“พระบ้า” ที่น่านับถือ
ตั้งแต่สมัยยังเป็นวัยรุ่น ยังไม่ได้ตัดสินใจละทางโลกอยู่ในผ้าเหลือง นายเงื่อมมีนิสัยใฝ่ธรรมตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ศึกษานักธรรมตรี-โท-เอก มาตั้งแต่ก่อนบวช และมักจะใช้พื้นที่บริเวณบ้าน โต้ธรรมะกับบุรุษไปรษณีย์นายหนึ่งอยู่เสมอ ผลัดกันโต้แย้งแสดงเหตุผลว่าธรรมะข้อไหนเป็นอย่างไร ทำแบบนี้เป็นกิจวัตรทุกเช้า จนเป็นที่รู้กันว่านี่คือเหตุผลที่ทำให้ “นายดาว ใจสะอาด” บุรุษไปรษณีย์นายนั้นไปทำงานสายเป็นประจำ
หลังจากมีอายุครบบวช 20 ปี ฉายาทางธรรม “อินฺทปญฺโญ” ซึ่งแปลว่า ผู้มีปัญญามาก ก็เกิดขึ้น เริ่มเดินอยู่บนครรลองแห่งธรรมจากนั้นก็บวชแบบไม่สึกอีกเลย หลังบวชไม่นาน ท่านก็สามารถออกเทศน์ได้ เพราะศึกษานักธรรมมาล่วงหน้านานแล้ว ว่ากันว่าญาติโยมนิยมฟังเทศน์จากพระรูปนี้มาก เพราะท่านเทศน์ไม่เหมือนรูปอื่นๆ พระรูปอื่นมาถึงก็จะกางใบลาน เทศน์ตามตัวหนังสือ รุ่นไหนมาก็เทศน์เหมือนกัน
แต่ท่านพุทธทาส ใช้วิธีกางใบลาน เริ่มต้นเทศน์ตามธรรมเนียม แต่หยิบเรื่องที่ท่านค้นพบมาแทรก เอาเหตุการณ์ปัจจุบันมาพูดถึง ชาวบ้านก็เลยติดฟังเทศน์จากท่าน ติดมากถึงขนาดถ้ามีพระรูปไหนเทศน์ชนกับท่านในวันเดียวกัน จะไม่มีใครไปฟังเลย จนต้องแก้ปัญหาด้วยการจัดตารางไม่ให้ชนกัน
แล้วก็มาถึงช่วงชีวิตพลิกผัน เมื่อท่านเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเรียนภาษาบาลีและคาดหวังว่าจะได้เจอพระอรหันต์ แต่กลับผิดหวังเมื่อพบว่าพระที่กรุงเทพฯ ไม่เคร่งเท่าพระบ้านนอกเสียด้วยซ้ำ บวกกับนิสัยคิดไม่เหมือนใคร ชอบตีความพระธรรมในความหมายต่างออกไป ทำให้สอบไม่ผ่าน เกิดกลายเป็นความรู้สึกเบื่อหน่ายกรุงเทพฯ จนลั่นวาจากับตัวเองไว้ว่า
“เอาดีที่กรุงเทพฯ ไม่ได้ ก็ต้องกลับมาเอาดีที่บ้านแทน” จึงตัดสินใจหาทางค้นพบพระอรหันต์ด้วยตนเอง มองหาสถานที่ที่จะสามารถสืบทอดการปฏิบัติและเผยแผ่ธรรม จนได้มาเจอเข้ากับวัดร้าง “ตระพังจิก” และกลายมาเป็นสวนโมกข์แห่งแรก เป็นต้นกำเนิดแห่ง “โมกขพลาราม” มาจนถึงทุกวันนี้
80 ปี คืออายุของวัดที่ร้างมานานก่อนท่านจะเข้ามาบุกเบิก เข้ามาอยู่ในป่าเพียงลำพังพร้อมสมบัติติดตัวไม่กี่ชิ้น สร้างเพิงเล็กๆ ขึ้นมาเป็นกุฏิเพื่อเขียน-อ่าน และจำพรรษา ไม่มีแม้กระทั่งมุ้งลวดไว้กันยุง ทั้งที่รู้กันดีว่า ท่ามกลางป่าอับชื้นเช่นนี้ ยุงป่าช่างดุร้ายกระหายเลือดยิ่งนัก แต่ท่านก็ใช้วิธีหลบยุง คือออกจากกุฏิก่อนมืด แล้วค่อยกลับมาใหม่หลัง 2 ทุ่ม และไม่เคยตบฆ่ายุง
ถึงคราวพลาดพลั้ง เผลอลูบตามเนื้อตัวแล้วฆ่าสิ่งมีชีวิตชนิดนี้โดยไม่ตั้งใจ ท่านจะลงโทษตัวเองด้วยการเข้าไปนั่งในป่าให้ยุงกินเลือด ฆ่าไปตัวหนึ่ง ท่านจะชดใช้ให้ยุงกัดกินไปอีก 10-20 ตัว เพื่อทดแทน
ชาวบ้านละแวกนั้นต่างลือกันว่าท่านเป็น “พระบ้า” ที่ส่งมาจากกรุงเทพฯ มารักษาตัวอยู่ที่นี่ เพราะไม่เชื่อว่าพระสติดีๆ ที่ไหนจะมาอยู่ท่ามกลางป่าร้าง อยู่กับสิงสาราสัตว์มากมาย ทั้งกระจง ค่าง กระรอก ไก่ป่า และหมูป่า มีหมด อันตรายรอบตัว แต่ท่านสามารถสร้างความคุ้นเคยกับสถานที่และหาความสุขสงบจากการปฏิบัติธรรมได้
ด้วยศรัทธาอย่างแรงกล้าในพุทธศาสนา เวลาจึงพิสูจน์ว่าท่านไม่ใช่พระบ้า แต่คือพระที่ญาติโยมต่างเคารพศรัทธา เดินทางมากราบไหว้และขอเดินตามรอยท่านนับแต่นั้นมา สมกับนาม “พุทธทาส” ที่มีความหมายว่า ทาสของพระพุทธเจ้า
และนี่คือตอนหนึ่งของบทสวดมนต์ทำวัตรเย็น ซึ่งเป็นที่มาของนาม “พุทธทาส”... “ข้าพเจ้ามอบชีวิตและร่างกายนี้แด่พระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าเป็นทาสของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นนายของข้าพเจ้า เพราะเหตุดั่งว่ามานี้ ข้าพเจ้าจึงชื่อว่า พุทธทาส (ทาสของพระพุทธเจ้า)”
บทความจาก ตามรอย “พุทธทาส” ในมุมที่คุณอาจไม่เคยรู้! โดย ผู้จัดการรายวัน http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9560000065817
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น