“จริงกับตัวเอง”
ควรถูกบรรจุในทุกคำขวัญวันเด็กยันวันผู้สูงอายุ
ควรอยู่ในคำปฏิญาณตน ของลูกเสือเนตรนารี
ควรเป็นหนึ่งในสิบข้อ ของเด็กเอ๋ยเด็กดีต้องมีหน้าที่สิบอย่างด้วยกัน
จริงกับตัวเอง...
มันไม่ใช่แค่ การไม่พูดโกหก...
แต่เป็นการที่รู้ทันว่าเรากำลังรู้สึกอะไร
และสามารถสื่อสารออกไปได้อย่างเหมาะสม
ต้องหัดได้ยินเสียงในหัวของตัวเอง
รู้ทันตัวเอง ก่อนที่จะพูดอะไรออกไป
เสียงในหัว กับสิ่งที่จะออกจากปาก
มันตรงกันไหม
สตรีทะเลาะกับแฟน
เสียงในหัวบอกว่า “ฉันเสียใจ”
แต่ปากที่พูดออกไป บอกออกไปไกลๆให้พ้นหน้า
แม่ผิดหวังที่ลูกเกเร
เสียงในหัวบอกว่า “ฉันผิดหวัง”
แต่ปากกลับพูดซะดังว่า ทำไมลูกทำแบบนี้
ตกลงแม่สงสัยแล้วอยากให้ลูกตอบ
หรือแม่อยากบอกลูก ว่าแม่รู้สึกอย่างไร
นี่เป็นตัวอย่างของการพูดความจริงแบบ 180 องศา
คือรู้สึกอะไร แต่ไม่บอกไปอย่างนั้น
ยังมีประเภทพูดจริงเกินไป...
รู้สึก 10 แต่แสดงออก 100
ถ้าความจริง เรารู้สึกว่า
“ส้มตำปูม้าจานนี้อร่อย”
แต่เราแสดงออกว่า
“ส้มตำจานนี้อร่อยราวกับได้มะละกอจากสวรรค์ ถั่วฝักยาวจากสวนอีเด็น มะเขือเทศจากทุ่งอิลิเซียม ปูม้ามาจากแม่น้ำแยงซีเกียง หมักในโหลของจิ๋นซีฮ่องเต้”
มันก็เกินจริงครับ
ทำเท่าที่รู้สึก
อะไรที่ไม่ได้รู้สึกอย่าทำ
อย่าเรียกร้องความสนใจ ด้วยการทำอะไรที่มันไม่จริง
ถ้าไม่จริงกับตัวเอง สิ่งที่ได้รับ ก็จะกลับมาแบบปลอมๆ
------------
#ครูจิ๊บ #สื่อสารสร้างสุข #happytalk
เพราะคำพูดบางคำ เปลี่ยนชีวิตบางคน
------------
บทความนี้ ผมอยากให้คุณอ่านแล้วสำรวจตัวเองครับ
อย่าไปคิดถึงคนอื่น ดูตัวเอง สำรวจตัวเอง ดีขึ้นจากตัวเอง
หัวข้อคือ “จริงกับตัวเอง” ไม่ใช่ “ความจริงของคนอื่น”
รักนะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น