"ให้ลูกน้อยช่วยทำงานบ้านดีอย่างไร
และทำได้อย่างไร?"
งานบ้านเป็นขั้นตอนหนึ่งของพัฒนาการเด็ก
ซึ่งอยู่ภายใต้หลักการพัฒนาทีละขั้น เช่นเดียวกับหลายๆ เรื่อง กล่าวคือหากทำขั้นนี้ได้ดี ขั้นถัดไปก็จะง่ายและดีเอง
1. พัฒนาการเด็กเริ่มต้นที่ร่างกายของตนเองเป็นศูนย์กลาง ก่อนจะขยายออกไปภายนอกร่างกาย
งานบ้านเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการนี้ เริ่มจากขั้นที่ 1 คือ เด็กเล็กต้องได้รับการฝึกดูแลร่างกายของตนเอง ได้แก่ ฉี่ อึ กิน แปรงฟัน อาบน้ำ ถูขี้ไคล ฯลฯ การฝึกทำงานเรื่องร่างกายตัวเองนี้ เราใช้หลัก "1-ทำให้ดู 2-จับมือทำ 3-ทำด้วยกัน 4-ปล่อยเขาทำ"
2. ขั้นที่ 2 คือ เด็กเล็กต้องได้รับการฝึกทำงานบ้านรอบร่างกายของตัวเอง ได้แก่ เก็บที่นอน เทกระโถน เก็บยาสีฟันและแปรงสีฟัน เก็บผ้าเช็ดตัว โยนผ้าที่จะซักลงตะกร้า เอาผ้าในตะกร้าไปลงถังซัก ช่วยตากเสื้อผ้าของตัวเอง เก็บรองเท้า ล้างรองเท้า เก็บจานข้าวตนเองไปล้าง ฯลฯ จะเห็นว่าเริ่มเยอะ ทั้งหมดนี้ยังอยู่ใต้หลัก 4 ข้อ "1-ทำให้ดู 2-จับมือทำ 3-ทำด้วยกัน 4-ปล่อยเขาทำ"
3. การดูแลร่างกายของตัว และการทำงานบ้านรอบร่างกายของตัวเป็นงานที่ทำให้สนุกได้ แต่ต้องการเวลาของพ่อแม่มาก ทั้งเวลาที่จะ "เล่นทำงานบ้านด้วยกัน" และเวลา "เก็บรายละเอียดในภายหลัง" งานนี้เหนื่อยกว่าและไม่ง่ายเท่าเล่นดินเล่นทรายหรืออ่านหนังสือก่อนนอน พ่อแม่จำนวนหนึ่งคิดว่าทำเองเร็วกว่า แต่นั่นท่านกำลังนำชีวิตของท่านเองเข้าสู่โหมด "สบายก่อนลำบากทีหลัง"
4. การดูแลร่างกายของตัวและการทำงานบ้านรอบร่างกายของตัว เป็นกระบวนการสำรวจ ร่างกายคือ body ไม่ใช่กระบวนการสร้างตัวตนคือ self อย่างไรก็ตามการคลุกคลีกับแม่เพราะต้องไล่จับทำความสะอาดร่างกายตนเองและจัดการของใช้ของตัวเองนี้ทำให้แม่ลูก แนบแน่น กันมากขึ้นไปอีก ย่อมส่งผลให้ทั้งแม่และตัวตนชัดเจนแจ่มแจ๋วและมั่นคงยิ่งขึ้น
5. ถัดจากงานบ้านรอบร่างกายของตัวเอง ขยับมาขั้นที่ 3 คืองานบ้านในอาณาบริเวณของส่วนรวม นั่นคือกวาดบ้าน ถูบ้าน กวาดใบไม้ เก็บขี้หมา เทขยะ ล้างถ้วยล้างจานทั้งบ้าน เก็บถ้วยเก็บจานเข้าตู้ ฯลฯ งานเหล่านี้ล้วนฝึกใต้หลักการ 4 ข้อเหมือนเดิม แต่ตอนนี้เด็กอายุเริ่มมากขึ้น และเขาพบแล้วว่า ไม่สนุก
6. นี่จึงเป็นโอกาสทองที่พ่อแม่จะได้ฝึกลูก "ทำงานที่ไม่ชอบและไม่สนุกให้เสร็จให้จงได้" งานนี้จะยากยิ่งขึ้นทุกปีที่เขาโตขึ้น แต่ถ้าพ่อแม่เป็นแบบอย่าง ทุกคนทำด้วยกัน เด็กเล็กกึ่งเด็กโตยังเป็นวัยว่านอนสอนง่าย เราเอาจริง เขาก็ทำ แม้ว่าจะไม่ชอบทำ
7. ตอนที่งานบ้านสนุกอยู่นั้น เขาเป็นเด็กเล็ก ทำไม่เบื่อเดี๋ยวก็เสร็จ พอเป็นเด็กเริ่มจะโต ขี้เกียจเป็นแล้ว เกี่ยงงานก็เป็น แต่เพราะพ่อแม่ไม่ยอมโอนอ่อน เขาก็จะทำ อย่างไรก็ตามเมื่อเขาพบว่างานที่ไม่น่าสนุกเหล่านี้กำลังขวางทางชีวิตของเขา เขาจะพัฒนาตนเองเข้าสู่โหมดวางแผน - กำหนดเป้าหมาย - วางแผนปฏิบัติการ - เลือกวิธีที่เร็วที่สุด - และเสร็จในเวลาที่กำหนด นี่คือจุดเริ่มต้นของทักษะวางแผน
8. หากพ่อแม่ตรวจงาน ล้างจานภาษาอะไรขอบจานมันวับ กวาดบ้านยังงัยฝุ่นยังเต็มอยู่ในมุม นั่นแปลว่าการทำงานให้เสร็จยังไม่พอ เขาต้องปรับปรุงแผนใหม่ทำให้เสร็จแล้วต้องสำเร็จอีกด้วย นั่นคือได้ทั้ง output และ outcome ที่ดี
9. จะเห็นว่างานบ้านในบ้านคือการฝึกคนให้สามารถทำงานที่ไม่ชอบและไม่สนุกให้สำเร็จเรียบร้อย ฝึกเขาให้เชี่ยวชาญตั้งแต่ในบ้าน เมื่อปล่อยเขาไปนอกบ้านเขาก็จะทำได้ และภูมิใจที่ตนเองทำได้ด้วย ถึงตอนนั้นเขาจึงจะเข้าใจว่าพ่อแม่โหดกับเขาทำไม
10. การวางแผนและกำหนดเป้าหมายของงานบ้านเป็นการวางแผนและกำหนดเป้าหมายของงานที่จับต้องได้ เป็นรูปธรรม เห็นกันชัดๆ ต้องกวาดถูบ้านและล้างจานให้สะอาดเรียบร้อยในเวลา 2 ชม ความสามารถนี้จะแปรเปลี่ยนเป็นนามธรรมในภายหน้า เมื่อเขาเข้าสู่วัยรุ่นต้องวางแผนและกำหนดเป้าหมายชีวิต ปฏิบัติตามแผนและปรับเปลี่ยนแผนชีวิต ทำงานชีวิตให้เสร็จและสำเร็จในเวลาพอสมควร
งานบ้านจึงเป็นขั้นตอนพัฒนาการที่สำคัญ มีเวลาวิกฤตที่จะฝึกง่ายและฝึกได้ในเวลาที่จำกัดตอนที่เขายังเล็กและเชื่อฟัง อยากอยู่กับพ่อแม่ อยากเล่นกับพ่อแม่ กว่าจะรู้สึกตัวว่าถูกหลอกให้ทำงานก็สายเสียแล้ว
งานบ้าน ดีที่สุดมิใช่เพื่อให้บ้านสะอาด แต่เป็นขั้นตอนสำคัญที่เขาจะได้ฝึกกำหนดเป้าหมายและวางแผน ก่อนที่จะไปจากอกเราและวางแผนชีวิตของตนเอง
มิใช่พ่อแม่ส่งเรียนจบแล้วก็ว่าไม่ใช่ จะไปค้นหาตัวเองต่ออยู่เรื่อยไป
- นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ -
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น