"ความเบื่อหน่ายคือเวลาและพื้นที่ว่างระหว่างไอเดียต่างๆ
และบางทีก็เป็น #จุดกำเนิดอัจฉริยะ"
~Jenet Lansbury
มีบ้านไหนเป็นบ้างคะ พอเด็กบ่นว่า เบื่อ เราต้องรีบกุลีกุจอหาอะไรให้ลูกทำ
ถ้าเป็นสมัยก่อน ARWM ยกมือสูงๆ กล้าสารภาพเลยค่ะ ว่าต้องจัดหากิจกรรมโน่นนี่ให้ลูกตลอด 😓😓
กลัวลูกเบื่อ เพราะว่ายังอ่อนประสบการณ์ในการเลี้ยงเด็ก คิดว่าเป็นหน้าที่แม่ที่ดี ต้องจัดเต็มกับทุกเรื่อง
ตอนนี้ต้องมานั่งรับผลกรรมค่ะ หลายๆ ครั้งลูกที่เราเคยจัดเต็มมาให้เขาตลอดในวัยเด็ก พอเข้าสู่การศึกษาวอลดอร์ฟ เริ่มเข้าใจสิ่งต่างๆ จึงรู้ว่า เราทำร้ายลูกโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ไปเยอะเลย
เขามักจะเดินมาหาแม่ และบอกว่า แม่! ทำอะไรดี ไม่มีอะไรทำ
ในขณะที่คนเล็ก แม่เริ่มไหวตัวทันแล้ว ปล่อยเขาได้เลยค่ะ เขาจะคอยคิดสร้างสรรค์วิธีการเล่นสารพัด เรียกว่าช่วงปิดเทอมนี่ยิ่งเห็นได้ชัด คือพี่ต้องตามน้องเล่น เพราะน้องเล่นได้น่าสนุกมาก ขนาดผู้ใหญ่อย่างเรายังอดใจไม่ไหว
สารพัดคำกลอนท่องให้ตลก
แค่ขับรถผ่านที่กั้นชะลอความเร็ว ยังเป็นเหตุให้ลูกสร้างวิธีสนุกกับมันได้
แกล้งนับเลขให้ช้าเร็วไม่เท่ากัน เพื่อให้ทุกคนคอยลุ้น ทุกครั้งที่ขับผ่านเส้นแบ่งถนนบนทางด่วน
ผ้าผืนเดียว ทำเป็นเปลไกวตุ๊กตา เล่นแต่งตัว ปิดตาเล่นซ่อนแอบ จับกระโดดแทนเชือก เลียนแบบท่ารำมวยจีน วางของบนผ้าแล้วลากไปตามพื้น สารพัดจะสรรหา
ธรรมชาติเด็กนั้น เบื่อได้ไม่นานค่ะ ถ้าผู้ใหญ่ไม่เข้าไปแทรกแซงกระบวนการสร้างสรรค์ของเด็ก เขาจะคิดได้เองเป็นปกติ เห็นเขานั่งเฉยๆ ทำหน้าเปื่อยๆ ก็ปล่อยๆ เพียงเราคอยและหมั่นสังเกตกันเท่านั้นพอค่ะ อย่าไปจู้จี้คอยถามคอยตามเบื่อหรือลูก? กินอะไรไหม? เอาอะไรดี? ไปคอยปลุก คอยเปิดประตูบานแห่งการหมกมุ่นอยู่แต่กับความอยากของตัวเอง
โตขึ้นมาแก้ย๊ากยาก!!
ถ้าเราเข้าไปจัดการทุกครั้งที่ลูกบ่นว่าเบื่อ เด็กๆ จะเข้าใจว่าความเบื่อเป็นอาการผิดปกติที่ต้องรีบแก้ไข และหยุดต่อมสร้างสรรค์ในตัวเองไปเสีย ด้วยคิดว่าเรื่องการเล่น ต้องแก้ด้วยวัตถุ เป็นเรื่องภายนอกตัว
ซึ่งความจริงนั้น คนที่ตลก สนุก ใครๆ อยากอยู่ใกล้นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงินในกระเป๋า หรือข้าวของที่เขามีซักหน่อย ใช่ไหมคะ?
คนที่มีความคิดสร้างสรรค์ หยิบอะไรขึ้นมาก็น่าสนใจ เปรียบให้เห็นภาพได้ อย่างนักเดี่ยวไมโครโฟนชื่อดัง ที่ได้รับการยอมรับจากคนในสังคม เรื่องความคิดสร้างสรรค์ บนเวทีการแสดงของเขานั้น เพียงเก้าอี้หนึ่งตัว และไมค์หนึ่งอัน เขาสร้างสรรค์ความสนุกสนานให้ผู้ชมได้ไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมง ทุกๆ คนในห้องเห็นภาพเดียวกันกับที่เขาเห็นในหัวได้อย่างชัดเจน
เห็นพลังของความคิดสร้างสรรค์แล้ว อย่ามองข้ามประโยชน์ของความเบื่อหน่ายในเด็กนะคะ
#มันมาคู่กันขอเพียงให้เราใจเย็นเย็น
คอยกันเนอะ?
Pic : Research Institute of Waldorf Education
from ARWM posted on May 23, 2014
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น