ทางขึ้นดอยเป็นดินสีแดง เป็นหลุมเป็นบ่อ
โคลนหนาเฉอะแฉะ รถคืบคลานขึ้นไป
อย่างเชื่องช้า กระนั้นพระองค์ก็เสด็จมาถึงจนได้
เขากับชาวบ้านรอรับเสด็จด้วยใจยินดี
เมื่อพระองค์เสด็จมาถึง ได้พระราชทาน
แกะ ไก่ แพะ ให้เขานำไปแจกจ่ายชาวบ้าน
เขาสืบเชื้อสายเผ่าลาหู่ ปักหลักบนดอยนี้มา
ตั้งแต่จำความได้ บรรพบุรุษของเขาอพยพ
มาจากทิเบตตอนใต้ มาอยู่ที่ภาคเหนือ
นานกว่าศตวรรษแล้ว
เขากราบทูลรายงานว่า ชาวบ้านบนดอยยังคง
ทำไร่เลื่อนลอยและปลูกฝิ่น มองไม่เห็นว่า
จะแก้ปัญหายาเสพติดนี้ได้อย่างไร
พระองค์ทรงสดับตรับฟังเงียบ ๆ
สองปีต่อมา พระองค์เสด็จกลับมาอีกครั้ง
คราวนี้สิ่งที่ทรงติดมาด้วยคือกล้าไม้
มันคือชาพันธุ์อัสสัม หน้าที่ของเขาคือปลูก
และขยายพันธุ์ส่งต่อให้ชาวบ้านปลูกแทนฝิ่น
เขานำชาลงดิน มันเป็นชาต้นแรกที่ได้ฝังราก
ฝากชีวิตในผืนแผ่นดินนี้ และพวกเขาก็จะ
ฝากชีวิตกับมัน
………………
วันเดือนปีเคลื่อนผ่าน ไร่ฝิ่นแปลงเป็นไร่ชา
เขียวขจีทั่วหุบเขา ต่อมาก็ขยายเป็นพื้นที่
ปลูกผลไม้เมืองหนาว
หลังจากปลูกชาและพืชเมืองหนาวแล้ว
พบปัญหาการจำหน่าย พระองค์ก็ทรงมอบเงินทุน
ให้เขาเปิดร้านค้าชาวเขา เป็นศูนย์กลางรับผลผลิตของชาวบ้านมาจำหน่าย
ตรัสกับเขาว่า “อย่าทอดทิ้งชาวบ้าน”
พระองค์ไม่เคยทอดทิ้งพวกเรา... เขาคิด ฉันจะทอดทิ้งชาวบ้านได้อย่างไร
………………
คุณตาจะฟะ ดอยปู่หมื่น ราษฎรในรัชกาลที่ 9
เรื่องหนึ่งจาก 'ท่ามกลางประชาชน : เรื่องเล็ก ๆ ในรัชสมัยอันยิ่งใหญ่'
Cr. วินทร์ เลียววาริณ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น