหามิได้ ด้วยเห็นใจเสียครั้งนี้แล้ว”


ความในพระราชดำรัสดังปรากฏในพระราชพงศาวดารข้างต้นนี้
ย่อมเป็นที่ประจักษ์ว่า สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) เป็นที่ทรงเคารพนับถือ
ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
และสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นอันมาก
ทั้งเป็นที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยในการที่จะฟื้นฟูทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา
ให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป เป็นปัจจัยประการหนึ่งที่ทำให้ทรงพระราชดำริ
ในอันที่จะทำสังคายนาพระธรรมวินัยให้บริสุทธิ์บริบูรณ์
เพื่อเป็นหลักของพระพุทธศาสนาในพระราชอาณาจักร ยั่งยืนสืบไปชั่วกาลนาน
และโดยที่เป็นที่ทรงเคารพนับถือและเป็นที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยดังกล่าวแล้ว

จึงกล่าวได้ว่า สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) คงจักทรงเป็นกำลังสำคัญ
ในการชำระและฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในครั้งรัชกาลที่ ๑ เป็นอย่างมาก
ทั้งในด้านความประพฤติปฏิบัติของพระภิกษุสามเณร
การบูรณปฏิสังขรณ์พุทธสถาน การชำระตรวจสอบพระไตรปิฎกให้ถูกถ้วนบริบูรณ์
ตลอดถึงในด้านความประพฤติปฏิบัติในทางที่ถูกที่ควรของพุทธศาสนิกชนทั่วไป
ดังจะเห็นได้ว่าในระหว่างที่ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)
ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชนั้น
ได้ทรงมีพระราชปุจฉาเกี่ยวกับการพระศาสนาด้านต่างๆ
ไปยังสมเด็จพระสังฆราชมากกว่า ๕๐ เรื่อง
สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) พร้อมด้วยพระสงฆ์ราชาคณะ
ก็ได้ถวายพระพรแก้พระราชปุจฉา เป็นที่ต้องตามพระราชประสงค์ทุกประการ

สิ่งแสดงถึงพระราชศรัทธาเคารพนับถือใน
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชที่ทรงมีต่อ
สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) อีกประการหนึ่งก็คือ
เมื่อทรงตั้งเป็นสมเด็จพระสังฆราชแล้วได้โปรดเกล้าฯ
ให้รื้อตำหนักทองของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไปปลูกเป็นกุฎีถวาย ณ วัดบางว้าใหญ่
แต่น่าเสียดายที่ตำหนักทองนี้ถูกไฟไหม้เสียเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๓


Image
ตู้พระไตรปิฎกลายรดน้ำ


พระกรณียกิจสำคัญ : การสังคายนาพระไตรปิฎก

เป็นที่ประจักษ์ว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ทรงปราบดาภิเษกเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ
เป็นปฐมรัชกาลแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ กรุงรัตนโกสินทร์แล้ว
พระราชกรณียกิจประการแรกที่ทรงกระทำก็คือ
การจัดสังฆมณฑลและฟื้นฟูพระพุทธศาสนา
ที่เสื่อมทรุดมาแต่การจลาจลวุ่นวายของบ้านเมือง
แต่ครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา จนถึงครั้งกรุงธนบุรี
ในด้านสังฆมณฑลนั้นก็ทรงกำจัดอลัชชีภิกษุ และทรงตรากฎพระสงฆ์ขึ้น
เพื่อป้องกันมิให้พระภิกษุสามเณรประพฤตินอกพระธรรมวินัย
และมีความประพฤติกวดขันในพระธรรมวินัยยิ่งขึ้น

ในด้านทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญมั่นคง ก็โปรดเกล้าฯ
ให้รวบรวมพระไตรปิฎกบรรดาฉบับที่มีทั้งที่เป็นอักษรลาว อักษรรามัญ
ตรวจชำระแล้วแปลงเป็นอักษรขอม จารึกลงลานสร้างไว้ให้ครบถ้วน
ประดิษฐานไว้ ณ หอพระมนเทียรธรรม
พร้อมทั้งโปรดให้สร้างคัมภีร์พระไตรปิฎก
ถวายพระสงฆ์สำหรับเล่าเรียนไว้ทุกๆ พระอารามหลวง
สิ้นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ไปเป็นอันมาก
ต่อมาทรงพระราชดำริเห็นว่า พระไตรปิฎกที่โปรดเกล้าฯ
ให้สร้างขึ้นเมื่อต้นรัชกาลนั้น ยังบกพร่องตกหล่นอยู่เป็นอันมาก
ทั้งพยัญชนะและเนื้อความ อันเนื่องมาจากความวิปลาสตกหล่นของต้นฉบับเดิม
จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้คณะสงฆ์ประชุมสังคายนาตรวจชำระพระไตรปิฎกขึ้น

เหตุการณ์สำคัญครั้งนี้เกิดขึ้นในปีที่ ๖
แห่งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
นับเป็น การสังคายนาครั้งที่ ๒ ในราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. ๒๓๓๑)
(ครั้งแรกทำที่นครเชียงใหม่สมัยพระเจ้าติโลกราชมหาราชแห่งอาณาจักรล้านนา)
และ นับเป็นครั้งแรกในยุคกรุงรัตนโกสินทร์
(ครั้งที่ ๒ ทำในสมัยรัชกาลที่ ๙ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐)
ทั้งนี้ได้มีการอาราธนาสมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะให้ดำเนินการ
สมเด็จพระสังฆราชได้เลือกพระราชาคณะฐานานุกรม เปรียญอันดับ
ที่เล่าเรียนพระไตรปิฎกได้พระสงฆ์ ๒๑๘ รูป กับราชบัณฑิตยาจารย์ ๓๒ คน
ทำการสังคายนาที่ วัดนิพพานาราม (วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์)
แบ่งพระสงฆ์ออกเป็น ๔ กอง ดังนี้

สมเด็จพระสังฆราช เป็นแม่กองชำระพระสุตตันปิฎก
พระวันรัต เป็นแม่กองชำระพระวินัยปิฎก
พระพิมลธรรม เป็นแม่กองชำระพระสัททาวิเศส
พระธรรมไตรโลก เป็นแม่กองชำระพระปรมัตถปิฎก


Image

การชำระพระไตรปิฎกครั้งนี้ใช้เวลา ๕ เดือน ได้จารึกพระไตรปิฎกลงลานใหญ่
แล้วปิดทองทึบ ทั้งปกหน้าปกหลัง และกรอบ เรียกว่า ฉบับทอง
ทำการสมโภช แล้วอัญเชิญเข้าประดิษฐานในตู้ประดับมุก
ตั้งไว้ในหอพระมณเทียรธรรม กลางสระในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
อนึ่ง การทำสังคายนาพระไตรปิฎกเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๑ นั้น
ได้มีบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ อย่างละเอียด
ควรแก่การศึกษาเป็นอย่างยิ่ง จึงขอนำมากล่าวในที่นี้
ตามความที่ปรากฏในพระราชพงศาวดาร ดังนี้

“ในปีวอก สัมฤทธิศก นั้น พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัว
ทรงพระราชรำพึงถึงพระไตรปิฎกธรรม อันเป็นมูลรากแห่งพระปริยัติศาสนา
ทรงพระราชศรัทธาพระราชทานพระราชทรัพย์เป็นอันมาก
ให้เป็นค่าจ้างลานจารึกพระไตรปิฎกลงลาน แต่บรรดามีฉบับในที่ใดๆ
ที่เป็นอักษรลาว อักษรรามัญก็ให้ชำระแปลงออกเป็นอักษรขอม สร้างขึ้นไว้ในตู้
ณ หอพระมนเฑียรธรรม และสร้างพระไตรปิฎกถวายพระสงฆ์ให้เล่าเรียน
ทุกๆ พระอารามหลวงตามความปรารถนา

จึงจมื่นไวยวรนารถกราบทูลว่า พระไตรปิฎกซึ่งทรงพระราชศรัทธาสร้างขึ้นไว้ทุกวันนี้
อักขระบทพยัญชนะตกวิปลาสอยู่แต่ฉบับเดิมมา
หาผู้จะทำนุบำรุงตกแต้มดัดแปลงให้ถูกต้องบริบูรณ์ขึ้นมิได้
ครั้นได้ทรงสดับจึงทรงพระปรารภว่าพระบาลีและอรรถกถาฎีกาพระไตรปิฎกทุกวันนี้
เมื่อและผิดเพี้ยนวิปลาสอยู่เป็นอันมากฉะนี้ จะเป็นเค้ามูลพระศาสนากระไรได้
อนึ่งท่านผู้รักษาพระไตรปิฎกมีอยู่ทุกวันนี้ก็น้อยนัก
ถ้าสิ้นท่านเหล่านี้แล้วเห็นว่าพระปริยัติศาสนา
และปฏิบัติศาสนาและปฏิเสธศาสนาจะเสื่อมสูญเป็นอันเร็วนัก
สัตว์โลกทั้งปวงจะหาที่พึ่งบ่มิได้ในอนาคตภายหน้า
ควรจะทำนุบำรุงพระบวรพุทธศาสนาไว้ให้ถาวรวัฒนาการ
เป็นประโยชน์แก่เทพดามนุษย์ทั้งปวงจึงจะเป็นทางพระบรมโพธิญาณบารมี

ทรงพระราชดำริฉะนี้แล้ว จึงดำรัสให้ประชุมพระราชวงศานุวงศ์
มีสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นประธาน
ในพระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท
ให้อาราธนาสมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะฐานานุกรม เปรียญ ๑๐๐ รูป
มารับพระราชทานฉัน ครั้นเสร็จสังฆภัตกิจแล้ว
พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัว
จึงทรงถวายนมัสการดำรัสเผดียงถามพระราชาคณะทั้งปวงว่า
พระไตรปิฎกธรรมทุกวันนี้ ยังถูกต้องบริบูรณ์อยู่หรือพิรุธผิดเพี้ยนประการใด

จึงสมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะทั้งปวงพร้อมกันถวายพระพรว่า
พระบาลีและอรรถกถาฎีกาพระไตรปิฎกทุกวันนี้พิรุธมาช้านานแล้ว
หากษัตริย์พระองค์ใดจะทำนุบำรุงให้เป็นศาสนูปถัมภกมิได้
แต่กำลังอาตมภาพทั้งปวงก็คิดจะใคร่ทำนุบำรุงอยู่ แต่เห็นจะไม่สำเร็จ
และกาลเมื่อสมเด็จพระสรรเพชญพระพุทธองค์ผู้ทรงทศอรหาทิคุณอันประเสริฐ
เมื่อพระองค์บรรทมเหนือพระปรินิพพานมัญจพุทธอาสน์ เป็นอนุฏฐานะไสยาสน์
ณ ระหว่างนางรังทั้งคู่ ในสาลวโนทยานของพระเจ้ามลราช ใกล้กรุงกุสินารานคร
มีพระพุทธฎีกาตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรสงฆ์ทั้งปวง พระธรรมวินัยอันใดทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
อันพระตถาคตเทศนาสั่งสอนท่าน เมื่อพระตถาคตนิพพานแล้ว
พระธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้นจะเป็นครูสั่งสอนท่าน
และสรรพสัตว์ทั้งปวงต่างองค์พระตถาคตสืบไป
พระองค์ตรัสมอบพระพุทธศาสนาไว้อาศัยพระปริยัติธรรมฉะนี้แล้ว
ก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน

จำเดิมแต่สมเด็จพระสัพพัญญูเจ้านิพพานถวายพระเพลิงแล้วได้ ๗ วัน
พระมหากัสสปเถรเจ้าระลึกถึงคำพระสุภัททภิกษุ
ว่ากล่าวติเตียนพระบรมศาสดาเป็นมูลเหตุ
จึงดำริการจะทำสังคายนา เลือกสรรพระภิกษุทั้งหลาย
ล้วนพระอรหันต์ทรงพระจตุปฏิสัมภิทาญาณ
กับพระอานนท์เป็นเสกขบุคคลพระองค์หนึ่ง
ซึ่งได้พระอรหัตในราตรีรุ่งขึ้นวันจะสังคายนา พอครบ ๕๐๐ พระองค์
มีพระเจ้าอชาตศัตรูราชเป็นศาสนูปถัมภก
ทำสังคายนาพระไตรปิฎกในพระมณฑปแถบถ้ำสัตตบรรณคูหา
ณ เขาเวภารบรรพต ใกล้กรุงราชคฤห์มหานคร ๗ เดือน
จึงสำเร็จการปฐมสังคายนา

ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาแล้วได้ ๑๐๐ ปี พระภิกษุชาววัชชีคามเป็นอลัชชี
สำแดงวัตถุ ๑๐ ประการ กระทำผิดพระวินัยบัญญัติ
และพระมหาเถรขีณาสพ ๘ พระองค์ มีพระยศเถรเป็นต้น
พระเรวัตตเถรเป็นปริโยสาน ชำระทศวัตถุอธิกรณ์๑๐ ประการ
ให้ระงับยังพระพุทธศาสนาให้บริสุทธิ์
แล้วเลือกสรรพระอรหันต์อันทรงพระปฏิสัมภิทาญาณ ๗๐๐ พระองค์
มีพระสัพพกามีเถรเจ้าเป็นประธาน
ทำสังคายนาพระไตรปิฎกในวาลุการามมหาวิหารใกล้กรุงเวสาลี
พระเจ้ากาลาโศกราชเป็นศาสนูปถัมภก ๘ เดือนจึงสำเร็จการทุติยสังคายนา

ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาถึง ๒๑๘ ปี ครั้งนั้นเหล่าเดียรถีย์เข้าปลอมบวชในพระศาสนา
จึงพระโมคคลีบุตรดิศเถรยังพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชให้เรียนรู้ในพุทธสมัย
แล้วชำระสึกเดียรถีย์เสีย ๖๐,๐๐๐ ยังพระพุทธศาสนาให้บริสุทธิ์
แล้วพระโมคคลีบุตรดิศเถรจึงเลือกพระอรหันต์อันทรงพระปฏิสัมภิทาญาณ ๑,๐๐๐
พระองค์ทำสังคายนาพระไตรปิฎกในอโสการามวิหาร ใกล้กรุงปาตลีบุตรมหานคร
พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชเป็นศาสนูปถัมภก ๙ เดือน จึงสำเร็จตติยสังคายนา

ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาถึง ๒๓๘ ปีจึงพระมหินเถรเจ้าออกไปลังกาทวีป
บวชกุลบุตรให้เล่าเรียนพระปริยัติธรรม คือหยั่งรากพระพุทธศาสนาลงในลังกาแล้ว
พระขีณาสพทั้ง ๓๘ พระองค์มีพระมหินทรเถรและพระอริฏฐเถรเป็นประธาน
กับพระสงฆ์ซึ่งทรงพระปริยัติธรรม ๑,๑๐๐ รูปทำสังคายนาพระไตรปิฎก
ในมณฑปถูปารามวิหารใกล้กรุงอนุราธบุรี
พระเจ้าเทวานัมปิยดิศเป็นศาสนูปถัมภก ๑๐ เดือน จึงสำเร็จการจตุตถสังคายนา

ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาถึง ๔๓๓ ปี
ครั้งนั้นพระอรหันต์ทั้งปวงในลังกาทวีปพิจารณาเห็นว่าพระพุทธศาสนาจะเสื่อมลง
เพราะพระสงฆ์ซึ่งทรงพระไตรปิฎกให้ขึ้นปากเจนใจนั้นเบาบางลงกว่าแต่ก่อน
จึงเลือกพระอรหันต์อันทรงปฏิสัมภิทาญาณ
และพระสงฆ์บุถุชนผู้ทรงพระปริยัติธรรมมากกว่า ๑,๐๐๐ ประชุมกัน
ในมหาวิหารใกล้เมืองอนุราธบุรี
พระเจ้าวัฏฏคามินีอภัยเป็นศาสนูปถัมภก ทำมณฑปถวายให้ทำการสังคายนา
คือจารึกพระไตรปิฎกลงในใบลาน ทั้งพระบาลีและอรรถกถาเป็นสิงหฬภาษา
ปี ๑ จึงสำเร็จการปัญจมสังคายนา

ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาถึง ๙๕๖ ปี
จึงพระพุทธโฆษาจารย์เจ้าออกไปแต่ชมพูทวีป
แปลพระไตรปิฎกอันเป็นสิงหฬภาษาออกเป็นมคธภาษา
แล้วจารึกลงในใบลานใหม่ในโลหปราสาทเมืองอนุราธบุรี
พระเจ้ามหานามเป็นศาสนูปถัมภก
ปี ๑ จึงสำเร็จ นับเนื่องเข้าในฉัฐมสังคายนา

ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาถึง ๑,๕๘๗ ปี
ครั้งนั้นพระเจ้าปรากรมพาหุราชได้เสวยราชสมบัติในลังกาทวีป
ย้ายพระนครจากอนุราธบุรีมาตั้งอยู่เมืองปุรัตถิมหานคร
จึงพระกัสสปเถรเจ้า กับพระสงฆ์บุถุชนผู้ทรงธรรมวินัย
ประชุมกันชำระพระไตรปิฎกชึ่งเป็นสิงหฬภาษาบ้าง มคธบ้าง ปะปนกันอยู่
ให้แปลงแปลออกเป็นมคธภาษาทั้งสิ้น แล้วจารึกลงลานใหม่
พระเจ้าปรากรมพาหุราชเป็นศาสนูปถัมภก
ปี ๑ จึงสำเร็จบริบูรณ์ นับเนื่องเข้าในสัตตมสังคายนา

เบื้องหน้าแต่นั้นมา จึงพระเจ้าธรรมานุรุธผู้เสวยราชสมบัติ ณ เมืองอริมัตถบุรี
คือเมืองภุกาม ออกไปจำลองพระไตรปิฎกในลังกาทวีปเชิญลงสำเภามายังชมพูทวีปนี้
แต่นั้นมาพระปริยัติธรรมจึงแผ่ไพศาลไปในนานาประเทศทั้งปวง
บรรดาที่เป็นสัมมาทิฏฐิ นับถือพระรัตนตรัยนั้น ได้จำลองต่อๆ กันไป
เปลี่ยนแปลงอักษรตามประเทศภาษาของตนๆ ก็ผิดเพี้ยนวิปลาสไปบ้าง
ทุกๆ พระคัมภีร์ที่มากบ้าง ที่น้อยบ้าง

ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาได้ ๒,๐๒๐ ปี
จึงพระธรรมทินเถรเจ้าผู้เป็นมหาเถรอยู่ ณ เมืองนพีสีนคร คือเมืองเชียงใหม่
พิจารณาเห็นว่าพระไตรปิฎกพิรุธมากทั้งบาลีและอรรถกถาฎีกา
จึงถวายพระพรแก่พระเจ้าศิริธรรมจักรวรรดิ์ดิลกราช
ซึ่งเสวยราชสมบัติ ณ เมืองเชียงใหม่ว่า
จะชำระพระปริยัติธรรมให้บริบูรณ์
พระเจ้าสิริธรรมจักรวรรดิ์ดิลกราชจึงให้กระทำ
พระมณฑปในมหาโพธารามวิหารในพระนคร
พระธรรมทินเถรจึงเลือกพระสงฆ์ซึ่งทรงพระไตรปิฎกมากกว่า ๑๐๐
ประชุมพร้อมกับในพระมณฑปนั้น
กระทำสังคายนาพระไตรปิฎกตกแต้มให้ถูกถ้วนบริบูรณ์
พระเจ้าศิริธรรมจักรวรรดิ์ดิลกราชเป็นศาสนูปถัมภก
ปี ๑ จึงสำเร็จนับเนื่องเข้าในอัฏฐมสังคายนาอีกครั้งหนึ่ง

เบื้องหน้าแต่นั้นมา พระเถรานุเถรในชมพูทวีปได้เล่าเรียนพระไตรปิฎก
และสร้างสืบต่อกันมา และท้าวพระยาเศรษฐีคฤหบดีมีศรัทธาสร้างไว้ในประเทศต่างๆ
คือเมืองไทย เมืองลาว เมืองเขมร เมืองพม่า เมืองมอญ
เป็นอักษรส่ำสมผิดเพี้ยนกันอยู่เป็นอันมาก
หาท้าวพระยาและสมณะผู้ใดที่จะศรัทธา
สามารถอาจชำระพระไตรปิฎกขึ้นไว้ให้บริบูรณ์ดุจท่านแต่ก่อนนั้นมิได้

ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาได้ ๒,๓๐๐ ปีเศษแล้ว
บรรดาเมืองที่นับถือพระพุทธศาสนาทั้งปวง
ก็เกิดการยุทธสงครามแก่กันถึงพินาศฉิบหายด้วยภัยแห่งปัจจามิตร
มีผู้ร้ายเผาวัดวาอารามพระไตรปิฎกก็สาบสูญสิ้นไป
จนถึงกรุงศรีอยุธยาเก่าก็ถึงแก่กาลพินาศแตกทำลายด้วยภัยพม่าข้าศึก
พระไตรปิฎกและพระเจดียสถานทั้งปวงก็เป็นอันตรายสาบสูญไป
สมณะผู้รักษาร่ำเรียนพระไตรปิฎกนั้นก็พลัดพรากล้มตายเป็นอันมาก
หาผู้ใดที่จะเป็นที่พำนักป้องกันข้าศึกศัตรูมิได้
เหตุฉะนี้พระไตรปิฎกจึงมิได้บริบูรณ์ เสื่อมสูญร่วงโรยมาจนเท่ากาลทุกวันนี้

พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัว
และสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯ
เมื่อได้ทรงสดับพระสงฆ์ราชาคณะถวายพระพรโดยพิสดาร
ดังนั้น จึงดำรัสว่า ครั้งนี้ขออาราธนาพระผู้เป็นเจ้าทั้งปวง
จงมีอุตสาหะในฝ่ายพระพุทธจักรให้พระไตรปิฎกบริบูรณ์ขึ้นให้จงได้
ฝ่ายข้างอาณาจักรที่จะเป็นศาสนูปถัมภกนั้น
เป็นพนักงานโยมๆ จะสู้เสียสละชีวิตบูชาพระรัตนตรัย
สุดแต่จะให้พระปริยัติบริบูรณ์เป็นมูลที่จะตั้งพระพุทธศาสนาจงได้

พระราชาคณะทั้งปวงรับสาธุ แล้วถวายพระพรว่า
อาตมภาพทั้งปวงมีสติปัญญาน้อยนัก ไม่เหมือนท่านแต่ก่อน
แต่จะอุตส่าห์ชำระพระปริยัติธรรม สนองพระเดชพระคุณตามสติปัญญา
และสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาครั้งนี้
ก็นับได้ชื่อว่า นวมสังคายนา คำรบ ๙ ครั้ง
จะยังพระปริยัติศาสนาให้ถาวรวัฒนายืนยาวไปในอนาคตสมัย สิ้นกาลช้านาน
แล้วถวายพระพรลาออกมาประชุมพร้อมกัน ณ วัดบางว้าใหญ่
จึงสมเด็จพระสังฆราชให้เลือกสรร พระราชาคณะ ฐานานุกรม เปรียญอันดับ
ที่เล่าเรียนพระไตรปิฎกในเวลานั้น จัดได้พระสงฆ์ ๒๑๘ รูป
กับราชบัณฑิตยาจารย์ ๓๒ คน ที่จะทำการชำระพระไตรปิฎก

จึงมีพระราชดำรัสให้จัดการที่จะทำสังคายนา ณ วัดนิพพานาราม
เหตุประดิษฐานอยู่หว่างพระราชวังทั้ง ๒
และครั้งนั้นจึงพระราชทานนามใหม่ให้ชื่อวัดพระศรีสรรเพ็ชญดาราม
แล้วทรงบริจาคพระราชทรัพย์ แจกจ่ายเกณฑ์พระราชวงศานุวงศ์
และข้าราชการฝ่ายหน้าฝ่ายในทั้งพระราชวังหลวง พระราชวังบวรฯ พระราชวังหลัง
ให้ทำสำรับคาวหวานถวายพระสงฆ์ซึ่งชำระพระไตรปิฎกทั้งเช้าทั้งเพล
เวลาละ ๔๓๖ สำหรับทั้งคาวหวาน
พระราชทานเป็นเงินตรา ค่าขาทนียโภชนียาหารสำรับคู่ละบาท

ครั้น ณ วันกัตติกปุรณมี เพ็ญเดือน ๑๒ ในป็วอก สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๕๐
พระพุทธศักราช ๒๓๓๑ พรรษา เป็นพุธวาร ศุกรปักษ์ดฤถี เวลาบ่าย ๓ โมง
มีพระราชกำหนดให้นิมนต์พระสงฆ์ประชุมพร้อมกัน
ในพระอุโบสถวัดพระศรีสรรเพ็ชญดารามแล้ว
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และกรมพระราชวังบวรฯ
ก็เสด็จพระราชดำเนินด้วยมหันตราชอิสริยยศ บริวารยศ พร้อมด้วยเครื่องสูง
และปี่กลองชนะแห่ออกจากพระราชวังไปยังพระอาราม
เสด็จ ณ พระอุโบสถทรงถวายนมัสการพระรัตนตรัยด้วยเบญจางคประดิษฐ์
แล้วอาราธนาพระพิมลธรรมให้อ่านคำประกาศเทวดาในท่ามกลางสงฆสมาคม
ขออานุภาพเทพยดาเจ้าทั้งปวงให้อุปถัมภนาการให้สำเร็จกิจมหาสังคายนา
แล้วให้แบ่งพระสงฆ์เป็น ๔ กอง

สมเด็จพระสังฆราชเป็นแม่กองชำระพระสุตตันตปิฎก กอง ๑
พระวันรัตเป็นแม่กองชำระพระวินัยปิฎก กอง ๑
พระพิมลธรรมเป็นแม่กองชำระพระสัททาวิเศส กอง ๑

และครั้งนั้นพระธรรมไตรโลกเป็นโทษอยู่ มิได้เข้าในสังคายนา
พระธรรมไตรโลกจึงมาอ้อนวอนสมเด็จพระสังฆราช
ขอเข้าช่วยชำระพระไตรปิฎกด้วย ก็ได้เป็นแม่กองชำระพระปรมัตถปิฎก กอง ๑

และพระสงฆ์ทั้ง ๔ กองนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้นิมนต์แยกกันชำระพระปริยัติอยู่ ณ พระอุโบสถกอง ๑ อยู่ ณ พระวิหารกอง ๑
อยู่ ณ พระมณฑปกอง ๑ อยู่ ณ การเปรียญกอง ๑
ทรงถวายปากไก่หมึกหรดาลครบทุกองค์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระอนุชาธิราช
เสด็จพระราชดำเนินออกไป ณ พระอารามทุกๆ วัน วันละ ๒ เวลา
เวลาเช้าทรงประเคนสำรับประณีตขาทนียโภชนียาหารแก่พระสงฆ์
ให้ฉัน ณ พระระเบียงโดยรอบ
เวลาเย็นทรงถวายอัฏฐบานธูปเทียนเป็นนิตย์ทุกวัน
และพระสงฆ์ทั้งราชบัณฑิตประชุมกันพิจารณาดูพระปริยัติ
สอบสวนพระบาลีกับอรรถกถาที่ผิดเพี้ยนวิปลาส
ก็ตกแต้มเปลี่ยนแปลงอักขระให้ถูกถ้วนบริบูรณ์ทุกๆ พระคัมภีร์ใหญ่น้อยทั่วทั้งสิ้น
และที่ใดสงสัยเคลือบแคลงก็ปรึกษาไต่ถามพระราชาคณะผู้ใหญ่
ซึ่งเป็นมหาเถรให้วิสัชนาตัดสินที่ผิดและชอบ

การชำระพระไตรปิฎกตั้งแต่ ณ วันเพ็ญเดือน ๑๒ ปีวอก สัมฤทธิศก
มาจนถึงวันเพ็ญเดือน ๕ ปีระกา เอกศก จุลศักราช ๑๑๕๑
พอครบ ๕ เดือนก็สำเร็จการสังคายนา
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จำหน่ายพระราชทรัพย์
เป็นมูลค่าจ้างให้ช่างจานคฤหัสถ์และพระสงฆ์สามเณร จารึกพระไตรปิฎก
ซึ่งชำระบริสุทธิ์แล้วนั้นลงลานใหญ่สำเร็จแล้วให้ปิดทองทึบ
ทั้งใบปกหน้าหลังและกรอบทั้งสิ้นเรียกว่าฉบับทอง
ห่อด้วยผ้ายก เชือกรัดถักด้วยไหมเบญจพรรณ
มีสลากงาแกะเป็นลวดลายเขียนอักษรด้วยน้ำหมึก
และฉลากทอเป็นตัวอักษรบอกชื่อพระคัมภีร์ทุกๆ พระคัมภีร์

อนึ่งเมื่อสำเร็จการสังคายนานั้น
ทรงถวายไตรจีวรบริขารภัณฑ์แก่พระสงฆ์ทั้ง ๒๑๘ รูป
มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน
ล้วนประณีตทุกสิ่งเป็นมหามหกรรมฉลองพระไตรปิฎก
และพระราชทานรางวัลเสื้อผ้าแก่พระยาธรรมปโรหิต
พระยาพจนาพิมล และราชบัณฑิตทั้ง ๓๒ คนนั้นด้วย
แล้วทรงสุวรรณภิงคารหล่อหลั่งทักษิโณทกธารา
อุทิศแผ่ผลพระราชกุศลศาสนูปถัมภกกิจ
ไปถึงเทพยดามนุษย์สรรพสัตว์ทั้งหลายทั่วอนันตโลกธาตุ
เป็นปัตตานุปทานบุญกริยาวัตถุอันยิ่งเพื่อประโยชน์แก่พระบรมโพธิสัพพัญญุตญาณ

ครั้นเมื่อเสร็จการสร้างพระไตรปิฎกฉบับทองแล้ว
ซึ่งให้เชิญพระคัมภีร์ทั้งปวงขึ้นพระยานุมาศ
พระราชยานต่างๆ ตั้งกระบวนแห่สมโภชพระไตรปิฎก
มีเครื่องเล่นเป็นอเนกนานานุประการ เป็นมหรสพแก่ตาประชาราษฎรทั้งปวง
แล้วเชิญพระคัมภีร์ปริยัติธรรมเข้าประดิษฐานไว้ในตู้ประดับมุก
ตั้งไว้ในหอพระมนเทียรธรรม กลางสระในวัดพระศรีรัตนศาสดารามภายในพระราชวัง
แล้วให้มีงานมหรสพสมโภชพระไตรปิฎก
ณ หอพระมนเทียรธรรม ครั้งนั้นมีละครผู้หญิงด้วย” 



Image
สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)


จากเรื่องราวของการสังคายนาครั้งนี้กล่าวได้ว่า
สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) ทรงเป็นกำลังสำคัญในการดำเนินการ
นับแต่ทรงเป็นประธานสงฆ์ ถวายคำแนะนำแด่
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชให้ทรงตระหนักถึงความสำคัญ
ของการธำรงรักษาพระธรรมวินัย ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์
เป็นเหตุให้ทรงพระราชวิริยะอุตสาหะ จัดการสังคายนาพระไตรปิฎกขึ้น
และในการทำสังคายนา สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) ก็ทรงแสดงพระปรีชาสามารถ
โดยทรงเป็นแม่กองชำระพระสุตตันตปิฎก
ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า การทำสังคายนาครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
สมพระราชประสงค์ทุกประการ
โดยการอำนวยการของสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) โดยแท้
นับเป็นพระเกียรติประวัติอีกประการหนึ่งของสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้น

พระไตรปิฎกฉบับสังคายนาเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๑ นี้เอง
ที่ได้เป็นแม่ฉบับสำหรับตรวจสอบในการจัดพิมพ์เป็นอักษรไทยครั้งแรก
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๑
เป็นเล่มหนังสือจำนวน ๓๙ เล่ม ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์
ต่อมาในรัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์ขึ้นอีกครั้งหนึ่งและเพิ่มเติมจนครบบริบูรณ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘
เป็นเล่มหนังสือจำนวน ๔๕ เล่ม เรียกว่า พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ
ดังที่ใช้เป็นแบบอยู่ในประเทศไทยปัจจุบัน


พระกรณียกิจพิเศษ

สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์
ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒
เมื่อทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๑
และสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ อีก ๒ พระองค์
คือ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนรินทร์รณเรศ
และสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์
ทรงผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง
ครั้นทรงผนวชแล้ว สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร
เสด็จไปประทับอยู่วัดสมอราย (คือวัดราชาธิวาส ในปัจจุบัน)
เพื่อทรงศึกษาสมณกิจในสำนัก พระปัญญาวิสาลเถร (นาค)
ตลอด ๑ พรรษา แล้วจึงทรงลาผนวช


พระอวสานกาล

สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)
ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช
เมื่อครั้งรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นเวลา ๑๒ ปี
และทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๒๕
ก็สิ้นพระชนม์เมื่อเดือน ๕ ปีขาล จุลศักราช ๑๑๕๖ พุทธศักราช ๒๓๓๗
ในรัชกาลที่ ๑ รวมเวลาอยู่ในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ๑๒ ปี เช่นกัน
ทรงมีพระชนมายุเท่าใดไม่ปรากฏชัด
ในกฎพระสงฆ์กล่าวถึงพระองค์ว่า “สมเด็จพระสังฆราชผู้เฒ่า”
จึงน่าจะมีพระชนมายุสูงไม่น้อยกว่า ๘๐ พรรษา

Image
วัดระฆังโฆสิตาราม ทัศนียภาพเมื่อมองจากกลางลำน้ำเจ้าพระยา


ประวัติและความสำคัญของวัดระฆังโฆสิตาราม

วัดระฆังโฆสิตาราม หรือ วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร
เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรมหาวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ ๒๕๐
ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร

เดิมเป็นวัดโบราณสร้างในสมัยอยุธยา เดิมชื่อ วัดบางว้าใหญ่ (หรือบางหว้าใหญ่)
ในสมัยธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ทรงสร้างพระราชวังใกล้วัดบางว้าใหญ่
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ และขึ้นยกเป็นพระอารามหลวง
และเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชในสมัยรัตนโกสินทร์
และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ประชุมสังคายนาพระไตรปิฎก
ซึ่งอัญเชิญมาจากนครศรีธรรมราชขึ้นที่วัดนี้

ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
วัดบางว้าใหญ่อยู่ในพระอุปถัมภ์ของเจ้านายวังหลัง
คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี (สา)
พระเชษฐภคินีของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
และเป็นพระชนนีของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ทรงมีตำหนักที่ประทับอยู่ติดกับวัด

ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดร่วมกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
และได้ขุดพบระฆังลูกหนึ่ง ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำไปไว้
ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยทรงสร้างระฆังชดเชยให้วัดบางว้าใหญ่ ๕ ลูก

Image

จากนั้นได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดระฆังโฆสิตาราม”
นอกจากจะเป็นเพราะขุดพบระฆังที่วัดนี้
และเพื่อเป็นการฟื้นฟูแบบแผนครั้งกรุงศรีอยุธยาที่มีวัดชื่อวัดระฆังเช่นกัน

ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อ “วัดระฆังโฆสิตาราม”
เป็น “วัดราชคัณฑิยาราม” (คัณฑิ แปลว่าระฆัง)
แต่ไม่มีคนนิยมเรียกชื่อนี้ จึงยังคงเรียกว่าวัดระฆังต่อมาจนถึงทุกวันนี้


Image
พระอุโบสถ วัดระฆังโฆสิตาราม


ศาสนสถานและศาสนวัตถุสำคัญภายในวัด

พระอุโบสถ

สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ หลังคาลดมุข ๓ ชั้น ประดับช่อฟ้า
ใบระกา หางหงส์ และคันทวยที่สลักเสลาอย่างประณีตงดงาม

สำหรับพระประธานที่ประดิษฐานในพระอุโบสถวัดระฆังฯ นี้
เป็นพระพุทธรูปหล่อประทับนั่งปางสมาธิกั้นด้วยเศวตฉัตร ๙ ชั้น
เดิมเป็นฉัตรกั้นเมรุของรัชกาลที่ ๑
ซึ่งพระองค์ขอให้นำไปถวายประธานวัดระฆังฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๒

Image
“พระประธานยิ้มรับฟ้า” พระประธานในพระอุโบสถวัดระฆังฯ


ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนเศวตฉัตรจากผ้าตามขาว
มาเป็นผ้าขาวลายฉลุปิดทองโดยใช้โครงของเก่า
และมีการเปลี่ยนผ้าอีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ โดยรัชกาลปัจจุบัน

สำหรับพระประธานในพระอุโบสถวัดระฆังฯ นี้มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เคยตรัสว่า

“ไปวัดไหนไม่เหมือนมาวัดระฆัง พอเข้าประตูโบสถ์ พระประธานยิ้มรับฟ้าทุกที...”

กล่าวกันว่าอาจจะเป็นเพราะพระพักตร์ของพระพุทธรูป
ที่อ่อนโยนและเมตตา ทำให้เห็นเป็นเช่นนั้น

Image
“พอเข้าประตูโบสถ์ พระประธานยิ้มรับฟ้าทุกที...”
รัชกาลที่ ๕ ตรัสถึงพระประธานในพระอุโบสถ



ในพระอุโบสถยังมีภาพจิตรกรรมผนังด้านหน้าพระประธาน
เป็นภาพพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์
และภาพเดียรถีย์ที่กำลังท้าทายอยู่กับพระพุทธองค์

ส่วนด้านหลังเป็นภาพพระมาลัย
ขณะขึ้นไปนมัสการพระมหาจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ส่วนผนังด้านข้างเบื้องบนเขียนเป็นรูปเทพชุมนุม
ตอนล่างเขียนภาพทศชาติชาดก
ฝีมือของ พระวรรณวาดวิจิตร (ทอง) จารุวิจิตรบ
ซึ่งเป็นจิตรกรเอกในสมัยรัชกาลที่ ๖ ที่เขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕

Image
หอระฆังที่รัชกาลที่ ๑
ทรงสร้างพระราชทานให้พร้อมกับระฆังอีก ๕ ลูก



หอระฆัง

ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของวัด สร้างแบบจัตุรมุข
เป็นศิลปะสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายและรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ในสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
ได้มีการขุดพบระฆังลูกหนึ่งซึ่งมีเสียงไพเราะมาก ซึ่งต่อมารัชกาลที่ ๑
ก็ได้นำระฆังลูกนั้นไปไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) และโปรดให้
สร้างหอระฆังพร้อมทั้งระฆังอีกจำนวน ๕ ลูกไว้ให้แทน จึงเป็นที่มาของชื่อวัดระฆัง

Image
หอพระไตรปิฎก (ตำหนักจันทร์)


หอพระไตรปิฎก (ตำหนักจันทร์)

เดิมอยู่กลางสระที่ขุดขึ้นด้านหลังพระอุโบสถ
สร้างเป็นเรือนแฝด ๓ หลัง ด้วยไม้ที่รื้อพระตำหนักและหอนั่งเดิมของรัชกาลที่ ๑
เมื่อครั้งยังทรงรับราชการอยู่กรุงธนบุรี

ฝาผนังด้านนอกทาสีดินแดง มีระเบียงด้านหน้า หลังคามุงกระเบื้อง
ชายคามีกระจกรูปเทพนมเดิมเป็นพระตำหนักและหอประทับ
ของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
ขณะทรงรับราชการในสมัยธนบุรี และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อมาถวายวัด

เมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว มีพระราชประสงค์จะบูรณปฏิสังขรณ์ให้สวยงาม
เพื่อเป็นหอพระไตรปิฎก กล่าวกันว่าถือเป็น
“ปูชนียสถานชั้นเอกของสถาปัตยกรรมไทย”

ด้านในเขียนภาพฝีมือ อาจารย์นาค เป็นภาพแสดงวิถีชีวิตประจำวันของคนสมัยนั้น
บานประตูตกแต่งด้วยการเขียนลายรดน้ำและแกะสลักอย่างงดงาม

Image
ตู้พระไตรปิฎกลายรดน้ำขนาดใหญ่สมัยกรุงศรีอยุธยา


นอกจากนั้นยังมี ตู้พระไตรปิฎกลายรดน้ำ ขนาดใหญ่สมัยกรุงศรีอยุธยา
อยู่ในห้องด้านเหนือและห้องด้านใต้

หอพระไตรปิฏกนี้ได้มีการซ่อมแซมครั้งใหญ่เมื่อคราวฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี
และยังเคยเป็นโบราณสถานที่ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประจำปี ๒๕๓๐
จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ อีกด้วย

พระปรางค์ใหญ่

สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ ได้รับการยกย่องว่า “ทำถูกแบบแผนที่สุด”
จนถือเป็นแบบฉบับของพระปรางค์ที่สร้างในยุคต่อมา

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
ทรงมีพระราชศรัทธาสร้างพระปรางค์ พระราชทานร่วมพระกุศล
กับสมเด็จพระพี่นางพระองค์ใหญ่ สมเด็จกรมพระยาเทพสุดาวดี

Image
พระปรางค์ใหญ่
เจดีย์เจ้าสามกรม

คือ พระเจดีย์นราเทเวศร์
พระเจดีย์นเรศร์โยธี และพระเจดีย์เสนีย์บริรักษ์

เป็นพระเจดีย์ย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบ ๓ องค์
สร้างเรียงกันอยุ่ภายในบริเวณกำแพงแก้วด้านทิศเหนือ
สร้างโดย กรมหมื่นนราเทเวศร์
กรมหมื่นนเรศร์โยธี และกรมหมื่นเสนีย์บริรักษ์

พระโอรสในกรมพระราชวังหลัง เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์

พระวิหารเดิม

เป็นพระอุโบสถเก่าของวัดบางหว้าใหญ่

Image
ศาลาการเปรียญ


ศาลาการเปรียญ

เดิมเป็นศาลาการเปรียญสำหรับแสดงธรรม
ปัจจุบันใช้เป็นสถานที่ฝึกกรรมบานของแม่ชีและอุบาสิกา
ภายในมีพระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิ

ตำหนักทอง

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
ทรงรื้อตำหนักทองอันเป็นที่ประทับของ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
ซึ่งตั้งอยู่ในพระราชวังเดิมมาปลูกที่วัดระฆังทางด้านใต้ของพระอุโบสถ
ทรงอุทิศเป็นสังฆบูชา ถวายให้เป็นที่ประทับของ
สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

Image
ตำหนักแดง


ตำหนักแดง

กรมพระราชวังบวรสถานภิมุข เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษเทเวศร์
พระนามเดิมว่า “ทองอิน” เป็นพระราชโอรสใน
สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกรมพระยาเทพสุดาวดี
ทรงถวาย ตั้งอยู่ทางด้านเหนือของพระอุโบสถหลังใหม่

ฝารูปสกลกว้างประมาณ ๔ วาเศษ ระเบียงกว้างประมาณ ๑ วา ๒ ศอก
ยาวประมาณ ๘ วาเศษ ฝาประจันห้อง เขียนรูปภาพอสุภะต่างๆ ชนิด
มีภาพพระภิกษุเจริญอสุภกรรมฐาน
เดิมเป็นที่ประทับทรงกรรมฐานของพระเจ้ากรุงธนบุรี

ตำหนักเก๋ง

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ อยู่ทางทิศใต้ของวัด
ปัจจุบันเหลือแต่รากฐานใต้ดิน ตำหนักนี้พระองค์ใช้ประทับขณะผนวช

Image
พระวิหารสมเด็จพระสังฆราช (ศรี)


พระวิหารสมเด็จพระสังฆราช (ศรี)

ตั้งอยู่ด้านหน้าพระอุโบสถ
หลังคามุงกระเบื้องเคลือบติดคันทวยตามเสาอย่างสวยงาม
หน้าบันทั้งสองด้านจำหลักรูปฉัตร ๓ ชั้น
อันเป็นเครื่องหมายพระยศสมเด็จพระสังฆราช
วิหารหลังนี้เดิมหลังคาเป็นทรงปั้นหยา เรียกว่า ศาลาเปลื้องเครื่อง

ต่อมา พระราชธรรมภาณี (ละมูล) อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ ๑๐
ได้เปลี่ยนเป็นหลังคาทรงไทย มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔
เพื่อประดิษฐานพระอัฐิ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)
ซึ่งเดิมบรรจุอยู่ในรูปพระศรีอาริยเมตไตรย
ประดิษฐานในซุ้มพระปรางค์ของวัดระฆังโฆสิตาราม
ต่อมาได้ย้ายมาไว้ที่พระวิหารที่ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่เพื่อยกย่องพระเกียรติของพระองค์
พระรูปองค์นี้เดิมประดิษฐานอยู่บนมุขพระปรางค์ทิศตะวันออก

Image
พระวิหารสมเด็จ


พระวิหารสมเด็จ

ภายในประดิษฐานรูปหล่อสมเด็จพระราชาคณะของวัดนี้ไว้ ๓ องค์คือ
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี),
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (ม.จ.ทัด เสนีย์วงศ์)
และสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว.เจริญ อิศรางกูร)

ซึ่งทั้งสามองค์นี้เป็นพระภิกษุที่มีคนเคารพนับถืออย่างมาก

สาธุ สาธุ สาธุ

รวบรวมและเรียบเรียงมาจาก ::
หนังสือชุดพระเกียรติคุณ สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ :
สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)
วัดระฆังโฆสิตาราม, สุเชาวน์ พลอยชุม เรียบเรียง, มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๑.
http://www.dharma-gateway.com/
http://www.mbu.ac.th/
http://mahamakuta.inet.co.th/
http://www.watrakang.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น