วิชาแห่งความสุข
สมัยมัธยมต้น มีวิชาหนึ่งที่โรงเรียนของผมสอนไม่เหมือนโรงเรียนอื่นๆ วิชานั้นใช้ชื่อว่า "วิชาแห่งความสุข" คุณครูที่โรงเรียนเน้นย้ำวิชานี้มาก ท่านเคยพูดว่า วิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาตร์ สังคมศาสตร์บางทีเราอาจไม่ได้ใช้ทั้งหมด แต่วิชาแห่งความสุขนี้ ไม่ว่าเราจะไปประกอบอาชีพอะไรก็ต้องใช้
คนเรากว่าจะโตขึ้นมา ก็ต้องมีความรัก บทที่หนึ่งของวิชานี้จึงสอนเกี่ยวกับความรัก ที่โรงเรียนของผมจึงไม่มีนักเรียนคนไหนเสียคนเพราะความรัก เพราะในหนังสือบอกเราไว้หมดแล้วว่า ความรู้สึกแรกรักเป็นอย่างไร อกหักเป็นอย่างไร และเราจะจัดการกับอาการอกหักได้อย่างไร จริงอยู่ว่า เรื่องพวกนี้เราไม่อาจรู้ได้ถ้าไม่เผชิญ แต่อย่างน้อยมันก็ทำให้เรารู้ว่า ความรักแบบหนุ่มสาวนั้น ไม่ได้มีแต่ด้านของความสวยงามเพียงด้านเดียว เราเรียนวิชาแห่งความสุขกันอยู่หลายเทอมตั้งแต่ชั้น ม. 1 จนถึงชั้น ม. 6 เรียนกันหลายบท หลายเรื่อง
นอกจากบทที่ว่าด้วยเรื่องความรักแล้ว ยังมีอีกบทที่ผมชอบมากเป็นพิเศษ นั่นคือบทที่มีชื่อว่า "คนธรรมดาที่มีความสุข" บทนี้สอนให้ผมรู้ว่า บางครั้งชื่อเสียง เงินทอง ก็ไม่ได้นำมาซึ่งความสุขเสมอไป เราอาจไม่ได้รวยกว่าใคร ไม่ได้มีชื่อเสียงกว่าใคร แต่เราก็มีความสุขในแบบของเราได้ ในบทนี้จะสอนเราหมดว่าอะไรคือความสุขที่แท้จริงของชีวิต มีการเชิญผู้คนที่มีความสุขในชีวิตมากๆ ซึ่งมีทั้งคนรวยและคนไม่รวย มาพูดคุยกับนักเรียนด้วย จำได้ว่า หลังจากเรียนบทนี้เสร็จ ผมและเพื่อนๆ หัวเราะชอบใจกันใหญ่ พวกเรารู้สึกมีความหวัง และดีใจที่โลกนี้ยังมีพื้นที่ให้คนธรรมดาอย่างพวกเรามีความสุขได้เหมือนกัน
อีกบทที่ผมประทับใจเป็นพิเศษ รู้สึกจะเป็นบทท้ายๆ ของวิชา เป็นบทที่มีชื่อว่า "ชีวิตคืออะไร" ชื่อบทนี้เป็นชื่อง่ายๆ แต่ผมคิดว่ามันเป็นบทที่ยากที่สุด คุณครูผู้สอนให้นักเรียนลองหานิยามของชีวิตในแบบของตนเอง มีเพื่อนผมคนหนึ่งให้นิยามว่า "ชีวิตคือลมหายใจ" เพื่อนอีกคนให้นิยามว่า "ชีวิตคือการตั้งคำถาม" เพื่อนอีกคนให้นิยามว่า "ชีวิตคือการแสวงหา" ส่วนผมเองให้นิยามว่า "ชีวิตคือความเปลี่ยนแปลง" ในบทนี้เราต่างถกเถียงกัน มันเป็นการถกเถียงที่สนุกที่สุดในชีวิตของผม ไม่ใช่เพียงแต่ผมและเพื่อนๆ เท่านั้นที่ล้อมวงนั่งคุย แม้แต่คุณครูก็เข้ามามีส่วนร่วมด้วย คุณครูสารภาพว่า ทุกวันนี้ท่านยังไม่แน่ใจเท่าไหร่ว่า ชีวิตคืออะไร คุณครูให้ข้อสังเกตว่า เราอาจรู้ได้ง่ายขึ้นว่าชีวิตคืออะไร ถ้าเราสามารถตอบตัวเองได้ว่า เราจะใช้ชีวิตเพื่อทำอะไร ผมได้ฟังสิ่งที่คุณครูอธิบายก็รู้สึกเห็นด้วยมากๆ มันเหมือนกับบางบทที่พูดถึงเรื่องราวของการแสวงหาคำตอบ ซึ่งครูสอนก็พวกเราว่า...
"การที่เราจะพบคำตอบที่ถูกได้ เราอาจต้องเริ่มด้วยการตั้งคำถามที่ถูกก่อน และบางครั้ง คำว่าถูก หรือผิด อาจเป็นสองคำที่ไม่มีอยู่จริง" แน่นอนว่า เมื่อคุณครูพูดจบ ผมและเพื่อนๆ ก็เถียงกันยกใหญ่เช่นเคย เพราะวิชาแห่งความสุขนี้ไม่มีคำว่าถูกหรือผิด ใครจะคิดอย่างไร พูดอะไร นี่คือความเสรีของผู้เรียน จุดประสงค์ของมันก็เพื่อให้เราได้วิเคราะห์ และขบคิดกันอยู่แล้ว บางบทบางตอน เราอาจกลับมาคิดต่อที่บ้านได้เป็นปีๆ "วิชาจบ แต่คนไม่เคยจบ" นี่คือคำที่ผมและเพื่อนๆ พูดกันจนติดปาก เมื่อออกมารายงานหน้าชั้น
ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ผมรู้สึกภูมิใจมาก
ที่โรงเรียนของผมตัดสินใจฉีกกฏกระทรวงศึกษาธิการ
สร้างหลักสูตรนี้ขึ้นมาเพื่อสอนพวกเรา
"วิชาแห่งความสุข" ผมยังจำชื่อของมันได้แม่น
มันเป็นวิชาที่ใกล้ตัวผมมากที่สุด
ขึ้นชื่อว่ามนุษย์ จะมีสิ่งใดสำคัญไปกว่าความสุขได้อีก
เราเรียนผูกเงื่อนพิรอดในวิชาลูกเสือ
เรียนทำขนมบัวลอยในวิชาคหกรรม
เรียนเรื่องรังไข่และท่ออสุจิในวิชาสุขศึกษา
แล้วเราจะไม่เรียนรู้เรื่องความสุขแห่งชีวิตได้อย่างไร
ผมถามออกไปลอยๆ ถึงใครบางคนขณะที่เขียนบทความนี้อยู่
สายลมวูบหนึ่งปะทะใบหน้าอย่างจัง
พลันรู้สึกตัว ตื่นจากจิตนาการโง่ๆ และวิชาในฝันที่ไม่เคยมีอยู่จริง
พศิน อินทรวงค์