ประวัติและความเป็นมาขององค์พระปฐมเจดีย์
จังหวัดนครปฐม อยู่ไกลจากกรุงเทพฯ ด้วยระยะทางประมาณ 56 กิโลเมตร พระปฐมเจดีย์เป็นเจดีย์องค์ใหญ่ ตั้งอยู่ในตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม นับว่าเป็นปูชนียสถานที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในไทย สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ทรงส่งสมณทูต มาเผยแผ่พระศาสนา นักปราชญ์ทางโบราณคดีเห็นพ้องกันว่า พระโสณเถระ และพระอุตตรเถระ เป็นสมณทูตและมาตั้งหลักฐานประกาศหลักธรรมคำสอน ที่นครปฐมเป็นครั้งแรกในพุทธศตวรรษที่ 3 และได้สร้างพระเจดีย์ทรงบาตรคว่ำ แบบเจดีย์สาญจิในประเทศอินเดียไว้ มีความสูง 19 วา 2 ศอก
ต่อมาในปี พ.ศ. 2396 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้บูรณะโดยสร้างเจดีย์องค์ใหม่ใหญ่มหึมาหุ้มเจดีย์องค์เดิมไว้ แต่งาน ไม่ทันแล้วเสร็จก็สวรรคต การบูรณะมาเสร็จในสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจดีย์องค์ใหม่มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงกลม รูประฆังคว่ำแบบลังกา มีความสูงจากพื้นดินถึงยอดมงกุฎโดยภายในมีส่วนสูงถึง 3 เส้น 1 คืบ 10 นิ้ว (หรือประมาณ 120.5 เมตร) ฐานวัดโดยรอบ 5 เส้น 17 วา 3 ศอก (หรือประมาณ 233 เมตร) ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ปฏิสังขรณ์พระวิหารหลวง เขียนภาพพระเจดีย์องค์เดิมและภาพต่างๆ ไว้ที่ผนัง รื้อมุขวิหารด้านทิศเหนือสร้างใหม่ เพื่อประดิษฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ศรีอินทราทิตย์ธรรโมภาส มหาวชิราวุธราชบูชนียบพิตร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้มาจากเมืองศรีสัชนาลัยในสภาพชำรุดปรักหักพัง เหลือแต่พระพักตร์ พระกร และพระบาท พระองค์ทรงโปรดให้หล่อพระพุทธรูปนี้ขึ้นมาใหม่ มีความสูง 12 ศอก 4 นิ้ว แล้วนำไปประดิษฐานที่ซุ้มพระปฐมเจดีย์ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2458 และถือว่าวัดพระปฐมเจดีย์เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 6
บริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ยังมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และพระพุทธรูปที่สำคัญอีก เช่น พระพุทธรูปศิลาขาว พระนอน ที่อยู่ทางด้านหลัง องค์พระปฐมเจดีย์ ซึ่งมีความเชื่อว่าการนมัสการพระปฐมเจดีย์ถือเป็นสิริมงคล และได้อานิสงส์อย่างมาก เนื่องจากเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ของพระพุทธเจ้า นอกจากนี้ชาวนครปฐมเชื่อว่าพระร่วงโรจนฤทธิ์นั้น มีความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก หากใครอธิษฐานขอพรสิ่งใดมักจะได้รับสิ่งนั้นสมดังปรารถนา ในทุกประการ และในวันขึ้น 12 ค่ำ ถึงวันแรม 15 ค่ำ เดือน 12 (ประมาณเดือนพฤศจิกายน) ของทุกปี จะมีงานนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ รวม 9 วัน 9 คืน อีกด้วย |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น