วันอังคารที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ปัญหาไม่ได้มีไว้ด่า คนไม่เข้าท่าไม่ได้มีไว้แช่ง – ว.วชิรเมธี Q: เช้าวันเสาร์หรืออาทิตย์ ดิฉันจะพาลูกๆ 2 คน อายุ 6 ปีและ 2 ปี ไปทำบุญที่ วัดแถวบ้านอยู่บ่อยๆ อยู่มาวันหนึ่งเจอพระรูปหนึ่ง พอดิฉันไหว้พระพุทธรูปเสร็จ กำลังจะถวายเครื่องสังฆทาน ท่านก็บอกว่า “ตรงนี้ไม่รับสังฆทาน ให้ไปทำที่อื่น” ดิฉันเลยเดินไปหาพระรูปอื่น แต่พระรูปนั้นก็ชี้ให้ไปกลับทำที่เดิม พอดิฉันพาลูกๆ เดินกลับไปก็เห็นพระรูปเดิมกำลังนั่งรับของถวายสังฆทานจากชาวบ้านอยู่พอดี ดิฉันสงสัยเลยถามท่านว่า “ทำไม” ท่านก็ตอบว่า “มีเด็กๆ วุ่นวาย ให้ไปถวายที่อื่น” ดิฉันเลยพูดเสียงดังว่า“เป็นพระเลือกได้ด้วยเหรอ” ก่อนจะเดินออกมา ดิฉันอยากกราบเรียนถามว่า จะบาปไหมคะที่พูดไปแบบนั้น เพราะเคยอ่านหนังสือมาว่า ถ้าพูดว่าพระภิกษุจะต้องตกนรก เมื่อก่อนดิฉันไม่เคยคิดไม่ดีกับพระภิกษุเลย แต่เมื่อโตขึ้นเห็นมีคนโกนหัวห่มผ้าเหลืองมาขอเงินบิณฑบาต ดิฉันก็จะคิดว่าไม่สมควรมาบวชเลย มาเกาะชายผ้าเหลืองกินทำไม หรือในกรณีที่เกิดโมโหแล้วสาปแช่งคนขณะที่เขาบวชเป็นพระจะบาปมากแค่ไหนคะ อยากขอวิธีที่จะทำให้บรรเทาบาปด้วยค่ะ เพราะไม่อยากให้มีเวรมีกรรมต่อกันอีก A : 1. ขอตอบประเด็น “เลือกได้” และ “เลือกไม่ได้” ให้ชัดก่อนจากนั้นค่อยมาตอบว่าจะตกนรกหรือไม่ เพราะเรื่องการเลือกนี้สำคัญมาก ในฝ่ายคฤหัสถ์ท่านแนะนำว่า ถ้าจะทำบุญก็ “ควรเลือก” ผู้ที่เป็น“เนื้อนาบุญ” ที่ดีจริงๆ โดยในเรื่องนี้มีพระพุทธวัจนะตรัสเอาไว้อย่างชัดเจนว่า “วิเจยฺย ทานํ ทาตพฺพํ” แปลว่า “ควรทำวิจัย (เลือกเฟ้นอย่างรอบคอบ) ให้ดีเสียก่อน แล้วจึงให้ทาน” ดังนั้น หากคุณจะทำบุญให้ทานกับพระรูปไหน ก็ควรต้องใช้ปัญญาพิจารณาให้รอบคอบทานที่ทำนั้นจึงจะได้บุญมาก แต่ถ้าหากไม่รู้ว่าพระรูปไหนเป็นพระดีหรือไม่ดี ท่านก็เสนอทางเลือกเอาไว้ให้ว่า ควรทำเป็น “สังฆทาน”หมายความว่าทำบุญด้วยการมุ่งตรงต่อสงฆ์ทั้งปวง ไม่เจาะจงให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เมื่อมุ่งต่อสงฆ์ทั้งปวง ถึงอย่างไรบุญที่เราทำ ทานที่เราถวายก็ต้องตกอยู่แก่พระที่ดีอย่างแน่นอน นี่คือการเลือก “เนื้อนาบุญ” ที่สมควร เป็นส่วนของโยม สำหรับพระสงฆ์ก็มีสิทธิ์เลือกเหมือนกัน เวลาโยมเอาอะไรมาถวาย ท่านก็ต้องพิจารณาเสียก่อนว่า “เหมาะสม” กับสมณภาวะ(คือความเป็นนักบวช) ของตนหรือไม่ เช่น เขาเอาบุหรี่ เอาสุราเอาอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เอายาเสพติด เอาเสื้อผ้าของคฤหัสถ์หรือเอาอาวุธ แม้กระทั่งเอาอาหารมาถวาย แต่อยู่ในช่วงนอกเวลาที่จะรับประเคน (เลยเพล) ไปแล้ว ท่านก็มีสิทธิ์ “เลือกที่จะไม่รับ”ได้เหมือนกัน นี่คือการเลือก “สิ่งที่ควรหรือไม่ควรรับ” ซึ่งเป็นส่วนของพระสงฆ์ คนไทยเรามักเข้าใจผิดว่าเป็นพระไม่มีสิทธิ์เลือก ใครเอาอะไรมาถวายก็ต้องรับหมด นี่เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เรื่องการเลือกนี้พระพุทธเจ้าท่านเน้นนักหนาเลยทีเดียว ถึงกับเวลาพระจะฉันแต่ละมื้อจะต้อง “พิจารณาก่อนฉัน” ด้วยบทพิจารณาที่เราเรียกว่า “ปฏิสังขาโย…” เสียก่อน หากไม่พิจารณาแล้วฉันนับว่าไม่ควรอย่างยิ่ง ในแง่ของศีลก็มีบทบัญญัติกำกับไว้ชัดเจนว่า พระจะรับประเคนอะไรได้หรือไม่ได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ศีลของพระ 227 ข้อ ว่าด้วยเรื่องอะไรทำได้และทำไม่ได้ทั้งนั้นเลย การที่พระต้องรู้ว่าอะไรทำได้และทำไม่ได้ 227 ข้อนี้ ก็เป็นการบอกชัดอยู่แล้วว่าชีวิตพระต้องอยู่กับการ “เลือก”ว่าจะทำหรือไม่ทำอะไรตลอดเวลา ดังนั้น การที่เรามักเข้าใจไปว่าพระไม่มีสิทธิ์เลือก โยมจัดอะไรให้ก็ต้อง “ยอมรับ” หมด นับเป็นทัศนคติที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง ส่วนประเด็นที่ว่าจะตกนรกหรือไม่ ก็ต้องมาพิจารณาอีกทีหนึ่งว่าท่านเป็นพระที่มีคุณธรรมมากหรือน้อย ถ้าเป็นพระอริยบุคคลเราก็มีสิทธิ์ตกนรกแน่ (แต่ถ้าขอขมาต่อท่านแล้วก็ไม่เป็นไร) แต่ถ้าเป็นพระปุถุชนหรือเป็นสมมุติสงฆ์ แม้จะไม่ถึงกับทำให้ตกนรก แต่ก็ไม่ควรทำเพราะอย่างน้อยที่สุด ท่านก็เป็นผู้ทรงเพศสูงกว่าเรา มีศีลมากกว่ามีคุณความดี (น่าจะ) มากกว่าเราอยู่แล้ว แต่เมื่อเผลอพลาดไปแล้วก็ควรไปขอให้ท่านยกโทษให้ หรือหากไม่กล้า ท่านก็แนะนำว่า ให้หันหน้าไปทางทิศที่ท่านอยู่แล้วกล่าวคำขอขมาเสีย แค่นี้ก็เป็นอันหมดเวรหมดกรรมต่อกัน หรืออย่างน้อยก็ทำให้กรรมหนักกลายเป็นกรรมเบาหรือถ้าหากท่านไม่ถือ ไม่ติดใจ ก็ไม่เป็นเวรเป็นกรรมแต่อย่างใด 2. วิธีบรรเทาบาป ก็เป็นอันว่าตอบไปแล้วในข้อที่ 1 กล่าวคือถ้าสำนึกผิดก็ไปขอขมาต่อหน้าท่านเสีย แต่ถ้าไม่กล้าก็ขอขมาลับหลังก็ได้ เพียงแต่หันหน้าไปยังทิศที่ท่านจำวัดอยู่ เปล่งคำขอขมาเสียกรรมก็เบาบางลงแล้ว ต่อไปจะคิด จะพูด จะทำอะไร ก็ควรใช้สติให้มาก เราไม่ได้อยู่กับท่าน อย่าเพิ่งตัดสินท่านง่ายๆ อย่าคิดว่าปลาเน่าตัวเดียวที่เหลือจะต้องเน่าทั้งข้อง ต้องรู้จักมองอย่างแยกแยะว่ากันเป็นรูปๆ ว่ากันเป็นรายๆ ไป เดี๋ยวนี้มีคนที่มาบวชจำนวนไม่น้อยไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัยให้แจ่มแจ้ง จึงทำพฤติกรรมที่นอกธรรมนอกวินัยหลายอย่าง ส่งผลให้เกิดความเสื่อมศรัทธา แต่ถ้าเราเห็นว่าอะไรไม่เหมาะไม่ควร แทนที่จะด่าแช่ง ก็ควรพิจารณาหาทางช่วยกันแก้ไข การก่นด่า สาปแช่ง จะไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น อย่างดีก็แค่ทำให้ได้ระบายเท่านั้น แต่ถ้าเราพิจารณาตามเหตุปัจจัยอย่างรอบด้านก็จะพบว่า “ทุกความเลวย่อมมีเหตุผล ทุกความดีย่อมมีที่มา” การที่ใครจะดีหรือเลวมันก็ต้องมีเหตุมีปัจจัย ควรช่วยกันสอดส่องจนพบเหตุปัจจัยนั้นแล้วช่วยกันหาทางแก้ไข จึงจะเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้องที่สุดลำพังการด่า การแช่งจะช่วยอะไร นอกจากทำให้ตัวเองได้บาปติดตัวเปล่าๆ ผู้ถูกด่าถูกแช่งก็ไม่รู้สึกตัว เขาจึงไม่สนใจที่จะแก้ไขตัวเองแต่ถ้าเราช่วยกันสอบสวนทวนความ เห็นปัญหาอย่างถ่องแท้ แล้วช่วยกันแก้ไขอย่างเป็นระบบ วันหนึ่งปัญหาทั้งหลายก็จะหมดไป ย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า “ปัญหาไม่ได้มีไว้บ่น ไม่ได้มีไว้แช่ง แต่มีไว้แก้ไข” เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาต้องช่วยกันหาวิธีแก้ไข นี่จึงจะเป็นหนทางที่ถูกต้องของการเป็นชาวพุทธชั้นนำ

ปัญหาไม่ได้มีไว้ด่า คนไม่เข้าท่าไม่ได้มีไว้แช่ง – ว.วชิรเมธี

Q: เช้าวันเสาร์หรืออาทิตย์ ดิฉันจะพาลูกๆ 2 คน อายุ 6 ปีและ 2 ปี ไปทำบุญที่ วัดแถวบ้านอยู่บ่อยๆ อยู่มาวันหนึ่งเจอพระรูปหนึ่ง พอดิฉันไหว้พระพุทธรูปเสร็จ กำลังจะถวายเครื่องสังฆทาน ท่านก็บอกว่า “ตรงนี้ไม่รับสังฆทาน ให้ไปทำที่อื่น” ดิฉันเลยเดินไปหาพระรูปอื่น แต่พระรูปนั้นก็ชี้ให้ไปกลับทำที่เดิม พอดิฉันพาลูกๆ เดินกลับไปก็เห็นพระรูปเดิมกำลังนั่งรับของถวายสังฆทานจากชาวบ้านอยู่พอดี ดิฉันสงสัยเลยถามท่านว่า “ทำไม” ท่านก็ตอบว่า “มีเด็กๆ วุ่นวาย ให้ไปถวายที่อื่น” ดิฉันเลยพูดเสียงดังว่า“เป็นพระเลือกได้ด้วยเหรอ”  ก่อนจะเดินออกมา

ดิฉันอยากกราบเรียนถามว่า

จะบาปไหมคะที่พูดไปแบบนั้น เพราะเคยอ่านหนังสือมาว่า ถ้าพูดว่าพระภิกษุจะต้องตกนรก
เมื่อก่อนดิฉันไม่เคยคิดไม่ดีกับพระภิกษุเลย แต่เมื่อโตขึ้นเห็นมีคนโกนหัวห่มผ้าเหลืองมาขอเงินบิณฑบาต ดิฉันก็จะคิดว่าไม่สมควรมาบวชเลย มาเกาะชายผ้าเหลืองกินทำไม หรือในกรณีที่เกิดโมโหแล้วสาปแช่งคนขณะที่เขาบวชเป็นพระจะบาปมากแค่ไหนคะ อยากขอวิธีที่จะทำให้บรรเทาบาปด้วยค่ะ เพราะไม่อยากให้มีเวรมีกรรมต่อกันอีก

A : 1. ขอตอบประเด็น “เลือกได้” และ “เลือกไม่ได้” ให้ชัดก่อนจากนั้นค่อยมาตอบว่าจะตกนรกหรือไม่ เพราะเรื่องการเลือกนี้สำคัญมาก ในฝ่ายคฤหัสถ์ท่านแนะนำว่า ถ้าจะทำบุญก็ “ควรเลือก” ผู้ที่เป็น“เนื้อนาบุญ” ที่ดีจริงๆ โดยในเรื่องนี้มีพระพุทธวัจนะตรัสเอาไว้อย่างชัดเจนว่า “วิเจยฺย ทานํ ทาตพฺพํ” แปลว่า “ควรทำวิจัย (เลือกเฟ้นอย่างรอบคอบ) ให้ดีเสียก่อน แล้วจึงให้ทาน” ดังนั้น หากคุณจะทำบุญให้ทานกับพระรูปไหน ก็ควรต้องใช้ปัญญาพิจารณาให้รอบคอบทานที่ทำนั้นจึงจะได้บุญมาก แต่ถ้าหากไม่รู้ว่าพระรูปไหนเป็นพระดีหรือไม่ดี ท่านก็เสนอทางเลือกเอาไว้ให้ว่า ควรทำเป็น “สังฆทาน”หมายความว่าทำบุญด้วยการมุ่งตรงต่อสงฆ์ทั้งปวง ไม่เจาะจงให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เมื่อมุ่งต่อสงฆ์ทั้งปวง ถึงอย่างไรบุญที่เราทำ ทานที่เราถวายก็ต้องตกอยู่แก่พระที่ดีอย่างแน่นอน

นี่คือการเลือก “เนื้อนาบุญ” ที่สมควร เป็นส่วนของโยม

สำหรับพระสงฆ์ก็มีสิทธิ์เลือกเหมือนกัน เวลาโยมเอาอะไรมาถวาย ท่านก็ต้องพิจารณาเสียก่อนว่า “เหมาะสม” กับสมณภาวะ(คือความเป็นนักบวช) ของตนหรือไม่ เช่น เขาเอาบุหรี่ เอาสุราเอาอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เอายาเสพติด เอาเสื้อผ้าของคฤหัสถ์หรือเอาอาวุธ แม้กระทั่งเอาอาหารมาถวาย แต่อยู่ในช่วงนอกเวลาที่จะรับประเคน (เลยเพล) ไปแล้ว ท่านก็มีสิทธิ์ “เลือกที่จะไม่รับ”ได้เหมือนกัน

นี่คือการเลือก “สิ่งที่ควรหรือไม่ควรรับ” ซึ่งเป็นส่วนของพระสงฆ์   คนไทยเรามักเข้าใจผิดว่าเป็นพระไม่มีสิทธิ์เลือก ใครเอาอะไรมาถวายก็ต้องรับหมด นี่เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เรื่องการเลือกนี้พระพุทธเจ้าท่านเน้นนักหนาเลยทีเดียว ถึงกับเวลาพระจะฉันแต่ละมื้อจะต้อง “พิจารณาก่อนฉัน” ด้วยบทพิจารณาที่เราเรียกว่า “ปฏิสังขาโย…” เสียก่อน หากไม่พิจารณาแล้วฉันนับว่าไม่ควรอย่างยิ่ง ในแง่ของศีลก็มีบทบัญญัติกำกับไว้ชัดเจนว่า พระจะรับประเคนอะไรได้หรือไม่ได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ศีลของพระ 227 ข้อ ว่าด้วยเรื่องอะไรทำได้และทำไม่ได้ทั้งนั้นเลย การที่พระต้องรู้ว่าอะไรทำได้และทำไม่ได้ 227 ข้อนี้ ก็เป็นการบอกชัดอยู่แล้วว่าชีวิตพระต้องอยู่กับการ “เลือก”ว่าจะทำหรือไม่ทำอะไรตลอดเวลา ดังนั้น การที่เรามักเข้าใจไปว่าพระไม่มีสิทธิ์เลือก โยมจัดอะไรให้ก็ต้อง “ยอมรับ” หมด นับเป็นทัศนคติที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง

ส่วนประเด็นที่ว่าจะตกนรกหรือไม่ ก็ต้องมาพิจารณาอีกทีหนึ่งว่าท่านเป็นพระที่มีคุณธรรมมากหรือน้อย ถ้าเป็นพระอริยบุคคลเราก็มีสิทธิ์ตกนรกแน่ (แต่ถ้าขอขมาต่อท่านแล้วก็ไม่เป็นไร) แต่ถ้าเป็นพระปุถุชนหรือเป็นสมมุติสงฆ์ แม้จะไม่ถึงกับทำให้ตกนรก แต่ก็ไม่ควรทำเพราะอย่างน้อยที่สุด ท่านก็เป็นผู้ทรงเพศสูงกว่าเรา มีศีลมากกว่ามีคุณความดี (น่าจะ) มากกว่าเราอยู่แล้ว แต่เมื่อเผลอพลาดไปแล้วก็ควรไปขอให้ท่านยกโทษให้ หรือหากไม่กล้า ท่านก็แนะนำว่า ให้หันหน้าไปทางทิศที่ท่านอยู่แล้วกล่าวคำขอขมาเสีย แค่นี้ก็เป็นอันหมดเวรหมดกรรมต่อกัน หรืออย่างน้อยก็ทำให้กรรมหนักกลายเป็นกรรมเบาหรือถ้าหากท่านไม่ถือ ไม่ติดใจ ก็ไม่เป็นเวรเป็นกรรมแต่อย่างใด

2. วิธีบรรเทาบาป ก็เป็นอันว่าตอบไปแล้วในข้อที่ 1 กล่าวคือถ้าสำนึกผิดก็ไปขอขมาต่อหน้าท่านเสีย แต่ถ้าไม่กล้าก็ขอขมาลับหลังก็ได้ เพียงแต่หันหน้าไปยังทิศที่ท่านจำวัดอยู่ เปล่งคำขอขมาเสียกรรมก็เบาบางลงแล้ว ต่อไปจะคิด จะพูด จะทำอะไร ก็ควรใช้สติให้มาก เราไม่ได้อยู่กับท่าน อย่าเพิ่งตัดสินท่านง่ายๆ อย่าคิดว่าปลาเน่าตัวเดียวที่เหลือจะต้องเน่าทั้งข้อง ต้องรู้จักมองอย่างแยกแยะว่ากันเป็นรูปๆ ว่ากันเป็นรายๆ ไป เดี๋ยวนี้มีคนที่มาบวชจำนวนไม่น้อยไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัยให้แจ่มแจ้ง จึงทำพฤติกรรมที่นอกธรรมนอกวินัยหลายอย่าง ส่งผลให้เกิดความเสื่อมศรัทธา แต่ถ้าเราเห็นว่าอะไรไม่เหมาะไม่ควร แทนที่จะด่าแช่ง ก็ควรพิจารณาหาทางช่วยกันแก้ไข การก่นด่า สาปแช่ง จะไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น อย่างดีก็แค่ทำให้ได้ระบายเท่านั้น แต่ถ้าเราพิจารณาตามเหตุปัจจัยอย่างรอบด้านก็จะพบว่า “ทุกความเลวย่อมมีเหตุผล ทุกความดีย่อมมีที่มา” การที่ใครจะดีหรือเลวมันก็ต้องมีเหตุมีปัจจัย ควรช่วยกันสอดส่องจนพบเหตุปัจจัยนั้นแล้วช่วยกันหาทางแก้ไข จึงจะเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้องที่สุดลำพังการด่า การแช่งจะช่วยอะไร นอกจากทำให้ตัวเองได้บาปติดตัวเปล่าๆ ผู้ถูกด่าถูกแช่งก็ไม่รู้สึกตัว เขาจึงไม่สนใจที่จะแก้ไขตัวเองแต่ถ้าเราช่วยกันสอบสวนทวนความ เห็นปัญหาอย่างถ่องแท้ แล้วช่วยกันแก้ไขอย่างเป็นระบบ วันหนึ่งปัญหาทั้งหลายก็จะหมดไป

ย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า  “ปัญหาไม่ได้มีไว้บ่น ไม่ได้มีไว้แช่ง แต่มีไว้แก้ไข”

เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาต้องช่วยกันหาวิธีแก้ไข นี่จึงจะเป็นหนทางที่ถูกต้องของการเป็นชาวพุทธชั้นนำ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น