สาร์ทจีน ตำนานที่ 1
ตำนานนี้กล่าวไว้ว่าวันสารทจีนเป็นวันที่เงี่ยมล้อเทียนจือ (ยมบาล) จะตรวจดูบัญชีวิญญาณคนตาย ส่งวิญญาณดีขึ้นสวรรค์และส่งวิญญาณร้ายลงนรก ชาวจีนทั้งหลายรู้สึกสงสารวิญญาณร้ายจึงทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ ดังนั้นเพื่อให้วิญญาณร้ายออกมารับกุศลผลบุญนี้จึงต้องมีการเปิดประตูนรกนั่นเอง
ตำนานที่ 2
มีชายหนุ่มผู้หนึ่งมีนามว่า “มู่เหลียน” (พระมหาโมคคัลลานะ) เป็นคนเคร่งครัดในพุทธศาสนามาก ผิดกับมารดาที่เป็นคนใจบาปหยาบช้าไม่เคยเชื่อเรื่องนรก-สวรรค์มีจริง ปีหนึ่งในช่วงเทศกาลกินเจนางเกิดความหมั่นไส้คนที่นุ่งขาวห่มขาวถือศีลกินเจ นางจึงให้มู่เหลียนไปเชิญผู้ถือศีลกินเจเหล่านั้นมากินอาหารที่บ้านโดยนางจะทำอาหารเลี้ยงหนึ่งมื้อ
ผู้ถือศีลกินเจต่างพลอยยินดีที่ทราบข่าวว่ามารดาของมู่เหลียนเกิดศรัทธาในบุญกุศลครั้งนี้ จึงพากันมากินอาหารที่บ้านของมู่เหลียนแต่หาทราบไม่ว่าในน้ำแกงเจนั้นมีน้ำมันหมูเจือปนอยู่ด้วย การกระทำของมารดามู่เหลียนนั้นถือว่าเป็นกรรมหนัก เมื่อตายไปจึงตกนรกอเวจีมหานรกขุมที่ 8 เป็นนรกขุมลึกที่สุดได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัส
เมื่อมู่เหลียนคิดถึงมารดาก็ได้ถอดกายทิพย์ลงไปในนรกภูมิ จึงได้รู้ว่ามารดาของตนกำลังอดอยากจึงป้อนอาหารแก่มารดา แต่ได้ถูกบรรดาภูตผีที่อดอยากรุมแย่งไปกินหมดและเม็ดข้าวสุกที่ป้อนนั้นกลับเป็นไฟเผาไหม้ริมฝีปากของมารดาจนพอง แต่ด้วยความกตัญญูและสงสารมารดาที่ได้รับความทุกข์ทรมานอย่างสาหัสมู่เหลียนได้เข้าไปขอพญาเหงี่ยมล่ออ๊อง (ยมบาล) ว่าตนของรับโทษแทนมารดา
แต่ก่อนที่มู่เหลียนจะถูกลงโทษด้วยการนำร่างลงไปต้มในกระทะทองแดง พระพุทธเจ้าได้เสด็จลงมาโปรดไว้ได้ทัน โดยกล่าวว่ากรรมใดใครก่อก็ย่อมจะเป็นกรรมของผู้นั้นและพระพุทธเจ้าได้มอบคัมภีร์อิ๋ว หลันเผิน ให้มู่เหลียนท่องเพื่อเรียกเซียนทุกทิศทุกทางมาช่วยผู้มีพระคุณให้หลุดพ้นจากการอดอยากและทุกข์ทรมานต่าง ๆ ได้ โดยที่มู่เหลียนจะต้องสวดคัมภีร์อิ๋ว หลันเผินและถวายอาหารทุกปีในเดือนที่ประตูนรกเปิดจึงจะสามารถช่วยมารดาของเขาให้พ้นโทษได้
นับแต่นั้นเป็นต้นมา ชาวจีนจึงได้ถือเป็นประเพณีปฏิบัติสืบต่อมากันโดยตลอดด้วยการเซ่นไหว้ โดยจะนำอาหารทั้งคาวหวาน และกระดาษเงินกระดาษทองไปวางไว้ที่หน้าบ้านหรือตามทางแยกที่ไม่ไกลนัก มีนัยว่าเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจของบรรดาวิญญาณเร่ร่อนที่กำลังจะผ่านมาใกล้ที่พักของตนอาหารไหว้วันสารทจีน
– ไก่ หมายถึง ความสง่างาม ยศ และความขยันขันแข็ง ก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ต้องเป็นไก่เต็มตัว หมายถึง มีหัว ตัว ขา ปีก มีความหมายถึง ความสมบูรณ์
– เป็ด หมายถึง สิ่งบริสุทธิ์ ความสะอาด ความสามารถอันหลากหลาย
– ปลา หมายถึง เหลือกินเหลือใช้ อุดมสมบูรณ์
– หมู หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ มีกินมีใช้
– ปลาหมึก หมายถึง เหลือกิน เหลือใช้ (เหมือนปลา)
– บะหมี่ยาวหรือหมี่ซั่ว หรือ ฉางโซ่วเมี่ยน ตามชื่อหมายถึง อายุยืนยาว
– เม็ดบัว หมายถึง การมีบุตรชายจำนวนมาก
– ถั่วตัด หมายถึง แท่งเงิน
– สาหร่ายทะเลสีดำ หมายถึง ความมั่งคั่งร่ำรวย
– หน่อไม้ หมายถึง การอวยพรให้ร่ำรวยผาสุกขนมที่ใช้ไหว้
ในสมัยโบราณชาวจีนใช้ขนมไหว้ 5 อย่าง เรียกว่า โหงวเปี้ย หรือเรียกชื่อเป็นชุดว่า ปัง เปี้ย หมี่ มั่ว กี
ปัง คือขนมทึงปัง เป็นขนมที่ทำมาจากน้ำตาล
เปี้ย คือขนมหนึงเปี้ย คล้ายขนมไข่
หมี่ คือขนมหมี่เท้า ทำมาจากแป้งข้าวเจ้าข้างในไส้เต้าซา
มั่ว คือขนมทึกกี่ เป็นขนมข้าวพองสีแดงตรงกลางมีไส้เป็นแผ่นบาง
กี คือขนมทึงกี ทำเป็นชิ้นใหญ่ยาวเวลาจะกินต้องตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ
แต่ชาวไทยเชื้อสายจีนใช้ขนมเทียน ขนมเข่งในการไหว้ โดยหลักของที่ไหว้ก็จะมีของคาว 3 หรือ 5 อย่าง เช่น ไก่ หมู เป็ด ไข่ หมึก ปลา เป็นต้น ของหวาน 3 หรือ 5 อย่าง เช่น ขนมเทียน ขนมมัดไต้ ขนมถ้วยฟู หรือขนมสาลี่ปุยฝ้าย ขนมเปี๊ยะ ส้ม หรือผลไม้ตามใจชอบขนมไหว้วันสารทจีน
– ขนมเข่ง คือ ความหวานชื่น ราบรื่นในชีวิต ขนมเข่งที่ใส่ในชะลอม หมายถึง ความหวานชื่นอันสมบูรณ์
– ขนมเทียน คือ เป็นขนมที่ปรับปรุงขึ้นจากชาวจีนโพ้นแผ่นดินดัดแปลงมาจากขนมท้องถิ่นของไทย จากขนมใส่ไส้เปลี่ยนจากแป้งข้าวเจ้าผสมกะทิมาเป็นแป้งข้าวเหนียวแทน มีความหมายหวานชื่น ราบรื่น รูปลักษณ์เป็นกรวยแหลมมีลักษณะเป็นมงคลเหมือนเจดีย์
– ขนมไข่ คือ ความเจริญเติบโต
– ขนมถ้วยฟู คือ ความเพิ่มพูนรุ่งเรือง เฟื่องฟู
– ขนมสาลี่ คือ รุ่งเรือง เฟื่องฟู
– ซาลาเปา หรือ หมั่นโถว คือ ไหว้เพื่อให้เปาไช้ แปลว่าห่อโชค
– จันอับ (จั๋งอั๊บ) หมายถึง ปิ่นโต หมายถึงความหวานที่เพิ่มพูน มีความสุขตลอดไป
ผลไม้ไหว้วันสารทจีน
– กล้วย หมายถึง กวักโชคลาภเข้ามา และขอให้มีลูกหลานเต็มบ้านเต็มเมือง
– แอปเปิ้ล หมายถึง ความสันติสุข สันติภาพ
– สาลี่ หมายถึง โชคลาภมาถึง (ควรระวังไม่นิยมไหว้บรรพบุรุษและวิญญาณไร้ญาติ)
– ส้มสีทอง หมายถึง ความสวัสดีมหามงคล
– องุ่น หมายถึง ความเพิ่มพูน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น