พระพุทธองค์เคยตรัสสรุปคำสั่งสอนในพุทธธรรมไว้ง่ายๆว่า พระธรรมขันธ์ทั้ง ๘๔,๐๐๐ ข้อนั้น รวมอยู่ในคำเดียว คือคำว่า “วิมุตติ” คือความหลุดพ้น ฟังคำว่า หลุดพ้น แล้วเรามักรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องสูง แต่พระพุทธองค์ทรงยืนยันว่า ต้องมีความหลุดพ้นในชีวิตของเราตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด ต้องมีความหลุดพ้นในทุกระดับของชีวิต
ถ้าเราคำนึงถึงคำนี้ พิจารณาความหมายของคำนี้บ่อยๆ จะทำให้เราเข้าใจหน้าที่ของเรา และวิถีชีวิตที่ดีงามของเราได้ชัดเจนขึ้น เช่น เราให้ทานก็ไตร่ตรองว่า เราให้ทานเพื่ออะไร คำตอบที่ถูกที่สุด คือเราให้ทานเพื่อหลุดพ้น หลุดพ้นอย่างไร หลุดพ้นจากอะไร ก็หลุดพ้นจากความตระหนี่ หลุดพ้นจากความยึดติดในวัตถุ
ฉะนั้นเราทบทวนการให้ทานของเรา การทำบุญของเราเป็นระยะๆ โดยเอาความหลุดพ้นเป็นเครื่องวัด เครื่องตัดสินว่าเราทำบุญแล้ว ความตระหนี่ของเราน้อยลงไหม ความยึดติดในวัตถุน้อยลงไหม ถ้ารู้สึกว่าน้อยลง และความรู้สึกเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความเป็นห่วง ความหวังดีต่อคนรอบข้าง ต่อสังคมเพิ่มมากขึ้น หลุดพ้นจากความหมกมุ่นแต่ในเรื่องของตน ผลประโยชน์ของตน แสดงว่าการให้ทานของเราได้หลักแล้ว ถูกต้องแล้ว
การรักษาศีลของเราก็เช่นเดียวกัน เราควรรู้จักการหลุดพ้นด้วยศีลบ้าง คือหลุดพ้นจากเจตนาจะเบียดเบียนตนเบียดเบียนผู้อื่น วิธีปฏิบัติคือใช้พลังแห่งเจตนางดเว้น ค่อยปราบเจตนาในทางล่วงละเมิด มนุษย์มีดีตรงที่สามารถไม่ทำในสิ่งที่อยากทำเพราะเห็นโทษของมัน
ชยสาโรภิกขุ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น