เงินตราสยาม มีความหลากหลายในรูปพรรณและสัณฐาน มีความเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย และมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจยิ่ง วิวัฒนาการของเงินตราไทยจึงย้อนอดีตไป ตั้งแต่สมัยก่อนที่มนุษย์จะรู้จักใช้เงินตรา และมีการนำสิ่งของต่างๆมาใช้แทนเงินตรา เช่น เปลือกหอย ลูกปัด กำไล หิน ขวานหิน เป็นต้น โดยนำมาใช้เป็นสื่อกลางสำหรับการแลกเปลี่ยน
เงินตราในยุคแรกเริ่ม ได้มีการขุดพบเงินตราในยุคแรกเริ่ม ในบริเวณที่ตั้งของประเทศไทยในปัจจุบัน ได้แก่ เหรียญเงินฟูนัน ทวารวดี และศรีวิชัย ( เงินนโม และ เงินดอกจันทน์ ) นอกจากนี้ยังมีเงินภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือเงินล้านนา ( เงินเจียง เงินใบไม้ เงินผักชี และเงินท๊อก ) และเงินช้าง ( เงินฮาง เงินฮ้อย เงินลาด และเงินลาดฮ้อย ) เงินตราเหล่านี้เป็นเงินตราก่อนมีการตั้งรัฐไทย จากลักษณะของลวดลายบนเงินตรา แสดงให้เห็นว่าชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ได้รับอิทธิพลจากจีนบ้าง อินเดียบ้าง
เงินพดด้วง
เงินพดด้วง สมัยกรุงสุโขทัยได้มีการผลิตเงินพดด้วงขึ้นใช้ จึงถือได้ว่า “ เงินพดด้วง” เป็นเงินตราของไทยโดยแท้ โดยมีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำแบบใคร และใช้แลกเปลี่ยนหมุนเวียนในประเทศไทยเป็นเวลายาวนานที่สุด ประมาณกว่า 600ปี ตั้งแต่กรุงสุโขทัย อยุธยาจนถึง กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในสมัยรัชกาลที่5เงินพดด้วงผลิตด้วยมือ โดยทำจากแท่งเงินบริสุทธิ์ ทุบปลายทั้งสองข้างให้งอเข้าหากัน มีรูปร่างคล้ายลูกปืนโบราณ ชาวต่างประเทศเรียกเงินชนิดนี้ว่า “Bullet Coin” ในสมัยสุโขทัย ยังไม่มีการผูกขาดการผลิต เงินพดด้วง จึงมีความหลากหลายในเนื้อเงินที่ใช้ทำ ตลอดจนน้ำหนักและขนาด ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ทางการจึงห้ามราษฎรผลิตเงินตราขึ้นเอง เงินพดด้วงจึงได้มาตรฐาน และมีตราประทับ 2 ดวงเป็นสำคัญ คือ ตราประจำแผ่นดินและตราประจำรัชกาล เงินพดด้วงใช้หมุนเวียนอยู่เป็นระยะเวลายาวนาน จนถึงในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเลิกผลิต หลังจากได้ทำสัญญาทางพระราชไมตรีและการค้า เนื่องจากการค้ากับต่างประเทศขยายตัวอย่างรวดเร็ว การผลิตเงินพดด้วงด้วยมือ จึงไม่ทันกับความต้องการ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงมีพระราชดำริ ที่จะใช้เครื่องจักรผลิตแทน เพื่อความรวดเร็วทางการค้า ทรงขอให้คณะทูตที่กำลังจะเดินทางไปเฝ้าสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย ที่กรุงลอนดอน ติดต่อซื้อเครื่องจักรเพื่อนำมาใช้ในการผลิตเงิน จาก บริษัทเทเลอร์และชาลเลน ( Taylor & Challen Limited , Birmingham ) และทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างโรงงานขึ้นที่หน้าพระคลังมหาสมบัติ ซึ่งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อพ.ศ. 2400 มีชื่อเรียกว่า “ โรงกษาปณ์สิทธิการ ”
เหรียญกษาปณ์
เหรียญกษาปณ์ไทย มีการผลิตเหรียญกษาปณ์รูปทรงแบนตามสมัยนิยมขึ้นแทนเงินพดด้วง ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการทำเหรียญกษาปณ์ตราพระเกี้ยวออกใช้ เหรียญที่สำคัญได้แก่ เหรียญเงินตราพระแสงจักร - พระมหามงกุฎ พระเต้า ซึ่งเป็นเหรียญแบนรุ่นแรก ผลิตขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เหรียญเงินบรรณาการ ผลิตจากเครื่องจักรที่สมเด็จพระนางเจ้า วิคตอเรีย ถวายเป็นราชบรรณาการ เหรียญอัฐโสฬส ผลิตเพื่อใช้เป็นเงินปลีกแทนเบี้ยหอย เหรียญนิกเกิลผลิตออกใช้ในสมัยรัชกาลที่ 5 หลังจากที่ได้ทรงปรับปรุงหน่วยเงินจาก ชั่ง ตำลึง บาท มาเป็น บาท และ สตางค์ เป็นต้น จนกระทั่งถึงเหรียญกษาปณ์ ที่ใช้อยู่ในยุคปัจจุบันนี้ สรุปได้ว่า ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการผลิตเหรียญกษาปณ์ ทั้งชนิดที่ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และชนิดที่เป็นเหรียญที่ระลึกออกมาใช้มากที่สุด เนื่องจากพระองค์ทรงครองราชย์นานถึง 42 ปี เหรียญกษาปณ์ที่ผลิตในรัชกาลที่ 6,7 และ 8 ส่วนใหญ่ใช้สตางค์ที่รู้จักกันดีก็คือ สตางค์มีรู ชนิด 10 สตางค์ 5 สตางค์ 1 สตางค์ และครึ่งสตางค์ และเลิกใช้สตางค์มีรูในสมัยรัชกาลที่ 8 นี้เอง สมัยรัชกาลที่ 9 มีการผลิตเหรียญกษาปณ์ ทั้งชนิดที่ใช้หมุนเวียน รวมถึงเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกต่างๆออกมามากมายหลายชนิด และสามารถนำมาใช้ชำระหนี้ได้ เช่นเดียวกับเงินหมุนเวียน เช่น เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเสด็จนิวัติ จากการเสด็จประพาสยุโรป และอเมริกา ในปี พ.ศ. 2504 และเหรียญอื่นๆอีกมากมาย บทบาทของเหรียญกษาปณ์เริ่มลดลง เมื่อการค้าขยายตัวขึ้น จนมีการริเริ่มนำเงินกระดาษมาใช้
ธนบัตรไทย
ธนบัตรไทย วิวัฒนาการของการใช้เงินกระดาษ หรือที่เรียกว่า “ ธนบัตรไทย ” ตั้งแต่ “ หมาย ” “ ใบพระราชทานเงินตรา ” “ อัฐกระดาษ ” “ บัตรธนาคาร ” ซึ่งมีการนำออกมาใช้ครั้งแรก โดยธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ “ตั๋วเงินกระดาษ ” หรือ “ เงินกระดาษหลวง ” มาจนกระทั่งถึงธนบัตรที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ หลังจากรัชกาลที่4 ทรงขึ้นครองราชย์ไม่นาน ปรากฏว่ามีการทำเงินพดด้วงปลอมกันมาก พระองค์จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการทำ “ หมาย ” ขึ้นใช้ นับเป็นเงินกระดาษชนิดแรกของระบบเงินตราไทย ธนบัตรไทยได้มีการเปลี่ยนแปลง รูปแบบ สี ระบบพิมพ์ วัสดุ และเทคนิคในการพิมพ์มาตลอดเวลา ธนบัตรที่มีชื่อแปลก ๆ เช่น “ ธนบัตรหน้าเดียว ” ( แบบหนึ่งพิมพ์หน้าเดียว ) “ ธนบัตรแบบไถนา ” (ด้านหลังเป็นรูปพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ) “ ธนบัตรไว้ทุกข์ ” ( แบบพิมพ์ซึ่งเตรียมไว้ใช้ใน 4 รัฐมลายู ชนิดราคาหนึ่งดอลลาร์ และนำมาแก้เป็นชนิดราคา 50 บาท โดยใช้หมึกดำ และ แดง พิมพ์ทับอักษรจีนและมลายู ) “ ธนบัตรแบบบุก ” หรือ “ Invasion Note ” ( ทางการของทหารอังกฤษจัดพิมพ์ขึ้น เพื่อเตรียมไว้ใช้จ่ายหากสามารถบุกเข้ายึดพื้นที่ในประเทศไทยได้ )
ธนบัตรไทย
ธนบัตรแบบต่างๆที่มีการจัดพิมพ์ ธนบัตรรัฐบาลสยามแบบที่หนึ่ง เป็นธนบัตรแบบแรกของประเทศไทย ประกาศใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2445 - 2468 ธนบัตรรัฐบาลสยามแบบที่สอง ประกาศใช้ตั้งแต่ พ.ศ.2468 - 2471 ธนบัตรรัฐบาลสยามแบบที่สาม ประกาศใช้สมัยรัชกาลที่ 7 กำหนดให้มีตราพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พิมพ์ลงในธนบัตรเป็นครั้งแรก ธนบัตรรัฐบาลสยามแบบที่สี่ พิมพ์ออกใช้ในสมัยรัชกาลที่ 8 มี 5 ชนิด คือ ราคา 1 บาท ( สีฟ้า ) 5 บาท ( สีม่วง ) 10 บาท ( สีน้ำตาล ) 20 บาท ( สีเขียวใบไม้ ) และ 1000 บาท ( สีแดงเข้ม ) ธนบัตรรัฐบาลสยามแบบที่ห้า (รุ่นนายเล้ง ท่าฉาง) ธนบัตรรุ่นนี้พิมพ์ในประเทศญี่ปุ่น โดยขนส่งมาทางเรือแล้วขนขึ้นที่ท่าเรือสิงคโปร์ ลำเลียงมาทางรถไฟเพื่อเข้ากรุงเทพ ขณะที่เดินทางมาถึงสถานีท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ถูกคนร้ายถีบหีบธนบัตรจากตู้รถไฟ ซึ่งเป็นธนบัตรชนิดราคา 5 บาท 10 บาท 20 บาท และ 100 บาท เหตุเกิด เมื่อ วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ซึ่งชาวบ้านเรียกธนบัตรรุ่นนี้ว่า “ ธนบัตรไทยถีบ ” หรือ “ ธนบัตรรุ่นนายเล้งท่าฉาง ” เพราะปลอมลายมือของ นายเล้ง ศรีสมวงศ์ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น ส่วน “ ท่าฉาง ”เป็นชื่อสถานที่ที่คนร้ายถีบหีบธนบัตรลงมา รวมเป็นจำนวนเงินมูลค่าทั้งสิ้น 8,146,800 มาท ธนบัตรแบบที่หก มี 2 ชนิดราคา คือ 20 บาทและ 100 บาท รูปพรรณของธนบัตรเหมือนแบบที่สี่ ธนบัตรแบบที่เจ็ด เป็นธนบัตรที่พิมพ์ใช้เองเหมือนแบบที่สี่และแบบที่หก ธนบัตรแบบที่แปด มี 5 ราคาด้วยกัน คือ1 บาท 5 บาท 10 , 20 และ 100 บาท ธนบัตรแบบที่เก้า เป็นธนบัตรที่ใช้กันนานมากคือ ตั้งแต่ พ.ศ. 2491- 2522 ธนบัตรแบบที่สิบ จัดพิมพ์โดย บริษัทโทมัส เดอ ลารู เป็นธนบัตรที่พิมพ์โดยบริษัทต่างประเทศรุ่นสุดท้าย หลังจากนั้นก็จัดพิมพ์ในประเทศไทยทั้งหมด ธนบัตรแบบที่สิบเอ็ด ได้มีการจัดตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2512 เป็นธนบัตรรุ่นแรกที่จัดพิมพ์โดยโรงพิมพ์ธนบัตรไทย ดำเนินการโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้ออกแบบธนบัตรเป็นช่างชาวอิตาเลียน ธนบัตรโพลิเมอร์ เป็นเงินพลาสติกที่ธนาคารแห่งประเทศไทยใช้แทนธนบัตรกระดาษเป็นครั้งแรก จัดพิมพ์เนื่องในมหามงคลวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในปี พ.ศ. 2539 โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ได้จัดพิมพ์ธนบัตรที่ระลึกราคา 500 บาท แบบพิเศษ ( โพลิเมอร์ ) จำนวน1 ล้านฉบับ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 ซึ่งสามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย เช่นเดียวกับเงินหมุนเวียน และในวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2539 ได้ออกใช้ธนบัตรที่ระลึก ชนิดราคา 50 บาท แบบพิเศษ ( โพลิเมอร์ ) จำนวน 100 ล้านฉบับ
เหรียญทองคำ รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชดำริ จัดทำเหรียญทองคำขึ้นควบคู่ไปกับเหรียญเงิน จึงทรงมีประกาศความว่า " … ตามอย่างเมืองอื่นที่เป็นเมืองแผ่นดินใหญ่ๆนั้น หลายเมืองเมื่อทองคำมีมากขึ้น ผู้ครองแผ่นดินเมืองนั้นๆก็คิดทำเป็นเหรียญทองมีตราหลวงเป็นสำคัญให้ราษฎรใช้ในการกำหนดราคานั้นๆ ไม่ต้องเกี่ยงน้ำหนักแลเนื้อทองตีราคากัน ผู้ใดได้ทองตราทองเหรียญไป เมื่อต้องการเงินมาขอขึ้นเงินต่อคลังหลวง ฤาเศรษฐีเจ้าทรัพย์ก็ได้ ตามกำหนดซึ่งพิกัดไว้ … " จึงเกิดคำว่า " ทองตรา " ขึ้น เหรียญทองคำที่ได้จัดทำขึ้น ตามพระราชดำริของรัชกาลที่ 4 มี 3 ขนาด ขนาดใหญ่ ราคา 8 บาท เทียบเท่ากับ เหรียญทองปอนด์สเตอร์ลิงก์ เรียกว่า " ทศ " ขนาดกลางราคา 4 บาท เรียกว่า " พิศ " ส่วนขนาดเล็ก ราคาสิบสลึง เรียกว่า " พัดดึงส์ " เทียบเท่า 1 ตำลึงจีน ในสมัยต่อมา มีการจัดทำเหรียญทองคำที่ระลึก และเหรียญที่ระลึกที่จัดทำขึ้นในโอกาสพิเศษต่างๆ เช่น เหรียญที่ระลึกพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ระลึกเนื่องใน มหามงคลสมัยพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก รวมถึงเหรียญที่ระลึก พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เป็นต้น |
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น