"วิจิกิจฉา" หมายถึง ความลังเล เนื่องจากความสงสัย หรือ ความกลัว
ถ้าไม่พิจารณาให้ดี ก็จะไม่เห็นว่ามันเกี่ยวกับเรื่อง "ตัวตน" หรือ "ของตน" ยิ่งกว่านั้น ยังมองข้ามไปเสียว่า ความลังเลนี้ ไม่มีความสำคัญอะไรในเรื่องความทุกข์และความดับทุกข์ แต่แท้ที่จริงนั้น วิจิกิจฉา ก็มีความสำคัญเช่นเดียวกันอีก
ถ้าเป็นการปฏิบัติในขั้นสมาธิ วิจิกิจฉานี้ก็เป็นนิวรณ์ปิดกั้น หรือรบกวนจิตไม่ให้เป็นสมาธิ
ถ้าเป็นการปฏิบัติในขั้นปัญญา วิจิกิจฉาก็เป็นเครื่องรบกวน ความเชื่อและปัญญาไม่ให้อยู่ในร่องในรอยได้ คนเราจึงไม่สามารถเอาชนะความทุกข์ได้ และตัวความลังเลนั้นเอง ก็เป็นเครื่องรบกวนความสุข หรือเป็นความทกข์ชนิดหนึ่งอยู่ในตัวมันเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางศาสนาหรือเรื่องตามธรรมดาของชาวโลก
การต่อสู้กันระหว่างความรู้สึกฝ่ายต่ำกับฝ่ายสูงนั่นเอง เรียกว่า วิจิกิจฉา ซึ่งอาจขยายความออกไปเป็นความไม่แน่ใจ ความไม่กล้าหาญ ความไม่ไว้ใจ หรือไม่เชื่อถือตัวเอง ฯลฯ วิจิกิจฉาชนิดที่เป็นอย่างชาวโลกๆ ที่สุด ก็เช่นไม่แน่ใจว่าจะประกอบอาชีพอะไร จะทำอะไร จะแสวงหาชื่อเสียงอะไรดี ฯลฯ และที่สูงขึ้นมาก็คือ ความไม่แน่ใจในการที่จะยึดเอาความดี หรือความยุติธรรม ว่าเป็นหลักที่แท้จริงได้หรือไม่ ความกลัวจะเสียประโยชน์ส่วนตัว กลัวจะเสียเปรียบเขา จะพ่ายแพ้เขา เป็นเหตุให้ไม่แน่ใจในการที่จะถือเอาความดีความจริงเป็นหลัก เป็นความกระอักกระอ่วนใจ ในทางหน้าที่หรือทางศีลธรรม
เราพอจะมองเห็นว่า ความระส่ำระสายทุกข์ยากลำบาก หรือวิกฤติการณ์ต่างๆ ในโลก ย่อมเกิดมาจากความไม่แน่ใจของชาวโลกนั่นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็ของชนชั้นผู้นำกลุ่มต่างๆ ที่ไม่แน่ใจในการที่จะยึดมั่นในความดี หรือความจริง จนกระทั่ง ยอมเสียสัจจ์ เช่น พอเกิดสงคราม หวาดกลัวขึ้นมาก็หันไปหาพระเป็นเจ้าหรือศาสนา แต่พอเหตุการณ์นั้นผ่านไปก็หันหน้ากลับไปหาประโยชน์ให้แก่ "ตัวตน-ของตน"
ไม่มีฝ่ายไหนแน่ใจในการที่จะยึดถือความดีความจริงเป็นหลัก ทั้งที่ตัวเองก็รู้อยู่ว่าอะไรเป็นอะไร โลกจึงตกอยู่ในห้วงแห่งความเท็จความโลเล หลอกลวงตัวเอง เพราะไม่สามารถบังคับความเชื่อ หรือสติปัญญาของตนให้แน่วแน่อยู่ในร่องในรอยได้ โลกจึงมีอาการเหมือนกับวิจิกิจฉา เคว้งคว้างไปตามความลังเลของคนในโลก ทั้งในกรณีที่เป็นไปทางโลกๆ และทางศาสนา
สำหรับวิจิกิจฉาในทางฝ่ายพุทธศาสนานั้น เมื่อกล่าวไปตามหลักที่ถือๆ กันอยู่ ก็ได้แก่ความลังเลใน พระพุทธ พระธรรม พระอริยสงฆ์ ลังเลในการตรัสรู้จริงของพระพุทธเจ้า ความสงสัยในพระพุทธเจ้าก็คือ ลังเลในการที่จะเชื่อ หรือปฏิบัติตามคำแนะนำของท่าน เพราะมันขัดต่อความรู้สึกของตนที่มีอยู่ก่อน ขัดต่อประโยชน์ที่ตนหวังจะได้รับ การลังเลในพระธรรมก็เป็นอย่างเดียวกัน เลยทำให้คนถือศาสนากันเพียงแต่ปาก หรือเล่นตลกกับพระเป็นเจ้าของตน จนอาการเช่นนี้มีอยู่ทั่วไป สำหรับความลังเลในพระอริยสงฆ์นั้น หมายถึงว่า เห็นท่านเป็นผู้พ้นทุกข์ได้อย่างนั้นๆ แล้ว ตนก็ยังลังเลที่จะเดินตาม โดยที่ไม่เชื่อว่าท่านเหล่านั้นพ้นทุกข์ได้จริงบ้าง หรือการพ้นทุกข์ของท่านเหล่านั้นจะนำมาใช้ได้แก่ตนบ้าง เมื่อยังลังเลในตัวผู้สอน ในสิ่งที่นำมาสอน และในหมู่คนที่เคยปฏิบัติตามคำสอนจนประสบความสำเร็จมาแล้ว คนโง่เหล่านี้ แม้จะศึกษาไปสักเท่าไรๆ ก็มีแต่จะยิ่งกลายเป็นคนลังเลมากขึ้น จนกลายเป็นโรคประสาทหรือโรคจิตขึ้นมาก็ได้
เท่าที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ย่อมจะเห็นได้ว่า การที่คนเราเกิดความคิดลังเลแม้ในพระศาสดาของตน ในหลักธรรมะหรือหลักปรัชญา ก็กล่าวได้ว่า "อัตตา" อีกนั่นเองที่เป็นมูลเหตุอันแท้จริงแห่งความลังเล ถ้าเราดับความลังเลหรือควบคุมมันได้ ก็ย่อมหมายความว่าเราดับ หรือควบคุม "อัตตา" ได้ เพราะอาการแห่งความลังเลก็คือลักษณะอย่างหนึ่งของ "อัตตา" หรือความเห็นแก่ตัวนั่นแหละ เป็นเหตุให้เกิดความลังเล ไม่ว่าทั้งในทางโลกและทางธรรม
พุทธทาสภิกขุ
ตัวกู ของกู
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น