วันอังคารที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2560

อ่านนิทานเด็กๆ ให้ได้เรื่องแบบผู้ใหญ่ ด้วยการคิดเชิงปรัชญา

อ่านนิทานเด็กๆ ให้ได้เรื่องแบบผู้ใหญ่ ด้วยการคิดเชิงปรัชญา

ทักษะการคิดเป็นทักษะสำคัญที่ใครๆ ก็บอกว่าบ้านเราขาด เราอยากให้เด็กและคนไทยเองมีความสามารถในการคิด มีความเปิดกว้าง มีความคิดสร้างสรรค์ เจ้าทักษะการคิดตัวมันเองก็ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘ทักษะ’ ดังนั้นการที่จะคิดได้เก่งขึ้นย่อมต้องอยู่ที่ว่าคนๆ นั้นช่างคิด ช่างตั้งคำถาม ชอบโต้แย้งในเรื่องต่างๆ ไปได้ขนาดไหน การฝึกหรือชวนให้ ‘ชอบคิด’ จึงเป็นกระบวนการสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นให้คิดให้สงสัยกับโลก

การคิดเชิงปรัชญาเลยดูเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะชวนให้เราสนใจสังเกตสังกาและคิดกับโลกใบนี้ได้สนุกสนานขึ้น แต่พูดคำว่าปรัชญาฟังดูเป็นเหมือนยาขม ประเด็นที่พวกนักปรัชญาชอบคิดดูเป็นเรื่องไกลตัว และยากเย็น คำถามแบบที่ว่าความจริงคืออะไร มนุษย์อยู่ไปทำไม ความรู้คืออะไร ดูจะเป็นเรื่องที่ปุถุชนที่ไหนจะมานั่งว่างคิดกัน เลยมีข้อเสนอว่า เราควรจะใช้นิทานนี่แหละในการฝึกกระบวนการคิดและตั้งคำถามแบบปรัชญา โดยเฉพาะเป็นเครื่องมือที่ชวนให้เด็กๆ ช่างคิด ช่างสงสัยและอาจนำไปสู่การเป็นผู้ใหญ่ที่น่ารักได้ด้วย วิธีการก็ง่ายๆ คือใช้เรื่องราวเหนือจริงทั้งหลายในนิทานและชวนน้องๆ หนูๆ ขบคิดไปให้ไกลกว่าแค่เรื่องราวในนิทาน เอาเรื่องแต่งกลับมาชวนสงสัยเรื่องราวยากๆ ในชีวิตจริง

เพราะเป็นเรื่องแต่งจึงมีประโยชน์

การใช้นิทานเป็นเครื่องมือในการสอนและชวนคิดเป็นอุปกรณ์ที่ดีที่จะเริ่มให้ชวนเด็กๆ คิดประเด็นยากๆ เพราะประเด็นแรกคือ เรื่องราวในนิทานไม่ใช่ ‘เรื่องจริง’

นิทานว่าไปแล้วก็ไม่ต่างอะไรกับข่าวอาชญกรรม เรามีเรื่องราวการฆาตกรรม การฆ่าแกงและเอามากิน มีความรัก การเลือก การทรยศ หักหลัง และการลงโทษ แต่สิ่งที่สำคัญมันไม่ใช่เรื่องจริง การที่จะชวนคุยเกี่ยวกับพฤติกรรมต่างๆ ที่ตัวละครในนิทานทำจึงสามารถทำได้เพราะ เรา-ผู้อ่าน มีระยะห่างกับเรื่องราวที่เรากำลังอ่าน

ระยะห่างของนิทานเปิดโอกาสให้เราชวนเด็กๆ คิดกับเรื่องราวในเรื่องได้อย่างสบายใจ เช่นเราอาจไม่สามารถชวนหนูๆ คิดว่า เอ้อ การที่คนนั้นทำแบบนั้นแบบนี้มันดีไหม แล้วมันควรเป็นอย่างไร แต่ถ้าเป็นเรื่องในนิทาน เราชวนคุยได้ว่า การที่แจ็คปีนต้นถั่วขึ้นไปแล้วขโมยของ แบบนี้ถือว่าผิดไหม แจ็คทำถูกต้องไหม และสุดท้ายยังจะไปฆ่ายักษ์อีก ยักษ์ผิดไหม การที่เราชวนหนูๆ ขบคิดในรูปแบบดังกล่าวสามารถนำไปสู่การ ‘ทบทวน’ ความคิดในระดับที่ลึกซึ้งขึ้น ในระดับปรัชญาและจริยศาสตร์กันเลย

คิดสนุกๆ กับเรื่องแต่ง แล้วในโลกแห่งความจริงล่ะ?

การ ‘ชวนคิด’ สนุกๆ ในนิทานจึงเป็นการใช้เรื่องของเด็ก ด้วยวิธีขี้สงสัยแบบเด็กๆ แต่ถกเถียงพูดคุยกันอย่างจริงจัง จุดนี้เองเรื่องเด็กๆ เลยนำไปสู่เรื่องของผู้ใหญ่แล้ว เป็นการขบคิดเชิงปรัชญาและจริยศาสตร์ว่าเฮ้ย การที่เราคิดว่าแบบนั้นดี ตัดสินแบบนี้ เพราะอะไร เราสะใจเพราะยักษ์ถูกฆ่า ทำไมถึงรู้สึกว่าพระเอกทำถูกต้อง

ถ้าเรามองรอบๆ ตัว และไม่ได้ยึดติดว่าปรัชญาต้องเป็นเรื่องแต่ในตำรา นิทานเองก็มีมิติของปรัชญาได้ขึ้นอยู่กับว่าเราจะอ่านและคิดกับมันอย่างไร ดังนั้นในเรื่องบันเทิงต่างๆ ไปจนถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวเรา การที่เราฝึกคิดฝึกสงสัยเลยกระบวนการให้เราได้ครุ่นคิดทบทวนจุดยืนและการกระทำของเราเสมอ

ข้อเสนอให้ใช้นิทานเป็นเครื่องมือในการชวนเด็กๆ คิดอย่างจริงจังจึงดูเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ความสำคัญจึงอาจไม่ได้อยู่ที่ว่าเรากำลังอ่านนิทาน หรือกำลังเสพอะไรอยู่ แต่ความสำคัญคือเราจะมองและมองหาอะไรจากสิ่งนั้นๆ ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ตัวนิทาน แต่เราจะทำนิทานให้ไปสู่เรื่องจริงจังและใช้เป็นเครื่องมือในการทบทวนความคิดตัวเองอย่างไร ไม่ว่าจะจากนิทาน จากละคร จากเรื่องราวชีวิตรอบๆ ตัว การยั้งใจและสงสัยสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะความคิดของเราเอง ดูจะเป็นกระบวนการฝึกคิดที่สำคัญอย่างหนึ่ง

Illustration by  Namsai Supavong

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น