วันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

กรมหลวงชุมพรฯ

กรมหลวงชุมพรฯ
"ฮะเบสสมอพลันออกสันดอนไป
ลัดไปเกาะสีชังจนกระทั่งกระโจมไฟ
เที่ยวหาข้าศึกมิได้นึกจะกลับมาใน
ถึงตายตายไป ตายให้แก่ชาติของเรา
พวกเราทุกลำจำเช่นดอกประดู่
วันไหนวันดีบานคลี่พร้อมอยู่
วันไหนร่วงโรยดอกโปรยตกพรู
ทหารเรือเราจงดู ตายเป็นหมู่ให้ชาติไทย"
บทเพลงพระนิพนธ์ดอกประดู่ ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

พระราชประวัติ
      พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้าจอมมารดาโหมด ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๒๓ ทรงพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ เมื่อพระชันษา ๑๓ ปี สมเด็จพระบรมชนกนารถทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จไปทรงศึกษาวิชา ณ ประเทศอังกฤษ พระองค์ทรงเลือกศึกษาวิชาการทหารเรือ ซึ่งนับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้ศึกษาวิชาการทหารเรือในต่างประเทศ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๔๓ ทรงเข้าศึกษาวิชาเดินเรือและการนำร่องที่วิทยาลัยนายเรือกรีนิซจนสำเร็จการศึกษา
       หลังจากที่เสด็จในกรมฯ เสด็จกลับมาแล้ว ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรยศเป็นนายเรือโท (ตำแหน่งเทียบเท่านาวาตรีในปัจจุบัน) พ.ศ. ๒๔๔๓ ทรงรับราชการในกรมทหารเรือ สมเด็จพระบรมชนกนารถทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินบริเวณพระราชวังเดิม ฝั่งธนบุรีเป็นโรงเรียนนายเรือ จากนั้นเสด็จในกรมฯ จึงทรงปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาใหม่ทั้งหมด ในเวลาต่อมาทรงตั้งกองดับเพลิงในกรมทหารเรือขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ เสด็จในกรมฯ ทรงนำคณะนักเรียนไป "อวดธง" ให้ชาวต่างชาติได้รู้จักประเทศไทยว่าเป็น "ประเทศเอกราช" เป็นครั้งแรก นับเป็นเกียรติประวัติแก่ทหารเรือไทย และยังทรงเปลี่ยนสีเรือรบไทยจากสีขาวเป็นสีหมอกตามแบบเรือรบอังกฤษ จนกลายเป็นแบบอย่างมาจนทุกวันนี้
 
       พ.ศ. ๒๔๖๕ เสด็จในกรมฯ ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานที่ดินที่สัตหีบ ให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่กองทัพเรือ เพื่อจะสร้างฐานทัพเรือในภายหลัง ตำแหน่งสุดท้ายที่เสด็จในกรมฯ ทรงดำรงตำแหน่งคือเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ ก่อนจะสิ้นพระชนม์ที่ตำบลทรายรี เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ ประมวลพระชันษา ๔๔ ปี เหตุที่กองทัพเรือเจริญก้าวหน้ามาจนถึงปัจจุบันนี้ ก็ด้วยพระปรีชาสามารถและวิริยะอุตสาหะของเสด็จในกรมฯ ดังนั้นกองทัพเรือจึงได้ขนานนามเสด็จในกรมฯ ว่า "พระบิดาของทหารเรือไทย"
       เสด็จในกรมฯ ทรงโปรดงานอดิเรกหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นทางด้านกีฬา ดนตรี หรือจิตรกรรม นอกจากนี้ยังทรงสนพระทัยในการศึกษาศิลปวิทยา วิชาการแพทย์ และวิชาไสยศาสตร์อีกด้วย
         เสด็จในกรมฯ ทรงพระนิพนธ์เพลงทหารเรือไว้จำนวนหนึ่ง ในปัจจุบันนี้มีเพียง ๓ เพลงเท่านั้นที่ทหารเรือยังคงร้องกันอยู่ แต่เนื้อร้องอาจผิดเพี้ยนไปจากต้นฉบับเดิมของเสด็จในกรมฯ ได้แก่
              ๑) ฮะเบสสมอพลัน (ปัจจุบันชื่อว่าเพลงดอกประดู่)
              ๒) เกิดมาทั้งที มันก็มีอยู่แต่ทุกข์ภัย
              ๓) เกิดมาทั้งที มันก็ดีอยู่แต่เมื่อเป็น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น