๑.การไม่คบคนพาล หรือก็คือคนคิดไม่ดี พูดไม่ดี ทำไม่ดี บุคคลเหล่านี้คือคนที่สามารถชักนำเราไปในทางที่ไม่ดีได้
๒.การคบบัณฑิต คือคนคิดดี พูดดี ทำดี ซึ่งจะชักนำเราไปในทางที่ดี
๓.การบูชาบุคคลที่ควรบูชา หรือก็คือการแสดงความเคารพบุคคลที่น่านับถือ น่ายกย่องเลื่อมใส เช่น พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ญาติผู้ใหญ่
๔.การอยู่ในถิ่นอันสมควร เพราะการมีถิ่นที่อยู่ที่ทำให้อยู่แล้วสบายใจ มีความสุขย่อมทำให้จิตใจสงบ ซึ่งถิ่นอันสมควรอาจหมายถึงที่ ๆ มีความร่มรื่น อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ มีคนดี จิตใจโอบอ้อมอารี ถ้อยทีถ้อยอาศัย มีศีลธรรม เป็นต้น
๕.หมั่นทำบุญ ไม่ว่าจะเป็นทาน ศีล หรือภาวนา
๖.การตั้งตนชอบ ด้วยการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องและสุจริต อยู่ในสัมมาอาชีพ
๗.เป็นผู้ที่ฟังมาก เล่าเรียนมาก หรือที่เรียกว่า พหูสูตนั่นเอง
๘.เป็นผู้รอบรู้ในศิลปะ คือ เป็นผู้ที่สามารถนำความรู้ต่าง ๆ มาใช้ให้บังเกิดผลได้เป็นอย่างดี
๙.เป็นคนมีวินัย เพื่อให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
๑๐.เป็นผู้ที่มีการกลั่นกรอง คำพูดไว้ดีแล้วก่อนจะพูดออกไป
๑๑.รู้จักบำรุงบิดามารดา เพราะความกตัญญูกตเวทีย่อมนำความสุขมาให้
๑๒.เลี้ยงดูลูกให้เป็นคนดี เพราะการเลี้ยงดูลูกให้เป็นคนดี ย่อมทำให้พ่อแม่มีความสุขได้นั่นเอง
๑๓.ดูแลภรรยา คู่ชีวิตให้ดี
๑๔.ดูแลการงาน ไม่ให้คั่งค้าง
๑๕.รู้จักให้ทาน โดยทานในทางพุทธศาสนามี 3 ประเภทคือ อามิสทานคือการให้วัตถุสิ่งของเป็นทาน ธรรมทานหรือการให้ความรู้เป็นทาน และอภัยทาน
๑๖.เป็นผู้ประพฤติธรรม คือ การประพฤติตนให้อยู่ในกรอบของความถูกต้องและความดี รวมถึงหมั่นพัฒนาตนเอง
๑๗.หมั่นสงเคราะห์ญาติ เพราะญาติเปรียบเหมือนต้นไม้ที่เกิดและอยู่รวมกันเป็นป่าดง แต่ละต้นย่อมช่วยปะทะลมพายุให้แก่กันจึงยืนต้นอยู่ได้นาน ดังนั้น การสงเคราะห์ญาติให้เข้มแข็งไม่ต่างกับการสร้างป่าที่ต้นไม้ทุกต้นสามารถอยู่ได้อย่างร่มเย็นนั่นเอง
๑๘.เลือกทำงานที่ไม่มีโทษ หมายถึง งานที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ไม่เบียดเบียนใคร หรือไปสร้างเวรต่อผู้อื่น
๑๙.เป็นผู้ละเว้นจากบาป คือละความชั่วทั้งปวง ทั้งกาย วาจา ใจ เนื่องจากความชั่วทำให้จิตใจเศร้าหมอง
๒๐.สำรวมจากการดื่มน้ำเมา เพราะการละเว้นของมึนเมาให้โทษทุกชนิดที่จะช่วยให้รอดพ้นจากการประพฤติตนในทางเสื่อมเสียได้
๒๑.เป็นคนที่มีสติ กำกับตัวอยู่เสมอไม่ว่าจะคิด จะพูด หรือทำสิ่งใด ๆ
๒๒.มีความเคารพ ตระหนักซาบซึ้งรู้ถึงคุณความดีของบุคคลอื่น ยอมรับนับถือความดีของเขาด้วยใจจริง แล้วแสดงความนับถือต่อผู้นั้นด้วยการแสดงความอ่อนน้อม อ่อนโยน อย่างเหมาะสมทั้งต่อหน้าและลับหลัง
๒๓.มีความถ่อมตน คอยตามพิจารณาข้อบกพร่องของตนเอง ไม่อวดดื้อถือดี
๒๔.มีความสันโดษ คือ รู้จักพอ รู้จักประมาณ ตามมี ตามได้ ตามควรของตน
๒๕.มีความกตัญญู คือ ความรู้คุณ หมายถึงความเป็นผู้มีใจกระจ่าง มีสติ มีปัญญาบริบูรณ์ รู้อุปการคุณที่ผู้อื่นกระทำแล้วแก่ตน
๒๖.การขวนขวายหาเวลาไปฟังธรรม คำสั่งสอนจากผู้มีธรรมะ เพื่อยกระดับจิตใจและสติปัญญาให้สูงขึ้น
๒๗.มีความอดทน หมายถึง การรักษาภาวะปกติไว้ได้ ไม่ว่าจะถูกกระทบกระทั่งด้วยสิ่งอันเป็นที่พึงปรารถนา หรือไม่ก็ตาม
๒๘.เป็นผู้ว่าง่าย คือ คนที่อดทนต่อคำสั่งสอนได้ เมื่อมีผู้รู้แนะนำพร่ำสอนให้ ตักเตือนให้โดยชอบธรรมแล้ว ย่อมปฏิบัติตามคำสอนนั้นโดยความเคารพอ่อนน้อม ไม่คัดค้าน ไม่โต้ตอบ ไม่แก้ตัว
๒๙.การได้เห็นสมณะ สมณะ คือผู้ซึ่งปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบถ้าใครได้เห็นแล้วจะเกิดแรงบันดาลใจให้คิดถึงธรรม
๓๐.มีการสนทนาธรรมตามกาล คือการพูดคุยซักถามธรรมะ เพื่อยกระดับจิตใจและปัญญาในทางธรรมของตน
๓๑.หมั่นบำเพ็ญตบะ หมายถึง การทำความเพียรเผาผลาญกิเลสทุกชนิดให้ทนอยู่ไม่ได้ แล้วใจของเราก็จะผ่องใส หมดทุกข์
๓๒.ประพฤติพรหมจรรย์ หมายถึงการประพฤติตนตามคุณธรรมต่างๆ ในศาสนาให้เคร่งครัดยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้กิเลสฟูกลับขึ้นมา
๓๓.การเห็นอริยสัจ คือความจริงที่มีอยู่คู่โลกแต่ไม่มีใครเห็น จนกระทั่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ แล้วทรงชี้ให้เราดู ได้แก่ทุกข์ คือ ความไม่สบายกายไม่สบายใจต่างๆ สมุทัย คือ สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ นิโรธ คือ ความดับทุกข์ สภาพที่ทุกข์หมดไป และมรรค คือ วิธีปฏิบัติเพื่อไปสู่ความดับทุกข์
๓๔.การทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน เพื่อการดับกิเลส ดับทุกข์ทั้งมวลในสังสารวัฏ
๓๕.มีจิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม คือลาภ ยศ สรรเสริญ สุข
๓๖.มีจิตไม่เศร้าโศก โดยใช้ปัญญาพิจารณาอยู่เนืองๆ ถึงความไม่เที่ยงในสิ่งของทั้งหลาย และร่างกายของเรา
๓๗.มีจิตปราศจากกิเลส อันได้แก่ ราคะคือ ความกำหนัดยินดี รัก อยากได้ โทสะ คือ ความไม่ชอบใจ ความคิดร้าย โมหะ คือ จิตมืดมน ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี ไม่รู้จักบุญบาป
๓๘.มีจิตเกษม คือมีจิตที่เป็นสุขในที่นี้หมายถึงการละแล้วซึ่งกิเลส
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น