วันอังคารที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2560

บุญของยายแฟง สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) หรือ หลวงพ่อโต เป็นผู้ที่มีเมตตาสูงมาก ใครขออะไรจากท่าน มักจะไม่ผิดหวัง แม้แต่กัณฑ์เทศน์ ท่านก็ให้ใครต่อใครได้อย่างง่ายดาย ขณะเดียวกันท่านก็ไม่ค่อยถือตัวหรือติดในสมมติ ผู้คนจึงมองว่าท่านมีพฤติกรรมแปลกๆ ไม่เหมือนใคร หาว่าท่านเป็น “พระบ้า” ก็มี อย่างไรก็ตาม หากเป็นเรื่องความถูกต้องแล้ว ท่านเข้มแข็งมั่นคงมาก ไม่ยอมโอนอ่อนเลย แต่ก็มิใช่แข็งกระด้าง หากมีกุศโลบาย สมัยที่ท่านมีสมณศักดิ์เป็นพระเทพกวี ได้รับนิมนต์เข้าไปเทศน์ในจวนของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วงบุนนาค) ซึ่งเป็นขุนนางที่มีอำนาจมากที่สุดในเวลานั้น แม้แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเกรงใจ เมื่อท่านขึ้นธรรมาสน์ ให้ศีลเสร็จ ก็เริ่มแสดงพระธรรมเทศนา ระหว่างนั้นขุนนางที่รับใช้สมเด็จเจ้าพระยาฯ รวมทั้งพวกที่มาจากหัวเมือง พากันหมอบกับพื้นฟังธรรมกันเป็นแถว ตรงข้ามกับสมเด็จเจ้าพระยาฯ กลับนั่งเอกเขนกอยู่บนเก้าอี้ ไขว่ห้างรินน้ำชาฟังเทศน์ หลวงพ่อโตจึงเทศน์ว่า “สัมมามัวรินกินน้ำชา มิจฉาหมอบก้มประนมมือ” สมเด็จเจ้าพระยาฯ ได้ยินก็โมโห ลุกเข้าเรือนไปทันที ส่วนหลวงพ่อโตก็ลงจากธรรมาสน์กลับวัดระฆัง ว่ากันว่าสมเด็จเจ้าพระยาฯ ขุ่นเคืองท่านอยู่นาน อีกคราวหนึ่งท่านได้รับนิมนต์เทศน์ฉลองวัดของยายแฟงยายแฟงผู็นี้เป็นแม่เล้าที่ร่ำรวยจากน้ำพักน้ำแรงของโสเภณี เมื่อยายแฟงมีอายุมากขึ้น อยากทำบุญครั้งใหญ่เพื่อลบรอยบาป จึงบริจาคเงินสร้างวัด ตั้งชื่อว่าวัดใหม่ยายแฟง เมื่อสร้างวัดเสร็จยายแฟงดีใจมากที่สามารถสร้างวัดได้อย่างเศรษฐี แม้มีอาชีพเป็นแม่เล้า เมื่อหลวงพ่อโตขึ้นธรรมาสน์ ท่านได้เทศน์ให้ยายแฟงฟังต่อหน้าว่า “ยายแฟงสร้างวัดครั้งนี้ ได้ผลอานิสงส์บกพร่อง ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะเงินที่สร้างวัดเป็นเงินที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของคนอื่น ที่ไม่ชอบด้วยธรรมเนียม ถ้าเปรียบอานิสงส์นี้ด้วยเงินเหรียญบาท ยายแฟงก็ได้ไม่เต็มบาท จะได้สักสลึงเฟื้องเท่านั้นนี่ว่าอย่างเกรงใจกันนะ” สลึงเฟื้องนั้นเป็นจำนวนเท่ากับค่าตัวของหญิงโสเภณีในซ่องยายแฟง ใครฟังแล้วก็ชอบใจ หัวเราะกันใหญ่ แต่ยายแฟงไม่ขำ ด้วยมีแต่ความขุ่นเคืองใจ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ยายแฟงก็เห็นจริง ตามที่ท่านว่า จึงไม่โกรธเคืองท่านต่อไป วัดใหม่ยายแฟงต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดคณิกาผล เป็นการยกย่องคณิกาอันเป็นที่มาของวัดนี้ ทุกวันนี้น้อยคนที่จะรู้ว่ายายแฟงเป็นคนสร้างวัดนี้ พระไพศาล วิสาโล

บุญของยายแฟง

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) หรือ หลวงพ่อโต เป็นผู้ที่มีเมตตาสูงมาก ใครขออะไรจากท่าน มักจะไม่ผิดหวัง แม้แต่กัณฑ์เทศน์ ท่านก็ให้ใครต่อใครได้อย่างง่ายดาย ขณะเดียวกันท่านก็ไม่ค่อยถือตัวหรือติดในสมมติ ผู้คนจึงมองว่าท่านมีพฤติกรรมแปลกๆ ไม่เหมือนใคร หาว่าท่านเป็น “พระบ้า” ก็มี

อย่างไรก็ตาม หากเป็นเรื่องความถูกต้องแล้ว ท่านเข้มแข็งมั่นคงมาก ไม่ยอมโอนอ่อนเลย แต่ก็มิใช่แข็งกระด้าง หากมีกุศโลบาย สมัยที่ท่านมีสมณศักดิ์เป็นพระเทพกวี ได้รับนิมนต์เข้าไปเทศน์ในจวนของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วงบุนนาค) ซึ่งเป็นขุนนางที่มีอำนาจมากที่สุดในเวลานั้น แม้แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเกรงใจ

เมื่อท่านขึ้นธรรมาสน์ ให้ศีลเสร็จ ก็เริ่มแสดงพระธรรมเทศนา ระหว่างนั้นขุนนางที่รับใช้สมเด็จเจ้าพระยาฯ รวมทั้งพวกที่มาจากหัวเมือง พากันหมอบกับพื้นฟังธรรมกันเป็นแถว ตรงข้ามกับสมเด็จเจ้าพระยาฯ กลับนั่งเอกเขนกอยู่บนเก้าอี้ ไขว่ห้างรินน้ำชาฟังเทศน์

หลวงพ่อโตจึงเทศน์ว่า

“สัมมามัวรินกินน้ำชา มิจฉาหมอบก้มประนมมือ”

สมเด็จเจ้าพระยาฯ ได้ยินก็โมโห ลุกเข้าเรือนไปทันที ส่วนหลวงพ่อโตก็ลงจากธรรมาสน์กลับวัดระฆัง ว่ากันว่าสมเด็จเจ้าพระยาฯ ขุ่นเคืองท่านอยู่นาน

อีกคราวหนึ่งท่านได้รับนิมนต์เทศน์ฉลองวัดของยายแฟงยายแฟงผู็นี้เป็นแม่เล้าที่ร่ำรวยจากน้ำพักน้ำแรงของโสเภณี เมื่อยายแฟงมีอายุมากขึ้น อยากทำบุญครั้งใหญ่เพื่อลบรอยบาป จึงบริจาคเงินสร้างวัด ตั้งชื่อว่าวัดใหม่ยายแฟง เมื่อสร้างวัดเสร็จยายแฟงดีใจมากที่สามารถสร้างวัดได้อย่างเศรษฐี แม้มีอาชีพเป็นแม่เล้า

เมื่อหลวงพ่อโตขึ้นธรรมาสน์ ท่านได้เทศน์ให้ยายแฟงฟังต่อหน้าว่า

“ยายแฟงสร้างวัดครั้งนี้ ได้ผลอานิสงส์บกพร่อง ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะเงินที่สร้างวัดเป็นเงินที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของคนอื่น ที่ไม่ชอบด้วยธรรมเนียม ถ้าเปรียบอานิสงส์นี้ด้วยเงินเหรียญบาท ยายแฟงก็ได้ไม่เต็มบาท จะได้สักสลึงเฟื้องเท่านั้นนี่ว่าอย่างเกรงใจกันนะ”

สลึงเฟื้องนั้นเป็นจำนวนเท่ากับค่าตัวของหญิงโสเภณีในซ่องยายแฟง ใครฟังแล้วก็ชอบใจ หัวเราะกันใหญ่ แต่ยายแฟงไม่ขำ ด้วยมีแต่ความขุ่นเคืองใจ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ยายแฟงก็เห็นจริง ตามที่ท่านว่า จึงไม่โกรธเคืองท่านต่อไป

วัดใหม่ยายแฟงต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดคณิกาผล เป็นการยกย่องคณิกาอันเป็นที่มาของวัดนี้ ทุกวันนี้น้อยคนที่จะรู้ว่ายายแฟงเป็นคนสร้างวัดนี้

พระไพศาล วิสาโล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น