ช้าลงสักนิด
มารดาของแก้วเป็นมะเร็งลำไส้ จึงเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล หลังจากได้รับเคมีบำบัด ๑๐ ครั้ง ร่างกายก็ผ่ายผอม วันหนึ่งแก้วจึงพาแม่ไปพักผ่อนกับครอบครัวที่เชียงใหม่ เที่ยวกันทั้งวัน ตกค่ำก็ไปกินอาหารหน้าโรงแรม แก้วสั่งข้าวต้มให้แม่ แต่แม่ไม่ยอมแตะข้าวต้มเลย เอาแต่อุ้มหลานเดินอยู่รอบโต๊ะ แก้วคะยั้นคะยอให้แม่ทานอาหาร แม่ก็ไม่สนใจ แก้วไม่พอใจจึงบ่นเสียงดังว่า แม่เอาใจยาก ป่วยขนาดนี้แล้ว ยังไม่สนใจดูแลรักษาตัวเองอีก
กลางดึกขณะที่นอนอยู่ แก้วก็ได้ยินเสียงสะอื้นไห้ สงสัยว่าเป็นเสียงของใคร พลิกตัวกลับมาก็พบว่าแม่กำลังร้องไห้ จึงถามว่า แม่มีอะไรไม่สบายใจหรือ แม่ตอบว่า แม่น้อยใจลูกที่ต่อว่าแม่เรื่องข้าวต้มเมื่อหัวค่ำ แม่บอกว่า แม่กินข้าวต้มไม่ลงจริง ๆ รู้ไหมว่าแม่เกลียดข้าวต้มมาก เพราะอยู่ที่โรงพยาบาลแม่กินแต่ข้าวต้ม พอเห็นข้าวต้มใจก็หวนระลึกถึงความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานเพราะฤทธิ์เคมีบำบัด พาลให้เกลียดพยาบาลทุกคนที่โรงพยาบาล ทั้ง ๆ ที่เขาไม่ได้ทำอะไรเลย แม่ทุกข์ทรมานมาก แต่แทนที่แก้วจะเห็นใจหรือเข้าใจแม่ กลับต่อว่าแม่อีก
แก้วได้ยินเช่นนั้นก็ตกใจ กราบขอโทษแม่ที่พูดจาทำร้ายจิตใจแม่ แก้วไม่รู้เลยว่าแม่ทุกข์ถึงเพียงนี้ แล้วแก้วก็กอดแม่อยู่นาน เช้าวันรุ่งขึ้น แม่ก็คุยกับแก้วเป็นปกติ ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น
เหตุการณ์นี้ผ่านมานานหลายปี บัดนี้แม่หาชีวิตไม่แล้ว นึกถึงเหตุการณ์นี้คราวใด แก้วอดรู้สึกใจหายวาบไม่ได้ ที่เผลอทำร้ายจิตใจแม่เพียงเพราะข้าวต้มจานเดียวเป็นเหตุ หากแก้วถามแม่สักคำว่าทำไมแม่ถึงไม่กินข้าวต้ม แทนที่จะด่วนต่อว่าแม่ แม่ก็คงไม่เสียน้ำตาเพราะลูก ยังดีที่แก้วรับรู้ความรู้สึกของแม่ในคืนนั้น จึงขอโทษแม่ได้ทัน หาไม่แล้ว แก้วคงจะเสียใจหากมารู้ความจริงเมื่อแม่จากไปแล้ว
ความผิดพลาดในชีวิตบ่อยครั้งเกิดจากการด่วนสรุปหรือผลีผลามตัดสิน โดยไม่สอบถาม หรือฟังผู้ที่เกี่ยวข้องเสียก่อน จริงอยู่คนเราเมื่อเห็นหรือได้ยินอะไร ก็อดไม่ได้ที่จะตีความหรือหาความหมายจากสิ่งนั้น รวมทั้งคาดเดาถึงที่มาที่ไปของมัน แต่หากเราตระหนักหรือระลึกว่านั่นเป็นแค่ “ความคิด” ซึ่งอาจผิดหรือถูกก็ได้ เราก็จะไม่ด่วนสรุปว่ามันเป็น “ความจริง” ทำให้พร้อมที่จะรับฟังข้อเท็จจริงหรือความเห็นที่ต่างออกไป
ปัญหาก็คือคนเรามักด่วนตัดสินโดยไม่รู้ตัว ทันทีที่คิดนึกหรือคาดเดาอะไรขึ้นมาได้ก็ยึดมั่นสำคัญหมายว่ามันเป็นความจริงหรือสิ่งที่ถูกต้อง จนไม่ยอมเปิดใจรับฟังอะไรที่ต่างจากความคิดนั้น ผลก็คือความคิดนั้นกลายเป็นนายเรา ควบคุมบงการให้เราพูดหรือทำตามมัน ดังที่บงการแก้วให้ต่อว่าแม่ด้วยความไม่พอใจ
การมีสติรู้ทันความคิดเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เราไม่ด่วนสรุป หรือหากเผลอด่วนสรุปไปแล้ว ก็รู้ตัว และวางมันไว้ก่อน ไม่ปล่อยให้มันบงการจิตใจ พร้อมเปิดใจรับฟังผู้อื่น หรือตามดูเหตุการณ์ให้แน่ใจ ซึ่งบ่อยครั้งช่วยให้ไม่เผลอทำสิ่งผิดพลาด ที่ทำให้ต้องเสียใจในภายหลัง
อังคณา มาศรังสรรค์ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “ผลัดใบชีวิต” เล่าว่า วันหนึ่งเธอชวนลูกไปเดินเล่นในสวน ลูกชายทั้งสองเดินไปก็แหย่หยอกกันไป เธอเดินตามหลังลูก เห็นแล้วก็ลุ้นในใจว่า ลูกจะตีกันไหมหนอ สักพักก็เห็นคนพี่หันไปทำท่าเหมือนตีหัวน้อง เธอเกือบจะหลุดปากออกไปปรามลูกว่า “เล่นกันดี ๆ ลูก ทำไมต้องตีหัวน้อง” แต่แล้วก็ยั้งเอาไว้ เพราะเกรงว่าน้องจะรู้สึกมีพวก และหันมางอแงหาแม่ให้ช่วย
ครู่ต่อมาเธอเห็นคนพี่ตีหัวน้องอีกครั้ง คราวนี้เธอเห็นความโกรธพุ่งจี๊ดขึ้นมา แต่ไม่ทันจะทำอะไรไป ก็ได้ยินลูกคนโตพูดว่า “เดี๋ยว ๆ ยังไม่ออกเลย มดตะนอยเกาะอยู่ เดี๋ยวโดนกัดหรอก”
เธอได้ยินก็อมยิ้ม รู้สึกดีใจที่ไม่ได้พูดอะไรออกไป หาไม่ลูกชายคงจะเสียใจมากกับคำพูดของแม่ที่เข้าใจลูกผิด
คงไม่มีอะไรที่ทำให้ลูกเสียใจมากเท่ากับถูกแม่ตำหนิทั้ง ๆ ที่ตัวเองทำสิ่งที่ถูกต้อง แต่ผู้เป็นลูกมักหนีไม่พ้นที่ต้องเจอเรื่องทำนองนี้ โดยที่แม่ก็หารู้ไม่ว่าได้ทำอะไรลงไป เพราะคิดเสมอว่าแม่ย่อมรู้ดีกว่าลูก
หนังสือเล่มเดียวกันนี้เล่าถึงคุณแม่ผู้หนึ่ง เธอชอบพาลูกสาววัย ๕ ขวบเดินชมสวน เธออยากให้ลูกมีนิสัยรักธรรมชาติ ระหว่างที่เดินมักจะเตือนลูกไม่ให้เด็ดดอกไม้ แต่ลูกก็มักจะทำตรงข้าม เธอเห็นคราวใดก็ตีมือลูกเบา ๆ พร้อมกับพูดเสียงแข็ง “แม่บอกหลายครั้งแล้วนะ ไม่ให้เด็ดดอกไม้” บ่อยครั้งที่ลูกสาวมีอาการงอน เสียใจ ขณะที่เธอรู้สึกกังวลที่ลูกสาวเป็นคนดื้อ ไม่ค่อยเชื่อฟังแม่
มีช่วงหนึ่งที่เธอได้เรียนรู้เกี่ยวกับการใช้ชีวิตให้ช้าลงและไม่ด่วนสรุป เธอจึงอยากทดลองใช้กับตัวเองบ้าง วันหนึ่งขณะที่เดินเล่นกับลูกสาว เธอเห็นลูกน้อยเอื้อมมือไปเด็ดดอกไม้ เธอรู้สึกขุ่นเคืองขึ้นมาทันที แต่เตือนตนไม่ให้ผลีผลามทำอะไร นึกในใจว่า “ลองช้าสิ ลองไม่ตัดสินสิ ดูก่อน ลูกจะเอาดอกไม้ไปทำอะไร” ลูกเด็ดดอกไม้เสร็จเธอก็เดินตามลูกไป พอกลับถึงบ้านลูกถามหาชามเล็ก ๆ แม่ถามว่าจะเอาไปทำอะไร
“ใส่ดอกไม้ค่ะ เวลาพ่อกินข้าว จะได้ดูดอกไม้สวย ๆ” ลูกตอบ
แม่น้ำตาคลอทันที คิดมาตลอดว่าลูกเป็นคนดื้อ หากเธอด่วนสรุปด่วนตำหนิเหมือนเคย ก็คงไม่รู้ว่าลูกสาวมีน้ำใจงดงามเช่นนี้
ความสัมพันธ์ในครอบครัวแม้เริ่มต้นด้วยความรัก แต่มักปริร้าวจนแตกแยกก็เพราะผู้คนไม่ค่อยฟังกัน แม้จะได้ยินด้วยหู เห็นด้วยตา แต่เมื่อมีข้อสรุปล่วงหน้าแล้ว ใจก็ปิดไม่ยอมรับรู้ความเห็นต่าง จึงยากที่จะเข้าใจกันได้ ทำให้เห็นผิดไปจากความเป็นจริง ความรักจึงกลายเป็นความมึนตึงและความเกลียดชังกันในที่สุด
อย่าเพิ่งด่วนสรุป ตัดสินช้าลงสักนิด พึงระลึกว่าความจริงนั้นเป็นมากกว่าสิ่งที่เห็นด้วยตา ได้ยินด้วยหู หรืออาจตรงข้ามกับสิ่งที่คิดในใจก็ได้ แม้จะมีข้อสรุป ก็เผื่อใจไว้บ้างว่าความจริงอาจมิใช่เป็นอย่างที่คิด ลองสอบถามหรือดูต่อไปสักนิด เราอาจเห็นความจริงอีกด้านหนึ่งที่งดงามของคนที่เรารัก
ที่มา...นิตยสารสารคดี : ฉบับที่ ๓๑๒
:: กุมภาพันธ์ ๕๔ ปีที่ ๒๖
คอลัมน์ริมธาร : ช้าลงสักนิด โดย รินใจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น