การทำการงานนั้นก็คือการประพฤติธรรม แต่ด้วยเหตุที่พ่อแม่มันไม่สอน ไอ้ลูกหลานมันก็ไม่รู้ ว่าการทำงานนั้นคือการประพฤติธรรม มันแยกออกจากกันเสีย มันก็เลยกลายเป็นภาระ หลายฝักหลายฝ่าย ทำงานแล้ว ยังจะต้องไปประพฤติธรรม หรือทำบุญทำกุศล มันก็เลยมีหลายภาระ
ในฐานะที่เป็นพุทธบริษัทก็ดี หรือว่าศาสนาอื่นก็ดี สอนตรงกันหมด ในข้อที่ว่า การทำหน้าที่ของตนนั้น คือการประพฤติธรรม คำว่า ธรรม ธรรมะ แต่โบราณกาลมาแล้ว เขาหมายถึงหน้าที่ที่คนจะต้องทำ แม้แต่เป็นเรื่องให้ได้กินได้อยู่ ก็เรียกว่าหน้าที่ หรือว่าจะทำเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพานในที่สุดนั้นก็เรียกว่าหน้าที่ ก็คือธรรมที่จะต้องประพฤติ ปทานุกรมกลางๆไม่เกี่ยวกับศาสนา ไม่เกี่ยวกับอะไร เขาก็จะแปลคำธรรมะว่าหน้าที่ มาแต่ดั้งเดิม
ทีนี้ปัญหาทั่วประเทศก็คือว่ามีแต่คนทำงานอย่างเสียไม่ได้ เพื่อเอาเปรียบ ทำเล็กน้อยก็เรียกร้องประโยชน์มาก อย่างนี้ก็จะเกิดปัญหาเรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุด...เพราะมันไม่สนุกกับการทำงาน ไม่เห็นว่าการทำงานคือการประพฤติธรรม ฉะนั้นขอให้ไปศึกษากันเสียใหม่ ว่า การงานนั้นมันคือการประพฤติธรรม แม้แต่จะทำนา ต้องฝึกฝนให้มีสติปัญญา ให้มีความพากเพียร ให้มีความอดทน ให้มีความสามัคคี ให้รู้จักประหยัด แต่ละอย่างละๆนี้เหล่านี้เป็นธรรมะทั้งนั้น แล้วก็พอใจว่าได้ทำหน้าที่ ก็สบายใจ เคารพตัวเอง นับถือตัวเอง อย่างนี้เรียกว่าทำการงานมันสนุก ก็ได้ประพฤติธรรม
แล้วก็ควรจะมีอุบาย ชนิดที่จะได้ทำการงาน และสนุกสนานพร้อมกันไปในตัว ไม่ใช่ว่า มันจำเป็นจะต้องทำ ก็ทำอย่างคร่ำเครียดหน้าดำ แล้วก็คอยแต่จะโมโหโทโส ในการงานที่ไม่เป็นไปอย่างใจ หรือทำไม่ทันใจ ความโลภมันมาก คนที่ทำการงานนั้นก็มีอาการเหมือนกับตกนรกทั้งเป็น จะเสื่อมสุขภาพ แล้วมันก็ไม่รู้ว่าจะไปมีความสุขกันเมื่อไหร่
ฉะนั้นถ้าเป็นพุทธบริษัท เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าผู้มีปัญญา ก็ต้องรู้สึกสนุก รู้สึกพอใจ ตั้งแต่เมื่อคิดว่าจะทำ แล้วก็ทำอยู่ ทำอยู่ ทำอยู่ จนเกิดผลสำเร็จขึ้นมา เพียงว่าได้ทำงานนี่ก็พอใจ ได้ทำหน้าที่ของมนุษย์ มีความรับผิดชอบในการที่เป็นมนุษย์ ได้ทำหน้าที่ของมนุษย์ ก็พอใจ เคารพนับถือตัวเองได้ ถ้าว่ามีการชี้แจงชักชวน ส่งเสริม เกลี้ยกล่อมอะไรกันให้ลูกหลานเข้าใจในเรื่องนี้ โดยตัวเองก็ทำเป็นตัวอย่างที่ดี คือเป็นผู้มีความสนุกในการงานแล้ว จะได้รับผลประโยชน์กว้างขวางกว่านี้ กว่าที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้
พุทธทาสภิกขุ
ที่มา : โอวาทแก่คณะกลุ่มเกษตรกร ๓๐ กว่าจังหวัด ปี พ.ศ. ๒๕๑๘
#จดหมายเหตุพุทธทาส 9115180217000
ภาพ pixabay
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น