"เรื่องการทำความดี" จากบันทึกในคัมภีร์หลุนอวี่
ในแคว้นหลู่สมัยชุนชิวนั้น มีกฎหมายอยู่ข้อหนึ่ง กำหนดว่า "หากราษฎรในแคว้นหลู่ ถูกจับไปเป็นเชลยในแคว้นอื่น หากมีคนไถ่ออกมาได้ แล้วส่งคืนให้แคว้นหลู่ไป จะได้รับเงินจำนวนหนึ่งเป็นการตอบแทน"
เพราะสมัยชุนชิวนั้น ต่างคนต่างก็ตั้งตัวเป็นอ๋อง เป็นเจ้าแคว้น รบราฆ่าฟันเพื่อชิงเขตแดนกัน จับเชลยศึกได้ก็นำไปเป็นข้าทาสทั้งหญิงชาย เวลานั้นแคว้นหลู่ซึ่งเป็น แคว้นเล็กๆ ไม่ค่อยจะมีกำลังไปสู้รบกับใครนัก จึงมักถูกแคว้นอื่นบุกเข้ามาจับราษฎรไปเป็นทาสอยู่เสมอ ทางการของแคว้นหลูจึงประกาศออกไปว่าใครใจบุญอยากทำความดี ก็นำเงินไปไถ่มาผู้ที่ถูกจับเป็นเชลย มาคืนเจ้าผู้ครองแคว้นหลู่ ทางการจะมอบเงินรางวัลตอบแทนให้ทันที
ต่อมาท่านจื่อก้ง หนึ่งในศิษย์เอกของท่านขงจื่อ ได้ไปไถ่เชลยศึกคืนมาให้แคว้นหลู่ โดยไม่ยอม รับเงินรางวัล เพราะท่านจื่อก้งมีฐานะดีอยู่แล้ว ทำไปโดยมิหวังผลตอบแทนใดๆ แต่เมื่อท่านขงจื่อทราบเรื่องเข้า ก็โกรธลูกศิษย์ของท่านมาก ท่านบอกว่าการทำความดีเช่นนี้ เป็นแค่การทำความดีเพียงครึ่งเดียว การช่วยคืนอิสรภาพไถ่ถอนทาส เป็นเรื่องที่ดี แต่แคว้นหลู่นั้นคนจนมาก คนรวยมีน้อย ต่อนี้ไป คงจะไม่มีใครกล้าไปไถ่เชลยศึกอีกแล้ว เพราะท่านจื่อก้งไปทำตัวอย่างเอาไว้เช่นนี้ ต่อไปก็จะมีแต่คนที่มีฐานะดี จึงจะกล้าเอาอย่างท่านจื่อก้งได้ ส่วนคนที่โลภเงินรางวัลก็ดี คนที่ไม่ค่อยจะมีเงินนักก็ดี ต่างก็ไม่อยากทำความดีอีกต่อไป กฏหมายที่ประกาศออกไปก็จะหายไปในไม่นาน
ท่านขงจื่อมีปัญญาสูงส่ง ความคิดอ่านลึกซึ้งกว้างไกล จึงเห็นได้ว่านักปราชญ์นั้น ไม่ว่าจะทำอะไร ก็จะเป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้อื่น จึงต้องระมัด ระวังจะทำอะไรผิดไม่ได้ คนก็จะพากันทำตามอย่างผิดๆ ไปด้วย ความดีก็เลยเป็นความดีปลอมไป
ต่อมาวันหนึ่งท่านจื่อลู่ ซึ่งเป็นศิษย์เอกของท่านขงจื่อเช่นกัน ได้ช่วยคนตกน้ำไว้ได้ ชายคนนั้นให้วัวตัวหนึ่งเป็นการตอบแทนที่ได้ช่วยชีวิตไว้ ท่านจื่อลู่ก็รับเอาวัวนั้นมา ท่านขงจื่อเมื่อทราบเรื่องก็ดีใจมาก ท่านกล่าวว่า "ต่อนี้ไปในแคว้นหลู่ของเรานี้ จะมีคนชอบช่วยเหลือผู้อื่นเพิ่มขึ้นอีก เพราะเมื่อทำความดีแล้ว มีคนเห็นความดีและได้รับการตอบ อีกทั้งรู้ถึงแบบอย่างที่ดี ทำให้ใครๆ ก็อยากจะทำความดีเช่นนี้กันมากขึ้น"
แต่ในสายตาชาวโลกแล้วจะต้องมองในทัศนะซึ่งกลับกันกับท่านขงจื่อเป็นแน่ ชาวโลกจะต้องเห็นว่าท่านจื่อก้งดีช่วยคนแล้วไม่หวังสิ่งตอบแทน ส่วน ท่านจื่อลู่นั้นไม่ดี ช่วยแล้วก็ไม่ปฏิเสธการตอบแทน แต่นักปราชญ์ท่านมองไกล การทำความดีที่มีคน นำไปเป็นเยี่ยงอย่างให้เกิดประโยชน์ ต่อส่วนรวมได้ จึงจะเป็นความดีแท้ ส่วนการทำความดีที่กลับทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไป เป็นผลร้ายต่อส่วนรวม ก็มิใช่ความดีที่แท้จริง สมมติว่ามีคนไม่ดีคนหนึ่งเที่ยวเกะกะระรานผู้คน ถ้าไม่มีคนถือสา เห็นว่าการให้อภัยเป็นคุณธรรม ที่ดีนี่เป็นการทำความดีที่ผิด เพราะคนพาลนั้น ก็ยิ่งได้ใจ กล้าทำความผิดหนักยิ่งขึ้น ผู้คนก็จะถูก ทำร้ายหนักขึ้น คนพาลนี้ก็จะต้องถูกกฎหมาย ลงโทษอย่างหนัก แต่ถ้าไม่มีบทลงโทษ เท่ากับปล่อยให้คนพาลเหิมเกริม ทำให้มีผู้คนกล้าทำความผิดมากขึ้น ทำให้กลายเป็นผลเสียต่อสังคมและประเทศชาติ
Cr : หลังฮว๋า สนพ.เป่ยเฉิน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น