วันอังคารที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2560

มนุษย์นั้นแสนบอบบาง อยู่ที่ไหนก็ต้องปลอดภัย

มนุษย์นั้นแสนบอบบาง อยู่ที่ไหนก็ต้องปลอดภัย

ในฐานะที่เราเป็นมนุษย์ ใครๆ ก็ต่างเชื่อว่าเผ่าพันธุ์ของเราเองเป็นสิ่งมีชีวิตที่ทรงภูมิปัญญามากที่สุด นั่นจึงทำให้สมองของเรามีขนาดใหญ่ คิดสร้างสรรค์อะไรก็เจริญก้าวหน้าเหลือหลาย อารยธรรมของมนุษย์จึงมาไกลได้ขนาดนี้ไง แต่หารู้ไม่ว่า ‘ร่างกาย’ ของเรานั้น แม้จะเข้าฟิตเนสออกกำลังกายหรือจะเป็นนักกีฬาอาชีพสุดกำยำขนาดไหน ร่างกายก็ช่างบอบบางยิ่งนัก เมื่อเทียบกับสัตว์ชนิดอื่นๆ ที่มีสัญชาตญาณในการเอาตัวรอดมากกว่า เท่านั้นยังไม่พอ วิถีชีวิตปัจจุบันที่ช่างโหดร้ายก็ยิ่งส่งผลให้ ‘จิตใจ’ ของเราอ่อนแอลงไปทุกวันๆ. 

ถ้าว่ากันตามกฎของมาสโลว์แล้ว ความต้องการพื้นฐานของเราในขั้นแรก คือความต้องการทางร่างกาย (Physiological Needs) นั่นคือกินดีอยู่ดี ทำให้มีกำลังใจที่จะดำเนินชีวิตต่อไป เมื่อพึงพอใจในขั้นต้นแล้วก็นำไปสู่ความต้องการขั้นต่อมา นั่นคือต้องการความปลอดภัย (Safety Needs) อย่าได้มีอันตรายใดๆ เข้ามาทำให้ต้องรู้สึกวิตกจริต ซึ่งนี่เป็นเพียงสองลำดับขั้นต้นที่เป็นความต้องการพื้นฐานเบสิกสุดๆ เท่านั้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ถ้าขาดไปสักอย่างมนุษย์อย่างเราๆ ต้องแย่แน่ๆ. 

แต่ก็นับว่าเป็นโชคดีเช่นกัน ที่สมองของมนุษย์สามารถสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการสองขั้นที่ว่าได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญคือการปลดล็อคความกังวลที่เราต้องเผชิญกับความสุ่มเสี่ยงในการใช้ชีวิตไปได้อีกมาก เรียกได้ว่าใช้ชีวิตได้อย่างสบายใจ มาดูกันว่า ในแต่ละวันในพื้นที่ที่เราจำเป็นต้องใช้ชีวิตอยู่มากที่สุดอย่างในบ้าน ที่ทำงาน และบนรถยนต์นั้น มีนวัตกรรมหรือระบบความปลอดภัยอะไร มาช่วยลดความเสี่ยงต่อร่างกายและจิตใจอันบอบบางของมนุษย์อย่างเราๆ ลงไปได้บ้าง

อยู่ในบ้าน

โดยทั่วไปแล้วฟังก์ชันของบ้าน ในเชิงความรู้สึกคือสถานที่ที่เป็นเหมือนที่พักที่เราจะได้ผ่อนคลายมากที่สุด เป็นที่พักใจหลบหนีจากความวุ่นวายต่างๆ ข้างนอก บรรยากาศอันคุ้นเคยทำให้รู้สึกปลอดภัยที่จะทำอะไรก็ได้ภายในบ้านของเรา เพราะภายในบ้านโดยพื้นฐานจะประกอบไปด้วยหน่วยครอบครัว อันประกอบไปด้วย ญาติ พ่อแม่ พี่น้อง สามีภรรยา หรือลูก ที่ถ้าหากตัดหน้าที่ในเชิงสังคมอย่างการเลี้ยงดูไปแล้ว คนในครอบครัวนี่แหละ คือสิ่งที่เยียวยาความอ่อนแอภายในจิตใจของมนุษย์ได้อย่างดีที่สุด หลังจากที่ออกไปผจญโลกภายนอกอย่างหนักหนาครั้งใด ประโยคง่ายๆ อย่าง “กลับบ้านเรานะ” ทำเอาสะเทือนความรู้สึกทุกครั้งไป

ส่วนในเชิงกายภาพ บ้านคือสถานที่ไว้ใช้หลับนอนหรือพักผ่อนร่างกาย สภาพแวดล้อมจึงต้องเงียบสงบ ปราศจากการรบกวนทางมลภาวะ ทั้งเสียงและอากาศ เราจึงได้เห็นนวัตกรรมที่มีแต่ไหนแต่ไรอย่างตัวบ้าน ที่ทำให้เรารู้สึกอยู่เป็นสัดส่วนหลุดแยกออกจากสิ่งแวดล้อมภายนอกได้ หรือกำแพงบ้านที่ทำให้เรารู้สึกปลอดภัยจากภัยธรรมชาติต่างๆ กระทั่งภายในบ้านเองที่ก็มีความเสี่ยงจากอันตรายไม่น้อยไปกว่าภายนอก อย่างเช่น เครื่องตัดไฟรั่ว ที่ช่วยป้องกันอันตรายจากกระแสไฟฟ้าลัดวงจร ถือได้ว่าเป็นอุปกรณ์ความปลอดภัยที่มีกันทุกครัวเรือน สร้างความอุ่นใจยามที่อาศัยอยู่ในบ้านได้เป็นอย่างดี

อยู่บนรถ.

ในยุคที่มนุษย์ต้องเดินทางจากบ้านไปสู่ที่ทำงาน การโดยสารด้วยรถยนต์จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งระบบขนส่งสาธารณะในบ้านเรายังไม่เอื้อทั้งความสะดวกสบายและเส้นทาง ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้คนส่วนใหญ่จึงเลือกเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว เพราะฟังก์ชันของรถ คือการนำพาเราไปสู่จุดหมายปลายทางได้อย่างปลอดภัยโดยสวัสดิภาพ และในแง่ความรู้สึกรถยนต์เปรียบได้กับพื้นที่ส่วนตัวสุดพิเศษ การได้นั่งอยู่ในรถมันก็น่าสบายใจกว่า เราจึงได้เห็นการออกแบบภายในของรถรุ่นใหม่ๆ ที่หรูหราสวยงามมีสไตล์ จัดวางอุปกรณ์และฟังก์ชันใช้งานในรถอย่างเหมาะสม ทำให้การขับรถเป็นเรื่องสนุก ถึงรถจะติดน่าหงุดหงิดขนาดไหนก็ตามที

ด้านความปลอดภัยต่อมนุษย์ผู้ขับขี่ นาทีนี้คงต้องยกให้กับเทคโนโลยี i-ACTIVSENSE ที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุด้วยการคาดการณ์และส่งสัญญาณเตือนในขณะขับขี่ อย่างขณะที่เราขับรถในเมืองที่มีรถมากๆ ระบบ SBS (Smart Break Support) และ Smart City Brake Support (SCBS) จะตรวจจับระยะห่างและความเร็วระหว่างรถคันหน้า เมื่อใดที่เราเผลอขับไปใกล้คันหน้ามากเกินไปจนเสี่ยงที่จะชน ระบบจะส่งสัญญาณเตือนและช่วยเบรกโดยอัตโนมัติ หรือในขณะที่ถอยรถออกจากช่องจอดรถ ซึ่งปัญหาคือจะมองรถที่ขับผ่านมาจากด้านข้างระยะไกลได้ลำบาก ระบบ RCTA (Rear Cross Traffic Alert) จะช่วยเตือนเพื่อให้คุณรีบหยุดรถ นอกจากนั้นยังมีระบบที่แคร์รถร่วมถนนคันอื่นอย่างระบบไฟหน้า ALH (Adaptive LED Headlamps) ที่ปรับการทำงานสูง-ต่ำ แยกซ้าย-ขวาอัตโนมัติให้แสงไม่ไปรบกวนสายตาคนอื่นที่อยู่ข้างหน้าหรือขับสวนมาได้ นอกจากนี้ ในรถมาสด้า3 ใหม่ยังมีเทคโนโลยี SKYACTIV-VEHICLE DYNAMICS ที่มาพร้อมระบบ G-VECTORING CONTROL (GVC) ที่ฉลาดถึงขั้นมีการประมวลผลจากการบังคับพวงมาลัย ความเร็ว รวมถึงการเหยียบคันเร่ง เพื่อควบคุมแรงบิดของเครื่องยนต์และถ่ายเทน้ำหนักไปแต่ละล้อ เพื่อให้คุณขับรถได้อย่างสมดุลยิ่งขึ้น คราวนี้จะเดินทางไปไกลแค่ไหน มนุษย์อย่างเราๆ ก็สบายใจไปหลายเปราะเลยทีเดียว

อยู่ที่ทำงาน

สถานที่ที่มนุษย์ต้องใช้ชีวิตอยู่รองลงมาจากบ้าน คงหนีไม่พ้นที่ทำงานหรือออฟฟิศ ยิ่งในยุคนี้ มนุษย์บางคนใช้เวลาในที่ทำงานมากกว่าอยู่บ้านเสียอีก ในแง่ความรู้สึกแล้ว สถานที่ทำงานไม่ใช่สถานที่ที่มนุษย์จะรู้สึกผ่อนได้มากนัก เพราะแน่นอนอยู่แล้วว่าอยู่แล้วต้องทำงาน เมื่อทำงานก็ต้องแบกรับความกดดัน ความเครียด และการแข่งขัน เพื่อแลกกับรายได้เพื่อนำไปใช้ชีวิตแบบอยู่ดีมีสุขในสถานที่แห่งอื่น เราจึงได้เห็นมนุษย์ออฟฟิศพยายามสร้างพื้นที่ของตนเองด้วยการตกแต่งโต๊ะทำงานด้วยสิ่งของชิ้นโปรดหรืออะไรก็ตามที่ทำให้สามารถหลีกหนีจากการทำงานตรงนั้นไปได้ชั่วคราว หรือถ้าเป็นสายที่ไม่ได้นั่งโต๊ะก็ต้องมีมุมไว้ผ่อนคลาย อย่างมุมนั่งพักสูบบหรี่ ซึ่งบริษัทในยุคใหม่ก็ได้ให้ความสำคัญกับพื้นที่ผ่อนคลายให้กับพนักงานมากขึ้น

อย่างที่บอกว่ามนุษย์ต้องอยู่ที่ทำงานเป็นเวลานาน อย่างน้อยๆ ก็แปดชั่วโมงต่อวัน ยิ่งมนุษย์ออฟฟิศที่ส่วนใหญ่ต้องนั่งทำงานในตึกสูงระฟ้าแล้ว ความเสี่ยงย่อมต้องมากกว่าอยู่บ้านแน่นอน ที่เห็นชัดสุดคงจะเป็นอัคคีภัย ถ้าเกิดขึ้นเมื่อไร ต้องอาศัยระบบแจ้งเตือนภัยและการดับเพลิงที่ทำงานได้จริง หรือถ้าเป็นออกแนวโรงงานอุตสาหกรรม ความปลอดภัยต้องมาอันดับหนึ่ง ตั้งแต่ชุดเครื่องแต่งกาย ระบบรักษาความปลอดภัยต่อมนุษย์ผู้ทำงาน ไปจนถึงการซ้อมหนีไฟก็เช่นกัน ถึงที่ทำงานจะไม่ได้สบายใจเหมือนอยู่บ้าน ขอรักษาความปลอดภัยไว้ให้อุ่นใจต่อชีวิตก็ยังดี

ถึงมนุษย์นั้นจะบอบบางเพียงใด ระบบรักษาความปลอดภัยที่มนุษย์สร้างขั้นเอง ก็ช่วยให้เรารู้สึกสบายใจ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น