ทุกวันนี้คนทั่วไปจะรู้สึกใกล้ชิดกับบุคคลสาธารณะได้ผ่านการติดตามพวกเค้าโดยตรงทางโซเชียลมีเดียต่างๆ อย่าง เฟสบุ๊ค อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ ไลน์ แต่ถ้าเป็นการสื่อสารสมัย 60-70 ปีก่อน ที่มีทีวีก็มีแค่ไม่กี่ช่อง สื่อที่เข้าถึงประชาชนได้มากและเร็วทันใจหน่อยก็จะเป็นวิทยุ ถ้ากษัตริย์องค์หนึ่งอยากสื่อสารกับประชาชนล่ะ...จะทำอย่างไร
เพราะท่านทรงทราบถึงข้อจำกัดนี้ และความสำคัญของการสื่อสารระหว่างท่านกับประชาชนดี ท่านจึงทรงตั้งสถานีวิทยุ อ.ส.(ย่อมาจากชื่อพระที่นั่งอัมพรสถาน ซึ่งเป็นสถานที่ออกอากาศครั้งแรก) เมื่อปี พ.ศ.2495 ซึ่งเป็นวิธีที่ทำให้ประชาชนรู้สึกใกล้ชิดกับในหลวง ร.9 และราชวงศ์มากขึ้น โดยรายการแรกทรงเลือกเพลงจากแผ่นเสียงมาเปิดเพื่อให้ความบันเทิง มีการเปิดโอกาสให้ประชาชนโทรมาขอเพลงได้ ต่อมาวิทยุ อ.ส.ก็มีรายการที่หลากหลายขึ้น มีทั้งการบันทึกรายการวงดนตรีของโรงเรียนสอนคนตาบอด วงดนตรีข้าราชบริพาร วงของโรงเรียนต่างๆ เนื้อหามีทั้งการถ่ายทอดข่าวพระราชกรณียกิจของในหลวงเวลาเสด็จไปทรงเยี่ยมราษฎรในภูมิภาค บางครั้งสมเด็จย่าก็ทรงให้จัดบรรยายธรรมะและรายการบริหารทางจิต สถานีวิทยุนี้ไม่ใช่รายการเพื่อความบันเทิงธรรมดาแต่ยังช่วยแก้ปัญหาเด็กนักเรียนตีกัน เพราะรายการต่างๆ มีส่วนทำให้กลุ่มนักเรียนผ่อนคลายจากการเรียนและลดปัญหาทะเลาะวิวาทระหว่างสถาบันลง
สิ่งที่น่าสนใจของ สถานีวิทยุ อ.ส. ที่จะไม่เล่าไม่ได้คือ ในหลวง ร.9 ทรงใช้แจ้งข่าวสำคัญๆ ของบ้านเมือง เช่น การระบาดของอหิวาตกโรค การเกิดโรคโปลิโอ ข่าววาตภัยที่แหลมตะลุมพุก และเป็นศูนย์กลางของการกิจกรรมสาธารณกุศล เช่นการเรี่ยไรเงินมาต่อสู้โรคภัยและบริจาคเงินช่วยน้ำท่วมดังกล่าว ซึ่งนับเป็นครั้งแรกๆ ที่ชาวไทยได้มีโอกาสทำบุญร่วมกับในหลวง จนสามารถตั้งเป็นกองทุน ทำให้สถานการณ์คลี่คลายไปได้อย่างรวดเร็ว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่พายุโซนร้อนแฮเรียตถล่ม 12 จังหวัดภาคใต้จนได้รับความเสียหายอย่างหนักเมื่อปี 2505 ขณะนั้นทรงกำลังเล่นดนตรีร่วมกับวงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ เมื่อทรงทราบข่าวก็โปรดให้นักดนตรีร่วมวงประกาศออกไมค์ขอรับบริจาคทันที พร้อมเปิดสายให้ประชาชนโทรศัพท์เข้ามาขอเพลงแล้ววงจะเล่นให้เลย "จำได้มีคนโทรศัพท์บริจาคเงินขอเพลง และมีคนโทรศัพท์มาบริจาคเงินขอให้หยุดร้องด้วย ก็รวบรวมเงินได้พอควร แต่ก่อนตอนช่วยผู้ประสบภัยนี่ทำกันเอง ที่ตรงโรงเรียนจิตรลดานี่แหละ จำได้ว่ามีปลาเค็ม มีถุงพลาสติกเยอะแยะ แล้วพวกเราเด็ก ๆ ก็ช่วยกัน มีผู้บริจาคเป็นเสื้อผ้า เป็นของอะไรเยอะแยะ" สมเด็จพระเทพฯ ตรัสถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น... กิจกรรมนี้ดำเนินต่อเนื่องถึง 1 เดือนเต็ม ปรากฏว่ามียอดผู้บริจาคเข้ามากว่า 10 ล้านบาท ถือเป็นจุดเริ่มแรกของการมอบถุงยังชีพในประเทศไทย
ด้วยเหตุนี้ วิทยุ อ.ส.จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงานช่วงแรกของท่าน ที่สร้างความผูกพันระหว่างสถาบันกษัตริย์และประชาชนได้อย่างดี
#สานต่อที่พ่อทำ
*ที่มาอยู่ในคอมเมนต์
เรียบเรียงจาก:
- บทพระราชทานสัมภาษณ์ สมเด็จพระเทพฯ ทรงสนทนาเรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ
- เสวนาเรื่องครูดนดนตรีของแผ่นดิน สถาบันราชภัฏสมเด็จเจ้าพระยา โดย อ.แมนรัตน์ ศรีกรานนท์
- หนังสือบทความของนายขวัญแก้ว วัชโรทัย รองเลขาธิการสำนักพระราชวัง ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ บรรยายเฉลิมพระเกียรติ ในปีพุทธศักราช 2533 ถึง 2552
- สารานุกรมพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรอบ 60 ปีแห่งการครองราชย์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น