วันเสาร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

กลุ่มนายสิบรวมหัวทำรัฐประหาร ชิงอำนาจถวายคืนพระปกเกล้าฯ!สังเวยชีวิตเพื่อราชบัลลังก์!! โดย โรม บุนนาค การปฏิวัติรัฐประหารในประเทศไทยนั้น ผู้ที่เป็นแกนนำในการเข้ายึดอำนาจจะต้องเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ แม้บางคนจะเป็นนายทหารนอกประจำการก็ยังต้องมีอิทธิพลอยู่ในกองทัพ สามารถสั่งนายทหารยศสูงที่คุมกำลังได้ หัวหน้าคณะปฏิวัติรัฐประหารที่ผ่านมาจึงมีแต่ยศนายพล จอมพล กันทั้งนั้น ที่ต่ำสุดก็ต้องระดับพันเอก แต่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ นายทหารชั้นประทวนได้คบคิดกันยึดอำนาจ หวังคืนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงน้อยพระทัยคณะราษฎรจนสละราชสมบัติ แต่เผอิญความแตกเสียก่อน ผู้คบคิดทั้งหมดจึงถูกจับด้วยข้อหากบฏ ซึ่งได้รับการจารึกในประวัติศาสตร์ว่า “กบฏนายสิบ” เหตุการณ์ครั้งนี้ได้เกิดขึ้นหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ มีไพร่ฟ้าอาณาประชาราษฎร์หลายกลุ่มที่จงรักภักดีต่อระบบกษัตริย์ โกรธแค้นคณะราษฎรที่ยึดอำนาจและสร้างความบีบคั้นสะเทือนพระราชหฤทัยจนต้องสละราชสมบัติ อันเป็นเรื่องที่กระทบกระเทือนจิตใจของผู้จงรักภักดีอย่างร้ายแรง แม้หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. ๒๔๗๕ จะเกิด “กบฏบวรเดช” ที่เป็นปฏิปักษ์กับคณะราษฎร จนต้องปราบกันแบบเลือดนองแผ่นดินมาแล้ว แต่ความคิดที่จะช่วงชิงอำนาจกลับคืนก็มิได้จางหายไปจากความคิดของคนกลุ่มนี้ ในที่สุดก็มีนายทหารประทวนกลุ่มหนึ่งได้คบคิดกันจะยึดอำนาจด้วยวิธีการรุนแรง สังหารโหดบุคคลสำคัญในฝ่ายรัฐบาลหลายคน เช่น นายพันเอกหลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นบุคคลที่คุมกำลังทหารและเป็นแม่ทัพที่ปราบกบฏบวรเดชจนย่อยยับ นอกจากนั้นก็มี พ.ต.อ.หลวงอดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ เพื่อนรักของหลวงพิบูลฯ ที่ส่งไปคุมกรมตำรวจเพื่อปราบปรามฝ่ายตรงข้าม พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ผู้เกรงกลัวคณะราษฎร พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกหาว่าเป็นเจ้าที่ไปเข้ากับคณะราษฎร สำหรับ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ผู้ตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้ ทุกฝ่ายให้ความเคารพนั้น กลุ่มนายทหารประทวนไม่ได้คิดจะสังหาร แต่จะจับไว้เป็นตัวประกัน แต่ถ้าหากมีการขัดขืนก็จะจัดการอย่างเด็ดขาดรุนแรงแบบไม่ไว้หน้าใครทั้งสิ้น และจะยึดเอาตึกกระทรวงกลาโหมเป็นกองบัญชาการ จากนั้นจะถวายราชบัลลังก์คืนแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ราชันย์ผู้นิราศ ผู้ที่ริเริ่มคิดเรื่องนี้ ก็คือ สิบเอกถม เกตุอำไพ แห่งกองพันทหารราบที่ ๒ ซึ่งตั้งอยู่ที่วังจันทร์เกษม ซึ่งเป็นกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน และได้ขยายความคิดไปยังเพื่อนร่วมกองพันอีก ๗ คน ต่อมาได้ขยายวงต่อไปยังหน่วยอื่นๆด้วย ส่วนใหญ่ของนายสิบเหล่านี้ แม้ไม่ได้มีหน้าที่คุมกำลัง แต่ก็เป็นผู้คุมคลังแสงของกองพัน จึงวางแผนจะนำรถถังออกไปข่มขวัญ จากนั้นจะใช้พลทหารที่คุ้นเคยใกล้ชิดกัน กระจายกันออกไปควบคุมตัวเป้าหมาย แต่การจะใช้ความรุนแรงถึงขั้นสังหารบุคคลสำคัญในระดับสูงนั้น ทำให้บางคนเกิดความกลัว จึงนำความไปเปิดเผยต่อผู้บังคับบัญชา ซึ่งได้รายงานไปยัง พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม ต่อมาเป็นที่เปิดเผยต่อมาว่า นายสิบกลุ่มนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากข่าวเรื่องการรัฐประหารของนายสิบในคิวบา เมื่อเดือนกันยายน ๒๔๗๖ ซึ่งยึดอำนาจได้สำเร็จ เลื่อนยศตัวเองขึ้นเป็นนายพลกันเป็นแถว และมีอำนาจปกครองประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจึงสั่งการให้ผู้บังคับบัญชาของแต่ละคน คอยติดตามการเคลื่อนไหวของทหารประทวนกลุ่มนี้อย่างใกล้ชิด จนรู้พฤติการณ์แน่ชัดแล้ว จึงมีคำสั่งให้ผู้บังคับบัญชาของแต่ละกรมกองเข้าจู่โจมจับทหารในสังกัดของตนที่คิดกบฏ โดยเริ่มตั้งแต่เวลา ๑๒.๓๐ น. ของวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๔๗๘ จนถึงวันที่ ๗ สิงหาคม ซึ่งการจู่โจมเข้าจับนี้ผู้ถูกจับทุกคนไม่ทันรู้ตัว จึงไม่มีการต่อสู้ ทุกคนยอมจำนนแต่โดยดี มีผู้ถูกจับเป็นนายทหารประทวน ๒๐ นายและพลเรือน ๑ คน คือ ๑.จ่านายสิบแฉ่ง ฉลาดรบ ๒.จ่านายสิบริ้ว รัตนกุล ๓.สิบโทเหมือน พงศ์เผือด ๔.พลทหารจินดา พันธ์เอี่ยม ๕.พลทหารฮกเซ่ง ๖.สิบเอกเกิด สีเขียว ๗.สิบโทชิ้น ชะเอมพันธ์ ๘.สิบโทปลอด พุ่มวัน ๙.สิบโทเลี่ยม คะหินทพงษ์ ๑๐. สิบโทแผ้ว แสงส่งสูง ๑๑. สิบเอกถม เกตุอำไพ ๑๒. สิบเอกเท้ง แซ่ซิ้ม ๑๓. สิบเอกตะเข็บ สายสุวรรณ ๑๔. สิบโทหม่อมหลวงทวีวงศ์ วัชรีวงศ์ ๑๕. สิบเอกกวย สินธุวงศ์ ๑๖. จ่านายสิบสาคร ภูมิทัต ๑๗. สิบเอกสวัสดิ์ มะหะหมัด ๑๘. จ่านายสิบสวัสดิ์ ภักดี ๑๙. สิบเอกสวัสดิ์ ดิษยบุตร ๒๐. สิบโทศาสน์ คชกุล ๒๑. นายพุ่ม ณ พัทลุง พลเรือนเพียงคนเดียว ซึ่งเป็นอดีตนายสถานีรถไฟกุดจิก อำเภอสูงเนิน โคราช ที่ถูกปลดครั้งกบฏบวรเดช การพิจารณาคดีนี้ได้มีการจัดตั้งศาลพิเศษ โดยมีคณะกรรมการ ๗ คน เป็นนายทหาร ๖ พลเรือนเพียง ๑ ไม่มีการอุทธรณ์ ฎีกา ซึ่งได้อ่านคำพิพากษาในวันที่ ๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๘ ให้จำคุกตลอดชีวิตจำเลย ๘ คน คือ สิบโทหม่อมหลวงทวีวงศ์ วัชรีวงค์ สิบเอกเข้ม เฉลยพิศ สิบเอกถม เกตุอำไพ สิบเอกเท้ง แซ่ซิ้ม จ่านายสิบสาคร ภูมิทัต สิบเอกกวย สินธุวงศ์ สิบโทศาสน์ คชกุล สิบโทแผ้ว แสงส่งสูง อีก ๓ คนจำคุก ๒๐ ปี สิบเอกแช่ม บัวปลื้ม สิบเอกตะเข็บ สายสุวรรณ สิบโทเลี่ยม คะหินทพงษ์ และจำคุกนายพุ่ม ณ พัทลุง ๑๖ ปี ส่วนสิบเอกสวัสดิ์ มะหะหมัด คนเดียวที่ไม่ยอมรับสารภาพ ถูกตัดสินประหารชีวิต นอกนั้น ยกฟ้องพ้นข้อหา ในตอนเช้าตรู่ของวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๙ สิบเอกสวัสดิ์ มะหะหมัด ก็ถูกควบคุมตัวไปที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า สมุทรปราการ ถูกนำเข้ามัดกับหลักประหาร แล้ววิญญาณนักปฏิวัติของสิบเอกผู้คิดจะกอบกู้ราชบัลลังก์ก็ออกจากร่าง ณ ที่นั้น รถถังรุ่นที่ใช้ในกองทัพไทยยุคนั้น

กลุ่มนายสิบรวมหัวทำรัฐประหาร ชิงอำนาจถวายคืนพระปกเกล้าฯ!สังเวยชีวิตเพื่อราชบัลลังก์!!
โดย โรม บุนนาค    

        การปฏิวัติรัฐประหารในประเทศไทยนั้น ผู้ที่เป็นแกนนำในการเข้ายึดอำนาจจะต้องเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ แม้บางคนจะเป็นนายทหารนอกประจำการก็ยังต้องมีอิทธิพลอยู่ในกองทัพ สามารถสั่งนายทหารยศสูงที่คุมกำลังได้ หัวหน้าคณะปฏิวัติรัฐประหารที่ผ่านมาจึงมีแต่ยศนายพล จอมพล กันทั้งนั้น ที่ต่ำสุดก็ต้องระดับพันเอก
      
        แต่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ นายทหารชั้นประทวนได้คบคิดกันยึดอำนาจ หวังคืนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงน้อยพระทัยคณะราษฎรจนสละราชสมบัติ แต่เผอิญความแตกเสียก่อน ผู้คบคิดทั้งหมดจึงถูกจับด้วยข้อหากบฏ ซึ่งได้รับการจารึกในประวัติศาสตร์ว่า “กบฏนายสิบ”
      
        เหตุการณ์ครั้งนี้ได้เกิดขึ้นหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ มีไพร่ฟ้าอาณาประชาราษฎร์หลายกลุ่มที่จงรักภักดีต่อระบบกษัตริย์ โกรธแค้นคณะราษฎรที่ยึดอำนาจและสร้างความบีบคั้นสะเทือนพระราชหฤทัยจนต้องสละราชสมบัติ อันเป็นเรื่องที่กระทบกระเทือนจิตใจของผู้จงรักภักดีอย่างร้ายแรง
      
        แม้หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. ๒๔๗๕ จะเกิด “กบฏบวรเดช” ที่เป็นปฏิปักษ์กับคณะราษฎร จนต้องปราบกันแบบเลือดนองแผ่นดินมาแล้ว แต่ความคิดที่จะช่วงชิงอำนาจกลับคืนก็มิได้จางหายไปจากความคิดของคนกลุ่มนี้
      
        ในที่สุดก็มีนายทหารประทวนกลุ่มหนึ่งได้คบคิดกันจะยึดอำนาจด้วยวิธีการรุนแรง สังหารโหดบุคคลสำคัญในฝ่ายรัฐบาลหลายคน เช่น นายพันเอกหลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นบุคคลที่คุมกำลังทหารและเป็นแม่ทัพที่ปราบกบฏบวรเดชจนย่อยยับ นอกจากนั้นก็มี พ.ต.อ.หลวงอดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ เพื่อนรักของหลวงพิบูลฯ ที่ส่งไปคุมกรมตำรวจเพื่อปราบปรามฝ่ายตรงข้าม พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ผู้เกรงกลัวคณะราษฎร พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกหาว่าเป็นเจ้าที่ไปเข้ากับคณะราษฎร สำหรับ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ผู้ตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้ ทุกฝ่ายให้ความเคารพนั้น กลุ่มนายทหารประทวนไม่ได้คิดจะสังหาร แต่จะจับไว้เป็นตัวประกัน แต่ถ้าหากมีการขัดขืนก็จะจัดการอย่างเด็ดขาดรุนแรงแบบไม่ไว้หน้าใครทั้งสิ้น และจะยึดเอาตึกกระทรวงกลาโหมเป็นกองบัญชาการ จากนั้นจะถวายราชบัลลังก์คืนแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ราชันย์ผู้นิราศ
      
        ผู้ที่ริเริ่มคิดเรื่องนี้ ก็คือ สิบเอกถม เกตุอำไพ แห่งกองพันทหารราบที่ ๒ ซึ่งตั้งอยู่ที่วังจันทร์เกษม ซึ่งเป็นกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน และได้ขยายความคิดไปยังเพื่อนร่วมกองพันอีก ๗ คน ต่อมาได้ขยายวงต่อไปยังหน่วยอื่นๆด้วย
      
        ส่วนใหญ่ของนายสิบเหล่านี้ แม้ไม่ได้มีหน้าที่คุมกำลัง แต่ก็เป็นผู้คุมคลังแสงของกองพัน จึงวางแผนจะนำรถถังออกไปข่มขวัญ จากนั้นจะใช้พลทหารที่คุ้นเคยใกล้ชิดกัน กระจายกันออกไปควบคุมตัวเป้าหมาย แต่การจะใช้ความรุนแรงถึงขั้นสังหารบุคคลสำคัญในระดับสูงนั้น ทำให้บางคนเกิดความกลัว จึงนำความไปเปิดเผยต่อผู้บังคับบัญชา ซึ่งได้รายงานไปยัง พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม
      
        ต่อมาเป็นที่เปิดเผยต่อมาว่า นายสิบกลุ่มนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากข่าวเรื่องการรัฐประหารของนายสิบในคิวบา เมื่อเดือนกันยายน ๒๔๗๖ ซึ่งยึดอำนาจได้สำเร็จ เลื่อนยศตัวเองขึ้นเป็นนายพลกันเป็นแถว และมีอำนาจปกครองประเทศ
      
        รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจึงสั่งการให้ผู้บังคับบัญชาของแต่ละคน คอยติดตามการเคลื่อนไหวของทหารประทวนกลุ่มนี้อย่างใกล้ชิด จนรู้พฤติการณ์แน่ชัดแล้ว จึงมีคำสั่งให้ผู้บังคับบัญชาของแต่ละกรมกองเข้าจู่โจมจับทหารในสังกัดของตนที่คิดกบฏ โดยเริ่มตั้งแต่เวลา ๑๒.๓๐ น. ของวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๔๗๘ จนถึงวันที่ ๗ สิงหาคม ซึ่งการจู่โจมเข้าจับนี้ผู้ถูกจับทุกคนไม่ทันรู้ตัว จึงไม่มีการต่อสู้ ทุกคนยอมจำนนแต่โดยดี มีผู้ถูกจับเป็นนายทหารประทวน ๒๐ นายและพลเรือน ๑ คน คือ
      
       ๑.จ่านายสิบแฉ่ง ฉลาดรบ
       ๒.จ่านายสิบริ้ว รัตนกุล
       ๓.สิบโทเหมือน พงศ์เผือด
       ๔.พลทหารจินดา พันธ์เอี่ยม
       ๕.พลทหารฮกเซ่ง
       ๖.สิบเอกเกิด สีเขียว
       ๗.สิบโทชิ้น ชะเอมพันธ์
       ๘.สิบโทปลอด พุ่มวัน
       ๙.สิบโทเลี่ยม คะหินทพงษ์
       ๑๐. สิบโทแผ้ว แสงส่งสูง
       ๑๑. สิบเอกถม เกตุอำไพ
       ๑๒. สิบเอกเท้ง แซ่ซิ้ม
       ๑๓. สิบเอกตะเข็บ สายสุวรรณ
       ๑๔. สิบโทหม่อมหลวงทวีวงศ์ วัชรีวงศ์
       ๑๕. สิบเอกกวย สินธุวงศ์
       ๑๖. จ่านายสิบสาคร ภูมิทัต
       ๑๗. สิบเอกสวัสดิ์ มะหะหมัด
       ๑๘. จ่านายสิบสวัสดิ์ ภักดี
       ๑๙. สิบเอกสวัสดิ์ ดิษยบุตร
       ๒๐. สิบโทศาสน์ คชกุล
       ๒๑. นายพุ่ม ณ พัทลุง พลเรือนเพียงคนเดียว ซึ่งเป็นอดีตนายสถานีรถไฟกุดจิก อำเภอสูงเนิน โคราช ที่ถูกปลดครั้งกบฏบวรเดช
      
        การพิจารณาคดีนี้ได้มีการจัดตั้งศาลพิเศษ โดยมีคณะกรรมการ ๗ คน เป็นนายทหาร ๖ พลเรือนเพียง ๑ ไม่มีการอุทธรณ์ ฎีกา ซึ่งได้อ่านคำพิพากษาในวันที่ ๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๘ ให้จำคุกตลอดชีวิตจำเลย ๘ คน คือ
      
       สิบโทหม่อมหลวงทวีวงศ์ วัชรีวงค์
       สิบเอกเข้ม เฉลยพิศ
       สิบเอกถม เกตุอำไพ
       สิบเอกเท้ง แซ่ซิ้ม
       จ่านายสิบสาคร ภูมิทัต
       สิบเอกกวย สินธุวงศ์
       สิบโทศาสน์ คชกุล
       สิบโทแผ้ว แสงส่งสูง
       อีก ๓ คนจำคุก ๒๐ ปี
       สิบเอกแช่ม บัวปลื้ม
       สิบเอกตะเข็บ สายสุวรรณ
       สิบโทเลี่ยม คะหินทพงษ์
       และจำคุกนายพุ่ม ณ พัทลุง ๑๖ ปี
      
        ส่วนสิบเอกสวัสดิ์ มะหะหมัด คนเดียวที่ไม่ยอมรับสารภาพ ถูกตัดสินประหารชีวิต
      
        นอกนั้น ยกฟ้องพ้นข้อหา
      
        ในตอนเช้าตรู่ของวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๙ สิบเอกสวัสดิ์ มะหะหมัด ก็ถูกควบคุมตัวไปที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า สมุทรปราการ ถูกนำเข้ามัดกับหลักประหาร แล้ววิญญาณนักปฏิวัติของสิบเอกผู้คิดจะกอบกู้ราชบัลลังก์ก็ออกจากร่าง ณ ที่นั้น

รถถังรุ่นที่ใช้ในกองทัพไทยยุคนั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น