นิทานจีนเรื่องหนึ่งเล่าว่า กาลครั้งหนึ่งชายชาวป่าจากชนบทแบกลำไม้ไผ่ลำยาวเข้าเมือง เมื่อถึงกำแพงเมือง เขายืนมองประตูเมืองอยู่ครู่ใหญ่ ไม่รู้ว่าจะนำไผ่ลำยาวผ่านประตูเข้าไปได้อย่างไร เนื่องจากลำไผ่ยาวกว่าความกว้างและความสูงของประตูเมืองมาก คนเฝ้าประตูจึงบอกเขาว่า ไม่ยากอะไร เพียงตัดไผ่ออกเป็นท่อนสั้น ๆ ก็เอาเข้าเมืองได้แล้ว ชายชาวป่าก็ทำตามคำแนะนำนั้น และนำลำไผ่เข้าเมืองสำเร็จด้วยดี!
นิทานเรื่องนี้อาจเป็นกรณีสมมุติอย่างสุดโต่ง แต่ในโลกนี้มีคนที่แก้ปัญหาแบบนี้จริง ๆ ! ประเด็นหนึ่งจากนิทานเรื่องนี้คือ เมื่อเรามองปัญหาด้วยมุมมองแค่ 'กว้างคูณยาว' ก็จะได้คำตอบแบบ 'กว้างคูณยาว' บ่อยครั้งเราเชื่อว่ามันเป็นการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด
อย่างไรก็ตาม หากเพิ่ม 'มิติ' ของการมอง เช่นมองปัญหาหรือสถานการณ์หนึ่งด้วยมุมมอง 'กว้างคูณยาวคูณลึก' ก็จะได้ทางเลือกของการแก้ปัญหาเพิ่มขึ้นมาอีกทางหนึ่ง
ในกรณีนิทานจีนเรื่องนี้ เพียงชายชาวป่าสอดไม้ไผ่ลอดประตูเมืองเข้าไปตรง ๆ เขาก็ไม่ต้องตัดมันเป็นท่อน ๆ ให้เสียของ การมองภาพเพียง 'สองมิติ' จึงเป็นการปิดกั้นทางออกที่ดีกว่าอย่างไม่น่าเชื่อ!
ทว่าเมื่อเรามองโลกแบบ 'กว้างคูณยาวคูณลึก' แล้ว คำถามที่ตามมาโดยปริยายก็คือ เรารู้ได้อย่างไรว่า 'กว้างคูณยาวคูณลึก' นั้นเป็นการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด? เป็นไปได้ไหมว่ามีมิติการมองปัญหาหรือสร้างสรรค์งานที่สูงกว่า 'กว้างคูณยาวคูณลึก' เป็นมิติที่สี่ ห้า หก เจ็ด...
นี่เองที่ทำให้การคิดนอกกรอบเป็นเครื่องมือที่จำเป็น ในกรณีนิทานเรื่องชายชาวป่ากับลำไม้ไผ่นี้ บางทีการข้ามกำแพงเมืองอาจมีหนทางมากกว่าเดินผ่านประตูเมืองอย่างที่คนใช้สามัญสำนึกทำ
ยกตัวอย่างเช่น เขาอาจใช้ลำไม้ไผ่เป็นแหลนพุ่งข้ามกำแพงเมืองไป อาจขุดอุโมงค์ลอดข้ามไป อาจผูกนกหลายตัวกับลำไม้ไผ่บินข้ามกำแพงไป หรืออาจลืมกำแพงเมืองไปเลย โดยเดินอ้อมเมืองไปอีกฝั่งหนึ่งและเข้าเมืองในด้านที่ติดแม่น้ำ หรืออาจไปไกลกว่านั้น เช่นประดิษฐ์เครื่องมือย้ายมวลสารส่งไม้ไผ่ข้ามไปในเมืองโดยไม่ต้องหิ้วให้เมื่อย เป็นต้น
หลาย 'มิติ' อาจดูเป็นเรื่องเหลวไหล แต่ว่าก็ว่าเถอะ หลายความฝันยิ่งใหญ่ของมนุษย์เราก็เป็นสิ่งที่เคยดูเหลวไหลและไม่น่าเป็นไปได้ทั้งนั้น แต่จุดสำคัญก็คือ การสร้างทัศนคติในการมองที่กว้างขึ้น และไม่ถูกจำกัดในกรอบ
____________
วินทร์ เลียววาริณ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น