"ดูเด็กคนนั้นสิ"
มีอยู่บ่อยครั้ง เราไปชื่นชมความอัจฉริยะของเด็กคนอื่นๆ แต่ลืมที่จะชื่นชมความก้าวหน้าของลูกตนเอง...
เร็วๆ นี้ มีบทความตอนหนึ่งเป็นที่นิยมในโลกออนไลน์ ชื่อว่า "ดูเด็กคนนั้นสิ" หลังบทความนี้ออกมา มีคนลงคอมเม้นถึง 2 หมื่นกว่าคอมเม้น ส่วนมากเป็นการระบายความขื่นขมที่เกี่ยวกับอารมณ์แค้นเคือง ตอนสมัยเด็กที่มักถูกพ่อแม่นำไปเปรียบเทียบกับ "เด็กคนอื่นๆ" ไอ้เด็กคนอื่นนี้ทำไมทั้งเรียบร้อยและเชื่อฟังพ่อแม่ เรียนก็เก่ง แถมยังไม่ดื้อ มีมารยาทต่อผู้ใหญ่อีก ทุกครั้งที่เราทำอะไรที่ไม่ได้ดั่งใจพ่อแม่ แล้วพ่อแม่ก็จะเริ่มสอนเราด้วยการขึ้นต้นว่า "ดูเด็กคนนั้นสิ"
บทความนี้ ได้รับผลสะท้อนอย่างกว้างขวาง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า มีเด็กวัยรุ่นที่โตมาภายใต้เงาของ "เด็กคนอื่น" เป็นจำนวนมหาศาล และแม้ว่าเวลาจะผ่านไปหลายปีแล้ว ความเจ็บปวดที่ฝังอยู่ภายในจิตใจของเด็กเหล่านี้ ก็ยังไม่ได้รับการเยียวยาสักที
**ทำความเข้าใจว่า ทำไมพ่อแม่ชอบนำลูกของตนไปเปรียบเทียบกับลูกคนอื่น
เด็กทุกคนมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่พ่อแม่บางคนชอบไปจ้องที่ข้อเสียของเด็กและ "ขยายมันให้ใหญ่ขึ้น" เจตนาของพ่อแม่เหล่านี้คือ อยากให้เด็กมองเห็นถึงข้อเสียของตนแล้วปรับปรุงแก้ไขตนเองให้ดีขึ้น โดยนำเด็กไปเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่นๆ และคิดว่าเด็กคงจะรู้สึกว่าตนเองนั้นบกพร่องจริงๆ และจะแก้ไขตัวใหม่ตามแบบอย่างที่เรายกมา
สาเหตุดังกล่าว คือ เจตนาในแง่ดี แต่ก็ยังมีเจตนาในแง่ลบ ซึ่งเราต้องพูดด้วย คือความอยากมีหน้ามีตา คนเราใช้ชีวิตในสังคมเวลาเจอเพื่อน ก็ต้องพูดถึงเรื่องบ้าน รถ รายได้ ฯลฯ ส่วนเรื่องลูกยิ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีหน้ามีตาในหมู่เพื่อนๆ หากเด็กเราสอบได้อันดับที่ 1 ในชั้นเรียน เราจะรู้สึกดีมีราศี ยิ่งกว่าได้เงินได้ทองเสียอีก ตรงกันข้าม หากลูกของเราสอบได้ที่สุดท้าย เราก็จะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ช่างน่าอับอายขายขี้หน้าอะไรเช่นนี้ หารู้ไม่ว่าท่าทีของเราเช่นนี้ ได้เพิ่มแรงกดดันแก่เด็กอย่างหนักหน่วง
หากเราพิจารณาทางจิตวิทยาแล้ว การที่พ่อแม่ชอบนำเด็กมาอวดอ้างกัน หรือรู้สึกละอายใจที่จะพูดถึง ต้นเหตุล้วนเกิดจากความไม่พอใจของตนเอง อาจจะมีความไม่พอใจต่อสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ การงาน ครอบครัว ความหลังในอดีต หรือประการอื่นๆ และหวังที่จะสร้างความมีคุณค่าลงบนตัวของลูกตนเอง เพราะอย่างน้อย ถ้าลูกมันเก่งจริง ก็นับว่าเป็นผลที่เกิดจากการเลี้ยงดูและการสั่งสอนของตน ก็ถือว่าเป็นผลงานอันทรงคุณค่าในชีวิตของตนเช่นกัน
ดังนั้น พ่อแม่เหล่านี้ จึงมักนำเอาลูกของตนเองไปเปรียบเทียบกับลูกของคนอื่นๆ เพื่อตรวจสอบผลงานของตนเอง และเพื่อสนองความพึงพอใจของตน พอเจอกับผลลัพธ์ที่ไม่เป็นอย่างที่คาดหวัง ก็รู้สึกโมโห โกรธเคืองและต่อว่าเด็กชุดใหญ่
**ทำความเข้าใจกับผลเสีย ที่นำลูกของเราไปเปรียบเทียบกับลูกของคนอื่น
น่าเสียดาย เราไม่ค่อยนำจุดแข็งของลูกเราไปเทียบกับจุดอ่อนของเด็กคนอื่น แต่มักจะนำเอาจุดอ่อนของลูกเราไปเทียบกับจุดแข็งของลูกคนอื่น บางทีเราก็ยังตั้งใจพูดจาต่อว่าลูกของเรา และในขณะเดียวกันก็ไปกล่าวชมเด็กคนอื่น ยิ่งเราทำแบบนี้ เด็กก็ยิ่งมีความทุกข์และผิดหวัง เรายิ่งพูดว่าเด็กไม่ดี เด็กก็จะยิ่งไม่ดีไปเลยตามคำของเรา ดังนั้น การเปรียบเทียบแบบนี้ นับว่าไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรเลย
การยกย่องเด็กคนอื่นนั้น เหมือนเป็นการเหยียบย่ำลูกของตน ยังมีผลเสียอีกอย่างหนึ่งคือ นอกจากจะทำลายความเชื่อมั่น ความกระตือรือร้นของเด็กแล้ว ยังทำให้เด็กรู้สึกว่า พ่อแม่รักคนอื่นเห็นคนอื่นดีกว่าตน เลยไม่รักเราแต่ไปรักเด็กคนนั้นซะแล้ว ความคิดแบบนี้จะทำให้เด็กตกอยู่ในความหวาดระแวงของการถูกพ่อแม่ทอดทิ้ง แม้โตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ยังมีปมด้อย คิดว่าตนเองนั้นไม่มีคุณค่า ขนาดพ่อแม่ตัวเองก็ยังไม่รักไม่ให้ความสำคัญเลย
การเปรียบเทียบด้วยจิตใจที่ชิงดีชิงเด่นกันเช่นนี้ ทำให้ผู้ใหญ่เองก็ต้องทนทุกข์ไปด้วยความอิจฉาริษยา ทำให้เด็กต้องสูญเสียความมั่นใจในตนเองและความไว้ใจต่อพ่อแม่ สรุปคือ มันไม่สมควรที่จะนำมาใช้กับเด็กอย่างแท้จริง
**ยอมรับความแตกต่างของบุคคล พัฒนาด้วยการเปรียบเทียบกับตัวเอง
ในโลกนี้ "ไม่มีใบไม้สองใบที่เหมือนกันทุกประการ" บุคลิกภาพและลักษณะนิสัยที่เด็กแต่ละคนมีก็ยิ่งแตกต่างกัน เราต้องยอมรับความแตกต่างในข้อนี้ ไม่นำเด็กคนอื่นมาเป็นมาตรฐานวัดคุณค่าของลูกตนเอง
ถ้าจะเปรียบเทียบจริงๆ เราควรให้เด็กเปรียบเทียบตัวเอง ซึ่งหมายความว่า เราจะถามเด็กว่า "ตัวลูกในวันนี้ กับตัวลูกในเมื่อวานได้เก่งขึ้นไหม" "ปีนี้กับปีที่แล้วมีความก้าวหน้าอะไรบ้าง" หรือ พรุ่งนี้ ปีหน้า ในอีก 5 ปี ข้างหน้าลูกคิดว่าจะก้าวหน้าในเรื่องอะไร เป็นต้น การนำตัวเองในปัจจุบันเปรียบเทียบกับตัวเองในอดีต หรือนำอนาคตเปรียบเทียบกับปัจจุบัน จะทำให้เด็กมีวิสัยทัศน์อันกว้างไกล เต็มไปด้วยความคาดหวังและมีแรงบันดาลใจในการที่จะสร้างสรรค์พัฒนาตนเอง นี่จึงจะเป็นการเปรียบเทียบที่ดี
ข้อเตือนใจพิเศษ
1. การชี้ปัญหาใช่ว่าจะแก้ปัญหาได้ บางทีกลับสร้างปัญหาให้ยุ่งยากสาหัสเข้าไปอีก
2. เห็นจุดอ่อนของเด็กอย่าเพิ่งพูด เห็นความดีของเด็กต้องรีบชม
3. ทำใจให้เที่ยงตรง ไม่นำเด็กของเราไปสร้างภาพเพื่อตนเอง
Cr : หนังสือ เลี้ยงลูกให้ถูกตอน 3 ปี ลูกจะทำดีไปตลอดชีวิต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น