ไต้หวัน: จากเกาะขยะ สู่ อัจฉริยะในการกำจัด
หนึ่งในสิ่งที่เรายังจำได้ไม่ลืมตั้งแต่ไปจิ่วเฟิ่นครั้งแรก คือช่วงใกล้ๆสองทุ่ม คนที่มาเที่ยวกำลังเตรียมตัวกลับเข้าไทเป จู่ๆก็มีเสียงเพลงคล้ายรถขายไอศกรีมดังมาแต่ไกล เพลง Maiden’s prayer ในที่นี้กลับไม่ใช่รถไอศกรีมค่ะ แต่เป็นรถเก็บขยะคันเล็ก วิ่งตามซอกซอยแคบๆในจิ่วเฟิ่นเข้ามา ขณะที่คนมากมายออกมายืนรอพร้อมถุงขยะเล็กใหญ่ในมือ หนุ่มคนหนึ่งจากร้านอาหารวิ่งกระหืดกระหอบมาพร้อมขยะสองถุงใหญ่ๆ ร้องขอทางมาแต่ไกลด้วยความกลัวว่าจะไม่ทัน
นี่เป็นภาพแปลกตา สำหรับเราที่ไม่เคยเห็นระบบการเก็บขยะแบบนี้ เมื่อกลับมาค้นหาข้อมูลเพิ่ม ก็พบว่า ราวประมาณ 30 ปีก่อน ซอกซอยต่างๆในเมืองใหญ่ของไต้หวัน โดยเฉพาะไทเป ตามจุดต่างๆเต็มไปด้วยกองขยะที่มีแต่หนู แมลง และกลิ่นรบกวน จนโดนเรียกว่า”เกาะขยะ” แต่เพียงเวลาไม่กี่ทศวรรษ ไต้หวันก็เปลี่ยนตัวเองกลายเป็นประเทศที่มีการจัดการขยะที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลกได้อย่างน่าประหลาดใจ ซึ่งหากเราได้ไปเยือนไต้หวันทุกวันนี้ คงยากจะจินตนาการภาพในอดีตได้
DSC04756 (2).JPG
การขยายตัวของเศรษฐกิจไต้หวันในช่วงทศวรรษ 1970 – 1980 สร้างปัญหาการจัดการขยะตามมา ทั้งขยะจากอุตสาหกรรม และจากผู้คนที่โยกย้ายเข้าไปกระจุกกันในเมืองเพื่อหางาน เมื่อคำนึงถึงว่าไต้หวันเป็นเพียงเกาะเล็กๆที่ไม่สามารถหาที่ฝังกลบขยะได้เพียงพอ นี่ยิ่งเป็นปัญหาใหญ่สำหรับประเทศเลยทีเดียว นอกจากการแก้ปัญหาด้วยหน่วยงานภาครัฐ อย่าง Environmental Protection Administration ที่เข้ามาช่วยจัดสรรเงินทุน และส่งเสริมธุรกิจรีไซเคิลแล้ว การออกแบบระบบการจัดการขยะในเมือง ก็มีความสำคัญอย่างละเลยไม่ได้เลยค่ะ
DSC04580.JPG
ใครที่เคยเห็นช่วงเวลาที่รถขนขยะมาเก็บขยะตามบ้านเรือนคงจำภาพได้ดีค่ะ รถขนขยะจะมาตรงเวลา ในช่วงเวลาหลังเลิกงาน หรือดึกๆก่อนนอน พร้อมกับเปิดเพลงประจำตัว เป็นสัญญาณให้ทุกคนรีบนำขยะออกจากบ้าน มาต่อแถวกันทิ้งที่รถขนขยะ เพราะจะไม่มีการตั้งถังขยะสาธารณะในบริเวณที่อยู่อาศัย ขยะของแต่ละบ้าน ก็ต้องเป็นความรับผิดชอบในการจัดเก็บของครัวเรือนนั้นๆ จนกว่าเจ้าหน้าที่จะมาเก็บไป โดยในไทเปมีจุดจอดรถขยะทั้งหมด 4,000 จุด 5 ครั้งต่อสัปดาห์ แถมยังมีแอพในมือถือให้โหลดมาดูได้ด้วยว่ารถขยะอยู่ตรงไหนแล้ว และเตือนเมื่ออยู่ใกล้
dsc04578
สิ่งที่ส่งเสริมการแยกขยะก็คือ การให้ผู้ทิ้งขยะแบกรับภาระค่าใช้จ่าย ตามอัตราส่วนที่ตัวเองทิ้งขยะ ทิ้งมากจ่ายมาก ทิ้งน้อยจ่ายน้อย โดยบังคับให้ทิ้งขยะทั่วไปในถุงที่ขายโดยรัฐบาลเท่านั้น ถ้าทิ้งมาก ใช้ถุงขนาดใหญ่ ก็ต้องจ่ายค่าถุงขยะมากไปโดยปริยาย ส่วนรถรีไซเคิลสีขาวที่ขับตามมานั้นรับเฉพาะขยะรีไซเคิลฟรี ถ้าแยกขยะก่อนทิ้ง ก็จะประหยัดค่าถุงไปได้พอสมควร
ขยะรีไซเคิลในรถสีขาวถูกแยกละเอียดถึง 13 ประเภท ตั้งแต่เหล็ก อลูมิเนียม พลาสติก แก้ว อุปกรณ์ IT แบตเตอรี่ ยาง หลอดไฟ ฯลฯ ส่วนรถขยะสีเหลืองที่รับขยะที่รีไซเคิลไม่ได้ ก็ยังพกถังติดตัวมาด้วยสองใบ ใบหนึ่งสำหรับใส่เศษอาหาร เพื่อนำไปเป็นอาหารให้กับปศุสัตว์ต่อไป อีกใบใส่ของสด ซึ่งก็จะนำไปหมักเป็นปุ๋ยให้กับเกษตรกร
การจัดเก็บขยะด้วยสัญญาณเพลงน่ารัก และความมีระเบียบของชาวไต้หวัน ประทับใจคนจำนวนมากทั่วโลก จนถ้าเราไป search ใน youtube ว่า Taiwan Garbage truck ก็จะมีคลิปนับร้อยๆคลิปเลยทีเดียว หลายๆคลิปก็ถ่ายโดยนักท่องเที่ยวที่ไปเฝ้าดูอย่างตื่นเต้นนั่นเอง
dsc04583-2
การอำนวยความสะดวกในการแยกขยะ ควบคู่ไปกับการลงโทษผู้กระทำผิดอย่างเคร่งครัด ทำให้ไต้หวันลดปริมาณขยะต่อคนได้เกือบสามเท่า จาก 1.14 กิโลกรัม ต่อคนต่อวัน ในปี 1998 ลงเหลือ 0.38 กิโลกรัมเท่านั้น ในปี 2015 ส่วนการรีไซเคิลขยะ เพิ่มจาก 5.9% ขึ้นไปสูงถึง 55% จนไทเป และทั้งประเทศไต้หวัน กลายมาเป็นต้นแบบของโลก ในการจัดการขยะเลยทีเดียว
ความสำเร็จนี้ไม่ได้มาจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว มูลนิธิ และองค์กรภาคเอกชนก็ยังมีบทบาทอย่างมากในการขับเคลื่อนวงจรการรีไซเคิลของไต้หวัน มูลนิธีฉือจี้ องค์กรการกุศลพุทธมหายานที่ใหญ่ที่สุดในไต้หวัน ดำเนินงานด้านการรีไซเคิลขยะมาอย่างยาวนาน มีอาสาสมัครมากมายประจำจุดคัดแยกกว่าห้าพันแห่งทั่วประเทศ ในปีที่ผ่านมา มูลนิธิฉือจี้คัดแยกขยะกว่าแสนตัน นับเป็น 3% ของปริมาณการรีไซเคิลทั้งประเทศเลยทีเดียว อาม่าวัย 82 คนหนึ่งที่คัดแยกขยะทุกวันมากว่าแปดปี ให้สัมภาษณ์กับ The Wall Street Journal ว่า เธอทำเพื่อให้โลกน่าอยู่ขึ้น เพราะเธอเองมีลูกห้าคน นอกจากสิ่งที่ทำนี้จะดีกับลูกของเธอเอง ก็ยังดีกับมนุษย์ร่วมโลกคนอื่นด้วย
หลายคนที่ไปเที่ยวไต้หวันคงทราบแล้วว่า การซื้อของตามร้านสะดวกซื้อ หรือร้านขายยาส่วนใหญ่จะต้องจ่ายเงินซื้อถุงพลาสติก นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ดูจะไม่คิดมากกับการจ่ายเงินเพิ่มอีกนิดหน่อย แต่เท่าที่สังเกตคนไต้หวันมักจะนำถุงผ้ามาด้วย เราก็เป็นหนึ่งคนที่พกถุงผ้าติดตัวตลอดค่ะ ได้ฟังอาม่าพูดแล้ว ยิ่งรู้สึกว่า การพกถุงผ้า ภาชนะไปเอง ไม่ใช่ภาระหนักอะไรเลย แล้วยังช่วยประหยัดค่าถุง ลดปริมาณการใช้ทรัพยากรลงได้อีกต่างหาก
สำหรับบ้านเรา คงคุ้นเคยกับการนำขยะไปทิ้งไว้ตามที่ทิ้งขยะสาธารณะ หรือถังขยะรวม แล้วเจ้าหน้าที่ และรถขนขยะก็จะมาเก็บของเสียทั้งหมดไปจัดการ ขยะจากมือเราก็จะหายไป โดยที่เราแทบไม่เคยได้ติดต่อ หรือยุ่งเกี่ยวกับการจัดการขยะเลย โดยส่วนใหญ่ก็จะเสียค่าจัดการขยะในอัตราคงที่เพียงเล็กน้อย หรือในหลายๆกรณี ค่าจัดการขยะ ก็ถูกหักออกจากงบประมาณบริหารท้องถิ่นนั้นๆ แทนที่จะเก็บกับแต่ละครัวเรือน และเราก็แทบจะไม่รู้จักกับคำว่า “แยกขยะ” เอาเสียเลย ด้วยความรู้สึกว่า ปัญหาขยะนั้น “ไกลตัว” ขนาดนี้ การจะก้าวไปในจุดที่ไต้หวันอยู่ในตอนนี้ คงเป็นระยะเวลาอีกนานทีเดียว
ไปเที่ยวครั้งหน้า ลองเงี่ยหูฟังเสียงเพลงของรถขยะ และสังเกตุดูการจัดการขยะของไต้หวันกันเล่นๆดูนะคะ จะรู้ว่าเมืองสะอาดนั้นไม่ได้มาเพราะโชคช่วย แต่เป็นความรับผิดชอบของทุกคนในเมือง ร่วมกับวิสัยทัศน์ของผู้บริหารนั่นเอง
https://earnonabudget.wordpress.com/2016/10/09/ไต้หวัน-จากเกาะขยะ-สู่-อ/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น