วันจันทร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2560

เมื่อมีความต้องการน้อยลง ชีวิตก็จะช้าลงไปเอง... ทุกวันนี้เรามีเทคโนโลยีทุ่นเวลามากมาย เช่น รถยนต์ หม้อหุงข้าวไฟฟ้า เครื่องต้มน้ำ เตาไมโครเวฟ โทรศัพท์มือถือ ส่วนอุปกรณ์อำนวยความสะดวกแทบทุกชนิดก็ทำงานได้รวดเร็วมากขึ้น ชนิดเปิดปุ๊บติดปั๊บ เช่น โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ แต่น่าแปลกที่เรากลับมีเวลาว่างน้อยลง จนนอกจากจะนอนไม่เพียงพอ และต้องกินอาหารอย่างเร่งรีบแล้ว ยังแทบไม่มีเวลาให้กับคนในครอบครัวด้วยซ้ำ ดูเหมือนว่ายิ่งมีเทคโนโลยีทุ่นเวลามากเท่าไร ชีวิตเรากลับเร่งรีบและวุ่นวายมากเท่านั้น หากเปรียบเทียบกับชีวิตของเราในอดีตหรือของคนชนบทในปัจจุบัน จะเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจน เพราะแม้จะมีเทคโนโลยีไม่มากนัก แต่ชีวิตกลับเนิบช้า และมีเวลาว่างอย่างเห็นได้ชัด ที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งก็เพราะมีสิ่งเสพสิ่งบริโภคไม่มากนั่นเอง การมีสิ่งเสพสิ่งบริโภคมากมาย แม้จะช่วยให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้น แต่ก็ทำให้เรามีเวลาว่างน้อยลง เพราะเสียเวลาไม่ใช่น้อยไปกับสิ่งเหล่านี้ ทุกวันนี้เราเสียเวลาไปกับโทรทัศน์ เครื่องเล่นดีวีดี หรือ mp3 ไปวันละหลายชั่วโมง ไม่นับเวลาที่หมดไปกับอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือ แต่นั่นยังเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเวลาที่เสียไปกับการหาเงินเพื่อครอบครองและรักษาทรัพย์สมบัติอีกมากมาย เช่น บ้านและรถยนต์ สมบัติเหล่านี้ทำให้มาตรฐานการครองชีพสูงขึ้นและสบายขึ้นก็จริง แต่ก็ต้องแลกด้วยเวลาและอะไรต่ออะไรอีกมากมายที่สำคัญของชีวิต เช่น สุขภาพและความสัมพันธ์กับผู้อื่น ใช่หรือไม่ว่ายิ่งมีทรัพย์มาก เวลาว่างก็ยิ่งเหลือน้อยลง แต่หากลองมีทรัพย์ให้น้อยลง หรือใช้ชีวิตให้เรียบง่ายกว่าเดิม จะพบว่าเรามีเวลาว่างมากขึ้น และสามารถทำหลายต่อหลายอย่างที่มีความสำคัญต่อชีวิต เช่น ออกกำลังกาย ทำสมาธิภาวนา มีเวลาอยู่กับครอบครัว ดื่มด่ำกับธรรมชาติรอบตัว กล่าวโดยสรุปคือ ได้ชื่นชมกับชีวิตมากขึ้น ทุกวันนี้ชีวิตที่เร่งรีบทำให้เราหมดเวลาไปกับกิจกรรมต่างๆ ที่เร่งด่วน ทั้งที่สำคัญและไม่สำคัญ (เช่น การไปเที่ยวห้างก่อนหมดเขตเทศกาลลดราคา) จนไม่เหลือเวลาให้กับสิ่งที่ไม่ด่วน แต่สำคัญ ดังกล่าวข้างต้นและเนื่องจากสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ผัดผ่อนได้ จนแล้วจนรอดเราจึงไม่ได้ทำเสียที ต่อเมื่อปัญหาประทุขึ้นมาในที่สุด เช่น เจ็บป่วย จิตสลาย ความสัมพันธ์ร้าวฉาน ถึงตอนนั้นจึงค่อยตื่นตัว ต้องวุ่นและเร่งรีบกับการแก้ปัญหาเหล่านี้ สุดท้ายก็กลายเป็นว่าชีวิตทั้งชีวิตหมดไปกับการวิ่งไล่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าและเร่งให้ทันกำหนดเส้นตาย มารู้ตัวอีกทีก็พบว่ามีเวลาเหลือบนโลกนี้อีกไม่นาน สำหรับการทำสิ่งที่สำคัญต่อชีวิตและจิตใจ ยุคบริโภคนิยมกับชีวิตที่เร่งรีบและวุ่นวายนั้นเป็นสิ่งคู่กันก็ว่าได้ เราถูกกระตุ้นให้อยากไม่รู้จบ ดังนั้นจึงต้องเร่งรีบแสวงหาสิ่งต่างๆ เพื่อสนองความอยาก ยิ่งเร็วเท่าไรยิ่งดี จนความเร็วกลายเป็นพระเจ้าในทุกเรื่อง ไม่ว่าการศึกษา การทำงาน การเดินทาง การบริโภค ความบันเทิง และความสัมพันธ์กับผู้คน เพราะยุคนี้ไม่ใช่ยุคของปลาใหญ่กินปลาเล็กอีกแล้ว แต่เป็นยุคปลาเร็วกินปลาช้า ไม่มีใครอยากจะช้าเพราะกลัวจะเสียเปรียบ เราควรหยุดคิดก่อนที่จะปล่อยชีวิตให้พลัดหลงไปในกระแสแห่งความเร่งรีบอย่างไร้สติ พึงตระหนักว่าเราสามารถกำหนดจังหวะชีวิตของเราเองได้ แม้รอบตัวจะเต็มไปด้วยความโกลาหลวุ่นวายก็ตาม แต่จะทำเช่นนั้นได้ดีเราจำต้องร่วมมือกันเป็นเครือข่าย และใช้ชีวิตให้เรียบง่าย เมื่อมีความต้องการน้อยลง ชีวิตก็จะช้าลงไปเอง... ที่มา : หนังสือ จิตใส ใจสุข : พระไพศาล วิสาโล Cr : www.gotoknow.org

เมื่อมีความต้องการน้อยลง ชีวิตก็จะช้าลงไปเอง...

ทุกวันนี้เรามีเทคโนโลยีทุ่นเวลามากมาย เช่น รถยนต์ หม้อหุงข้าวไฟฟ้า เครื่องต้มน้ำ เตาไมโครเวฟ โทรศัพท์มือถือ ส่วนอุปกรณ์อำนวยความสะดวกแทบทุกชนิดก็ทำงานได้รวดเร็วมากขึ้น ชนิดเปิดปุ๊บติดปั๊บ เช่น โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ แต่น่าแปลกที่เรากลับมีเวลาว่างน้อยลง จนนอกจากจะนอนไม่เพียงพอ และต้องกินอาหารอย่างเร่งรีบแล้ว ยังแทบไม่มีเวลาให้กับคนในครอบครัวด้วยซ้ำ

ดูเหมือนว่ายิ่งมีเทคโนโลยีทุ่นเวลามากเท่าไร ชีวิตเรากลับเร่งรีบและวุ่นวายมากเท่านั้น หากเปรียบเทียบกับชีวิตของเราในอดีตหรือของคนชนบทในปัจจุบัน จะเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจน เพราะแม้จะมีเทคโนโลยีไม่มากนัก แต่ชีวิตกลับเนิบช้า และมีเวลาว่างอย่างเห็นได้ชัด ที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งก็เพราะมีสิ่งเสพสิ่งบริโภคไม่มากนั่นเอง

การมีสิ่งเสพสิ่งบริโภคมากมาย แม้จะช่วยให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้น แต่ก็ทำให้เรามีเวลาว่างน้อยลง เพราะเสียเวลาไม่ใช่น้อยไปกับสิ่งเหล่านี้ ทุกวันนี้เราเสียเวลาไปกับโทรทัศน์ เครื่องเล่นดีวีดี หรือ mp3 ไปวันละหลายชั่วโมง ไม่นับเวลาที่หมดไปกับอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือ แต่นั่นยังเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเวลาที่เสียไปกับการหาเงินเพื่อครอบครองและรักษาทรัพย์สมบัติอีกมากมาย เช่น บ้านและรถยนต์ สมบัติเหล่านี้ทำให้มาตรฐานการครองชีพสูงขึ้นและสบายขึ้นก็จริง แต่ก็ต้องแลกด้วยเวลาและอะไรต่ออะไรอีกมากมายที่สำคัญของชีวิต เช่น สุขภาพและความสัมพันธ์กับผู้อื่น

ใช่หรือไม่ว่ายิ่งมีทรัพย์มาก เวลาว่างก็ยิ่งเหลือน้อยลง แต่หากลองมีทรัพย์ให้น้อยลง หรือใช้ชีวิตให้เรียบง่ายกว่าเดิม จะพบว่าเรามีเวลาว่างมากขึ้น และสามารถทำหลายต่อหลายอย่างที่มีความสำคัญต่อชีวิต เช่น ออกกำลังกาย ทำสมาธิภาวนา มีเวลาอยู่กับครอบครัว ดื่มด่ำกับธรรมชาติรอบตัว กล่าวโดยสรุปคือ ได้ชื่นชมกับชีวิตมากขึ้น

ทุกวันนี้ชีวิตที่เร่งรีบทำให้เราหมดเวลาไปกับกิจกรรมต่างๆ ที่เร่งด่วน ทั้งที่สำคัญและไม่สำคัญ (เช่น การไปเที่ยวห้างก่อนหมดเขตเทศกาลลดราคา) จนไม่เหลือเวลาให้กับสิ่งที่ไม่ด่วน แต่สำคัญ ดังกล่าวข้างต้นและเนื่องจากสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ผัดผ่อนได้ จนแล้วจนรอดเราจึงไม่ได้ทำเสียที ต่อเมื่อปัญหาประทุขึ้นมาในที่สุด เช่น เจ็บป่วย จิตสลาย ความสัมพันธ์ร้าวฉาน ถึงตอนนั้นจึงค่อยตื่นตัว ต้องวุ่นและเร่งรีบกับการแก้ปัญหาเหล่านี้ สุดท้ายก็กลายเป็นว่าชีวิตทั้งชีวิตหมดไปกับการวิ่งไล่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าและเร่งให้ทันกำหนดเส้นตาย มารู้ตัวอีกทีก็พบว่ามีเวลาเหลือบนโลกนี้อีกไม่นาน สำหรับการทำสิ่งที่สำคัญต่อชีวิตและจิตใจ

ยุคบริโภคนิยมกับชีวิตที่เร่งรีบและวุ่นวายนั้นเป็นสิ่งคู่กันก็ว่าได้ เราถูกกระตุ้นให้อยากไม่รู้จบ ดังนั้นจึงต้องเร่งรีบแสวงหาสิ่งต่างๆ เพื่อสนองความอยาก ยิ่งเร็วเท่าไรยิ่งดี จนความเร็วกลายเป็นพระเจ้าในทุกเรื่อง ไม่ว่าการศึกษา การทำงาน การเดินทาง การบริโภค ความบันเทิง และความสัมพันธ์กับผู้คน เพราะยุคนี้ไม่ใช่ยุคของปลาใหญ่กินปลาเล็กอีกแล้ว แต่เป็นยุคปลาเร็วกินปลาช้า ไม่มีใครอยากจะช้าเพราะกลัวจะเสียเปรียบ เราควรหยุดคิดก่อนที่จะปล่อยชีวิตให้พลัดหลงไปในกระแสแห่งความเร่งรีบอย่างไร้สติ พึงตระหนักว่าเราสามารถกำหนดจังหวะชีวิตของเราเองได้ แม้รอบตัวจะเต็มไปด้วยความโกลาหลวุ่นวายก็ตาม แต่จะทำเช่นนั้นได้ดีเราจำต้องร่วมมือกันเป็นเครือข่าย และใช้ชีวิตให้เรียบง่าย

เมื่อมีความต้องการน้อยลง ชีวิตก็จะช้าลงไปเอง...

ที่มา : หนังสือ จิตใส ใจสุข : พระไพศาล วิสาโล
Cr : www.gotoknow.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น