วันอาทิตย์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2560

ขอบคุณความทุกข์ องคุลิมาลนั้นเป็นมหาโจร แต่เมื่อบวชเป็นภิกษุก็มีความอ่อนน้อมถ่อมตนและใฝ่ธรรม เมื่อได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าว่าให้รู้จักแสวงหากัลยาณมิตร พระองคุลิมาลน้อมรับคำสอนดังกล่าว จึงได้ไปรู้จักกับพระรูปหนึ่งชื่อพระนันทิยะ ระหว่างที่สนทนากันพระองคุลิมาลได้ถามพระนันทิยะว่า พระพุทธองค์ทรงสอนอะไรบ้าง พระนันทิยะตอบว่า พระพุทธองค์ทรงสอนให้ปล่อยให้วางทั้งข้างหน้า ข้างหลัง และท่ามกลาง ไม่ยึดติดในอดีต อนาคต และปัจจุบัน อารมณ์ใดที่พอใจหรือไม่น่าพอใจก็ให้วางเอาไว้ พบอารมณ์ที่พอใจที่เรียกว่าอิฏฐารมณ์ก็ไม่ยินดี พบอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจที่เรียกว่าอนิฏฐารมณ์ก็ไม่ยินร้าย ใครเขาด่าว่าอะไรก็กองคำด่าว่าไว้ตรงนั้น ไม่ต้องพาติดตัวไปด้วย เมื่อวางแล้วใจก็เป็นปกติไม่ทุกข์ ตอนท้ายท่านได้กล่าวว่า “ผู้ที่รู้จักถือเอาประโยชน์ทั้งจากอิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์ พระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญว่าเป็นบัณฑิต” เวลาที่มีผัสสะมากระทบกับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ว่าจะดีหรือร้าย ไม่ว่าจะเป็นอิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์ โดยเฉพาะอนิฏฐารมณ์ ถ้าเกี่ยวข้องกับมันไม่เป็น ก็จะเกิดทุกข์ใจ ดังนั้นอย่างแรกที่เราควรทำก็คือ รู้จักรักษาใจไม่ให้ทุกข์ ถ้าเราเผลอปล่อยใจให้ทุกข์ ก็ถือว่าไม่ได้ทำหน้าที่ที่พึงมีต่อจิตใจของตัวเอง คนที่บอกว่ารักตัวเอง แต่พอมีเหตุการณ์มากระทบ ก็ปล่อยใจให้ทุกข์ระทม โศกเศร้าเสียใจ อย่างนั้นถือว่าไม่รักตัวเอง เมื่อรักษาใจให้ปกติแล้ว ขั้นต่อไปคือต้องรู้จักหาประโยชน์จากสิ่งที่เกิดขึ้นด้วย คุณสมบัติที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวพุทธคือรู้จักหาประโยชน์จากสิ่งต่างๆ ไม่ว่าดีหรือร้าย หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ เคยกล่าวว่า "นักภาวนาต้องรู้จักฉวยโอกาส" ฉวยโอกาสในที่นี้หมายความว่า ใช้ทุกโอกาสและทุกอย่างที่เกิดขึ้นเพื่อการปฏิบัติธรรมหรือพัฒนาจิตใจ เช่น ไม่ว่าทำอะไร อยู่ที่ไหน ก็ภาวนาอยู่เสมอ รวมทั้งไม่ว่ามีอะไรเกิดขึ้นก็ใช้สิ่งนั้นให้เป็นประโยชน์แก่การภาวนาหรือพัฒนาจิตใจ แม้จะเป็นสิ่งที่ย่ำแย่ก็ตาม คนส่วนใหญ่พอเจอเหตุร้ายหรือสิ่งที่ไม่น่าพอใจ คืออนิฏฐารมณ์ ก็เป็นทุกข์เลย แบบนี้เรียกว่าขาดทุน บางคนขาดทุนสองต่อสามต่อ เช่น เมื่อเงินหาย ใจก็เสีย สุขภาพก็แย่ เลยเสียงานด้วย พอหงุดหงิดก็ระบายอารมณ์ใส่คนรอบข้างก็เสียสัมพันธภาพอีก เรียกว่าขาดทุนหลายต่อเลย แต่คนที่ฉลาดหรือนักปฏิบัติจะไม่ขาดทุน อย่างน้อยต้องเสมอตัวก่อน คือใจเป็นปกติไม่ทุกข์ แล้วทำให้ดีกว่านั้นก็คือได้กำไร ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเราแม้จะแย่เพียงใดก็มีประโยชน์ทั้งนั้นถ้ารู้จักมอง การรู้จักมอง เรียกว่า โยนิโสมนสิการ การรักษาใจให้ปกติ รักษาใจไม่ให้ทุกข์ทำได้หลายวิธี เช่น มีสติ เมื่อมีสติ สติจะช่วยรักษาใจไม่ให้ยินดียินร้าย ไม่ให้ฟูหรือแฟบ เมื่อเกิดอารมณ์อกุศลขึ้นมา ใจก็ไม่เข้าไปเป็น ไม่เข้าไปยึดอารมณ์นั้น มีความโกรธเกิดขึ้นก็เห็น แต่ไม่เข้าไปเป็น เห็นความโกรธแต่ไม่เป็นผู้โกรธ เหมือนเรายืนมองกองไฟ กองไฟจะร้อนแค่ไหน แต่หากเรายืนดูอยู่ห่างๆ ก็จะไม่รู้สึกร้อน การถอยออกมาเป็นผู้ดูทำให้กายไม่ร้อน ใจก็เช่นกัน เมื่อถอยออกมาเป็นผู้ดู ใจก็ไม่ทุกข์ ใจเป็นปกติได้ อีกวิธีที่ทำให้ใจไม่ทุกข์คือ ยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดาโลก เป็นธรรมดาที่ทุกชีวิตต้องประสบ หรือยอมรับว่ามันเกิดขึ้นแล้ว ตีโพยตีพายไปก็ไม่เกิดประโยชน์ การมองแง่ดีเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น เพราะเห็นข้อดีของมัน จึงไม่ปฏิเสธไม่ผลักไส หรือไม่ก็เพราะเห็นว่าจะเกิดโทษตามมาถ้าไม่ยอมรับหรือปฏิเสธผลักไส เหล่านี้เป็นวิธีการที่ช่วยทำให้เรายอมรับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะย่ำแย่แค่ไหน ใจก็ไม่เป็นทุกข์ สามารถทรงตัวเป็นปกติได้ อย่างนี้เรียกว่าเสมอตัว แต่เราสามารถทำได้มากกว่านั้น คือหากำไรจากสิ่งที่เกิดขึ้นด้วย เช่น เงินหาย โทรศัพท์หาย พอมีสติ ก็มีปัญญาเห็นว่า มันเป็นเรื่องธรรมดา จากนั้นก็มองต่อไปว่าเราจะได้ประโยชน์อะไรจากเหตุการณ์นี้บ้าง ก็พบว่ามันเป็นแบบฝึกหัดให้เรารู้จักปล่อยวาง มันสอนธรรมว่าไม่มีอะไรสักอย่างที่จีรังยั่งยืน ไม่มีอะไรสักอย่างที่เป็นของเราอย่างแท้จริง ถ้าเรามองอย่างนี้ก็ได้กำไร การรู้จักหาประโยชน์จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ช่วยทำให้ใจเป็นปกติได้มากขึ้น มีชาวอังกฤษคนหนึ่งชื่อจอห์น โรเจอส์ อายุประมาณ ๖๐ปี วันหนึ่งขณะกำลังจูงหมาเดินเล่น จู่ๆ ก็มีผู้หญิงคนหนึ่งเข้ามากระแทกหลังจนล้มลง ทีแรกเขานึกว่าเพื่อนมาหยอกเล่น ปรากฏว่าไม่ใช่ ผู้หญิงคนนั้นเขาไม่รู้จักเลย จากนั้นผู้หญิงแปลกหน้าก็เอามีดจ้วงแทงตามลำตัว แขน ขา รวมทั้งหมดประมาณ ๔๐ แผล เสร็จแล้วก็หนีไป ปล่อยให้ชายผู้นั้นนอนจมกองเลือด โชคดีที่มีคนเห็นเหตุการณ์ พาส่งโรงพยาบาลได้ทัน เขาจึงรอดตาย เขามารู้ภายหลังว่าก่อนหน้านั้น ๑๐ วันมีคนตายเพราะฝีมือผู้หญิงคนนั้นไปแล้วสามราย และบาดเจ็บสาหัสสองราย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือตัวเขา ทั้งหมดนี้ไม่เคยรู้จักหรือมีเรื่องโกรธแค้นกับเธอเลยเลย ต่อมาผู้หญิงคนนั้นถูกจับได้ มีนักข่าวไปสัมภาษณ์ชายผู้นี้ว่า มีอะไรอยากจะบอกผู้หญิงคนนี้ไหม เขาตอบว่า "ผมอยากถามว่าทำไมเธอต้องทำอย่างนี้ ช่วยบอกผมด้วย” น้ำเสียงของเขาไม่บ่งบอกถึงความโกรธแค้นเลย นักข่าวถามต่อว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ชีวิตเขาเปลี่ยนแปลงบ้างหรือเปล่า เขาตอบว่า “ผมได้คิดว่าวันหนึ่งผมตื่นขึ้นมาแต่เช้า แล้วอาจโดนรถเมล์แล่นทับตายก็ได้ เราไม่รู้หรอกว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิต ฉะนั้นพยายามทำสิ่งที่ดีสุดทุกวันดีกว่า " จอห์น โรเจอส์เป็นตัวอย่างของคนที่เมื่อประสบเหตุร้ายแล้ว เขาสามารถรักษาใจให้ไม่ทุกข์ได้ คนส่วนใหญ่หากเจอเหตุการณ์แบบนี้ ถ้าไม่โกรธแค้นก็จะตีอกชกหัวว่า "ทำไมถึงต้องเป็นฉัน" หรืออาจจะคิดว่า "ทำไมซวยเหลือเกิน ทำบาปทำกรรมอะไรไว้จึงเคราะห์ร้ายอย่างนี้" การคิดอย่างนี้จะยิ่งซ้ำเติมจิตใจให้ย่ำแย่ลง แต่ชายผู้นี้ไม่มีความรู้สึกแบบนั้นเลย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเขาให้อภัยผู้หญิงคนนั้น ใช่แต่เท่านั้น เขายังรู้จักหาประโยชน์จากเหตุการณ์นี้ กล่าวคือ ใช้เป็นเครื่องเตือนใจให้ไม่ประมาทกับชีวิต และทำให้ได้คิดว่าต้องทำวันนี้ให้ดีที่สุด หรือทำสิ่งที่ดีที่สุดตั้งแต่วันนี้ ซึ่งตรงกับที่พระพุทธเจ้าสอนเรื่องความไม่ประมาทว่า "ความเพียรเป็นสิ่งที่ต้องทำวันนี้ ใครจะรู้ความตายแม้พรุ่งนี้" แม้ชาวอังกฤษคนนี้จะไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ แต่ท่าทีของเขาสอดคล้องกับคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้น แม้จะเป็นเหตุการณ์ที่เลวร้ายแค่ไหนก็ตาม ล้วนมีประโยชน์ทั้งสิ้น อยู่ที่ว่าเรารู้จักมองหรือเปล่า ความเจ็บป่วยก็เช่นกันมีประโยชน์หากรู้จักมอง มันสามารถสอนธรรมให้แก่เรา ว่าชีวิตนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตน เวลาที่เราสบายดี เราไม่เคยคิดว่าร่างกายนี้เต็มไปด้วยความเจ็บป่วย หรือเป็นรังของโรค เราไม่เคยตระหนักว่าร่างกายเสื่อมสลายอยู่ตลอดเวลา พอเจ็บป่วยถึงรู้ว่า ร่างกายไม่ได้อยู่ในอำนาจบงการของเราเลย สั่งให้หายเจ็บป่วยก็ทำไม่ได้ บางทีแค่จะยกมือก็ยังยกไม่ขึ้น ท่านอาจารย์พุทธทาสบอกว่า “ความเจ็บป่วยมาเตือนให้เราฉลาด” กล่าวคือฉลาดในเรื่องไตรลักษณ์ แต่คนบางคนเจอความเจ็บป่วยก็ยังดื้อด้าน ไม่เปิดรับธรรมที่ความเจ็บป่วยมาสอน อย่างนี้จะขาดทุนมาก นอกจากจะไม่ได้ธรรมมาเป็นกำไรแล้ว ยังต้องเจ็บป่วยทั้งกายและใจอีกด้วย เมื่อเจอความทุกข์ ก็ให้ทุกข์แค่กาย หรือเสียแค่ทรัพย์ แต่อย่าปล่อยให้ใจเป็นทุกข์ด้วย เมื่อตั้งสติได้แล้วก็ลองใคร่ครวญดี ๆ จะพบว่ามันมีประโยชน์ไม่น้อย ถึงตอนนั้นเราคงอดไม่ได้ที่จะขอบคุณความทุกข์ พระไพศาล วิสาโล

ขอบคุณความทุกข์

องคุลิมาลนั้นเป็นมหาโจร แต่เมื่อบวชเป็นภิกษุก็มีความอ่อนน้อมถ่อมตนและใฝ่ธรรม เมื่อได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าว่าให้รู้จักแสวงหากัลยาณมิตร พระองคุลิมาลน้อมรับคำสอนดังกล่าว จึงได้ไปรู้จักกับพระรูปหนึ่งชื่อพระนันทิยะ ระหว่างที่สนทนากันพระองคุลิมาลได้ถามพระนันทิยะว่า พระพุทธองค์ทรงสอนอะไรบ้าง

พระนันทิยะตอบว่า พระพุทธองค์ทรงสอนให้ปล่อยให้วางทั้งข้างหน้า ข้างหลัง และท่ามกลาง ไม่ยึดติดในอดีต อนาคต และปัจจุบัน อารมณ์ใดที่พอใจหรือไม่น่าพอใจก็ให้วางเอาไว้ พบอารมณ์ที่พอใจที่เรียกว่าอิฏฐารมณ์ก็ไม่ยินดี พบอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจที่เรียกว่าอนิฏฐารมณ์ก็ไม่ยินร้าย ใครเขาด่าว่าอะไรก็กองคำด่าว่าไว้ตรงนั้น ไม่ต้องพาติดตัวไปด้วย เมื่อวางแล้วใจก็เป็นปกติไม่ทุกข์ ตอนท้ายท่านได้กล่าวว่า “ผู้ที่รู้จักถือเอาประโยชน์ทั้งจากอิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์ พระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญว่าเป็นบัณฑิต”

เวลาที่มีผัสสะมากระทบกับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ว่าจะดีหรือร้าย ไม่ว่าจะเป็นอิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์ โดยเฉพาะอนิฏฐารมณ์ ถ้าเกี่ยวข้องกับมันไม่เป็น ก็จะเกิดทุกข์ใจ ดังนั้นอย่างแรกที่เราควรทำก็คือ รู้จักรักษาใจไม่ให้ทุกข์ ถ้าเราเผลอปล่อยใจให้ทุกข์ ก็ถือว่าไม่ได้ทำหน้าที่ที่พึงมีต่อจิตใจของตัวเอง คนที่บอกว่ารักตัวเอง แต่พอมีเหตุการณ์มากระทบ ก็ปล่อยใจให้ทุกข์ระทม โศกเศร้าเสียใจ อย่างนั้นถือว่าไม่รักตัวเอง

เมื่อรักษาใจให้ปกติแล้ว ขั้นต่อไปคือต้องรู้จักหาประโยชน์จากสิ่งที่เกิดขึ้นด้วย คุณสมบัติที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวพุทธคือรู้จักหาประโยชน์จากสิ่งต่างๆ ไม่ว่าดีหรือร้าย หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ เคยกล่าวว่า "นักภาวนาต้องรู้จักฉวยโอกาส" ฉวยโอกาสในที่นี้หมายความว่า ใช้ทุกโอกาสและทุกอย่างที่เกิดขึ้นเพื่อการปฏิบัติธรรมหรือพัฒนาจิตใจ เช่น ไม่ว่าทำอะไร อยู่ที่ไหน ก็ภาวนาอยู่เสมอ รวมทั้งไม่ว่ามีอะไรเกิดขึ้นก็ใช้สิ่งนั้นให้เป็นประโยชน์แก่การภาวนาหรือพัฒนาจิตใจ แม้จะเป็นสิ่งที่ย่ำแย่ก็ตาม

คนส่วนใหญ่พอเจอเหตุร้ายหรือสิ่งที่ไม่น่าพอใจ คืออนิฏฐารมณ์ ก็เป็นทุกข์เลย แบบนี้เรียกว่าขาดทุน บางคนขาดทุนสองต่อสามต่อ เช่น เมื่อเงินหาย ใจก็เสีย สุขภาพก็แย่ เลยเสียงานด้วย พอหงุดหงิดก็ระบายอารมณ์ใส่คนรอบข้างก็เสียสัมพันธภาพอีก เรียกว่าขาดทุนหลายต่อเลย แต่คนที่ฉลาดหรือนักปฏิบัติจะไม่ขาดทุน อย่างน้อยต้องเสมอตัวก่อน คือใจเป็นปกติไม่ทุกข์ แล้วทำให้ดีกว่านั้นก็คือได้กำไร ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเราแม้จะแย่เพียงใดก็มีประโยชน์ทั้งนั้นถ้ารู้จักมอง การรู้จักมอง เรียกว่า โยนิโสมนสิการ

การรักษาใจให้ปกติ รักษาใจไม่ให้ทุกข์ทำได้หลายวิธี เช่น มีสติ เมื่อมีสติ สติจะช่วยรักษาใจไม่ให้ยินดียินร้าย ไม่ให้ฟูหรือแฟบ เมื่อเกิดอารมณ์อกุศลขึ้นมา ใจก็ไม่เข้าไปเป็น ไม่เข้าไปยึดอารมณ์นั้น มีความโกรธเกิดขึ้นก็เห็น แต่ไม่เข้าไปเป็น เห็นความโกรธแต่ไม่เป็นผู้โกรธ เหมือนเรายืนมองกองไฟ กองไฟจะร้อนแค่ไหน แต่หากเรายืนดูอยู่ห่างๆ ก็จะไม่รู้สึกร้อน การถอยออกมาเป็นผู้ดูทำให้กายไม่ร้อน ใจก็เช่นกัน เมื่อถอยออกมาเป็นผู้ดู ใจก็ไม่ทุกข์ ใจเป็นปกติได้

อีกวิธีที่ทำให้ใจไม่ทุกข์คือ ยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดาโลก เป็นธรรมดาที่ทุกชีวิตต้องประสบ หรือยอมรับว่ามันเกิดขึ้นแล้ว ตีโพยตีพายไปก็ไม่เกิดประโยชน์ การมองแง่ดีเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น เพราะเห็นข้อดีของมัน จึงไม่ปฏิเสธไม่ผลักไส หรือไม่ก็เพราะเห็นว่าจะเกิดโทษตามมาถ้าไม่ยอมรับหรือปฏิเสธผลักไส

เหล่านี้เป็นวิธีการที่ช่วยทำให้เรายอมรับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะย่ำแย่แค่ไหน ใจก็ไม่เป็นทุกข์ สามารถทรงตัวเป็นปกติได้ อย่างนี้เรียกว่าเสมอตัว แต่เราสามารถทำได้มากกว่านั้น คือหากำไรจากสิ่งที่เกิดขึ้นด้วย เช่น เงินหาย โทรศัพท์หาย พอมีสติ ก็มีปัญญาเห็นว่า มันเป็นเรื่องธรรมดา จากนั้นก็มองต่อไปว่าเราจะได้ประโยชน์อะไรจากเหตุการณ์นี้บ้าง ก็พบว่ามันเป็นแบบฝึกหัดให้เรารู้จักปล่อยวาง มันสอนธรรมว่าไม่มีอะไรสักอย่างที่จีรังยั่งยืน ไม่มีอะไรสักอย่างที่เป็นของเราอย่างแท้จริง ถ้าเรามองอย่างนี้ก็ได้กำไร การรู้จักหาประโยชน์จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ช่วยทำให้ใจเป็นปกติได้มากขึ้น

มีชาวอังกฤษคนหนึ่งชื่อจอห์น โรเจอส์ อายุประมาณ ๖๐ปี วันหนึ่งขณะกำลังจูงหมาเดินเล่น จู่ๆ ก็มีผู้หญิงคนหนึ่งเข้ามากระแทกหลังจนล้มลง ทีแรกเขานึกว่าเพื่อนมาหยอกเล่น ปรากฏว่าไม่ใช่ ผู้หญิงคนนั้นเขาไม่รู้จักเลย จากนั้นผู้หญิงแปลกหน้าก็เอามีดจ้วงแทงตามลำตัว แขน ขา รวมทั้งหมดประมาณ ๔๐ แผล เสร็จแล้วก็หนีไป ปล่อยให้ชายผู้นั้นนอนจมกองเลือด โชคดีที่มีคนเห็นเหตุการณ์ พาส่งโรงพยาบาลได้ทัน เขาจึงรอดตาย เขามารู้ภายหลังว่าก่อนหน้านั้น ๑๐ วันมีคนตายเพราะฝีมือผู้หญิงคนนั้นไปแล้วสามราย และบาดเจ็บสาหัสสองราย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือตัวเขา ทั้งหมดนี้ไม่เคยรู้จักหรือมีเรื่องโกรธแค้นกับเธอเลยเลย

ต่อมาผู้หญิงคนนั้นถูกจับได้ มีนักข่าวไปสัมภาษณ์ชายผู้นี้ว่า มีอะไรอยากจะบอกผู้หญิงคนนี้ไหม เขาตอบว่า "ผมอยากถามว่าทำไมเธอต้องทำอย่างนี้ ช่วยบอกผมด้วย” น้ำเสียงของเขาไม่บ่งบอกถึงความโกรธแค้นเลย

นักข่าวถามต่อว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ชีวิตเขาเปลี่ยนแปลงบ้างหรือเปล่า เขาตอบว่า “ผมได้คิดว่าวันหนึ่งผมตื่นขึ้นมาแต่เช้า แล้วอาจโดนรถเมล์แล่นทับตายก็ได้ เราไม่รู้หรอกว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิต ฉะนั้นพยายามทำสิ่งที่ดีสุดทุกวันดีกว่า "

จอห์น โรเจอส์เป็นตัวอย่างของคนที่เมื่อประสบเหตุร้ายแล้ว เขาสามารถรักษาใจให้ไม่ทุกข์ได้ คนส่วนใหญ่หากเจอเหตุการณ์แบบนี้ ถ้าไม่โกรธแค้นก็จะตีอกชกหัวว่า "ทำไมถึงต้องเป็นฉัน" หรืออาจจะคิดว่า "ทำไมซวยเหลือเกิน ทำบาปทำกรรมอะไรไว้จึงเคราะห์ร้ายอย่างนี้" การคิดอย่างนี้จะยิ่งซ้ำเติมจิตใจให้ย่ำแย่ลง แต่ชายผู้นี้ไม่มีความรู้สึกแบบนั้นเลย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเขาให้อภัยผู้หญิงคนนั้น

ใช่แต่เท่านั้น เขายังรู้จักหาประโยชน์จากเหตุการณ์นี้ กล่าวคือ ใช้เป็นเครื่องเตือนใจให้ไม่ประมาทกับชีวิต และทำให้ได้คิดว่าต้องทำวันนี้ให้ดีที่สุด หรือทำสิ่งที่ดีที่สุดตั้งแต่วันนี้ ซึ่งตรงกับที่พระพุทธเจ้าสอนเรื่องความไม่ประมาทว่า "ความเพียรเป็นสิ่งที่ต้องทำวันนี้ ใครจะรู้ความตายแม้พรุ่งนี้"

แม้ชาวอังกฤษคนนี้จะไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ แต่ท่าทีของเขาสอดคล้องกับคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้น แม้จะเป็นเหตุการณ์ที่เลวร้ายแค่ไหนก็ตาม ล้วนมีประโยชน์ทั้งสิ้น อยู่ที่ว่าเรารู้จักมองหรือเปล่า

ความเจ็บป่วยก็เช่นกันมีประโยชน์หากรู้จักมอง มันสามารถสอนธรรมให้แก่เรา ว่าชีวิตนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตน เวลาที่เราสบายดี เราไม่เคยคิดว่าร่างกายนี้เต็มไปด้วยความเจ็บป่วย หรือเป็นรังของโรค เราไม่เคยตระหนักว่าร่างกายเสื่อมสลายอยู่ตลอดเวลา พอเจ็บป่วยถึงรู้ว่า ร่างกายไม่ได้อยู่ในอำนาจบงการของเราเลย สั่งให้หายเจ็บป่วยก็ทำไม่ได้ บางทีแค่จะยกมือก็ยังยกไม่ขึ้น

ท่านอาจารย์พุทธทาสบอกว่า “ความเจ็บป่วยมาเตือนให้เราฉลาด” กล่าวคือฉลาดในเรื่องไตรลักษณ์ แต่คนบางคนเจอความเจ็บป่วยก็ยังดื้อด้าน ไม่เปิดรับธรรมที่ความเจ็บป่วยมาสอน อย่างนี้จะขาดทุนมาก นอกจากจะไม่ได้ธรรมมาเป็นกำไรแล้ว ยังต้องเจ็บป่วยทั้งกายและใจอีกด้วย

เมื่อเจอความทุกข์ ก็ให้ทุกข์แค่กาย หรือเสียแค่ทรัพย์ แต่อย่าปล่อยให้ใจเป็นทุกข์ด้วย เมื่อตั้งสติได้แล้วก็ลองใคร่ครวญดี ๆ จะพบว่ามันมีประโยชน์ไม่น้อย ถึงตอนนั้นเราคงอดไม่ได้ที่จะขอบคุณความทุกข์

พระไพศาล วิสาโล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น