วันจันทร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2560

หลักกิโลเมตรที่ ๐ ของประเทศไทย เรื่อง : โรม บุนนาค ทางหลวงแผ่นดินสายประธานของประเทศไทย ซึ่งแยกจากส่วนกลางไป ๔ ภาคของประเทศนั้น ๓ สายมีต้นทางอยู่ในกรุงเทพฯ และมีจุดเริ่มสายละมุมเมืองตามทิศที่จะมุ่งไป ส่วนอีกสายไปเริ่มที่จังหวัดสระบุรี ห่างกรุงเทพฯไป ๑๐๗ กิโลเมตร แต่ในทางสัญลักษณ์ หรือจะเรียกว่าทางการเมืองก็ย่อมได้ ให้ถนนทั้ง ๔ สายนี้เริ่มต้นที่จุดเดียวกัน คืออนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สัญลักษณ์ของการปกครองที่ได้มาเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑ เส้นทางที่ออกจากกรุงเทพฯไปภาคเหนือ จนสุดแดนสยามที่สะพานข้ามแม่น้ำแม่สาย เส้นแบ่งเขตไทย-พม่า ซึ่งรู้กันทั่วไปว่าเริ่มจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เดิมมีชื่อว่า “ถนนประชาธิปัตย์” ครม.ให้เปลี่ยนชื่อเป็น “ถนนพหลโยธิน” เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๙๓ เพื่อเป็นเกียรติแก่ พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) หัวหน้าคณะราษฎร ถนนสายนี้เริ่มตัดในปี ๒๔๗๙ โดยกรมยุทธโยธาทหารบก จากสนามเป้าไปถึงสนามบินของกองบินทหารบกที่ดอนเมือง และต่อไปถึงจังหวัดลพบุรีในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งดำริจะสร้างลพบุรีขึ้นเป็นเมืองหลวง จากนั้นก็ตัดเชื่อมถนนในจังหวัดต่างๆเรื่อยไปจนถึงถนนลำปาง-เชียงราย รวมระยะทางทั้งหมด ๑,๐๐๕ กิโลเมตร ส่วนทางหลวงหมายเลข ๒ สายหลักของภาคอีสาน สุดชายแดนที่หนองคาย มีระยะทาง ๕๐๘ กม. ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาทั้งงบประมาณและเทคนิคการสร้าง เป็นทางหลวงสายแรกที่สร้างแบบทันสมัย ลาดยางแบบแอสฟัลติกคอนกรีต โดยช่วงสระบุรี-ปากช่อง-นครราชสีมาสร้างทับถนนสุดบรรทัด และช่วงนครราชสีมา-ขอนแก่น-อุดรธานี-หนองคายทับถนนเจนจบทิศ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๐ จึงได้ชื่อใหม่ทั้งสายว่า “ถนนมิตรภาพ” หลักกิโลเมตรที่ ๐ ของประเทศไทย จุดเริ่มต้นของถนนมิตรภาพจึงอยู่ที่จังหวัดสระบุรี แยกจากถนนพหลโยธินที่ กม. ๑๐๗ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓ สายหลักที่ออกจากกรุงเทพฯไปภาคตะวันออก มีตำนานมาตั้งแต่ราวปี ๒๔๖๒ เมื่อ นางสาว อี. เอส. โคล หรือที่รู้จักกันในนาม “แหม่มโคล” ครูใหญ่โรงเรียนกุลสตรีวังหลัง ได้ไปซื้อที่ดิน ๒๕ ไร่ริมคลองแสนแสบ เพื่อย้ายโรงเรียนกุลสตรีวังหลังจากข้างโรงพยาบาลศิริราชมาอยู่ที่แห่งใหม่ซึ่งยังไม่มีชุมชน การคมนาคมก็มีแต่ทางคลองแสนแสบ จึงขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณรัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯให้ตัดถนนต่อจากถนนที่สร้างต่อมาจากถนนปทุมวัน จนถึงถนนที่แยกไปสถานีวิทยุโทรเลข ซึ่งอยู่ในแนวถนนที่เจ้าพระยายมราชดำริจะตัดไปสมุทรปราการอยู่แล้ว แต่กรมสุขาภิบาลยังไม่มีเงินสร้างให้ ต้องตัดถนนสำคัญอีกหลายสาย ในปี ๒๔๖๖ โรงเรียนกุลสตรีวังหลังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวีในรัชกาลที่ ๕ เปลี่ยนชื่อเป็น “วัฒนาวิทยาลัย” จึงได้ร่วมกับ นาย เอ.อี.นานา ซึ่งมีที่ดินอยู่ในย่านนั้นมาก บอกบุญเรี่ยไรเจ้าของที่ดินในย่าน ได้เงินมาให้กรมสุขาภิบาลขุดคลองเอาดินพูนขึ้นเป็นถนน จากจุดบรรจบของถนนที่ได้รับพระราชทานชื่อว่าถนนเพลินจิตกับถนนวิทยุ ไปถึงซอยที่ออกมาจากโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย เป็นระยะทาง ๓,๐๗๒ เมตร ต่อมาในปี ๒๔๗๐ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงลพบุรีราเมศร เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ขอพระบรมราชานุญาต ร.๗ ตัดถนนต่อจากปากซอยโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยไปถึงสมุทรปราการ ทรงอ้างเหตุผลว่า มีบ้านเรือนราษฎรขยายไปทางทิศใต้จนเห็นได้ว่าพระนครจะขยายไปทางนั้นอย่างรวดเร็ว ระยะแรกตัดไปแค่คลองพระโขนง โดยขุดคลองขนานกว้าง ๑๐ เมตร ลึก ๒ เมตร เอาดินมาพูนถนน และใช้เป็นทางคมนาคมให้เรือเดินไปมาได้ด้วย หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง กระทรวงมหาดไทยได้ให้กรมนคราทรตัดต่อไปจนถึงปากน้ำ ได้ชื่อว่า “ถนนกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ” เปิดใช้ในวันที่ ๘ กันยายน ๒๔๗๙ ต่อมา พระพิศาลสุขุมวิท (บุตรเจ้าพระยายมราช) อธิบดีกรมทาง ได้จัดทำแผนงานสร้างทางหลวงขึ้นทั่วประเทศ มีชื่อว่า “โครงการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรไทย” เป็นแม่บทในการสร้างทางหลวงเป็นเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ ถนนกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ ถูกกำหนดให้เป็นทางสายหลักของภาคตะวันออก จึงสร้างต่อจากสมุทรปราการ ผ่านชลบุรี ระยอง ไปจนถึงตราด เรียกชื่อว่า”ถนนกรุงเทพฯ-ตราด” ในวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๙๓ ครม.รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงมีมติให้เปลี่ยนชื่อถนนกรุงเทพฯ-ตราด เป็น “ถนนสุขุมวิท” เพื่อเป็นเกียรติแก่ พระพิศาลสุขุมวิท (ประสพ สุขุม) จุดเริ่มต้นของถนนสุขุมวิทที่กรุงทพฯ จึงอยู่ที่จุดบรรจบของถนนเพลินจิตกับถนนวิทยุ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔ เป็นถนนสายยาวที่สุดในประเทศ มุ่งลงใต้ไปจดชายแดนมาเลเซียที่ด่านสะเดา จังหวัดสงขลา รวมระยะทาง ๑,๒๗๔ กม. เริ่มในปี ๒๔๘๑ โดยกระทรวงมหาดไทยเสนอ ครม.ขอสร้างถนนจากกรุงเทพฯไปหัวหินระยะทาง ๒๓๓ กม. อ้างว่าหัวหินเป็นสถานตากอากาศที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูง แต่มีแค่ทางรถไฟ โดยเริ่มต้นจากสะพานเนาวจำเนียร ข้ามคลองบางกอกใหญ่ที่บางยี่เรือ ไปเชื่อมถนนนครปฐม-ดอนกระเบื้อง ซึ่งยาว ๒๒ กม. และถนนชะอำ-หัวหิน ยาว ๒๕ กม. เหลือระยะทางที่จะต้องสร้างใหม่เพียง ๑๘๖ กม. ต่อมาในเดือนสิงหาคม ๒๔๘๔ จอมพล ป.เห็นว่า สถานการณ์โลกในตอนนั้นเป็นที่หวั่นว่าจะเกิดสงครามขึ้นทั้งในยุโรปและเอเชีย จึงเตรียมรับสถานการณ์ให้รีบเร่งสร้างทางสายยุทธศาสตร์กรุงเทพฯ-สงขลา และกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ แต่ก็ไม่ทันการ ในวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ ญี่ปุ่นก็บุกไทย เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาขึ้น ถนนกรุงเทพฯ-สงขลามาสำเร็จหลังสงคราม ขณะที่ หลวงเพชรเกษมวิถีสวัสดิ์ (แถม เพชรเกษม) เป็นอธิบดีกรมทาง และจอมพล ป.พิบูลสงครามกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ครม.ในวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๙๓ จึงมีมติตั้งชื่อถนนกรุงเทพฯ-สงขลา ว่า “ถนนเพชรเกษม” ตามนโยบายที่ให้เกียรติแก่นายช่างผู้ควบคุมการก่อสร้างหรือบังคับบัญชาการก่อสร้างที่เป็นสาธารณประโยชน์ แม้ถนนสายประธานที่ออกจากกรุงเทพฯไปภาคต่างๆ ตามความเป็นจริงจะเริ่มต้นที่จุดต่างกันคนละอำเภอ คนละจังหวัด แต่ในหลักเกณฑ์การเริ่มต้นของถนนสายประธานทั้ง ๔ สายนี้ ถูกกำหนดให้หลักกิโลเมตรที่ ๐ อยู่แห่งเดียวกันทั้งหมด ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทั้งนี้มาจากคำกล่าวเปิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๓ มีข้อความตอนหนึ่งว่า “เพื่อเชิดชูคุณค่าของประชาธิปไตย และเพื่อมีเครื่องเตือนใจให้พยายามผดุงรักษาระบอบนี้ให้สถิตสถาพรอยู่ตลอดกาล คณะรัฐบาลจึงลงมติให้สร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อนุสาวรีย์นี้จะเป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญก้าวหน้าทั้งมวล เป็นต้นว่า ถนนสายต่างๆที่จะออกจากกรุงเทพฯไปยังหัวเมือง ก็จะนับต้นทางจากอนุสาวรีย์นี้...” แม้จะไม่มีการตราเป็นข้อกำหนด แต่หน่วยราชการทั้งหลายก็ยึดถือตามคำกล่าวของ “ท่านผู้นำ” ตลอดมา ปัจจุบันที่ขอบวงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หัวมุมถนนดินสอด้านหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา มีแผนที่ทางหลวงทั่วประเทศแผ่นใหญ่ตั้งอยู่ ข้างๆมีป้าย “หลักกิโลเมตรที่ ๐” มีข้อความว่า “กิโลเมตรที่ ๐ ของทางหลวงแผ่นดินสายประธาน หมายเลข ๑ หมายเลข ๓ และหมายเลข ๔ เริ่มจากที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินกลาง แยกไปตามถนนต่างๆในกรุงเทพฯ จนถึงจุดเริ่มต้นทางหลวงแผ่นดินสายประธาน คือ ถนนพหลโยธิน จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ปลายทางที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ถนนสุขุมวิท จากสี่แยกเพลินจิต ปลายทางที่จังหวัดตราด และถนนเพชรเกษม เริ่มจากสะพานเนาวจำเนียร เขตบางกอกใหญ่ ปลายทางที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ต่อมามีทางหลวงสายประธานหมายเลข ๒ คือถนนมิตรภาพ เริ่มต้นจากจังหวัดสระบุรี ไปสะพานมิตรภาพจังหวัดหนองคาย นับ กม.๐ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทับถนนพหลโยธินช่วงกรุงเทพฯ-สระบุรี แล้วจึงแยกออกเป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒” หลักกิโลเมตร ๐ นี้จึงเป็นเพียงความหมายเพื่อส่งเสริมความสำคัญของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อันเป็นสัญลักษณ์เชิดชูระบอบการปกครองของประเทศไทย แต่จุดเริ่มต้นตามความเป็นจริงของทางหลวงสายประธานทั้ง ๔ ภาค ในป้ายก็ระบุไว้ด้วยว่าเริ่ม ณ จุดใด คำอธิบายภาพ 1. จุดสุดทางถนนพหลโยธิน 2. และ 3. ถนนมิตรภาพเมื่อแรกสร้าง 4. สุดทางเพชรเกษมที่ด่านสะเดา 5. สุดแผ่นดินตะวันออก สุดถนนสุขุมวิท 6. ป้ายที่ขอบวงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 7. จอมพล ป.วันเปิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๓

หลักกิโลเมตรที่ ๐ ของประเทศไทย
เรื่อง : โรม บุนนาค

          ทางหลวงแผ่นดินสายประธานของประเทศไทย ซึ่งแยกจากส่วนกลางไป ๔ ภาคของประเทศนั้น ๓ สายมีต้นทางอยู่ในกรุงเทพฯ และมีจุดเริ่มสายละมุมเมืองตามทิศที่จะมุ่งไป ส่วนอีกสายไปเริ่มที่จังหวัดสระบุรี ห่างกรุงเทพฯไป ๑๐๗ กิโลเมตร
          แต่ในทางสัญลักษณ์ หรือจะเรียกว่าทางการเมืองก็ย่อมได้ ให้ถนนทั้ง ๔ สายนี้เริ่มต้นที่จุดเดียวกัน คืออนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สัญลักษณ์ของการปกครองที่ได้มาเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕
          ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑ เส้นทางที่ออกจากกรุงเทพฯไปภาคเหนือ จนสุดแดนสยามที่สะพานข้ามแม่น้ำแม่สาย เส้นแบ่งเขตไทย-พม่า ซึ่งรู้กันทั่วไปว่าเริ่มจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เดิมมีชื่อว่า “ถนนประชาธิปัตย์” ครม.ให้เปลี่ยนชื่อเป็น “ถนนพหลโยธิน” เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๙๓ เพื่อเป็นเกียรติแก่ พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) หัวหน้าคณะราษฎร
          ถนนสายนี้เริ่มตัดในปี ๒๔๗๙ โดยกรมยุทธโยธาทหารบก จากสนามเป้าไปถึงสนามบินของกองบินทหารบกที่ดอนเมือง และต่อไปถึงจังหวัดลพบุรีในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งดำริจะสร้างลพบุรีขึ้นเป็นเมืองหลวง จากนั้นก็ตัดเชื่อมถนนในจังหวัดต่างๆเรื่อยไปจนถึงถนนลำปาง-เชียงราย รวมระยะทางทั้งหมด ๑,๐๐๕ กิโลเมตร
          ส่วนทางหลวงหมายเลข ๒ สายหลักของภาคอีสาน สุดชายแดนที่หนองคาย มีระยะทาง ๕๐๘ กม. ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาทั้งงบประมาณและเทคนิคการสร้าง เป็นทางหลวงสายแรกที่สร้างแบบทันสมัย ลาดยางแบบแอสฟัลติกคอนกรีต โดยช่วงสระบุรี-ปากช่อง-นครราชสีมาสร้างทับถนนสุดบรรทัด และช่วงนครราชสีมา-ขอนแก่น-อุดรธานี-หนองคายทับถนนเจนจบทิศ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๐ จึงได้ชื่อใหม่ทั้งสายว่า “ถนนมิตรภาพ”
หลักกิโลเมตรที่ ๐ ของประเทศไทย
          จุดเริ่มต้นของถนนมิตรภาพจึงอยู่ที่จังหวัดสระบุรี แยกจากถนนพหลโยธินที่ กม. ๑๐๗ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓ สายหลักที่ออกจากกรุงเทพฯไปภาคตะวันออก มีตำนานมาตั้งแต่ราวปี ๒๔๖๒ เมื่อ นางสาว อี. เอส. โคล หรือที่รู้จักกันในนาม “แหม่มโคล” ครูใหญ่โรงเรียนกุลสตรีวังหลัง ได้ไปซื้อที่ดิน ๒๕ ไร่ริมคลองแสนแสบ เพื่อย้ายโรงเรียนกุลสตรีวังหลังจากข้างโรงพยาบาลศิริราชมาอยู่ที่แห่งใหม่ซึ่งยังไม่มีชุมชน การคมนาคมก็มีแต่ทางคลองแสนแสบ จึงขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณรัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯให้ตัดถนนต่อจากถนนที่สร้างต่อมาจากถนนปทุมวัน จนถึงถนนที่แยกไปสถานีวิทยุโทรเลข ซึ่งอยู่ในแนวถนนที่เจ้าพระยายมราชดำริจะตัดไปสมุทรปราการอยู่แล้ว แต่กรมสุขาภิบาลยังไม่มีเงินสร้างให้ ต้องตัดถนนสำคัญอีกหลายสาย
ในปี ๒๔๖๖ โรงเรียนกุลสตรีวังหลังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวีในรัชกาลที่ ๕ เปลี่ยนชื่อเป็น “วัฒนาวิทยาลัย” จึงได้ร่วมกับ นาย เอ.อี.นานา ซึ่งมีที่ดินอยู่ในย่านนั้นมาก บอกบุญเรี่ยไรเจ้าของที่ดินในย่าน ได้เงินมาให้กรมสุขาภิบาลขุดคลองเอาดินพูนขึ้นเป็นถนน จากจุดบรรจบของถนนที่ได้รับพระราชทานชื่อว่าถนนเพลินจิตกับถนนวิทยุ ไปถึงซอยที่ออกมาจากโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย เป็นระยะทาง ๓,๐๗๒ เมตร
           ต่อมาในปี ๒๔๗๐ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงลพบุรีราเมศร เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ขอพระบรมราชานุญาต ร.๗ ตัดถนนต่อจากปากซอยโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยไปถึงสมุทรปราการ ทรงอ้างเหตุผลว่า มีบ้านเรือนราษฎรขยายไปทางทิศใต้จนเห็นได้ว่าพระนครจะขยายไปทางนั้นอย่างรวดเร็ว ระยะแรกตัดไปแค่คลองพระโขนง โดยขุดคลองขนานกว้าง ๑๐ เมตร ลึก ๒ เมตร เอาดินมาพูนถนน และใช้เป็นทางคมนาคมให้เรือเดินไปมาได้ด้วย
           หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง กระทรวงมหาดไทยได้ให้กรมนคราทรตัดต่อไปจนถึงปากน้ำ ได้ชื่อว่า “ถนนกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ” เปิดใช้ในวันที่ ๘ กันยายน ๒๔๗๙
           ต่อมา พระพิศาลสุขุมวิท (บุตรเจ้าพระยายมราช) อธิบดีกรมทาง ได้จัดทำแผนงานสร้างทางหลวงขึ้นทั่วประเทศ มีชื่อว่า “โครงการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรไทย” เป็นแม่บทในการสร้างทางหลวงเป็นเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ ถนนกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ ถูกกำหนดให้เป็นทางสายหลักของภาคตะวันออก จึงสร้างต่อจากสมุทรปราการ ผ่านชลบุรี ระยอง ไปจนถึงตราด เรียกชื่อว่า”ถนนกรุงเทพฯ-ตราด”
          ในวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๙๓ ครม.รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงมีมติให้เปลี่ยนชื่อถนนกรุงเทพฯ-ตราด เป็น “ถนนสุขุมวิท” เพื่อเป็นเกียรติแก่ พระพิศาลสุขุมวิท (ประสพ สุขุม)
          จุดเริ่มต้นของถนนสุขุมวิทที่กรุงทพฯ จึงอยู่ที่จุดบรรจบของถนนเพลินจิตกับถนนวิทยุ
          ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔ เป็นถนนสายยาวที่สุดในประเทศ มุ่งลงใต้ไปจดชายแดนมาเลเซียที่ด่านสะเดา จังหวัดสงขลา รวมระยะทาง ๑,๒๗๔ กม. เริ่มในปี ๒๔๘๑ โดยกระทรวงมหาดไทยเสนอ ครม.ขอสร้างถนนจากกรุงเทพฯไปหัวหินระยะทาง ๒๓๓ กม. อ้างว่าหัวหินเป็นสถานตากอากาศที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูง แต่มีแค่ทางรถไฟ โดยเริ่มต้นจากสะพานเนาวจำเนียร ข้ามคลองบางกอกใหญ่ที่บางยี่เรือ ไปเชื่อมถนนนครปฐม-ดอนกระเบื้อง ซึ่งยาว ๒๒ กม. และถนนชะอำ-หัวหิน ยาว ๒๕ กม. เหลือระยะทางที่จะต้องสร้างใหม่เพียง ๑๘๖ กม.
          ต่อมาในเดือนสิงหาคม ๒๔๘๔ จอมพล ป.เห็นว่า สถานการณ์โลกในตอนนั้นเป็นที่หวั่นว่าจะเกิดสงครามขึ้นทั้งในยุโรปและเอเชีย จึงเตรียมรับสถานการณ์ให้รีบเร่งสร้างทางสายยุทธศาสตร์กรุงเทพฯ-สงขลา และกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ แต่ก็ไม่ทันการ ในวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ ญี่ปุ่นก็บุกไทย เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาขึ้น
          ถนนกรุงเทพฯ-สงขลามาสำเร็จหลังสงคราม ขณะที่ หลวงเพชรเกษมวิถีสวัสดิ์ (แถม เพชรเกษม) เป็นอธิบดีกรมทาง และจอมพล ป.พิบูลสงครามกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ครม.ในวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๙๓ จึงมีมติตั้งชื่อถนนกรุงเทพฯ-สงขลา ว่า “ถนนเพชรเกษม” ตามนโยบายที่ให้เกียรติแก่นายช่างผู้ควบคุมการก่อสร้างหรือบังคับบัญชาการก่อสร้างที่เป็นสาธารณประโยชน์
แม้ถนนสายประธานที่ออกจากกรุงเทพฯไปภาคต่างๆ ตามความเป็นจริงจะเริ่มต้นที่จุดต่างกันคนละอำเภอ คนละจังหวัด แต่ในหลักเกณฑ์การเริ่มต้นของถนนสายประธานทั้ง ๔ สายนี้ ถูกกำหนดให้หลักกิโลเมตรที่ ๐ อยู่แห่งเดียวกันทั้งหมด ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
ทั้งนี้มาจากคำกล่าวเปิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๓ มีข้อความตอนหนึ่งว่า
          “เพื่อเชิดชูคุณค่าของประชาธิปไตย และเพื่อมีเครื่องเตือนใจให้พยายามผดุงรักษาระบอบนี้ให้สถิตสถาพรอยู่ตลอดกาล คณะรัฐบาลจึงลงมติให้สร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อนุสาวรีย์นี้จะเป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญก้าวหน้าทั้งมวล เป็นต้นว่า ถนนสายต่างๆที่จะออกจากกรุงเทพฯไปยังหัวเมือง ก็จะนับต้นทางจากอนุสาวรีย์นี้...”
          แม้จะไม่มีการตราเป็นข้อกำหนด แต่หน่วยราชการทั้งหลายก็ยึดถือตามคำกล่าวของ “ท่านผู้นำ” ตลอดมา
          ปัจจุบันที่ขอบวงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หัวมุมถนนดินสอด้านหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา มีแผนที่ทางหลวงทั่วประเทศแผ่นใหญ่ตั้งอยู่ ข้างๆมีป้าย “หลักกิโลเมตรที่ ๐” มีข้อความว่า
          “กิโลเมตรที่ ๐ ของทางหลวงแผ่นดินสายประธาน หมายเลข ๑ หมายเลข ๓ และหมายเลข ๔ เริ่มจากที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินกลาง แยกไปตามถนนต่างๆในกรุงเทพฯ จนถึงจุดเริ่มต้นทางหลวงแผ่นดินสายประธาน คือ ถนนพหลโยธิน จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ปลายทางที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ถนนสุขุมวิท จากสี่แยกเพลินจิต ปลายทางที่จังหวัดตราด และถนนเพชรเกษม เริ่มจากสะพานเนาวจำเนียร เขตบางกอกใหญ่ ปลายทางที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา
          ต่อมามีทางหลวงสายประธานหมายเลข ๒ คือถนนมิตรภาพ เริ่มต้นจากจังหวัดสระบุรี ไปสะพานมิตรภาพจังหวัดหนองคาย นับ กม.๐ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทับถนนพหลโยธินช่วงกรุงเทพฯ-สระบุรี แล้วจึงแยกออกเป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒”
          หลักกิโลเมตร ๐ นี้จึงเป็นเพียงความหมายเพื่อส่งเสริมความสำคัญของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อันเป็นสัญลักษณ์เชิดชูระบอบการปกครองของประเทศไทย แต่จุดเริ่มต้นตามความเป็นจริงของทางหลวงสายประธานทั้ง ๔ ภาค ในป้ายก็ระบุไว้ด้วยว่าเริ่ม ณ จุดใด

คำอธิบายภาพ
1. จุดสุดทางถนนพหลโยธิน
2. และ 3. ถนนมิตรภาพเมื่อแรกสร้าง                                      
4. สุดทางเพชรเกษมที่ด่านสะเดา
5. สุดแผ่นดินตะวันออก สุดถนนสุขุมวิท
6. ป้ายที่ขอบวงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
7. จอมพล ป.วันเปิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๓

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น